ผู้เขียน หัวข้อ: *รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล  (อ่าน 311431 ครั้ง)

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14204
    • ดูรายละเอียด
“ยกภูเขาออกจากใจ” - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #690 เมื่อ: มิถุนายน 19, 2020, 07:35:51 am »




  ยกภูเขาออกจากใจ 


ความทุกข์เป็นธรรมดาของชีวิต เพราะทุกอย่างที่เราเกี่ยวข้อง รวมทั้งทุกอย่างที่เรามี หรือเป็น ในขณะนี้ ล้วนไม่เที่ยง แปรเปลี่ยนเป็นนิจ เมื่อใดก็ตามที่มันแปรเปลี่ยนไปในทางที่ไม่ตรงกับใจเรา เราก็ย่อมผิดหวัง เศร้าโศก โกรธแค้น พูดง่าย ๆ คือเป็นทุกข์

ไม่มีใครชอบความทุกข์ แต่ความทุกข์ก็ใช่ว่าจะไร้ประโยชน์ ในแง่หนึ่งมันเป็นตัวบ่งชี้ว่ามีความผิดพลาดบางอย่างเกิดขึ้น ซึ่งเราควรหาทางแก้ไข เช่น ความเจ็บป่วยอาจเป็นตัวฟ้องว่าเราพักผ่อนน้อย กินอาหารไม่ถูกต้อง ใช้ชีวิตไม่ถูกสุขลักษณะ เมื่อรู้เช่นนี้ก็ควรปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตน แต่ความทุกข์หรือปัญหาบางอย่าง ยากที่จะแก้ไขได้ เพราะเกิดจากการกระทำของคนอื่น ในกรณีเช่นนี้ควรที่เราจะวางใจให้ถูกต้อง ป่วยการที่เราจะตีอกชกหัวตัวเองหรือก่นด่าชะตากรรม

ทุกข์กายนั้นมักเกิดจากปัจจัยภายนอก ส่วนทุกข์ใจนั้นมีสาเหตุที่ใจเราเป็นสำคัญ คนอื่นหรือสิ่งอื่นเป็นส่วนประกอบ สาเหตุดังกล่าวได้แก่ความยึดติดในใจเรา เช่น ยึดอยากให้มันคงที่ไม่แปรเปลี่ยน หรือยึดว่ามันต้องเป็นไปดั่งใจ แต่เป็นเพราะมองไม่เห็นสาเหตุดังกล่าว จึงมักโทษสิ่งนอกตัว ก้อนหินไม่ว่าจะหนักเพียงใด ก็ไม่ทำให้เราทุกข์หรือเหนื่อยได้เลย หากเราไม่แบกมัน ดังนั้นเมื่อใดที่ทุกข์หรือเหนื่อย อย่าโทษก้อนหินว่าหนัก แต่ควรถามตนเองว่าแบกมันทำไมถ้ายึดไม่เลิก แม้กรวดก้อนเดียว ก็หนักอึ้งราวกับภูเขาทั้งลูก เพียงแค่ปล่อยมันจากใจเท่านั้น ความสุขก็จะกลับคืนมา และถ้าไม่ยึดหรือแบกมันอีก ใจก็จะไม่ทุกข์อีกต่อไป

พระไพศาล วิสาโล









  ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : Facebook วัดป่าสุคะโต ธรรมชาติที่พักใจ
https://www.facebook.com/Zensukato/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 08, 2020, 07:31:07 am โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14204
    • ดูรายละเอียด
ฝากใจไว้ในธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #691 เมื่อ: มิถุนายน 19, 2020, 07:49:22 am »




  ฝากใจ ไว้ในธรรม

ชีวิตนี้สามารถให้ความสุขสงบเย็นและความแช่มชื่นเบิกบานแก่เราได้ แต่เรามักสูญเสียโอกาสดังกล่าวไป ทั้งนี้ก็เพราะเรามัวฝากใจไว้กับสิ่งนอกตัว ด้วยความเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นจะให้ความสุขหรือเป็นที่พึ่งแก่เราได้ ไม่ว่าทรัพย์สมบัติ งานการ ความสำเร็จ คำยกย่องสรรเสริญ หรือแม้แต่คนใกล้ตัว สิ่งเหล่านั้นแม้ให้ความสุขแก่เราได้ แต่ก็เพียงชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ยั่งยืนคงทน ไม่ช้าก็เร็วย่อมพลัดพรากไปจากเรา ทิ้งไว้แต่ความอาลัยหรือความเศร้าโศกเสียใจ แม้จะยังอยู่กับเรา แต่ก็ไม่เคยให้ความรู้สึกพอแก่เรา ทำให้ต้องสอดส่ายมองหาสิ่งใหม่ที่เชื่อว่าจะดีกว่าของเดิมอยู่เสมอ ระหว่างที่สอดส่ายใจก็เป็นทุกข์หากไม่พบตามใจอยาก หากพบก็เป็นทุกข์อีกเพราะได้ไม่ทันอยาก หรือได้ไม่สมอยาก

ชีวิตที่ฝากใจไว้กับสิ่งนอกตัว จึงเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยทุกข์ ตรงกันข้าม ชีวิตเราจะเปี่ยมสุขทันทีที่เราฝากใจไว้ในธรรม นั่นคือมีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเครื่องชี้นำจิตใจ เมื่อนั้นชีวิตจิตใจของเราก็จะอยู่ในความอารักขาของธรรม แม้ประสบความพลัดพรากสูญเสีย ธรรมก็จะรักษาใจไม่ให้เป็นทุกข์ ในยามที่ประสบความผันผวนปรวนแปร ธรรมก็จะค้ำใจให้มั่นคงไม่ให้หวั่นไหว ในยามที่ประสบอันตราย ธรรมก็จะประคองใจให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ ชีวิตที่มีธรรมเป็นเครื่องนำทางจึงประสบกับความสุขสวัสดีตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด

