แสดงกระทู้

ส่วนนี้จะช่วยให้คุณสามารถดูกระทู้ทั้งหมดสมาชิกนี้ โปรดทราบว่าคุณสามารถเห็นเฉพาะกระทู้ในพื้นที่ที่คุณเข้าถึงในขณะนี้


แสดงหัวข้อ - เสรี ลพยิ้ม

หน้า: [1] 2 3 ... 33
1
06 - ความรู้ที่คุณอาจไม่รู้ - ท่านว.วชิรเมธี

https://youtu.be/sNv5oNcqQlo


ลิ้งค์  https://youtu.be/sNv5oNcqQlo


2
ขอหยุดโพสต์ข้อความธรรมะ เนื่องจากภาระกิจส่วนตัว


เนื่องจากผม นายเสรี ลพยิ้ม มีภาระกิจงานส่วนตัวเพิ่มมากขึ้น

จึงขอหยุดโพสต์ข้อความ บทความธรรมะทั้งหมดครับ


ขออนุโมทนาทุกๆด้วยครับ

นายเสรี ลพยิ้ม

3
ขอหยุดโพสต์ข้อความธรรมะ เนื่องจากภาระกิจส่วนตัว


เนื่องจากผม นายเสรี ลพยิ้ม มีภาระกิจงานส่วนตัวเพิ่มมากขึ้น

จึงขอหยุดโพสต์ข้อความ บทความธรรมะทั้งหมดครับ


ขออนุโมทนาทุกๆด้วยครับ

นายเสรี ลพยิ้ม

4
โอวาทพระสุปฏิปันโน
หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด

พูดมาก  เสียมาก
พูดน้อย  เสียน้อย
ไม่พูด    ไม่เสีย
นิ่งเสีย    โพธิสัตว์

" นโมโพธิสัตโต  อาคันติมายะ  อิติภควา "

5
จนเงินแต่อย่าจนความดี - เสฐียรพงษ์ วรรณปก

การเป็นหนี้ก็เป็นทุกข์เช่นเดียวกัน
คนเราลงได้จนแล้ว ย่อมมีแต่ความทุกข์ยาก
เพราะเหตุฉะนี้ท่านจึงเรียกว่า “ยากจน”
คิดจะทำอะไรก็ยากที่จะเห็นทาง
อยากได้อะไรก็ยากที่จะได้
หันไปพึ่งพาอาศัยใครก็ยากที่จะได้รับความช่วยเหลือ
เพราะโลกสมัยนี้ถือคติว่า

“ มีเงินนับว่าน้อง มีทองนับว่าพี่ ยากจนเงินทอง พี่น้องไม่มี ”

เมื่อไม่มีเงิน ก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเขามา
ก็เป็นทุกข์เสียดอกเบี้ยแพงๆ ก็เป็นทุกข์
ถูกเขาทวงหนี้ก็เป็นทุกข์ ถูกเจ้าหนี้ตามตัวก็เป็นทุกข์
ถูกจับเข้าคุกเข้าตะรางเพราะไม่มีเงินใช้หนี้ก็เป็นทุกข์

จนเงินนับว่าทุกข์มากแล้ว จนความดีเป็นทุกข์ยิ่งกว่า
คนไม่มีศรัทธาในพระศาสนา ปราศจากความอายชั่ว กลัวบาป
เกียจคร้าน โง่เขลาเรียกว่า คนจนความดี
เขาทำชั่วทางกาย วาจา ใจ เรียกว่า เป็นหนี้
ทำชั่วแล้วนึกภาวนาในใจ ไม่อยากให้ใครรู้ เรียกว่า เสียดอกเบี้ย
ถูกคนดีมีศีลธรรมว่ากล่าวตักเตือน เรียกว่า ถูกทวงหนี้
ไปไหนมาไหนมีแต่ความร้อนใจ เรียกว่า ถูกตามตัว
เมื่อตายไปก็ตกนรกหมกไหม้ เรียกว่า ถูกจองจำ

ชีวิตเราเลือกเกิดไม่ได้
แต่เลือกที่จะเป็นอะไรต่อไปข้างหน้าได้
แม้จะเกิดมาจน ก็จงพยายามสร้างเนื้อสร้างตัว
ก็อาจพ้นจากสภาพความจนได้ในที่สุด
ถึงแม้ยังยากจนอยู่ก็ขอให้จนแต่เงินทอง อย่าจนคุณธรรม
โปรดนึกเสมอว่า

อยู่เรือนพังยังดีมีความสุข ดีกว่าคุกหลายเท่าไม่เศร้าหมอง
จนยังดีมีธรรมค้ำประคอง ดีกว่าปองทุจริตผิดศีลธรรม
 

จาก “สัมผัสพระพุทธเจ้าด้วยใจ ใน...สายธารธรรม”
โดย ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ที่มา เว็บธรรมจักร

6
ความอับ ความสว่างของชีวิต
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)

 
อันความดีและความชั่วนี้ มีลักษณะพร้อมทั้งผลต่างกัน
เมื่อเป็นความดีจริง
ถึงใครจะพยายามเปลี่ยนแปลงให้เป็นความชั่ว ก็ไม่อาจทำได้
คงเป็นความดีอยู่นั้นเอง

แม้ความชั่วก็เหมือนกัน
เมื่อเป็นความชั่วจริง ก็คงเป็นความชั่วอยู่นั้นเอง
ไม่มีใครสามารถจะกลับกลายให้เป็นความดีไปได้

ส่วนความอ้างเอาเองและความเข้าใจของคน
ก็เป็นเพียงความอ้างเอาเองหรือความเข้าใจเท่านั้น
แม้จะทำให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่งได้บ้าง
เช่น การใส่ความ การยกยอโดยไม่เป็นความจริง
ก็ไม่ใช่ผลของความดีความชั่วนั้นโดยตรง

ผลของความดีหรือความชั่วนั้น จะต้องมาถึงเมื่อถึงโอกาส
เพราะการให้ผลของความดีหรือความชั่วก็มีเวลาเหมือนวันคืน
เมื่อยังเป็นเวลากลางวัน
จะเร่งเป็นเวลากลางคืนสักเท่าไรก็คงเป็นไปไม่ได้
จนกว่าจะถึงเวลาสิ้นวัน เวลากลางคืนก็เข้ามาถึงเอง

แม้ในเวลากลางคืนก็เหมือนกัน
จะเร่งให้เป็นเวลากลางวันเท่าไร ก็เป็นไปไม่ได้
จนกว่าจะสิ้นวันแล้วกลางวันก็จะเริ่มขึ้นเอง

เวลาความดีให้ผลเหมือนกลางวัน
เวลาความชั่วให้ผลเหมือนกลางคืน
ฉะนั้นบุคคลในโลกนี้เมื่ออยู่ในระยะกาลที่ความดีให้ผล
ก็มีชีวิตสว่างรุ่งเรือง
แม้จะทำความชั่วในระหว่างนั้นก็ยังสว่างไสวอยู่ก่อน
จนกว่าจะถึงกาลที่ความชั่วให้ผล

แต่เมื่ออยู่ในระยะกาลที่ความชั่วให้ผล
ชีวิตก็อับแสงเศร้าหมอง
ถึงจะทำความดีในระหว่างนั้นก็ยังอับแสงต่อไป
จนกว่าจะถึงกาลแห่งความดีให้ผล

เหตุฉะนี้บุคคลบางคนหรือบางพวก
ผู้ไม่มีศรัทธาในกรรมหรือผลของกรรม
จึงมักมีความเห็นเลื่อนลอยไปตามผลต่างๆ
ที่เห็นจำเพาะหน้า เห็นอย่างไรก็พูดอย่างนั้น
เป็นต้นว่า เห็นบางคนทำดีและได้รับผลดีก็พูดว่า
ทำดีได้ดี เห็นบางคนทำชั่วแต่ได้รับผลดี
ก็พูดว่าทำชั่วได้ดี เห็นบางคนทำชั่วได้รับผลชั่วก็พูดว่า
ทำชั่วได้ชั่ว เห็นบางคนทำดีแต่ได้รับผลชั่ว ก็พูดว่า ทำดีได้ชั่ว

คนมิใช่น้อยพูดเลื่อนลอยไปตามที่เห็นจำเพาะอย่างนี้
เพราะไม่ทราบหรือไม่เชื่อในกฎของกรรม
อันเกี่ยวกับกาลกำหนดเหมือนอย่างวันคืนดังกล่าว
ฉะนั้นเมื่อมีความรู้หรือความเชื่อในกฎของกรรม
ก็จักกล่าวอย่างแน่นอนไม่เลื่อนลอยว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
 

ความอับ ความสว่างของชีวิต
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช(เจริญ สุวฑฺฒโน)
ที่มา เว็บธรรมะไทย

7
หน้าที่ของชีวิต - ท่านพุทธทาสภิกขุ

ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย

บัดนี้เป็นโอกาสแห่งการศึกษาฉากสุดท้ายสำหรับสิ่งที่มีชีวิต คือบัดนี้ได้มีการแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่า ชีวิตนี้จะจบลงอย่างไร ปรากฏการณ์อันนี้ ควรจะได้รับความสนใจศึกษาให้เป็นประโยชน์ จึงควรถือว่าเป็นโอกาสสุดท้ายของการศึกษาจากสิ่งที่มีชีวิต

หน้าที่ของสังขาร 

ความตายเป็นหน้าที่ของสังขาร สังขารคือสิ่งปรุงแต่งจากเหตุจากปัจจัย เมื่อเหตุปัจจัยบางส่วนหยุดปรุงแต่ง มันก็มีความตายบางส่วน ปรากฏออกมาสำหรับสังขารส่วนนั้น จึงถือว่าการตายเป็นหน้าที่ของสังขาร หรือสังขารที่หน้าที่ที่จะต้องตายดังนั้นจึงไม่ควรมีความประหลาดใจอะไรในส่วนนี้

