ผู้เขียน หัวข้อ: โอวาทธรรม - ทำไมทำดีแล้วจึงไม่ได้ดี - สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)  (อ่าน 2565 ครั้ง)

เสรี ลพยิ้ม

  • รักธรรม
  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 489
    • ดูรายละเอียด
โอวาทธรรม - ทำไมทำดีแล้วจึงไม่ได้ดี - สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
ทำไมทำดีแล้วจึงไม่ได้ดี - สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

โอวาทจากดวงพระวิญญาณบริสุทธิ์สมเด็จโต
 

คุณขีด
กระผมอยากทราบเรื่องกฎแห่งกรรม เพราะเป็นกุญแจของบุญและบาป คนที่ไม่รู้จักบุญและบาปก็เพราะไม่รู้จักกฎแห่งกรรม บางคนไม่เชื่อว่าบุญมีจริงบาปมีจริง แล้วบางทีทำบุญกลายเป็นได้ผลบาป ทำบาปกลายเป็นผลดี ทั้งนี้เป็นเพราะว่าไม่ทราบชัดในเรื่องกฎแห่งกรรม เพราะฉะนั้นกระผมอยากให้หลวงพ่อสมเด็จได้โปรดขยายกฎแห่งกรรมให้กว้างขวาง ให้เป็นที่รู้ชัดสักหน่อยครับว่ามีกฎอันแท้จริงอย่างไร
 
สมเด็จโต
กฎแห่งกรรมนี้เป็นสิ่งที่ละเอียดมาก ก็เปรียบเสมือนหนึ่งธรรมชาติของการเติบโตของผลไม้ตามฤดูกาล กรรมที่ท่านสร้างในอดีตภพย่อมนำมาสู่ท่านในปัจจุบันภพ ฉันใดก็ฉันนั้น ทีนี้กรรมเหล่านั้นที่ท่านทำไปแล้วแต่ท่านลืมไปเพราะอะไรเล่า เพราะว่ามนุษย์ที่ยึดว่าทำไมทำดีจึงไม่ได้ดี เพราะมนุษย์ผู้นั้นไม่โปร่งในขั้นสมุฏฐานของเหตุและปัจจัย
 
ถ้าท่านหว่านพืชชนิดใดลงดิน พืชชนิดนั้นจะขึ้นตามเหล่ากอของพืชพันธุ์นั้น กรรมใดที่ท่านสร้างมาในภพที่ท่านลืมไปแล้ว แต่กรรมนั้นยังตามเสวยตามภพชาติต่างๆ อยู่ ยกตัวอย่าง ซึ่งเปรียบง่ายๆ สมมติว่าเมื่อสองปีก่อนท่านได้ฆ่าคนตายในที่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ แล้วท่านหนีไปอยู่ที่หนองคาย (เปรียบเหมือนท่านฆ่าคนตายในภพก่อนแล้วมาเกิดใหม่ในภพนี้) เรียกว่าท่านเกิดภพนี้ ทั้งที่เป็นคนเดิมคือจิตวิญญาณเดิมจากภพก่อน แต่มาอยู่ภพนี้หรือเมืองนี้
 
ในขณะที่ท่านหนีจากกรุงเทพฯ (ภพก่อน) ไปอยู่หนองคาย (ภพนี้) เกิดสำนึกผิดขึ้นมา จึงถือศีลทำบุญให้ทาน เป็นมิตรกับชาวบ้านที่หนองคาย ชาวบ้านที่หนองคายก็ยกย่องสรรเสริญว่า ท่านเป็นคนดีมีศีลธรรมน่าเคารพนับถือ แต่กรรมที่ท่านสร้างไว้คือฆ่าคนตายที่กรุงเทพฯ เมื่อสองปีก่อนนั้น ชาวบ้านที่หนองคายไม่รู้กับท่านด้วย และตำรวจ (กรรม) นั้นก็กำลังตามหาท่านอยู่ เปรียบเสมือนการตามของภพของกรรมไปถึงที่นั่น
 
แม้ว่าท่านกำลังถือศีลถืออุโบสถอยู่ในโบสถ์ หรือแม้ว่าบางคนมาบวชเป็นพระเพื่อหนีคุกหนีตารางก็ตามที เมื่อตำรวจสืบพบเจอตัวท่าน แม้จะอยู่ที่วัดถือศีลหรือบวชเป็นพระอยู่ ตำรวจก็จับท่านทันทีเพื่อไปลงโทษตามกฎหมายบ้านเมือง คนที่หนองคายแถวที่ท่านอยู่ ย่อมไม่พอใจหรือด่าทอตำรวจที่มาจับคนดีที่ถือศีลในอุโบสถอยู่
 