ฝากใจไว้ในธรรมไม่ได้เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หากเกิดขึ้นได้เมื่อเราหันมามองด้านในและใส่ใจกับจิตใจของตน ไม่เผลอตัวปล่อยใจให้กิเลสชักนำไปในทางอกุศล แต่เปิดโอกาสให้คุณธรรมและความดีได้แสดงตัวออกมา รวมทั้งบ่มเพาะคุณธรรมความดีดังกล่าวให้เจริญงอกงามในใจตน ด้วยหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา เมื่อคุณธรรมความดีงอกงามในที่สุดก็จะกลายเป็นที่พึ่งของเราได้ เช่นเดียวกับต้นไม้ในยามที่ยังเป็นต้นกล้า เราต้องดูแลเขา แต่เมื่อเขาเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ เขาก็จะดูแลเรา ให้ทั้งปัจจัยสี่และร่มเงา รวมทั้งปกป้องอันตรายจากพายุกล้า


พระไพศาล วิสาโล







  ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : Facebook วัดป่าสุคะโต ธรรมชาติที่พักใจ
https://www.facebook.com/Zensukato/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 26, 2020, 01:47:41 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14204
    • ดูรายละเอียด
เปิดใจเปลี่ยนมุมมอง - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #692 เมื่อ: มิถุนายน 19, 2020, 07:58:55 am »




  เปิดใจเปลี่ยนมุมมอง



“เราลองใจกว้างซะหน่อย

อย่าตัดสินว่าความคิดที่

ต่างกับเรานั้นใช้ไม่ได้ ควรมองว่า

ความคิดต่างนั้นช่วยให้เราเห็นมุม

ที่แตกต่างจากเดิม หากมองได้เช่นนี้

เราจะมีความรู้สึกลบกับคนที่เห็นต่างน้อยลง

และมีความสุขในการทำงานง่ายขึ้น

พูดง่ายๆ คือถ้าเราคลาย

ความยึดมั่นถือมั่นในความคิด

ใจเราจะเปิดรับความเห็นต่างได้ง่ายขึ้น”


พระไพศาล วิสาโล







  ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : Facebook วัดป่าสุคะโต ธรรมชาติที่พักใจ
https://www.facebook.com/Zensukato/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 05, 2020, 07:10:28 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14204
    • ดูรายละเอียด
คุณค่าของเวลา - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #693 เมื่อ: มิถุนายน 25, 2020, 02:40:49 pm »




  คุณค่าของเวลา 


“ถ้าเราไม่ต้องตาย วันแต่ละวัน เวลาแต่ละวินาที ก็จะดูไม่มีค่า เหมือนกับเด็กวัยรุ่นที่ไม่เห็นค่าของเวลา ตรงกันข้ามกับคนป่วยหนักหรือเป็นมะเร็ง ส่วนใหญ่จะเห็นค่าของวันเวลาที่เหลืออยู่ เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วเห็นเช้าวันใหม่ แค่นี้เขาก็มีความสุขแล้วที่วันนี้ยังไม่ตาย ยังมีเวลาที่จะได้ทำสิ่งที่อยากทำ ความรู้สึกแบบนี้จะไม่มีกับวัยรุ่นหรือแม้แต่คนทั่วไปเพราะเขาคิดว่ายังมี เวลาเหลือเฟือในโลกนี้

ความสุขจะหาได้ง่ายขึ้นมาก ถ้าเราตระหนักว่าเราต้องตายไม่ช้าก็เร็ว มีบางคนที่ทุกเย็นเมื่อได้เห็นหน้าลูก หน้าสามีภรรยา แค่นี้เขาก็มีความสุข และขอบคุณชีวิต ในขณะที่หลายคนกลับมีความสุขยากเหลือเกิน ต้องการโน่น ต้องการนี่ ตัวเองมีอยู่แล้วก็ไม่พอ ก็เพราะเขาลืมว่าสักวันหนึ่งเขาต้องตาย ไม่ว่าจะได้อะไรมาก สักวันหนึ่งก็ต้องสูญเสียมันไป”

พระไพศาล วิสาโล









  ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : Facebook วัดป่าสุคะโต ธรรมชาติที่พักใจ
https://www.facebook.com/Zensukato/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 25, 2020, 03:07:30 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14204
    • ดูรายละเอียด




  ธรรมกลางป่า สุขกลางใจ 



ธรรมนั้นมีอยู่ทุกหนแห่ง มิได้จำกัดอยู่แต่ในวัด คัมภีร์ หรือคำเทศนาเท่านั้น แต่มีสถานที่บางแห่งที่เอื้อให้เราเห็นธรรมได้ง่ายขึ้น เช่น ป่าเขาลำเนาไพร ทั้งนี้เพราะความสงบสงัดช่วยน้อมใจเราให้สงบ สามารถเห็นกายและใจตามความเป็นจริงได้ชัดขึ้น ขณะเดียวกันวัฏจักรของธรรมชาติรอบตัว ก็แสดงสัจธรรมให้เราเห็นอยู่ตลอดเวลา เพียงแค่ทำใจให้ว่าง อยู่กับปัจจุบัน ธรรมก็ปรากฏให้เห็นผ่านต้นไม้ สายน้ำ ขุนเขา และสิงสาราสัตว์

เมื่อพาตัวมาอยู่ท่ามกลางป่าเขา เราย่อมมิอาจพึ่งพาความสุขและความสะดวกสบายซึ่งมีอยู่อย่างครบครันจากชีวิตในเมืองได้อีกต่อไป นั่นคือโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้และเข้าถึงความสุขจากชีวิตที่เรียบง่าย รวมทั้งความสุขจากใจของเรา ความสุขนั้นมีอยู่แล้วกลางใจเรา แต่คนส่วนใหญ่ไม่ตระหนัก เพราะมัวเพลิดเพลินกับความสุขจากวัตถุสิ่งเสพภายนอก วิถีชีวิตที่ดึงจิตออกนอกตัวตลอดเวลา จนรู้สึกแปลกแยกกับตัวเอง ยิ่งทำให้ผู้คนตัดขาดจากความสุขด้านใน อันเป็นความสุขที่ประณีตลึกซึ้ง ผลก็คือผู้คนพากันพึ่งพิงวัตถุสิ่งเสพจนขาดอิสรภาพ ต่อเมื่อตระหนักและสัมผัสได้ถึงความสุขกลางใจ เราจึงจะมีอิสรภาพอย่างแท้จริง