หน้าที่ของชีวิต 

ส่วนการทำประโยชน์ให้ดีที่สุดเป็นหน้าที่ของคนที่มีชีวิตอยู่ คนที่มีชีวิตอยู่จะต้องบำเพ็ญหน้าที่ของตนสืบต่อไป ในความหมายที่ว่า จะให้ชีวิตนี้มีประโยชน์ที่สุดส่วนตัวก็ได้รับประโยชน์ ส่วนสังคมในวงแคบ เช่น บ้านเมือง ประเทศชาติก็ได้รับประโยชน์ ในวงกว้างที่สุด โลกก็ควรจะได้รับประโยชน์ แต่ดูจะเป็นคำกล่าวที่ยามที่จะปฏิบัติได้ แต่ก็ควรระลึกนึกไว้ ถ้าคนในโลกคิดกันอย่างนี้แล้ว โลกก็จะเป็นโลกที่น่าอยู่ น่าอาศัยยิ่งกว่านี้

ความปรารถนาของผู้ล่วงลับไปแล้ว 

ถ้าเราจะมานึกกันดูว่า ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วนี่ จะขอร้องอะไรแก่เรา เข้าใจว่าเขาจะต้องขอร้องว่า ขอให้ผู้ที่มีชีวิตอยู่นี้ พยายามทำความเป็นมนุษย์ของตนให้เต็ม คือเป็นมนุษย์โดยแท้จริงและเต็มเปี่ยม

มนุษย์ที่เต็มเปี่ยมแห่งความเป็นมนุษย์ ก็หมายความว่า เป็นมนุษย์ที่ไม่มีปัญหา มีความเยือกเย็น ทั้งในแง่ของวัตถุในแง่ของร่างกาย และในแง่ของจิตใจและมีการสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์ โดยแผนการหรือทรัพย์สินที่ตั้งไว้ กำหนดไว้แต่งตั้งไว้เพื่อการนั้นโดยเฉพาะ ถ้าเห็นแต่ประโยชน์ของตน ไม่มองเห็นประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์แล้ว ไม่เรียกว่าเป็นมนุษย์ที่เต็มไปได้เลย

มนุษย์ที่เต็มแห่งความเป็นมนุษย์ 

อีกอย่างหนึ่ง อยากจะพูดว่ามนุษย์ที่เต็มไปด้วยความเป็นมนุษย์นั้น ดูไม่จำเป็นที่ใครจะต้องบำเพ็ญกุศลอุทิศให้ ในความเป็นมนุษย์ที่เต็มนั้น มันมีความดีความงาม ความถูกต้องครบถ้วนอยู่ทุกอย่าง เป็นเหตุเป็นปัจจัยอันบริบูรณ์ ที่จะให้เขาได้รับประโยชน์สุขอย่างแท้จริงทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ไม่ใช่พูดอย่างโอหัง แต่พูดอย่างมีเหตุผลหรือตามความเป็นจริง ที่จะพูดว่ามนุษย์ที่เต็มแห่งความเป็นมนุษย์ดูไม่จำเป็นที่ใครจะต้องบำเพ็ญกุศลอุทิศให้

เดี๋ยวนี้เขามัวแต่หลงในประเพณี ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กันเสียเรื่อย จนดูคล้ายๆ กับว่าคงจะหอบหรือหาบเอาไปด้วยไม่ไหว แต่แล้วก็ดูจะยังไม่สำเร็จประโยชน์อะไร เพราะว่าไม่มีคุณธรรมแห่งความเป็นมนุษย์แล้ว ทำอย่างไรเสียมันก็ไปสู่สุคติไม่ได้ นี่เราจึงถือว่ามนุษย์ที่เต็ม ไม่ต้องมีใครทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ก็ได้ ไม่ใช่เป็นการท้าทาย แต่มันเป็นความจริง ที่ไม่ใคร่จะมีใครมอง

หลักการเป็นมนุษย์ที่เต็ม

ที่นี้จะพูดกันสักหน่อยว่า การเป็นมนุษย์ที่เต็มนั้น จะต้องทำอย่างไรบ้างขอร้องให้พิจารณากันให้ดีๆ ว่า มนุษย์ที่เต็มแห่งความเป็นมนุษย์นั้น เขาจะตั้งต้นไปตั้งแต่ความเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ เป็นศาสนิกชนที่ดีของศาสนา ครบทั้ง 5 ประการนี้แล้ว เขาก็เป็นมนุษย์ที่เต็ม

เป็นบุตรที่ดี 

ดังนั้นทุกคนควรจะสำรวจดูตัวเองว่า เดี๋ยวนี้เป็นบุตรที่ดีของบิดามารดาหรือเปล่า แม้จะอายุมากแต่หัวหงอกแล้ว มันก็ยังมีความเป็นบุตรของบิดามารดาคนใดคนหนึ่งอยู่นั่นเอง แม้จะล่วงลับไปแล้ว ได้ทำตนให้เป็นบุตรที่ดีของบิดามารดาหรือเปล่า ได้ทำให้บิดามารดาชื่นอกชื่นใจ ตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่หรือเปล่า ถ้ายังมันก็ได้คะแนนศูนย์ในข้อนี้

เป็นศิษย์ที่ดี 

ทีนี้เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์นั้น ก็หมายความว่าครูบาอาจารย์นำไปได้ตามต้องการหรือเปล่า ไปสู่ความดีความงาม ความถูกต้องยิ่งๆ ขึ้นไปนั้น ครูบาอาจารย์ นำไปได้หรือเปล่า ถ้าปรากฏว่านำไปไม่ได้ ก็ไม่เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์

เป็นเพื่อนที่ดี

ทีนี้เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อนนั้น ได้ช่วยเหลือกันอย่างเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือเปล่า ถ้าไม่ได้ช่วยเหลือเพื่อนกันอย่างขนาดนั้น ก็ยังไม่เรียกว่าเพื่อนที่ดีของเพื่อน

เป็นพลเมืองที่ดี

เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติหรือเปล่า ข้อนี้ก็พูดกันมากแล้ว แต่อยากจะขอย้ำสักหน่อยว่า ถ้าชาติตาย เราตายด้วย แต่ถ้าเราตาย ชาติไม่จำเป็นต้องตาย เราให้ชาติอยู่อย่างมั่นคง สำหรับเป็นที่ตั้งแห่งเพื่อนมนุษย์ทุกคน

เป็นศาสนิกที่ดี 

ทีนี้เป็นศาสนิกที่ดีของศาสนหรือเปล่า คิดดูเถิดว่า ได้ใช้เวลากี่เปอร์เซ็นต์ของเวลาที่มีอยู่ สนใจเรื่องของพระศาสนา ใช้เวลากี่เปอร์เซ็นต์ในเรื่องของการทำมาหากิน เรื่องสรวลเสเฮฮา เรื่องความสุขสนุกสนาน

ถ้าพูดกันจริงๆ แล้ว ดูจะไม่ถึง 0.5 เปอร์เซ็นต์หรือบางที 0.05 เปอร์เซ็นต์ เข้าไปอีก ที่สนใจในเรื่องราวของพระศาสนา นอกนั้นเกิน 99 เปอร์เซ็นต์ สนใจเรื่องส่วนตัว ทำงานให้กิเลส ไม่ได้ทำงานให้แก่พระศาสนา ซึ่งเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ชื่อว่าเป็นศาสนิกที่ดีของศาสนา

จึงขอทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่า การที่จะเป็นมนุษย์ที่เต็มนั้น ต้องเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา คือทำให้บิดามารดาชื่นอกชื่นใจเพราะบุตรคนนี้อยู่ตลอดเวลา เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์นั้น ก็คือครูบาอาจารย์นำไปได้ตามประสงค์ ศิษย์คนนี้ประสบความสำเร็จสูงสุดของความเป็นมนุษย์

เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อนนั้น ได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในลักษณะเป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นพลเมืองที่ดีของชาติ หมายความว่าเห็นแก่ชาติยิ่งกว่าเห็นแก่ตัวเอง หรือเห็นแก่พรรคพวกของตัวเอง คนเรามักจะเห็นแก่ตัวเองหรือพรรคพวกของตัวเอง มากกว่าเห็นแก่ชาติ เห็นแก่ศาสนานั้นหมายความว่า เห็นแก่เพื่อนมนุษย์หรือโลกเป็นส่วนรวม เพราะว่าศาสนานั้นมีอยู่สำหรับคนทั้งโลกรอดได้

คำขอร้องครั้งสุดท้าย 

ในที่สุดนี้ขอให้เป็นเสมือนหนึ่งว่า ท่านผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น ได้กล่าวแก่เราทุกคนอย่างนี้ ได้แสดงความหวังในลักษณะเป็นคำขอร้องก็ได้ ว่าอย่างนี้ ว่าให้เพื่อนทุกคนมิตรสหายผู้รักใคร่หวังดีทุกคน จงรีบทำความเป็นมนุษย์ของตนให้เต็มเถิด ก็ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบกับพุทธศาสนา

คำกล่าวนี้พอสมควรแก่เวลาแล้ว ขอแสดงความหวังว่า ท่านทั้งหลายจะได้นำไปพินิจพิจารณา เสมือนหนึ่งคำร้องของผู้เป็นที่รักที่ได้ล่วงลับไปแล้ว มีสรีระทิ้งไว้เฉพาะหน้าเป็นอนุสรณ์ทางวัตถุครั้งสุดท้าย ทุกคนจึงควรทำให้ท่านผู้ล่วงลับไปแล้วได้รับความพอใจ ถ้ามีความรู้สึกได้โดยทางใดทางหนึ่งแล้ว ก็จะได้รับความพอใจจะดีกว่าบำเพ็ญกุศลกันอย่างลมๆ แล้งๆ ตามขนบธรรมเนียมประเพณี แล้วมิได้ประพฤติกระทำให้สมตามความประสงค์แท้จริงของผู้ล่วงลับไปแล้วเลย

โอกาสนี้ก็สมควรแก่การที่จะได้บำเพ็ญการฌาปนกิจตามหน้าที่ต่อไป


หน้าที่ของชีวิต
ธรรมกถาหน้าเชิงตะกอนโดย
พระธรรมโกศาจารย์ (ท่านพุทธทาสภิกขุ)
สวนโมกชพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี

8
ที่สุดแห่งความกตัญญู - พระมหาวุฒิชัย (ท่าน ว.วชิรเมธี)