ก็เหมือนกรรมที่ไม่ดีที่ตามมาทันท่านตอนที่ท่านกำลังทำดี ทำให้ท่านคิดว่าทำไมทำดีแล้วจึงไม่ได้ดี กลับพบเจอและได้รับแต่สิ่งที่ไม่ดี ท่านอาจลืมกรรมที่ท่านทำไว้ในภพชาติก่อนแล้ว เพราะมันผ่านมานานแล้ว ข้ามภพข้ามชาติมาจนจำไม่ได้ว่า ทำกรรมไม่ดีอะไรไปบ้าง จึงทำให้คิดว่าภพนี้ชาตินี้ทำแต่ความดี แล้วทำไมไม่ได้ดี
 
คล้ายกันกับคนทำชั่วหรือทำไม่ดีในปัจจุบัน แต่กลับได้ดิบได้ดี เพราะภพชาติก่อนเขาเคยทำดีไว้ แล้วกรรมดีนี้ตามมาทันและส่งผลให้เขาได้ดิบได้ดี แม้ในขณะปัจจุบันเขากำลังทำกรรมไม่ดีอยู่ก็ตามที เพราะเป็นกรรมคนละส่วนกับกรรมเก่า ที่เขาทำดีในภพชาติก่อน ส่วนกรรมใหม่ที่เขาทำไม่ดีในขณะนี้ยังไม่ส่งผล ต้องรอให้ผลในกาลต่อไป
 
เปรียบเหมือนเราเพิ่งปลูกข้าวดำนาเสร็จ จะให้กล้าในนาออกดอกออกรวงข้าว ในวันนี้หรือพรุ่งนี้เลยย่อมเป็นไม่ได้ จะต้องรอเดือนรอเวลา จนกว่าต้นกล้าจะครบกำหนด ที่จะออกรวงให้ผลิตผลเป็นเมล็ดข้าว จึงจะเก็บเกี่ยวได้ ฉันใดก็ฉันนั้น
 
กฎแห่งกรรมก็เช่นเดียวกันกับกฎธรรมชาติ
 
เช่น การปลูกพืชปลูกต้นไม้ชนิดต่างกัน ย่อมจะต้องรอการออกดอกออกผล
เป็นเวลาไม่เท่ากัน
 
ซึ่งเป็นไปตามพันธุกรรมของพืชชนิดนั้นๆ ที่จะใช้เวลาไม่เท่ากันนานเป็นเดือนหรือนานเป็นปีจึงจะให้ผล เช่น ปลูกพริกย่อมให้ผลิตผลเร็วกว่าปลูกมะม่วง ปลูกข้าวย่อมให้ผลเร็วกว่าปลูกมะพร้าว เป็นต้น เช่นเดียวกันกับผลของกรรมแต่ละชนิด กรรมหนักกรรมเบา มีเจตนาหรือไม่เจตนา เป็นต้น จึงให้ผลกรรมหนักเบาต่างกันต่างเวลาตามเหตุปัจจัย
 
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งละเอียด
กฎแห่งกรรมคือกฎแห่งธรรมชาติ ย่อมทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม
 
ท่านสร้างกรรมดีไว้ในปัจจุบันนี้ กรรมนั้นอาจจะให้ท่านเสวยผลในภพอีกภพหนึ่งก็ได้ เพราะว่ามันเป็นกงล้อแห่งกงกรรมกงเกวียน ที่จะแยกแยะออกมา ชาติไหน ชาติอะไร ชาติโน้น ชาตินี้ เป็นสิ่งยาก เพราะว่ามนุษย์เราแต่ละคนที่เกิดมาในปัจจุบันชาตินี้ เกิดมาเป็นร้อยๆ พันๆ ภพชาติเป็นกงกรรมกงเวียนที่ทับถมทั้งดีและชั่ว โดยเจ้าตัวก็แยกแยะไม่ออก
 
ยกตัวอย่างง่ายๆ เสมือนหนึ่งท่านคิดตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น พอตกเย็นท่านมานั่งทบทวน ท่านก็แยกแยะทบทวนไม่ค่อยออกว่า เวลาไหนท่านมีอกุศลอารมณ์ เวลาไหนมีโทสจริต เวลาไหนมีเมตตาจิต เพราะว่าการเคลื่อนไหวแห่งจิตวิญญาณนี้ เร็วยิ่งกว่า อณูปรมาณูทั้งหลาย เร็วยิ่งกว่าปรอท
 
เพราะฉะนั้นจึงแยกได้ว่า

ท่านสร้างกรรมใดไว้ ท่านย่อมจะต้องเสวยกรรมนั้น ในภพชาติแน่นอน



ทำไมทำดีแล้วจึงไม่ได้ดี - สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
โอวาทจากดวงพระวิญญาณบริสุทธิ์สมเด็จโต

พิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยเดลี่
ประจำวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๔