การหาเวลาปลีกตัวมาอยู่กลางป่าเพื่อเปิดใจสัมผัสธรรมและความสุขภายใน เป็นการให้รางวัลแก่ตนเองอีกอย่างหนึ่ง ที่เรามิพึงมองข้าม ทั้งนี้เพื่อเปิดทางให้เราเรียนรู้ที่จะมีความสุขในทุกที่ เห็นธรรมในทุกสถาน ถึงตอนนั้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นแก่เรา ใจก็เป็นปกติอยู่ได้ เพราะเห็นถึงความเป็นธรรมดาของมัน ถึงแม้จะเป็นความเจ็บป่วย ความพลัดพรากสูญเสีย หรือความตายก็ตาม

พระไพศาล วิสาโล









  ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : Facebook วัดป่าสุคะโต ธรรมชาติที่พักใจ
https://www.facebook.com/Zensukato/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 02, 2020, 05:41:36 am โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14204
    • ดูรายละเอียด
“คืนสู่สามัญ” - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #695 เมื่อ: มิถุนายน 25, 2020, 03:04:18 pm »



  คืนสู่สามัญ 


การปฏิบัติธรรมที่แท้จริงคือการเรียนรู้ที่จะอยู่กับความพลัดพราก ความสูญเสีย และความไม่สมหวังอย่างไม่เป็นทุกข์ สามารถเข้าถึงความสงบเย็นได้ท่ามกลางความผันผวนของโลกและชีวิต อีกทั้งยังสามารถเอื้อเฟื้อเกื้อกูลและเป็นมิตรกับผู้อื่นได้ โดยไม่แบ่งแยกหรือเลือกที่รักมักที่ชัง ทั้งหมดนี้เราสามารเรียนรู้ได้จากชีวิตสามัญที่มีทั้งสุขและทุกข์ มีทั้งมิตรและศัตรู มีทั้งสมหวังและไม่สมหวัง

พระไพศาล วิสาโล









  ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : Facebook วัดป่าสุคะโต ธรรมชาติที่พักใจ
https://www.facebook.com/Zensukato/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 26, 2020, 01:51:53 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14204
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #696 เมื่อ: มิถุนายน 26, 2020, 10:09:46 am »




ได้ฟังเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งที่ประเทศอเมริกา น่าสนใจทีเดียว เธอเล่าว่าวันหนึ่งขณะกินอาหารในร้านอาหาร มีชายไร้บ้านหรือภาษาชาวบ้านว่าคนจรจัดเข้ามาในร้าน สั่งขนมปัง สั่งอาหาร แต่ว่ามีเงินเพียงแค่ 1 เหรียญ หรือประมาณ 30 บาท

เมืองไทย 30 บาท ทานอาหารได้ 1 อิ่ม แต่ในเมืองนอกซื้ออาหารได้น้อยมาก และอาหารที่สั่งไม่พอสำหรับหนึ่งเหรียญ ผู้หญิงคนนี้เธอชื่อเคซี่ เลยออกเงินเพิ่มให้และชวนชายจรจัดมากินอาหารด้วยกันบนโต๊ะ

ชายคนนั้นก็แปลกใจแต่ว่ายินดีที่มาร่วมกินอาหารร่วมกับโต๊ะกับผู้หญิงคนนี้ คุยไปเลยได้รู้ว่าเขามีความทุกข์มาก เขาบอกใครๆ ก็รังเกียจเหยียดหยันเพราะเขาเป็นคนจรจัด เขาจะไปไหนก็มีคนรังเกียจ เพราะเห็นว่ายากจนเนื้อตัวสกปรก มอมแมม เขาบอกว่าตัวเขาเกลียดยาเสพติด แต่สุดท้ายก็ติดยา อันนี้คงเป็นเหตุผลที่ทุกคนไม่อยากเข้าใกล้เพราะโทรมเหลือเกิน

พ่อทิ้งเขาตั้งแต่เล็ก เขาอยากทำความดีให้แม่ภูมิใจแต่ก็ทำไม่ได้ เพราะแม่ป่วยตายเป็นมะเร็ง ชีวิตเขาไม่มีทางออกก็อยู่ไปวันๆ อันนี้ก็เป็นเรื่องราวที่เขาเล่าให้ผู้หญิงที่ชื่อเคซี่ฟัง คุยกันอยู่นาน แล้วพอจะเลิกกันผู้ชายคนนี้ก็เอาเศษกระดาษมาเขียนข้อความประมาณ 4-5 ประโยค และขยำๆ แล้วยื่นให้เธอ แล้วเขาก็เดินจากไป

เคซี่ก็เอาเศษกระดาษเปิดดูว่าชายคนนั้นเขียนว่าอะไร เขาบอกว่า

วันนี้ผมคิดจะฆ่าตัวตายแต่เป็นเพราะคุณทำให้ผมเปลี่ยนความคิด คุณทำให้ผมอยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไป คุณเป็นคนที่งดงามมาก

เคซี่พอฟังก็นึกไม่ถึงว่าแค่น้ำใจเล็กๆ น้อยๆ ที่เขาให้กับผู้ชายคนนี้ ที่ทำให้ผู้ชายคนนี้ สามารถทำให้เขาเปลี่ยนใจไม่ฆ่าตัวตายได้ จะเรียกว่าความเมตตากรุณาของเธอเพียงเล็กน้อยสามารถช่วยดึงเขาออกจากปลักแห่งนรกได้ จากปลักแห่งความทุกข์ได้

คนเราเวลามีความทุกข์มากบางครั้งก็คิดถึงการฆ่าตัวตาย แต่คนที่มีความทุกข์จิตใจเขาก็อ่อนไหวถ้ามีใครสักคนมีน้ำใจกับเขามีความเมตตากรุณาเขา หรือใส่ใจเขา มันก็สามารถทำให้เขาเปลี่ยนความคิดได้ มันสามารถที่ฉุดเขาออกจากนรกขึ้นมาได้ แม้จะเป็นเพียงชั่วขณะก็ตาม เงินที่เคซี่ช่วยให้กับผู้ชายคนนี้ก็ไม่มากอาจจะ 3 4 5 เหรียญ แต่ว่ามันสามารถที่จะช่วยชีวิตของคนคนหนึ่งไว้ได้ อันนี้เป็นอานิสงค์ของความ เมตตา กรุณา

ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล​

อ่านต่อ / ฟัง ได้ที่

https://pagoda.or.th/aj-visalo/2020-05-01-16-49-25.html










  ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 26, 2020, 10:13:45 am โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14204
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #697 เมื่อ: มิถุนายน 26, 2020, 10:13:23 am »





ชีวิตของคนเรานี้ก็เหมือนกับใบบัวนะ ไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาส เวลาอยู่กลางแจ้ง เจอแดดก็ย่อมร้อน เจอฝนก็ย่อมเปียกถ้าไม่มีร่ม แต่ถ้ามีร่ม ฝนมาก็ไม่เปียก แดดส่องก็ไม่ร้อน คนที่ปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน คนที่สร้างมงคลอันสูงสุดให้เกิดขึ้นกับตัว จะเป็นผู้ที่อยู่กับโลกได้โดยไม่ทุกข์กับโลก

คนส่วนใหญ่เมื่ออยู่กับโลกเขาก็ทุกข์กับโลก แต่คนที่ปฏิบัติธรรมหรือศึกษาปฏิบัติดีแล้ว ไม่ใช่ว่าจะไม่เจอกับเรื่องร้ายๆ จะไม่เจอกับโลกธรรมฝ่ายลบ แม้แต่พระพุทธองค์ยังประสบกับการถูกนินทาว่าร้าย ถูกคนประสงค์ร้ายหลายครั้ง แต่พระองค์ก็ไม่ทุกข์

พวกเราที่ใฝ่บุญ ชอบทําบุญสุนทาน ล้วนคาดหวังว่าจะเจอสิ่งดีๆ ในชีวิต อธิษฐานว่าอย่าให้เจอสิ่งที่ไม่ดี แต่มันเป็นไปไม่ได้นะ ไม่ว่าเราจะทำบุญแค่ไหนก็ต้องเจอสิ่งที่ไม่ดี เจอความพลัดพรากสูญเสีย อย่างน้อยๆ ก็ต้องเจอกับความแก่ ความเจ็บ แล้วสุดท้ายก็ความตาย ในระหว่างนั้นก็ต้องเจอกับคำตำหนิ คำนินทา ต้องเจออะไรอีกหลายอย่างที่เราถือกันว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี

ฉะนั้นแม้เราจะทำความดีสร้างบุญสร้างกุศลมา ก็อย่าไปคิดว่าจะไม่เจอกับสิ่งเหล่านี้ และก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเป็นทุกข์เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เมื่อมันเกิดขึ้นเราก็สามารถรักษาใจให้ไม่หวั่นไหวได้ เพราะเรามีธรรมะ เพราะเราฝึกไว้ดีแล้ว


พระไพศาล วิสาโล

เติมธรรมะลงในชีวิต ๑๐ปีสวนโมกข์กรุงเทพ








  ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 26, 2020, 01:54:10 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14204
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #698 เมื่อ: มิถุนายน 26, 2020, 10:16:54 am »



การจมอยู่ในความเศร้าเพราะอกหักก็เป็นการทำร้ายตัวเอง ไม่ใช่เพราะว่าเขาไม่เห็นคุณค่าของเรา แต่เป็นเราเองแหละที่ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง การที่เขาไม่เห็นคุณค่าของเรานั้นเป็นเรื่องของเขา แต่ที่แย่กว่านั้นคือ การที่เราไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง ถึงขั้นทำร้ายตัวเอง แม้ไม่ได้ทำร้ายร่างกาย แต่อย่างน้อยก็ทำร้ายจิตใจ เอาแต่จมอยู่ในความเศร้า นั่งเจ่าจุก กินไม่ได้ นอนไม่หลับ จนสุขภาพย่ำแย่ เพื่อนมาชวนไปเที่ยวเพราะอยากช่วยให้เราคลายจากความเศร้า ก็ไม่ยอมไป ฉันจะขอนั่งเศร้าเจ่าจุกอยู่อย่างนี้ อย่างนี้เรียกว่าทำร้ายตัวเอง

ใครพูดไม่ดีกับเรา ใครทำอะไรไม่ดีกับเรา ผ่านไปเป็นอาทิตย์ เป็นเดือน ก็ปล่อยให้ความโกรธเผาลนจิตใจ แทนที่จะหาทางดับความโกรธ กลับปล่อยให้ความโกรธมันเผาจิตใจ ด้วยการครุ่นคิดถึงคนคนนั้น ไม่มีใครสั่งให้เราคิดถึงคนคนนั้นบ่อย ๆ ไม่มีใครขอร้อง แต่ว่าเป็นเราเองที่เอาแต่คิดถึงคนคนนั้น คิดถึงการกระทำหรือคำพูดของเขา แล้วเป็นอย่างไร มันก็เหมือนกับการเอามีดกรีดแทงใจ

คนที่ด่าเราหรือกลั่นแกล้งเรา เขาไม่สามารถยัดเยียดความโกรธให้เราได้ แต่เป็นจิตใจของเราเองที่ปล่อยให้ความโกรธเผาลน ไม่ใช่ปล่อยอย่างเดียว ยังส่งเสริมด้วย คือการครุ่นคิดถึงเขา คิดถึงการกระทำของเขา ทั้ง ๆ ที่เกลียดเขา โกรธเขา แต่ทำไมยังคิดถึงเขาไม่เลิกรา ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมวาง เพราะอะไร ก็เพราะว่าเราไม่ได้รักตัวเอง เราไม่เป็นมิตรกับตัวเอง จึงซ้ำเติมตัวเอง