วิสัชนา

ความสุขของคนเป็นพ่อเป็นแม่นั้น ขึ้นอยู่กับ การมีลูกเป็นคนดี
ในหนังสือ “หิโตปเทส” โบราณาจารย์ท่านกล่าวว่า

“มีลูกดี แต่ตายแล้ว
มีลูกชั่ว แต่ยังมีชีวิตอยู่
สู้มีลูกดี แต่ตายแล้วเสียยังดีกว่า”


ความข้อนี้ ก็สะท้อนสัจธรรมตรงกันว่า สิ่งที่เป็นยอดปรารถนาของพ่อและแม่คือ การมีคนเป็นคนดี

จากคำถามของคุณ ยืนยัน ว่าคุณได้ทำหน้าที่เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่แล้ว แสดงว่า นั่นเป็นโชคดีของคุณพ่อคุณแม่ของคุณเป็นอย่างมาก แต่ถึงแม้คุณจะทำหน้าที่ในส่วนของลูกกตัญญูเป็นอย่างดีแล้ว แต่คุณเองก็ยังรู้สึกว่า เป็นการทำความดีที่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ การที่คุณคิดเช่นนี้ได้นับว่าประเสริฐมาก เพราะมันคือช่องทางที่จะทำให้คุณ ได้ก้าวขึ้นไปสู่การตอบแทนพระคุณของบุพการีในระดับที่ดีเลิศยิ่งๆ ขึ้นไป

การตอบแทนพระคุณพ่อแม่นั้น เราทำได้สองระดับด้วยกัน

(๑) ระดับพื้นฐาน คือ การทำหน้าที่ของลูกต่อบุพการีให้สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งหน้าที่ดังกล่าวนี้ ลูกคนไหนทำได้ ก็นับว่า เป็นลูกที่ประสบความสำเร็จในฐานะลูกชั้นยอดแล้ว แต่ว่า ยังคงเป็นความสำเร็จแบบโลกีย์ที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ หน้าที่ดังกล่าวนี้ ประกอบด้วย

๑) ท่านเลี้ยงมาแล้วต้องเลี้ยงท่านตอบ
๒) ช่วยทำการงานของท่าน
๓) ดำรงวงศ์สกุล
๔) ประพฤติตนให้สมควรรับมรดก
๕) ท่านล่วงไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน

(๒) ระดับสูง  คือ การนำพ่อแม่ให้เดินเข้าสู่เส้นทางสีขาวของสัจธรรม อันได้แก่ การชักนำพ่อแม่ที่
๑) ไม่มีศรัทธา ให้เต็มเปี่ยมด้วยศรัทธา
๒) ไม่มีศีล ให้มีศีล
๓) ไม่มีความเป็นคนใจบุญ ให้เป็นคนใจบุญสุนทร์ทาน
๔) ไม่มีปัญญา ให้มีปัญญา
๕) ไม่มีโอกาสได้พบแสงสว่างแห่งธรรม ให้ได้ชิมลิ้มรสธรรม

พระพุทธองค์เคยตรัสว่า ลูกที่มีความกตัญญู อยากจะตอบแทนพระคุณพ่อแม่ให้ถึงที่สุด ต่อให้นำพ่อและแม่มาประดิษฐานอยู่บนบ่าซ้ายและบ่าขวา ปรนนิบัติท่านทั้งสองอยู่บนบ่าของตนให้มีความสุขเต็มเปี่ยมด้วยมนุษยสมบัติ เช่น กิน กาม เกียรติ กระทั่งยอมให้ท่านอุจจาระปัสสาวะอยู่บนบ่าของตนจนวันหนึ่งท่านทั้งสองนั้น ล่วงไปตามอายุสังขารอย่างสงบ แต่การปรนนิบัติมารดาบิดาถึงเพียงนั้น ก็นับว่า เป็นการแสดงความกตัญญูอย่างโลกๆ อย่างธรรมดาๆ เท่านั้นเอง

ส่วนลูกคนใดก็ตาม นอกจากปรนนิบัติมารดาบิดาอย่างที่กล่าวมาข้างต้นตามปกติแล้ว ยังบำเพ็ญตนเป็น “มรรคนายก” นำพ่อแม่ดำเนินเข้าสู่เส้นทางธรรม ด้วยการนำท่านให้สมาทานประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา หรือ ทาน ศีล ภาวนา จนพ่อแม่มีศรัทธา มีศีล มีจิตปราศจากความตระหนี่ และมีปัญญารู้ทั่วถึงธรรม

ลูกคนไหนทำได้อย่างนี้ นี่คือ ที่สุดแห่งความกตัญญู 

การกตัญญูต่อพ่อแม่ขั้นสูง กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การชักชวนพ่อแม่ที่ไม่มีธรรมะ ให้มีธรรมะนั่นเอง

ในกรณีของคุณ จากที่เล่ามา แสดงว่า คุณคงได้ทำหน้าที่ของลูกระดับพื้นฐานเป็นอย่างดีแล้ว หากคุณปรารถนาจะทำหน้าที่ของตนให้ยิ่งกว่านี้ขึ้นไป ก็ขอแนะนำให้คุณชักชวนพ่อแม่ให้หันหน้าเข้ามาสู่เส้นทางธรรมดีกว่า ซึ่งหากคุณทำได้ และท่านทั้งสองเองก็มีความสุข ความเบิกบานกับการดำเนินอยู่บนเส้นทางธรรม ก็เท่ากับว่า คุณได้ทำหน้าที่ของลูกกตัญญูต่อพ่อแม่อย่างดีที่สุดแล้ว

ในครั้งพุทธกาล มีพระสาวกรูปหนึ่งที่พระพุทธเจ้า ทรงยกย่องว่ามีความกตัญญูเป็นยอด ท่านคือ พระสารีบุตร

พระสารีบุตรนั้น ท่านเป็นพระอรหันต์ อัครสาวก สอนคนให้บรรลุธรรมมาแล้วนับไม่ถ้วน แต่ยังมีคนๆ หนึ่งที่ท่านยังไม่ได้สอน และหากท่านยังไม่ได้สอนคนๆ นี้ ท่านก็ยังนิพพานไม่ได้ คนที่ว่านี้ก็คือ โยมแม่ของท่านนั่นเอง

วันหนึ่ง ก่อนที่ท่านจะนิพพาน ท่านได้กราบทูลลาพระพุทธองค์เพื่อกลับบ้านเกิด เมื่อได้รับพุทธานุญาตแล้ว ท่านจึงออกเดินทางทั้งๆ ที่ร่างกายระงมด้วยพิษไข้ แต่ถึงกระนั้น ท่านก็บุกบั่นเดินทางไปจนพบหน้าโยมมารดา
 
คืนนั้น ท่านแสดงธรรมโปรดโยมมารดาจนได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล เมื่อท่านชำระหนี้ศักดิ์สิทธิ์นี้เสร็จสิ้นแล้ว เช้าตรูวันนั้นท่านก็นิพพานอย่างสงบ

ตัวอย่างชีวิตของพระสารีบุตร เตือนให้เราตระหนักรู้ว่า

“ถึงจะทำดีกับคนทั้งโลกมาแล้ว แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้ทำดีกับมารดาบิดาของตน ความดีที่ทำมา ก็ยังนับว่า เป็นความดีอย่างธรรมดาสามัญเท่านั้นเอง แต่เมื่อใดก็ตาม ที่ลูกสามารถประดิษฐานมารดาบิดาบังเกิดเกล้าของตนไว้ในดินแดนแห่งธรรม เมื่อนั่นแหละ จึงจะนับว่า ลูกได้ทำความดีที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง”

ขอเป็นกำลังใจให้คุณ พยายามทำความดีตอบแทนพระคุณของพ่อแม่ให้ประเสริฐเลิศล้ำยิ่งๆ ขึ้นไป ทั้งนี้เพราะ - -

“การประสบความสำเร็จในฐานะลูกกตัญญูนั้น
เป็นการประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่า
การเป็นรัฐบุรุษของโลกอย่างไม่มีทาง เทียบกันได้เลย”


ที่สุดแห่งความกตัญญู - พระมหาวุฒิชัย (ท่าน ว.วชิรเมธี)
บทความจาก  ทำดีดอทเน็ต

9
อริยทรัพย์ ๗ - พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต)

อริยทรัพย์ ๗

อริยทรัพย์ คือ ทรัพย์อันประเสริฐ

ทรัพย์คือ คุณธรรมประจำใจ อย่างประเสริฐ

๑. ศรัทธา ความเชื่อที่มีเหตุผล มั่นใจในหลักที่ถือและในการดีที่ทำ

๒. ศีล การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย ประพฤติถูกต้องดีงาม

๓. หิริ ความละอายใจต่อการทำชั่ว

๔. โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อความชั่ว

๕. พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก

๖. จาคะ ความเสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

๗. ปัญญา  ความรู้ความเข้าใจถ่องแท้ในเหตุผล ดีชั่ว ถูกผิด
คุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ รู้คิด รู้พิจารณาและรู้ที่จะจัดทำ

อริยทรัพย์ เป็นทรัพย์อันประเสริฐอยู่ภายในจิตใจ ดีกว่าทรัพย์ ภายนอก
เพราะไม่มีผู้ใดแย่งชิง ไม่สูญหายไปด้วยภัยอันตรายต่างๆ ทำใจให้ไม่อ้างว้างยากจน
และเป็นทุนสร้างทรัพย์ภายนอกได้ด้วย

ธรรม ๗ นี้ เรียกอีกอย่างว่า พหุการธรรม หรือ ธรรม มีอุปการะมาก
เพราะเป็นกำลังหนุนช่วยส่งเสริมในการบำเพ็ญ
คุณธรรมต่างๆ ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น
ให้สำเร็จได้อย่างกว้างขวางไพบูลย์

เปรียบเหมือนคนมีทรัพย์มากย่อมสามารถใช้จ่าย
ทรัพย์เลี้ยงตนเลี้ยงผู้อื่นให้มีความสุข
และบำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ ได้ เป็นอันมาก


อริยทรัพย์ ๗
จาก - พจนานุกรมพุทธศาสตร์  ฉบับประมวลศัพท์
พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต)

10
โอวาทธรรม - ทำไมทำดีแล้วจึงไม่ได้ดี - สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
ทำไมทำดีแล้วจึงไม่ได้ดี - สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