เวลาเจอเหตุร้าย ไม่ใช่แค่สูญเสียของรัก คนรัก หรือว่าถูกคนกลั่นแกล้งเท่านั้น เวลาเจ็บป่วยก็เหมือนกัน แทนที่จะป่วยแต่กาย ก็ปล่อยให้ใจป่วยด้วย จมอยู่กับความวิตกกังวล เอาแต่เฝ้าลงโทษตัวเองด้วยการบ่นคร่ำครวญ “ทำไมต้องเป็นฉัน ทำไมต้องเป็นฉัน” คำพูดตัดพ้อแบบนี้ทำร้ายตัวเองโดยไม่รู้ตัว หรือบางทีรู้ตัวแต่ก็ยังทำ อะไรที่จะช่วยทำให้เรามีความสุขก็ปฏิเสธ

มีผู้หญิงคนหนึ่ง ตอนเป็นนักเรียนวัยรุ่นเป็นคนหน้าตาดี มีเพื่อนเยอะ ต่อมาก็พบว่าตัวเองเป็นโรคแพ้ภูมิคุ้มกันของตัวเอง หรือที่เรียกว่าโรคพุ่มพวง ทำให้มีอาการหน้าบวม จากคนที่เคยรู้สึกว่าตัวเองสวย พอหน้าตาไม่สวยเหมือนเมื่อก่อน เธอก็รู้สึกอับอาย นอนป่วยอยู่ที่บ้าน เจ็บป่วยอย่างเดียวก็แย่อยู่แล้ว แต่เวลาที่เพื่อนมาเยี่ยม เธอก็ไม่ยอมให้เพื่อนเยี่ยม บางครั้งให้แม่ไปบอกเพื่อนว่าเธอหลับแล้ว บางครั้งก็ให้โกหกว่าเธอไม่อยู่บ้าน พยายามปฏิเสธไม่ให้เพื่อนเข้ามาเยี่ยม แต่พอไม่ได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนเธอก็ทุกข์ ตอนหลังเธอก็คิดได้ว่าสิ่งที่เธอทำนั้นคือการหนีความสุข อันนี้เป็นคำของเธอ บางครั้งความสุขมาหาเธอถึงบ้าน แต่เป็นเธอเองที่ปฏิเสธ

เหมือนกับคนที่กำลังเศร้า เพื่อนมาชวนให้ไปเที่ยวที่นั่นที่นี่จะได้หายเศร้า ก็ปฏิเสธ ไม่ยอมไป ผู้หญิงคนนี้ก็เหมือนกัน เธอปฏิเสธการพบปะของเพื่อน ทั้ง ๆ ที่เธอเองก็ปรารถนากำลังใจจากเพื่อน แต่กลับปฏิเสธ อย่างนี้เรียกว่า “หนีความสุข” ซึ่งเป็นการทำร้ายตัวเองอย่างหนึ่ง


ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล

ธรรมบรรยาย พระไพศาล วิสาโล
ปี ๒๕๖๑ ตอนที่ ๑ พบมิตรที่ใจ







  ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 06, 2020, 06:29:24 am โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14204
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #699 เมื่อ: มิถุนายน 26, 2020, 10:30:58 am »




เมื่อหลายสิบปีก่อนนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำเคยมีความมั่นใจว่าจะเอาชนะเชื้อโรคทั้งหลายได้ ผู้คนจะไม่ล้มป่วยเพราะโรคติดเชื้ออีกต่อไป ยิ่งกว่านั้นเชื้อโรคทั้งหลายอาจจะสูญพันธุ์ไป เช่นเดียวกับไข้ทรพิษ ทั้งนี้ก็เพราะเรามีวัคซีน ยาปฏิชีวนะ รวมทั้งยานานาชนิดที่จะพิชิตโรคเหล่านี้ได้อย่างเด็ดขาด

แต่มาถึงวันนี้เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าโลกที่ปลอดเชื้อโรคนั้นเป็นไปไม่ได้ เชื้อโรคทั้งหลายฉลาดกว่าที่เราคิดมาก มันสามารถวิวัฒน์พัฒนา จนยาที่แรงที่สุดทำอะไรมันแทบไม่ได้เลย นอกจากผู้คนยังจะต้องล้มตายเพราะโรคเก่า ๆ ที่เรารู้จักดีแล้ว ยังจะมีโรคใหม่ ๆ ที่ผลัดกันมาสร้างปัญหาแก่คนทั้งโลก ไม่ว่า เอดส์ ซาร์ส อีโบล่า เมอร์ส ซิก้า และล่าสุดคือโคโรนาไวรัส

เชื้อโรคคือสิ่งที่คงอยู่คู่มนุษย์ฉันใด ความทุกข์ก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตฉันนั้น โลกที่ปลอดเชื้อและชีวิตที่ปลอดทุกข์ เป็นได้แค่ความฝันที่มิอาจเป็นจริง อย่างไรก็ตามแม้รอบตัวเราจะเต็มไปด้วยเชื้อโรค แต่ร่างกายเราก็เป็นปกติสุขอยู่ได้ ไม่ล้มหมอนนอนเสื่อ

ในทำนองเดียวกัน แม้ชีวิตจะเต็มไปด้วยความทุกข์ แต่จิตใจเราก็สงบเย็นเป็นสุขได้ ร่างกายของเราไม่เจ็บป่วยไม่ใช่เพราะไม่มีเชื้อโรค แต่เป็นเพราะรู้จักรับมือกับเชื้อโรค ฉันใดก็ฉันนั้น จิตใจเราไม่เป็นทุกข์ไม่ใช่เพราะทุกอย่างราบรื่น แต่เป็นเพราะเราวางใจเป็นเมื่อเจอทุกข์

กายป่วย แต่ใจไม่ป่วยก็ได้ เสียทรัพย์ แต่ใจไม่เสียก็ได้ เมื่อเจอความล้มเหลว ก็ล้มเหลวแต่งานส่วนใจไม่ล้มเหลว แถมยังได้บทเรียนและเกิดปัญญาเป็นกำไร นั่นเป็นเพราะเรารู้จักมอง ยอมรับมัน ไม่ปฏิเสธผลักไส หรือเอาแต่คร่ำครวญ ตีโพยตีพาย รวมทั้งรู้จักปล่อยวาง ทุกข์นั้นไม่เป็นปัญหา ถ้าเราไม่แบกมัน เช่นเดียวกับก้อนหินจะหนักต่อเมื่อเราแบก คำต่อว่าด่าทอทำอะไรเราไม่ได้ หากเราไม่ถือ คำตำหนิแม้เพียงเล็กน้อย ถ้าเราถือเมื่อใด ก็รุ่มร้อนหรือขึ้งเครียดเมื่อนั้น