โอวาทจากดวงพระวิญญาณบริสุทธิ์สมเด็จโต
 

คุณขีด
กระผมอยากทราบเรื่องกฎแห่งกรรม เพราะเป็นกุญแจของบุญและบาป คนที่ไม่รู้จักบุญและบาปก็เพราะไม่รู้จักกฎแห่งกรรม บางคนไม่เชื่อว่าบุญมีจริงบาปมีจริง แล้วบางทีทำบุญกลายเป็นได้ผลบาป ทำบาปกลายเป็นผลดี ทั้งนี้เป็นเพราะว่าไม่ทราบชัดในเรื่องกฎแห่งกรรม เพราะฉะนั้นกระผมอยากให้หลวงพ่อสมเด็จได้โปรดขยายกฎแห่งกรรมให้กว้างขวาง ให้เป็นที่รู้ชัดสักหน่อยครับว่ามีกฎอันแท้จริงอย่างไร
 
สมเด็จโต
กฎแห่งกรรมนี้เป็นสิ่งที่ละเอียดมาก ก็เปรียบเสมือนหนึ่งธรรมชาติของการเติบโตของผลไม้ตามฤดูกาล กรรมที่ท่านสร้างในอดีตภพย่อมนำมาสู่ท่านในปัจจุบันภพ ฉันใดก็ฉันนั้น ทีนี้กรรมเหล่านั้นที่ท่านทำไปแล้วแต่ท่านลืมไปเพราะอะไรเล่า เพราะว่ามนุษย์ที่ยึดว่าทำไมทำดีจึงไม่ได้ดี เพราะมนุษย์ผู้นั้นไม่โปร่งในขั้นสมุฏฐานของเหตุและปัจจัย
 
ถ้าท่านหว่านพืชชนิดใดลงดิน พืชชนิดนั้นจะขึ้นตามเหล่ากอของพืชพันธุ์นั้น กรรมใดที่ท่านสร้างมาในภพที่ท่านลืมไปแล้ว แต่กรรมนั้นยังตามเสวยตามภพชาติต่างๆ อยู่ ยกตัวอย่าง ซึ่งเปรียบง่ายๆ สมมติว่าเมื่อสองปีก่อนท่านได้ฆ่าคนตายในที่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ แล้วท่านหนีไปอยู่ที่หนองคาย (เปรียบเหมือนท่านฆ่าคนตายในภพก่อนแล้วมาเกิดใหม่ในภพนี้) เรียกว่าท่านเกิดภพนี้ ทั้งที่เป็นคนเดิมคือจิตวิญญาณเดิมจากภพก่อน แต่มาอยู่ภพนี้หรือเมืองนี้
 
ในขณะที่ท่านหนีจากกรุงเทพฯ (ภพก่อน) ไปอยู่หนองคาย (ภพนี้) เกิดสำนึกผิดขึ้นมา จึงถือศีลทำบุญให้ทาน เป็นมิตรกับชาวบ้านที่หนองคาย ชาวบ้านที่หนองคายก็ยกย่องสรรเสริญว่า ท่านเป็นคนดีมีศีลธรรมน่าเคารพนับถือ แต่กรรมที่ท่านสร้างไว้คือฆ่าคนตายที่กรุงเทพฯ เมื่อสองปีก่อนนั้น ชาวบ้านที่หนองคายไม่รู้กับท่านด้วย และตำรวจ (กรรม) นั้นก็กำลังตามหาท่านอยู่ เปรียบเสมือนการตามของภพของกรรมไปถึงที่นั่น
 
แม้ว่าท่านกำลังถือศีลถืออุโบสถอยู่ในโบสถ์ หรือแม้ว่าบางคนมาบวชเป็นพระเพื่อหนีคุกหนีตารางก็ตามที เมื่อตำรวจสืบพบเจอตัวท่าน แม้จะอยู่ที่วัดถือศีลหรือบวชเป็นพระอยู่ ตำรวจก็จับท่านทันทีเพื่อไปลงโทษตามกฎหมายบ้านเมือง คนที่หนองคายแถวที่ท่านอยู่ ย่อมไม่พอใจหรือด่าทอตำรวจที่มาจับคนดีที่ถือศีลในอุโบสถอยู่
 
ก็เหมือนกรรมที่ไม่ดีที่ตามมาทันท่านตอนที่ท่านกำลังทำดี ทำให้ท่านคิดว่าทำไมทำดีแล้วจึงไม่ได้ดี กลับพบเจอและได้รับแต่สิ่งที่ไม่ดี ท่านอาจลืมกรรมที่ท่านทำไว้ในภพชาติก่อนแล้ว เพราะมันผ่านมานานแล้ว ข้ามภพข้ามชาติมาจนจำไม่ได้ว่า ทำกรรมไม่ดีอะไรไปบ้าง จึงทำให้คิดว่าภพนี้ชาตินี้ทำแต่ความดี แล้วทำไมไม่ได้ดี
 
คล้ายกันกับคนทำชั่วหรือทำไม่ดีในปัจจุบัน แต่กลับได้ดิบได้ดี เพราะภพชาติก่อนเขาเคยทำดีไว้ แล้วกรรมดีนี้ตามมาทันและส่งผลให้เขาได้ดิบได้ดี แม้ในขณะปัจจุบันเขากำลังทำกรรมไม่ดีอยู่ก็ตามที เพราะเป็นกรรมคนละส่วนกับกรรมเก่า ที่เขาทำดีในภพชาติก่อน ส่วนกรรมใหม่ที่เขาทำไม่ดีในขณะนี้ยังไม่ส่งผล ต้องรอให้ผลในกาลต่อไป
 
เปรียบเหมือนเราเพิ่งปลูกข้าวดำนาเสร็จ จะให้กล้าในนาออกดอกออกรวงข้าว ในวันนี้หรือพรุ่งนี้เลยย่อมเป็นไม่ได้ จะต้องรอเดือนรอเวลา จนกว่าต้นกล้าจะครบกำหนด ที่จะออกรวงให้ผลิตผลเป็นเมล็ดข้าว จึงจะเก็บเกี่ยวได้ ฉันใดก็ฉันนั้น
 
กฎแห่งกรรมก็เช่นเดียวกันกับกฎธรรมชาติ
 
เช่น การปลูกพืชปลูกต้นไม้ชนิดต่างกัน ย่อมจะต้องรอการออกดอกออกผล
เป็นเวลาไม่เท่ากัน
 
ซึ่งเป็นไปตามพันธุกรรมของพืชชนิดนั้นๆ ที่จะใช้เวลาไม่เท่ากันนานเป็นเดือนหรือนานเป็นปีจึงจะให้ผล เช่น ปลูกพริกย่อมให้ผลิตผลเร็วกว่าปลูกมะม่วง ปลูกข้าวย่อมให้ผลเร็วกว่าปลูกมะพร้าว เป็นต้น เช่นเดียวกันกับผลของกรรมแต่ละชนิด กรรมหนักกรรมเบา มีเจตนาหรือไม่เจตนา เป็นต้น จึงให้ผลกรรมหนักเบาต่างกันต่างเวลาตามเหตุปัจจัย
 
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งละเอียด
กฎแห่งกรรมคือกฎแห่งธรรมชาติ ย่อมทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม
 
ท่านสร้างกรรมดีไว้ในปัจจุบันนี้ กรรมนั้นอาจจะให้ท่านเสวยผลในภพอีกภพหนึ่งก็ได้ เพราะว่ามันเป็นกงล้อแห่งกงกรรมกงเกวียน ที่จะแยกแยะออกมา ชาติไหน ชาติอะไร ชาติโน้น ชาตินี้ เป็นสิ่งยาก เพราะว่ามนุษย์เราแต่ละคนที่เกิดมาในปัจจุบันชาตินี้ เกิดมาเป็นร้อยๆ พันๆ ภพชาติเป็นกงกรรมกงเวียนที่ทับถมทั้งดีและชั่ว โดยเจ้าตัวก็แยกแยะไม่ออก
 
ยกตัวอย่างง่ายๆ เสมือนหนึ่งท่านคิดตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น พอตกเย็นท่านมานั่งทบทวน ท่านก็แยกแยะทบทวนไม่ค่อยออกว่า เวลาไหนท่านมีอกุศลอารมณ์ เวลาไหนมีโทสจริต เวลาไหนมีเมตตาจิต เพราะว่าการเคลื่อนไหวแห่งจิตวิญญาณนี้ เร็วยิ่งกว่า อณูปรมาณูทั้งหลาย เร็วยิ่งกว่าปรอท
 
เพราะฉะนั้นจึงแยกได้ว่า

ท่านสร้างกรรมใดไว้ ท่านย่อมจะต้องเสวยกรรมนั้น ในภพชาติแน่นอน



ทำไมทำดีแล้วจึงไม่ได้ดี - สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
โอวาทจากดวงพระวิญญาณบริสุทธิ์สมเด็จโต

พิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยเดลี่
ประจำวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๔

11
การฆ่าอย่างไร ไม่เป็นบาป - ท่าน ว.วชิรเมธี

ปุจฉา

ทราบว่าการทำลายชีวิตสัตว์อื่นเป็นบาป แต่ถ้าสัตว์นั้นเป็นอันตรายต่อเราหรือ
ผู้มีพระคุณ แล้วเราจำเป็นต้องฆ่าจะบาปไหม เช่น มียุงอยู่ในห้องแม่ที่พิการ
ช่วยตัวเองไม่ได้ แล้วเราตบยุง (เพราะใช้วิธีอื่นลำบากกว่า) จะบาปไหมคะ และ
ชีวิตสัตว์เล็กๆ เช่น ยุง มด แมลง กับสัตว์ใหญ่เช่นวัวควาย บาปต่างกันแค่ไหน
หากการฆ่าสัตว์เพียงชีวิตเดียวก็บาปมากแล้ว คนที่มีอาชีพฆ่าสัตว์หรือ
พวกเพชฆาต จะบาปขนาดไหน เขาจะต้องตกนรกกี่ภพกี่ชาติคะ

จะว่าไปแล้วอาชีพเหล่านี้ ถ้าพวกเขาไม่ทำแล้วใครจะทำ เพราะแม้แต่คนที่ถือศีล
หลายคนก็ยังกินเนื้อสัตว์อยู่เลยนี่คะ

วิสัชชนา

การฆ่าสัตว์ที่จะถือว่าเป็นการละเมิดศีล และเป็นบาปโดยสมบูรณ์ (ปาณาติบาต)
ต้องประกอบด้วยเงื่อนไข ๕ ประการ

(๑) สัตว์มีชีวิต

(๒) รู้ว่าสัตว์มีชีวิต

(๓) มีจิตคิดจะฆ่า

(๔) พยายามฆ่า

(๕) สัตว์ตาย


การฆ่าสัตว์จะถือว่า บาปมากบาปน้อย มีเกณฑ์สำคัญในการพิจารณาก็คือ  “เจตนา” 

ถ้ามีเจตนาฆ่ารุนแรง ในลักษณะตั้งใจหรือวางแผนไว้ก่อน
บาปก็หนัก ผลกรรมก็รุนแรง
 
ในทางกฎหมายก็ถือเช่นเดียวกันโดยกล่าวว่า “กรรมย่อมส่อเจตนา” 
แต่การฆ่าที่ไม่มีเจตนา ก็ไม่ถือว่าเป็นบาป แต่เป็นเพียง “กิริยา” อย่างหนึ่งเท่านั้น
เช่น พระรูปหนึ่งตาบอดเดินไปเหยียบแมลงเม่าตายเป็นเบือ มีคนไปฟ้องพระพุทธเจ้า

พระองค์ตรัสว่า ท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว เจตนาฆ่าไม่มี ก็ไม่ถือว่าเป็นบาป

การที่เราฆ่าสัตว์โดยอ้างเหตุผลว่า สัตว์นั้นเป็นอันตรายต่อเรา
ถามว่าบาปไหม ก็ตอบได้ว่า “บาป” เหมือนกัน

แต่จะบาปมากบาปน้อย ก็ขึ้นอยู่กับ “เจตนา” และองค์ประกอบ
สี่ประการดังกล่าวมาข้างต้น นอกจากนั้นยังต้องพิจารณาเกณฑ์
ต่อไปนี้ร่วมด้วย เช่น

-เป็นสัตว์ใหญ่ หรือเป็นสัตว์เล็ก

ถ้าเป็นสัตว์ใหญ่ ก็ถือว่า บาปมาก สัตว์เล็กก็บาปน้อย

-เป็นสัตว์มีคุณมาก หรือมีคุณน้อย

ถ้ามีคุณมากอย่างคน ควาย วัว ก็มีบาปมาก
แต่ถ้ามีคุณน้อย ก็บาปน้อยลงตามส่วน

(ขออนุญาตไม่ยกตัวอย่างเดี๋ยวสัตว์เล็กๆ ทั้งหลายจะเดือดร้อน)

การที่เราบอกว่า สัตว์บางชนิด เราจำเป็นต้องฆ่า เพราะเขาเป็นอันตรายต่อเรา
นี่ก็เป็นทัศนะหนึ่งที่พอฟังได้ แต่หากมองในมุมกลับกัน
 
บางทีสัตว์ก็อาจพูดถึงคนในทางกลับกันว่า คนเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่เป็นอันตราย
ต่อเขา ดังนั้น เขาก็จำเป็นต้องฆ่าคน เช่น งูเห่า งูจงอาง เห็นคนมาก็กัดจนถึงแก่ชีวิต บางทีถ้ามองในมุมของสัตว์ ก็อาจกล่าวได้ว่า
 
สัตว์ก็อาจมีความชอบธรรม ในการฆ่าคนเหมือนกัน 

ดังนั้น การที่เราจะอ้างว่า เราจำเป็นต้องฆ่าสัตว์ เพราะสัตว์เป็นอันตรายต่อเรา
ก็ต้องพยายามมองในมุมกลับกันได้ อย่ามองในลักษณะ “เอาคนเป็นศูนย์กลาง”
เสมอไป
 
ถ้าเราลองมองอะไรหลายๆ มุม ก็จะพบว่า บางครั้งเหตุที่เราอ้างขึ้นมาเพื่อฆ่าสัตว์นั้น เป็นเหตุอันไม่ควรอ้าง แต่เป็นเพราะเราเห็นแก่ตัวต่างหาก

คนที่มีอาชีพฆ่าสัตว์ ก็บาปอยู่แล้ว จะบาปมากบาปน้อย ก็ให้พิจารณาตามเกณฑ์
ที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนเพชรฆาต ถ้าไม่มีเจตนาฆ่า ก็บาปน้อย แต่ถ้ามีเจตนาฆ่า
มาเป็นตัวร่วมและทำการฆ่าอย่างสนุกสนาน มีความสุขจากการฆ่า ก็แน่นอนว่าบาป ยิ่งฆ่าคนไม่ผิด หรือฆ่าคนที่มีคุณค่าชีวิตมาก ก็บาปมาก แต่ถ้าฆ่านักโทษอุกฉกรรจ์ ที่เป็นคนผิดจริง ก็บาปน้อย จะไม่ให้บาปเลยนั้นหายากมาก ยกเว้นเพชฌฆาต ที่มีใจบริสุทธิ์ ฆ่าเพียงเพราะเป็นหน้าที่ ไม่มีเจตนฆ่าร่วมในการฆ่าเลย ก็ไม่บาป

แต่โดยมาก คนอย่างนี้หายาก ยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร

คราวหนึ่ง เพชรฆาตอาชีพ เคยสารภาพให้ฟังว่า เมื่อตอนแรกที่เขารับหน้าที่ฆ่าคน
ด้วยการยิงเป้านักโทษนั้น นอนไม่หลับ กินข้าวไม่ลงเป็นอาทิตย์ หลับตา ลืมตา
ก็เห็นแต่คนที่ตัวเองประหาร แต่พอฆ่าคนที่สอง สาม สี่ และห้า เขารู้สึกสนุก รื่นรมย์ เขาบอกอีกว่า เขาจำเสียงกระสุนที่เจาะชำแรกลงไปบนเนื้อนักโทษได้อย่างถนัดถนี่ จำกลิ่นเนื้อไหม้ที่เกิดจากการเสียดทานจากความร้อนแรงของกระสุนที่พุ่งเข้าไปฝัง อยู่ในร่างของนักโทษได้ จำสภาพนักโทษที่ดิ้นพลาดๆ แล้วแน่นิ่งคาหลักได้ จนลมหายใจเฮือกสุดท้ายขาดห้วงไป ได้เป็นอย่างดี

เขาบอกอีกว่า เห็นภาพเหล่านี้แล้ว มีความสุขชะมัด ต่อมาเมื่อเกษียณแล้ว เขาจึงรู้สึกผิดมหันต์และตัดสินใจบวชไม่สึก เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับนักโทษเหล่านั้น

เห็นไหมว่า การฆ่าอาจนำมาซึ่งความสุขในเบื้องต้น
แต่มีผลเป็นความทุกข์ตรมขมไหม้ ในบั้นปลายอย่างนี้แน่นอน
ใครที่มีความสุขจากการฆ่า จึงมีโอกาสถูกเขาฆ่าตอบ

หนึ่งถูกฆ่า จนวางวายทำลายขันธ์ลงไปจริงๆ

สองถูกฆ่า จากความสุข จมอยู่กับความทุกข์เพราะความรู้สึกผิดไปจนตาย

คุณไม่ต้องกังวลว่า หากไม่มีใครฆ่าสัตว์ตัดชีวิตแล้ว สัตว์จะไม่ถูกฆ่า
โลกมีวัฏจักรของมันเอง คือ มีทั้งผู้ล่า และผู้ถูกล่า นี่คือ ห่วงโซ่อาหารของสิ่ง
มีชีวิตทุกชนิด  เราไม่สามารถทำให้คนทั้งโลกหยุดการฆ่าแล้วมาสมาทานศีล
ได้ทั้งหมดหรอก

สิ่งสำคัญที่เราทำได้ก็คือ เห็นเขาฆ่า อย่าไปฆ่าร่วมกับเขา อย่าสนับสนุนเขา
อย่ามีความสุขจากการฆ่า และเหนืออื่นใด อย่าเกิดมาให้เขาฆ่าบ่อยๆ

ภารกิจของเราในชีวิตนี้ก็คือ ปฏิบัติธรรมไป จนอยู่เหนือเกิดเหนือตาย
ก็จะได้อยู่เหนือการฆ่าอย่างถาวร

แต่ก่อนอื่นในชีวิตนี้ สิ่งที่คุณควรฆ่าก่อน เป็นอันดับแรก ก็คือ “กิเลส” 

เพราะการฆ่ากิเลส ฆ่าอย่างไรก็ไม่บาป



การฆ่าอย่างไร ไม่เป็นบาป - ท่าน ว.วชิรเมธี

12
ทำดีได้ชั่วฉันใด - รศ.ดร.สุจิตรา อ่อนค้อม

การที่บุคคลทำชั่วได้ดี ทำดีได้ชั่วนั้น
พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่าขึ้นอยู่กับ อาสันนกรรม
ซึ่งหมายถึง กรรมจวนเจียน คือกรรมที่ทำขณะจะสิ้นใจ
และส่วนมากจะเป็นมโนกรรมเพราะคนที่กำลังจะตายนั้น
สังขารมักไม่อำนวยให้ ประกอบวจีกรรมหรือกายกรรม
อาสันนกรรมจะส่งผลให้บุคคลที่กระทำก่อนกรรมอื่น ๆ
ถ้าเป็นกรรมดีจะส่งผลให้บุคคลที่ทำกรรมนั้น
ไปสู่สุคติในนาทีที่ดับจิตลงไป

เช่น บุคคลหนึ่งทำกรรมชั่วมามาก แต่มีกรรมดีอยู่บ้าง
ตอนจะตายจิตผ่องใส เพราะนึกถึงกรรมดีที่ตนเคยทำ
เมื่อจิตผ่องใส สุคติย่อมเป็นที่หมาย
 
ดังพระบาลีว่า
 “ จิตฺเต อสงฺกิลิฏเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา –
เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นอันหวังได้ ”