เป็นเพราะใจเราเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ ไม่ถูก เมื่อเจอทุกข์ จึงเป็นทุกข์ แต่ถ้ารู้จักรับมือกับสิ่งต่าง ๆ เจอทุกข์ ใจก็ไม่ทุกข์ ใจเราจะฉลาดในการรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ได้ก็เพราะมีการฝึกฝนจนแคล่วคล่อง ถ้าปรารถนาความสุข ก็ต้องให้ความสำคัญกับการฝึกฝนใจ ดังมีพุทธภาษิตว่า “จิตที่ฝึกฝนดีแล้ว นำสุขมาให้”


พระไพศาล วิสาโล

๑๐ปีสวนโมกข์กรุงเทพ คนทุกคนในโลกคือคนๆเดียวกัน








  ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 26, 2020, 02:12:32 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14204
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #700 เมื่อ: มิถุนายน 26, 2020, 10:34:26 am »



ความดีนั้นหากตั้งจิตไว้ไม่ถูกตั้งแต่แรก หรือไม่รู้ทันตนเองเมื่อได้ทำไปแล้ว ก็อาจเปิดช่องให้กิเลสครอบงำใจได้

นอกจากตัณหา (ความอยากได้นั่นได้นี่เป็นผลตอบแทนในทางปรนเปรอตัวตน) และมานะ (ความถือตัวถือตนว่าเหนือกว่าผู้อื่น) แล้ว ทิฏฐิก็เป็นกิเลสอีกชนิดหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น การยึดมั่นในความคิดว่าต้องดีเหมือนตนเท่านั้นจึงจะถูก ถ้าไม่ดีเหมือนตน หรือไม่ดีอย่างที่ตนคิด ก็แสดงว่าผิด

และสิ่งที่มักจะตามมาก็คือ ความไม่พอใจ การดูถูก หรือถึงกับเกลียดชังคนที่ไม่ดีเหมือนตน ยิ่งคน ๆ นั้นเป็นคนใกล้ตัว รู้สึกรักหรือผูกพัน ก็ยิ่งเป็นทุกข์เพราะความผิดหวัง จนกลายเป็นความโกรธเคืองอย่างรุนแรง

ชายผู้หนึ่งเป็นคนชอบทำบุญ ช่วยงานวัดไม่ขาด ส่วนลูกชายนั้นไม่สนใจเข้าวัดเลย ชอบสนุกตามประสาวัยรุ่น พ่อพยายามเคี่ยวเข็นอย่างไรก็ไม่เป็นผล จึงไม่พอใจลูก ในที่สุดก็มีปากเสียงกันจนลูกไม่คุยกับพ่อ พ่อยิ่งขุ่นเคืองใจหนักขึ้นเพราะไม่คิดว่าลูกจะปฏิบัติกับพ่ออย่างนั้น

วันหนึ่งลูกขอยืมรถพ่อขับไปบ้านเพื่อน พ่อปฏิเสธเพราะค่ำแล้ว ลูกควรอยู่บ้าน แต่พอพ่อเผลอ ลูกก็แอบเอารถพ่อไปใช้ พ่อโกรธมากที่ลูกไม่เชื่อฟังพ่อ ไปตามลูกกลับมา เมื่อถึงบ้านก็ทะเลาะกันอย่างรุนแรง ด้วยอารมณ์โกรธชั่ววูบ พ่อเห็นปืนอยู่ใกล้ ๆ จึงคว้าปืนมายิงลูกตาย พอรู้ตัวว่าได้ทำอะไรลงไป ก็ทำใจไม่ได้ ยิงตัวตายไปพร้อมกับลูก

พ่อนั้นเป็นคนธัมมะธัมโม อยากให้ลูกเป็นคนดี แต่พอลูกไม่ดีอย่างที่ตนคิด ก็ไม่พอใจลูก ทั้ง ๆ ที่ลูกไม่ได้เที่ยวสำมะเลเทเมาที่ไหน ความไม่พอใจกลายเป็นความโกรธเมื่อลูกมึนตึงกับตน เพราะคนดีย่อมไม่ทำเช่นนั้นกับพ่อบังเกิดเกล้า ยิ่งลูกขัดขืนคำสั่งของพ่อ แถมไม่ยอมรับผิด เถียงพ่อไม่หยุดหย่อน ใช้ถ้อยคำรุนแรง ขาดสัมมาคารวะ พ่อก็ยิ่งโกรธลูก จากความโกรธก็ลามเป็นความเกลียด จนในที่สุดก็ห้ามใจไม่อยู่ ยิงลูกตายคาที่

ความดีนั้นหากยึดติดถือมั่นมาก สามารถนำไปสู่การทำชั่วได้ไม่ยาก เพราะเมื่อพบว่าคนอื่นไม่ดีเหมือนตน หรือไม่ดีตามความคิดของตน ย่อมเกิดความเกลียดและโกรธตามมา ถ้าไม่รู้ทัน ปล่อยให้มันครองใจ ก็สามารถทำร้ายเขาได้ง่ายมาก ไม่ด้วยการกระทำก็ด้วยคำพูด

จะว่าไปแล้วความยึดติดถือมั่นนั้นไม่ว่ากับอะไรก็ตาม แม้กระทั่งกับสิ่งที่ดีงามหรือประเสริฐ ก็สามารถผลักดันให้เราทำสิ่งที่เลวร้ายได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะเมื่อเจอคนที่ไม่ได้ยึดถือสิ่งเดียวกับเรา เช่น ศาสนา ศีลธรรม อุดมการณ์ หรือประเพณีพิธีกรรม ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยจับอาวุธเข่นฆ่าเพื่อนมนุษย์ในนามของศาสนาหรืออุดมการณ์ที่ถือว่าดีงาม