จิตไม่เศร้าหมองก็คือจิตผ่องใสนั่นเอง
กรรมที่นำเขาไปเกิดในสุคติเป็นกรรมดี มิใช่กรรมชั่ว
ในทำนองเดียวกัน บุคคลที่ทำกรรมดีไว้มาก
มีกรรมชั่วเพียงเล็กน้อย แต่ตอนตายจิตเศร้าหมอง
เพราะไปนึกถึงกรรมชั่วที่ตนเคยทำไว้
เมื่อจิตเศร้าหมอง ทุคติย่อมเป็นที่หมาย
 
ดังพระบาลีว่า
“ จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคติ ปาฏิกงฺขา –
เมื่อจิตเศร้าหมองแล้วทุคติเป็นอันต้องหวัง ”

ตัวอย่างของบุคคลที่ทำกรรมดีไว้มาก
มีกรรมชั่วเพียงเล็กน้อย เมื่อตายไปแล้ว ไปเกิดในทุคติภูมิ
ก็คือ พระนางมัลลิกา มเหสีของพระเจ้าปเสนทิ แห่งแคว้นโกศล
เมื่อตอนมีชีวิตอยู่ พระนางเป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
และประกอบกรรมดีไว้มาก

แต่มีกรรมชั่วอยู่เล็กน้อย คือ เคยโกหกพระสวามี
เมื่อพระนางจะสิ้นใจ แทนที่จะนึกถึงกรรมดีที่ทำไว้มากนั้น
กลับไปนึกถึงกรรมชั่วคือการโกหกพระเจ้าปเสนทิ จิตจึงเศร้าหมอง
เมื่อตายขณะที่จิตเศร้าหมอง จึงไปเกิดในนรกอเวจีอยู่ ๗ วัน
ครั้งหมดอกุศลกรรมแล้ว กุศลกรรมก็มาให้ผล
พระนางได้จุติจากนรกอเวจีไปอุบัติเป็นเทพบุตรอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต

(จุติ หมายถึงตาย ส่วนมากใช้กับเทวดา
คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่า หมายถึงเกิด) 

เมื่อพระนางมัลลิกาสิ้นชีพ พระเจ้าปเสนทิทรงโศกาดูรเป็นอันมาก
ได้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทุกวัน
เพื่อทูลถามว่าพระนางมัลลิกามเหสีของพระองค์
ไปอุบัติที่สวรรค์ชั้นไหน
พระพุทธองค์ทรงชวนสนทนาเรื่องอื่นๆ ให้ทรงเพลิดเพลิน
เพื่อให้ลืมเรื่องที่ตั้งพระทัยมาทูลถาม
การณ์เป็นอยู่อย่างนี้กระทั่ง ๗ วันผ่านไป
เมื่อพระนางมัลลิกาไปอุบัติในสวรรค์ชั้นดุสิตแล้ว
พระพุทธองค์จึงตรัสตอบพระเจ้าปเสนทิว่า
พระนางมัลลิกาเป็นคนดี บัดนี้พระนางได้ไปอุบัติเป็นเทพบุตรอยู่ในสวรรค์
ชั้นดุสิต พระเจ้าปเสนทิได้สดับดังนั้นก็ทรงตบพระชานุเสียงดังฉาด  รับสั่งว่า

“ นั่นยังไงล่ะ ถ้าคนดี ๆ อย่างพระนางมัลลิกา
ไม่ไปเกิดในสวรรค์ แล้วใครจะไปเกิด ” 

เหตุที่พระพุทธองค์ทรงรอให้เวลาผ่านไป ๗ วันเสียก่อน
ก็เพื่อจะให้พระเจ้าปเสนทิสบายพระทัย
เพราะพระองค์กำลังเศร้าโศกที่พระมเหสีจากไป
ถ้าทรงทราบว่าพระนางไปตกนรกอเวจีก็จะทรงโทมนัสหนักขึ้น
และจะกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิไม่เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษอีกต่อไป
ด้วยทรงเห็นว่า คนทำความดีไยจึงตกนรก
แต่ถ้าพระพุทธองค์จะตรัสสาเหตุที่พระนางไปตกนรก ก็จะเป็นการไม่สมควร
เพราะพระเจ้าปเสนทิไม่ทรงทราบว่าพระนางมัลลิกาโกหกพระองค์
แต่พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องนี้ด้วยพระญาณ
อีกประการหนึ่งทรงเห็นว่าการนำเรื่องไม่ดีของผู้อื่นมากล่าวนั้น
ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด
จึงทรงรอให้เหตุการณ์วิกฤตนั้นผ่านพ้นไปก่อน

ในอรรถกถากล่าวไว้ว่า การที่พระนางมัลลิกาไปตกนรกอเวจีนั้น
ถือเป็นการดี เพราะพระนางจะได้มีประสบการณ์เกี่ยวกับความทุกข์
และเกิดความเบื่อหน่ายในการที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร
เมื่อพระนางไปอุบัติเป็นเทพบุตร
จึงมิได้ประมาทมัวเมาหลงใหลเพลิดเพลินอยู่ในความสุข
เหมือนเหล่าเทพบุตร เทพธิดาทั้งหลาย
แต่ท่านได้ปฏิบัติธรรมกระทั่งบรรลุโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล
เป็นพระโสดาบันในที่สุด เป็นอันว่าท่านสามารถ
ทำวิกฤตให้เป็นโอกาส จนสามารถเปลี่ยน ทุกขะ ให้เป็น ทุกขขัย ได้
เพราะพระโสดาบันนั้นจะเวียนว่ายอยู่ในสุคติภูมิอีกไม่เกิน ๗ ชาติ
ก็จะบรรลุอรหัตผล เป็นพระอรหันต์
เป็นการตัดขาดจากสังสารวัฏโดยสิ้นเชิง

สรุปว่าผู้ที่ตายขณะจิตผ่องใสจะไปเกิดในสุคติ
ผู้ที่ตายขณะจิตเศร้าหมองจะไปเกิดในทุคติ
ดังเช่นพระนางมัลลิกาที่เล่ามา ส่วนผู้ที่ตายขณะที่จิตเป็นกลาง ๆ
คือไม่เป็นทั้งกุศลและอกุศล
จะไปเกิดเป็นพวกสัมภเวสี แปลว่า พวกแสวงหาภพ
 
(สัมภเวสีอีกความหมายหนึ่งหมายถึงผู้ที่ต้องเกิดอีก
จึงหมายตั้งแต่ปุถุชนไปจนถึงพระอนาคามี
ส่วนพระอรหันต์ไม่เป็นสัมภเวสี เพราะท่านเป็นผู้ที่ไม่ต้องเกิดอีก)

พวกนี้ยังไม่ได้เกิดเป็นที่ตามกรรมที่ตนทำไว้
พวกสัมภเวสีก็คือพวกที่เราเรียกว่าผี นั่นเอง
เมื่อพวกผีเหล่านี้นึกถึงกรรมที่ตนทำไว้ก็จะไปเกิดตามกรรมนั้น ๆ
เช่น นึกถึงกรรมดีก็ไปเกิดในสุคติ
นึกถึงกรรมชั่วก็ไปเกิดในทุคติ
จึงหยุดเร่รอนหาที่เกิดไปชั่วคราว เพราะไปเกิดเป็นที่เป็นทางแล้ว

จะเห็นได้ว่าเรื่องของกรรมนั้นเป็นเรื่องที่ตัวเองทำเอง
ไม่มีใครมาทำให้แต่ประการใด
ซึ่งเรื่องนี้พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ชัดเจนมาก
ดังปรากฏในพระสูตรว่า

“หญิง ชาย คฤหัสถ์ บรรพชิต ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า
เรามีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด
มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่อาศัย เราทำกรรมอันใดไว้
ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักได้รับผลของกรรมนั้น ”
 


จากหนังสือ รู้อย่างนี้ เป็นคนดีตั้งนานแล้ว
รศ.ดร.สุจิตรา อ่อนค้อม
จาก ชมรมกัลยาณธรรม

13
ทางเดินของชีวิต - ท่านพุทธทาสภิกขุ

ความชีวิตคนเรานั้น แท้จริงคือ การเดินทางชนิดหนึ่ง ซึ่งเดินจาก ความเต็มไปด้วยความทุกข์ ไปยัง ที่สุดจบสิ้นของทุกข์ ที่ตนเคยผ่านมาแล้ว นั่นเอง ไม่รู้ว่า ผู้นั้นจะ ทราบหรือไม่ทราบ รู้สึกหรือไม่รู้สึก ชีวิตก็ยังคงเป็น การเดินทาง เรื่อยอยู่นั่นเอง เมื่อเดินไป ทั้งไม่ทราบ ก็ย่อมมีความ ระหกระเหิน บอบช้ำเป็นธรรมดา

การเดินทางของชีวิตนี้ มิใช่เป็น การเดินทางด้วยเท้า ทางของชีวิต จึงมิใช่ ทางที่จะเดินได้ด้วยเท้า อีกเช่นเดียวกัน บัณฑิตทั้งหลายในกาลก่อน ได้พากันสนใจใน "ทางชีวิต" กันมากเป็นพิเศษ ในฐานะที่เป็นทางของจิต อันจะวิวัฒน์ไปในทางสูง ซึ่งจะไปได้สูงกว่าทางวัตถุหรือทางกาย อย่างที่จะเทียบกันไม่ได้เลย

สิ่งที่เรียกกันว่า ทางๆ นั้น แม้จะมีสายเดียว ก็จริง ตามธรรดา ต้องประกอบ อยู่ด้วย องค์คุณ หลายประการ เสมอ ทางเดินเท้า ทางไกล แรมเดือน สายหนึ่ง จะต้องประกอบด้วย สะพาน ร่มเงา ที่พักอาศัย ระหว่างทาง การอารักขา คุ้มครองในระหว่างทาง การหาอาหาร ได้เสมอไป ในระหว่างทาง ฯลฯ ดังนี้เป็นต้น ฉันใด ทางชีวิต แม้จะสายเดียว ดิ่งไปสู่ ความพ้นทุกข์ ก็จริง แต่ก็ต้อง ประกอบไปด้วย องค์คุณ หลายประการ ฉันนั้น

ศาสนา เป็นองค์คุณอันสำคัญ โดยช่วยให้ชีวิตนี้ มีความสดชื่น เยือกเย็น พอที่จะเป็นอยู่ ไม่ร้อนเป็นไฟ เช่นเดียวกับน้ำ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง พฤกษาชาติ ให้สดชื่น งอกงาม ตลอดเวลา ฉันใดฉันนั้น

ปรัชญา เป็นองค์คุณ ที่ช่วยให้เกิด อุดมคติ อันมีกำลังแรง ในการที่จะ กระตุ้น ให้ปฏิบัติ ตามศาสนา หรือ หน้าที่อื่นๆ ทำให้เกิด ความเชื่อ ความเพียร และคุณธรรมอื่นๆ ที่เป็นตัวกำลังสำคัญ ด้วยกันทั้งนั้น อย่างมากพอ ที่จะไม่เกิด การท้อถอย หรือ โลเล หรือ หันหลังกลับ โดยสรุปก็คือ ช่วยให้มีความเป็น นักปราชญ์ หรือ มีปัญญา เครื่องดำเนินตน ไปจนลุถึง ปลายทางที่ตนประสงค์

วิทยาศาสตร์ ช่วยให้เป็น ผู้รู้จักเหตุผล ให้รู้จัก ใช้เหตุผล และให้อยู ่ในอำนาจ แห่งเหตุผล เพื่อให้ชีวิตนี้ ไม่หลับหู หลับตา เดินไปอย่าง โง่เง่า งมงาย ซึ่งจะทำให้ เดินไม่ถึง หรือถึงช้า และไม่ได้รับผลเป็นที่พอใจ

ศิลปะ โดยเฉพาะก็คือ ศิลปะแห่งการครองชีวิต หรือ การบังคับตัวเองได้ ช่วยให้ชีวิตนี้ ดูแจ่มใส งดงาม น่าชื่นใจ น่ารักใคร่ นำมา ซึ่งความ เพลิดเพลิน ในการก้าวหน้า ไปด้วยความรู้ และการกระทำที่ดูงาม ทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย

ภูมิธรรม คือ ธรรมสมบัติ หรือ ความดี ความจริง ความยุติธรรม ที่ประกอบ อยู่ที่เนื้อที่ตัว ช่วยเหลือ ให้เกิด บุคคลิกลักษณะ อันนำมา ซึ่งความเลื่อมใส ความไว้วางใจ ความน่าคบหา สมาคมจาก ชีวิตรอบข้าง ทำให้ชีวิตนั้น ตั้งอยู่ ในฐานะเป็น ปูชนียบุคคล เป็นที่พึ่งแก่ตนเองได้ และเป็นเครื่อง ยึดเหนี่ยว ของชีวิต ทั้งหลาย

ความรู้ ช่วยให้มีความสามารถ ในการที่จะใช้ความคิด และการวินิจฉัย สิ่งต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง ในการตัดสินใจ การค้นคว้าทดลอง การแก้ไข อุปสรรค และอื่นๆ ในอันที่จะให้เกิด ผลในการครองชีพ การสมาคม และอื่นๆ ที่จำเป็นทุกประการ โดยสมบูรณ์

สติปัญญา ช่วยให้เกิดสมรรถภาพ หรือ ปฏิภาณ ในการดำเนินงานของชีวิต ให้สำเร็จ ลุล่วงไปได้ ตามแนว ของความรู้ ทำให้ งานของชีวิต ทุกชนิด ทุกระดับ ดำเนินไป ได้โดยง่าย โดยเร็ว โดยสมบูรณ์ และปลอดภัย โดยประการทั้งปวง
อนามัย ช่วยให้มีกำลังกาย อันเป็น บาทฐาน แห่งกำลังใจ มีความแคล่วคล่อง ว่องไว อาจหาญ ร่าเริง สะดวกกาย สบายใจ ในการ เป็นอยู่ของตน ทำกายนี้ ให้เป็นเหมือน ม้าที่เจ้าของเลี้ยงดู อย่างถูกต้อง ที่สุดแล้ว สามารถเป็นพาหนะ นำเจ้าของ ไปสู่ที่มุ่งหมายได้ ฉันใดก็ฉันนั้น

องค์คุณ ๘ ประการนี้ กำลังรวมกันเป็น ทางสายเดียว ของข้าพเจ้า ช่วยให้ชีวิตของข้าพเจ้า ดำเนินไปได้ อย่างเป็นที่ พอใจมาก จนถึงกับ นึกอยากจะยืนยัน แก่เพื่อนร่วม เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทั้งหลายว่า จงลอง เดินทางสายนี้ อันประกอบด้วย องค์คุณ ๘ อย่างนี้ ดูบ้างเถิด ผลในโลกนี้ ก็คือ ทรัพย์ ชื่อเสียง และมิตรภาพ ก็ตาม ผลในโลกหน้า คือ สุคติก็ตาม และผลอันสูงสุด พันจากโลกทั้งปวง คือ นิพพาน ก็ตาม จักเป็นที่หวังได้ ครบถ้วน โดยไม่ต้องสงสัยเลย

องค์คุณทั้ง ๘ นี้ ต้องมีครบถ้วน พอเหมาะส่วน และเข้ากันสนิท พร้อมที่จะ ส่งเสริม ซึ่งกันและกัน อยู่ตลอดเวลา จึงจะสำเร็จเป็นตัวทาง และ เป็นการเดินทาง ในตัวมันเอง อยู่แล้วทุกขณะ ไม่มีการถอยหลัง

โลกทุกวันนี้ มีอะไรๆ มากเกินไป ในทางที่จะผูกพันชีวิตนี้ ให้ตกอยู่ ภายใต้อำนาจ ของสิ่งที่บีบคั้น เผาลน เผลอไปเพียงนิดเดียว ก็จักลื่นไถล ลงไปในกองเพลิง ชนิดที่ยาก ที่จะถอนตัว ออกมาได้ และถึงกับตาย อยู่ในกองเพลิงนั้น เป็นที่สุด เพราะเหตุนั้น จึงเป็นการสมควร หรือจำเป็น สำหรับชีวิตทุกชีวิต ที่จะต้องแสวงหาทาง และมีทางของตน อันถูกต้อง ปลอดภัย เพื่อก้าวหน้า ไปสู่ความสะอาด หมดจด สว่างไสว และ สงบเย็น สมตาม ความปรารถนา ไม่เสียที ที่ได้เวียนมา ในเกลียว แห่งวัฎสงสาร จนกระทั่งมามีชีวิต ในวันนี้ กะเขา ด้วยชีวิตหนึ่ง

โลกทุกวันนี้ มากไปด้วย ขวากหนาม อันเป็นอันตรายมาก ยิ่งขึ้นเพียงใด ชีวิตนี้ ก็ยิ่งต้องเพียบพร้อม ไปด้วยคุณธรรม และสมรรถภาพ อันจะเป็น เครื่องป้องกัน และแก้ไข อันตรายนั้นๆ มากขึ้นเพียงนั้น เพราะฉะนั้น อย่างน้อยที่สุด เขาจะต้องมี หนทาง อันประกอบไปด้วย องค์แปดประการ ดังกล่าว ทางไปของชีวิต ในด้านจิต หรือ วิญญาณ ของเขาผู้นั้น จึงจะก้าวไปด้วยดี คู่กันไปได้ กับการก้าวหน้า ในทางวัตถุ หรือทางกาย ของโลกแห่งสมัยนี้ อันกำลังก้าวไป อย่างมากมาย จนเกินพอดี หรือผิดส่วน ไม่สมประกอบ จนทำให้โลก ระส่ำระสาย เป็นประจำวันอยู่แล้ว

ทางชีวิตแห่งสมัยนี้โลดโผน โยกโคลง ขรุขระ ขึ้นๆ ลงๆ ยิ่งกว่า สมัยเก่าก่อน เกินกว่าที่จะ ดำเนินไปได้ง่ายๆ โดยการใช้วิธีการ ที่ง่ายๆ สั้นๆ เหมือนที่แล้วมา นับว่าเป็นโชคดี ของพุทธบริษัท ที่เรามี พระพุทธศาสนา อันแสนประเสริฐ ของเรา ซึ่งอาจจะอำนวย สิ่งต่างๆ อันเป็น องค์คุณ ๘ ประการนั้น ให้แก่เราได้ อย่างครบถ้วน พุทธศาสนาของเรา มีเหลี่ยมพราย อันสมบูรณ์ แล้วแต่เรา จะเพ่งดูกัน ในเหลี่ยมไหน ก็มีให้ดู เป็นให้ได้ ครบทุกอย่าง ทุกเหลี่ยม

พุทธศาสนา ในฐานะที่ เป็นทั้งศาสนา เป็นทั้งปรัชญา เป็นวิทยาศาสตร์ เป็น ศิลปะแห่งการครองชีวิต เป็นภูมิธรรม ที่พึงประสงค์ ของมนุษยชาติ เป็นความรู้ที่ครบถ้วน เป็นสติปัญญา ที่คล่องแคล่ว และเป็นอนามัย ทั้งทางกาย และทางจิต เหล่านี้แต่ละเหลี่ยมๆ นั้น เอง นับเป็น องค์คุณ ครบทั้ง ๘ ประการ ที่รวมกันเข้า เป็นตัวทาง และเป็นการเดินทาง พร้อมกันไปในตัว ดังที่กล่าวแล้ว

ข้าพเจ้าขอชักชวน เพื่อนร่วม การเกิดแก่เจ็บตาย ทั้งหลาย ให้สนใจ ในทางอันเอก อันเป็นทาง ดิ่งไปสู่ความสิ้นทุกข์ ของบุคคลผู้เดียว แต่ละคนๆ ทางนี้ ข้าพเจ้า ขอชักชวน ให้พร้อมใจกัน ต่อสู้ โดยทุกวิถีทาง เพื่อให้ทางๆ นี้ยังคงเปิดเผย ปรากฏอยู่ เป็นทางเดิน ของสัตว์ทั้งหลาย ข้าพเจ้า ขอชักชวน มิตรสหาย ทั้งหลาย ให้ สละแม้กระทั่งชีวิต เพื่อป้องกันหนทาง อันนี้เอาไว้ ให้ยังคงอยู่ เป็นทางรอดของตน และของเพื่อนสัตว์ ทั้งหลาย ตลอดกาล อันไม่มีที่สิ้นสุด ในนามแห่ง พระพุทธองค์ ผู้ทรงประกาศ ความจริงสากล แก่มนุษย์ชาติทั้งมวล