เมื่อใดก็ตามที่เราเชื่อมั่นว่าเรากำลังยึดถือสิ่งที่ดีงาม เป็นไปได้ง่ายมากที่เราจะมองคนที่คิดหรือนับถือต่างจากเราว่าเป็นคนที่หลงผิด และเห็นเขาเป็นคนเลวในที่สุด ทันทีที่เห็นว่าเขาเป็นคนเลว ความเกลียดโกรธก็ตามมา จากนั้นการมุ่งร้ายก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก

เริ่มจากการประณามหยามเหยียดเขาอย่างสาดเสียเทเสีย ต่อด้วยการทำร้ายเขาด้วยวิธีสกปรก โดยรู้สึกว่าตนมีความชอบธรรมที่จะกระทำเช่นนั้น (“คนเลว ๆ อย่างมัน สมควรแล้วที่จะต้องเจอแบบนี้”) กลายเป็นว่ายิ่งเห็นเขาเป็นคนเลวมากเท่าไร ก็ยิ่งประจานตัวเองด้วยการทำสิ่งเลวร้ายมากเท่านั้น ยิ่งคิดว่าตัวเองดีเลิศประเสริฐกว่าผู้อื่น ก็ยิ่งถลำเข้าสู่ความเสื่อมจนตกต่ำย่ำแย่กว่าเขา


ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล

รวมบทความ งานเขียน ธรรมบรรยาย ===> http://www.visalo.org/?fbclid=IwAR1JE3l6aB2BUVqe2EG3PP8NV4gVylDziYgdcIpjbeu6Hd6idBIbCvZIChg








  ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 26, 2020, 10:40:40 am โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14204
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #701 เมื่อ: มิถุนายน 26, 2020, 10:39:22 am »




คราวหนึ่งอาตมาเดินขึ้นดอยไปกับคณะธรรมยาตรา มัคคุเทศก์ที่เป็นชาวเขาเขาแนะว่าให้เดินไปเรื่อยๆ ไม่ต้องรีบเดิน แต่เนื่องจากอาตมาติดนิสัยคนเมือง ชอบเดินไว พอขึ้นเขาก็เดินจ้ำเลย ไม่นานก็เหนื่อย อยากจะพัก มัคคุเทศก์ก็บอกว่าอย่าพักนะ เพราะการนั่งทำให้เส้นตึง การเดินขึ้นเขาแบบจ้ำเอา ๆ ทำให้เหนื่อยเร็ว ยิ่งเดินก็ยิ่งเหนื่อย

ตอนหลังจึงพยายามคุมสติ มีสติกับการเดินแต่ละก้าว เดินช้า ๆ ไม่รีบ ตามลมหายใจไปพร้อมกับการเดินทีละก้าว ทีละก้าว เหมือนกับหนังสโลว์โมชั่น (Slow Motion) บางครั้งใจอยากจะรีบไปให้ถึงก็เผลอจ้ำเท้า แต่พอเรามีสติก็ถอนความรีบความเร่งออกมา เดินช้าๆ ปรากฎว่าสามารถเดินได้เรื่อย ๆ โดยไม่ต้องหยุดพักเลยก็ได้

ทำไมถึงไม่ต้องพัก ก็เพราะเราได้พักในแต่ละก้าวแล้ว พักในแต่ละก้าวที่เดินขึ้นเขา

มีฝรั่งคนหนึ่งเดินเร็ว เขาต้องการแสดงความสามารถอะไรไม่ทราบ ก็เดินจ้ำเอา ๆ ๆ เสร็จแล้วปรากฏว่าเราซึ่งเดินช้า ๆ สบาย ๆ กลับเดินผ่านเขาไป เพราะว่าเขานั่งพักหอบแฮ่ก ๆ

การเดินช้าๆ นี่กลับทำให้ถึงไว ในที่สุดก็ไปถึงก่อนใคร ๆ เพราะว่าเปลี่ยนวิธีการเดิน คือเดินช้าๆ ไม่รีบ ไม่เร่ง ไม่คิดจะไปให้ถึง แล้วก็ไม่สนใจเป้าหมาย ไม่สนใจเวลา ใจจดจ่ออยู่กับแต่ละก้าวโดยประสานกับลมหายใจ

ก็เลยได้คิดขึ้นมาว่า ยิ่งรีบให้ถึงไวๆ กลับถึงช้า แต่พอไม่รีบ กลับถึงก่อน ถึงก่อนเพราะไม่ต้องพัก เพราะได้พักในแต่ละก้าวอยู่แล้ว

คนเรามักคิดว่า เดินก็ส่วนเดิน พักก็ส่วนพัก คนละเรื่องกัน ที่จริงไม่ใช่ การเดินสามารถเป็นการพักในตัวได้ ในทำนองเดียวกัน เวลาทำงานเราสามารถพักไปในตัวได้ โดยไม่ต้องอู้งานเลยด้วยซ้ำ

อย่าคิดว่าการทำงานกับการพักเป็นคนละเรื่องคนละส่วน เวลานี้ทำงาน เวลานั้นพัก ความจริงเราสามารถทำให้การงานเป็นการพักไปด้วยกันได้ โดยเฉพาะถ้าเรามีสติอยู่กับงาน ไม่เร่งไม่รีบ ไม่รน ถ้ารนเมื่อไหร่ก็จะเหนื่อย เพราะจะหักโหม จะเร่งให้เสร็จไว ๆ

ข้างนอกอาจดูเฉยๆ แต่ข้างในใจร้อนผ่าวเพราะอยากจะถึงไว ๆ ลองสังเกตดูก็ได้เวลาเดินจงกรมทำสมาธิ พอบอกว่าให้ทำสมาธิชั่วโมงหนึ่ง ทำไป ๆ ใจก็จดจ่ออยู่กับนาฬิกาว่า เมื่อไหร่จะครบชั่วโมง ทีนี้แหละการเดินหรือการปฏิบัติธรรมก็กลายเป็นเรื่องยากเรื่องทุกข์ขึ้นมา เพราะเฝ้าคอยว่าเมื่อไหร่จะถึงเวลาเลิก เกิดอาการรนหรือร้อนขึ้นมา เลยทำด้วยความทุกข์ แต่พอไม่สนใจเวลา เวลากลับผ่านไปอย่างรวดเร็ว