โมกขพลาราม
๑ กันยายน ๒๔๙๕

14
ใกล้ตาย จึงนึกถึงพระ - หลวงปู่แหวน สุจิณโณ

ใกล้ตาย จึงนึกถึงพระ
มีทุกข์มาถึง จึงนึกถึงพระศาสน


บรรดาสัตว์ทั้งหลายนั้น เมื่อไม่มีทุกข์มาถึงตัว มักไม่เห็นคุณพระศาสนา มัวเมาประมาท ปล่อยกายปล่อยใจ ให้ประพฤติทุจริตผิดศีลธรรมอยู่เป็นประจำนิสัย เห็นผิดเป็นถูก เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ต่อเมื่อได้รับทุกข์เข้า ที่พึ่งอื่นไม่มีนั่นแหละ จึงได้คิดถึงพระ คิดถึงศาสนา แต่ก็เป็นเวลาที่สายไปแล้ว

ทำความดีให้เป็นที่อยู่ของจิต

ความดีนั้นเราต้องทำอยู่เสมอให้เป็นที่อยู่ของจิต เป็นอารมณ์ของจิต ให้เป็นมรรค คือ ทางดำเนินไปของจิต มันจึงจะเห็นผลของความดี ไม่ใช่เวลาใกล้จะตาย จึงนิมนต์พระไปให้ศีล ให้ไปบอกพุทโธ หรือตายไปแล้วให้ไปรับศีล เช่นนี้เป็นการกระทำที่ผิดทั้งหมด
เหตุว่าคนเจ็บ จิตมัวติดอยู่กับเวทนา ไฉนจะมาสนใจไยดีกับศีลได้ เว้นไว้แต่ผู้ที่รักษาศีลมาเป็นปกติเท่านั้น จึงจะระลึกได้ เพราะตนเองเคยทำมาจนเป็นอารมณ์ของจิตแล้ว แต่ส่วนมากใกล้ตายแล้วจึงเตือนให้รักษาศีล

ส่วนคนตายแล้วไม่ต้องพูดถึง เพราะคนตายนั้นร่างกายจิตใจจะไม่รับรู้ใดๆ แล้ว แต่ก็ดีไปอย่างเหมือนพระเทวทัต ทำกรรมจนถูกแผ่นดินสูบ เมื่อลงไปถึงคางจึงระลึกถึงความดีของพระพุทธเจ้า ขอถวายคางเป็นพุทธบูชา พระเทวทัตยังมีสติระลึกถึงได้ จึงมีผลดีในภายภาคหน้า
 
ความดีเราทำเองดีกว่า

แม้เปรตตนนั้นก็เหมือนกัน ตายไปแล้วจึงมาขอส่วนบุญ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ทำอันตรายแม้พระพุทธรูป แผ่เมตตาให้ไปได้รับหรือไม่ก็ไม่รู้ สู้เราทำเองไม่ได้ เราทำของเรา ได้มากน้อยเท่าไรก็มีความปิติ อิ่มเอิบใจเท่านั้น
ธรรมทั้งหลายไหลมาจากเหตุ กายก็เป็นเหตุอันหนึ่ง วาจาก็เป็นเหตุอันหนึ่ง ใจก็เป็นเหตุอันหนึ่ง ทางของบุญหรือบาปเหล่านี้มีอยู่ในตัวของเราเอง ไม่ได้อยู่ที่ไหน เราทำเอง สร้างเอง อย่ามัวมั่วอดีต เป็นอนาคต มีแต่ปัจจุบันเท่านั้นที่เป็น "ธรรมดา"
ความดีต้องทำในปัจจุบัน
สิ่งใดที่มันล่วงมาแล้ว เลยมาแล้ว เราไม่สามารถไปตัด ไปปลงมันได้อีกแล้ว สิ่งที่เราทำไปนั้น ถ้ามันดีมัน ก็ดีไปแล้ว ผ่านไปแล้ว พ้นไปแล้ว ถ้ามันชั่วมันก็ชั่วไปแล้ว ผ่านไปแล้ว เช่นกัน

อนาคตยังมาไม่ถึง สิ่งที่ยังไม่มาถึง เราก็ยังไม่รู้เห็นว่ามันจะเป็นอย่างไร อย่างมากก็เป็นแต่เพียงการคาดคะเนเอาเอง ว่าควรเป็นยังงั้น เป็นยังงี้ ซึ่งมันอาจจะเป็น ไม่เป็นไปอย่างที่เราคาดคะเนก็ได้

ปัจจุบัน คือ สิ่งที่เกิดขึ้นจริง เราได้เห็นจริง ได้สัมผัสจริง เพราะฉะนั้นความดีต้องทำในปัจจุบัน ทานก็ดี ศีลก็ดี ภาวนาก็ดี ต้องทำเสียในปัจจุบันที่เรายังมีชีวิตอยู่ เราต้องการความดี ก็ต้องทำให้เป็นความดีในปัจจุบันนี้ ต้องการความสุข ต้องการความเจริญ ก็ต้องทำให้เป็นไปในปัจจุบันนี้.....


ใกล้ตาย จึงนึกถึงพระ - หลวงปู่แหวน สุจิณโณ
ที่มา เว็บธรรมจักร

15
การดำเนินชีวิตเป็น - หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม

คนเราที่จะเป็นอยู่อย่างดีนี้ จะต้องดำเนินชีวิตเป็น
คือ รู้จักดำเนินชีวิตนั่นเอง
 
ถ้าใครรู้จักดำเนินชีวิต ชีวิตนั่นก็เป็นชีวิตที่ดีงาม
เป็นชีวิตที่พัฒนาเจริญก้าวหน้าประสบประโยชน์สุข
แต่ถ้าดำเนินชีวิตไม่เป็น ก็มีแต่ขาดทุนและประสพแต่ความทุกข์
และความเสื่อม

ฉะนั้นจะต้องรู้จักดำเนินชีวิตหรือ ดำเนินชีวิตเป็น...

กรรม คืออะไร คือการทำ พูด คิด
ไม่คิดก็พูด ไม่พูดก็ทำทางกาย
ถ้าไม่ทำออกมาทางกาย ก็พูดทางวาจา หรือไม่ก็คิดอยู่ในใจ

วันเวลาของเราทั้งหมดนี้แต่ละวัน
เป็นเรื่องของการทำ พูด คิด หรือ คิด พูด และทำ ใช่หรือเปล่า

เป็นอันว่า การดำเนินชีวิตของเรานี้
ในความหมาย อย่างหนึ่งก็คือ การทำกรรม ได้แก่ การทำ พูด คิด

ทีนี้คนเราที่จะดำเนินชีวิตได้ดี
อย่างที่เรียกว่าดำเนินชีวิตเป็น ประสบความสำเร็จก้าวหน้านั้น
ลักษณะหนึ่งก็คือ การต้องทำกรรม ๓ อย่างนี้ให้เป็น
ทำให้ดีทำให้ถูกต้อง แล้วจึงจะเป็นชีวิตที่ดี

เพราะฉะนั้น การดำเนินชีวิตเป็น จึงหมายถึงการรู้จักทำ รู้จักพูด รู้จักคิด
หรือ ทำเป็น พูดเป็น คิดเป็น สามอย่างนี้แหละ
ถ้าใครทำได้ ชีวิตจะเจริญงอกงาม
เมื่อคิดเป็น พูดเป็น ทำเป็นแล้ว ก็มีชีวิตที่ดีงามสุขสบาย

สมัยปัจจุบันนี้ วงการการศึกษาเน้นกันมากเรื่องการคิดเป็น
ทำเป็น แก้ปัญหาเป็นใช่ไหม
เมื่อเทียบกับที่พูดมาแล้วข้างต้น
ทั้ง ๒ ด้าน ก็เกือบจะตรงกันทีเดียว
แต่ยังไม่ครบถ้วน คือ ขาดพูดเป็น

การศึกษาที่บอกว่า คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น
ไม่พอเพราะอะไร ยุคข่าวสารข้อมูล พูดเป็นสำคัญมาก

พูดเป็นถ้าใช้ภาษาวิชาการก็คือ สื่อสารเป็นในยุคข่าวสารข้อมูล
ถ้าสื่อสารไม่เป็นก็ลำบาก
ฉะนั้นการศึกษาที่ดี จะเพิ่มพูดเป็นหรือสื่อสารเป็นเข้าไปด้วย

ตั้งแต่โบราณ ไทยเราให้ความสำคัญ แก่การพูดเป็นมานานแล้ว
ปากเป็นเอกเลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี
ท่านเน้นความสำคัญของการพูดเป็น ว่าปากเป็นเอกเลยนะ

การศึกษาปัจจุบันบอกว่า คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น
เดี๋ยวนี้เขาเอากันแค่นี้เท่านั้น
ลืมอย่างหนึ่งไปไม่ครบกรรม ๓ คือขาดพูดเป็น หรือสื่อสารเป็น

พูดเป็นนี้สำคัญมาก แม้มีความรู้ แต่ถ้าถ่ายทอดไม่ได้
หรือมีความต้องการอะไร แต่พูดให้เขาเข้าใจไม่ได้
ก็เรียกว่า สื่อสารไม่เป็น จะดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมให้ดีได้ยาก

ยิ่งในยุคปัจจุบันนี้ การสื่อสารก้าวหน้าไปมาก
เช่น มีการโฆษณา และชักจูงคนอื่น
ทำให้มวลชนเห็นคล้อย ไปตามต่อผลกระทบต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง
 
การพูดเป็น รวมทั้งการรู้เท่าทัน
และรู้จักการเลือกสรรข่าวสารข้อมูล จึงเป็นเรื่องสำคัญเหลือเกิน

เป็นอันว่า การดำเนินชีวิตเป็นในแง่ที่ ๒
ก็คือ  การสามารถ คิดเป็น พูดเป็น ทำเป็น


การดำเนินชีวิตเป็น - หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม
คัดลอกจาก  http://jarun.org

หน้า: [1] 2 3 ... 33