เพราะฉะนั้นเวลาทำงาน ถ้าเราสามารถทำให้การงานกับการพักไปด้วยกันได้ จะดีมาก

พระไพศาล วิสาโล

เติมธรรมะลงในชีวิต ๑๐ปีสวนโมกข์กรุงเทพ







  ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 06, 2020, 06:34:19 am โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14204
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #702 เมื่อ: มิถุนายน 26, 2020, 10:44:38 am »





พวกเรานับถือพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ต้องนับถือให้เป็น นับถือให้ถูก ไม่ได้หวังพึ่งอิทธิปาฏิหาริย์ หรืออานุภาพจากพระองค์

หลายคนยังเชื่อว่า พระพุทธเจ้าแม้เสด็จดับขันธ์พระปรินิพานไปแล้ว ก็สามารถอำนวยอวยผลให้กับตนเองได้ ถ้าหากว่าทำบุญเยอะๆ มีศรัทธามากๆ หล่อพระพุทธรูป ไม่สนใจว่าพระองค์สอนอะไร อันนี้เป็นศรัทธาที่ไม่ถูกต้อง

การมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ต้องปฏิบัติให้ถูก คือนับถือเพื่อที่จะให้เราจิตใจสูงขึ้น กิเลสน้อยลง ความเห็นแก่ตัวน้อยลง อวิชชาน้อยลง การนับถือเพื่อยกจิตเราให้สูงขึ้น ไม่ใช่นับถือแบบยึดติดแล้วดึงให้พระรัตนตรัยต่ำลง

มี 2 อย่าง คือ การยึดถือ และการนับถือ

นับถือทำให้จิตใจเราสูงขึ้น เพราะท่านเป็นของสูง ยิ่งเรานับถือ กาย วาจา ใจเราก็งดงาม กิเลสก็เบาบาง อันนี้เรียกว่านับถือแล้วจิตใจสูงขึ้น แต่นับถือไม่ถูกทำให้พระรัตนตรัยถูกฉุดลงมาต่ำลง มาสนองกิเลสของเรา

เดี๋ยวนี้เราก็เห็นว่า การนับถือของชาวพุทธจำนวนมากทำให้พระรัตนตรัยต่ำลง เห็นพระพุทธเจ้าเป็นเพียงแค่ผู้วิเศษ ที่จะมาสนองกิเลสของเรา เจอพระพุทธรูปแทนที่จะทำให้จิตใจมีศรัทธาในการประพฤติปฏิบัติ กลับนึกถึงว่าพระพุทธรูปจะบอกหวยให้เลขอะไรกับเราบ้าง กลายเป็นว่า พระพุทธรูปเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สนองกิเลสของเรา แต่ไม่ใช่เป็นตัวแทนแห่งธรรมะ ที่ทำให้จิตใจเราสูงขึ้นหรืออย่างน้อยสงบจากกิเลส หายเร่าร้อนเพราะความทุกข์...

ควรตรวจสอบศรัทธาของเราว่าเป็นแบบไหน ไม่ว่าศรัทธาในพระรัตนตรัย ศรัทธาในครูบาอาจารย์ เป็นศรัทธาแบบงมงาย หรือเป็นศรัทธาประกอบไปด้วยปัญญา เป็นศรัทธาที่มุ่งสนองตัวกู หรือเอาธรรมะเป็นใหญ่

ถ้าเรามีศรัทธาที่ถูกต้อง เป็นศรัทธาที่ประกอบไปด้วยปัญญา ทำความเพียร มุ่งลดละกิเลส ถือเป็นศรัทธาที่ทำให้ชีวิตจิตใจเจริญงอกงาม และเป็นการผดุงเชิดชูพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง


พระไพศาล วิสาโล

อ่าน/ฟัง ได้ที่ https://pagoda.or.th/aj-visalo/2020-05-03-16-05-52.html

เติมธรรมะลงในชีวิต ๑๐ปีสวนโมกข์กรุงเทพ








  ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 26, 2020, 02:29:02 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14204
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #703 เมื่อ: มิถุนายน 26, 2020, 10:48:55 am »




หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ท่านเป็นเกจิอาจารย์ชื่อดัง เป็นอาจารย์ของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ หลวงพ่อปานเคยเล่าว่าสมัยที่ท่านยังเป็นเด็ก 3-4ขวบ วันหนึ่งยายใกล้จะตาย...ลูกหลานก็มาพูดเพื่อนำทางผู้ตาย ประเพณีคือมาบอก อะระหัง กับผู้ที่กำลังจะตายคือยายว่า

“อะระหัง อะระหัง นะแม่ ภาวนา อะระหัง ไว้นะ เดี๋ยวพระอรหันต์จะมาช่วย”

ก็พูด อะระหัง อะระหัง อยู่หลายครั้ง จนกระทั่งยายสิ้นลม

ต่อมาหลังจากนั้นไม่กี่วัน ขณะที่กำลังกินข้าวอยู่ คนไทยสมัยก่อนกินข้าวเป็นวงพร้อมกันพร้อมหน้า เด็กชายปานอารมณ์ดีครึ้มอกครึ้มใจอาหารอร่อยเลยพูดขึ้นมาว่า อะระหัง อะระหัง ปรากฏว่าแม่โกรธมากเลย บอกว่า

“มึงจะไปตายก็ไปตายคนเดียว จะมาพูด อะระหัง ที่นี่ได้ยังไง คำว่า อะระหัง คนจะตายเขาถึงจะพูดกัน แล้วมึงมาพูด อะระหัง เนี่ยนะ เป็นลางร้ายจะแช่งให้คนอื่นพลอยตายไปด้วย”

เด็กงงเลย ที่จริงก็น่าจะงงนะ ถ้าอาตมาอยู่ตรงนั้นคงงงเหมือนกัน เพราะว่า อะระหัง เป็นคำดี อย่างเมื่อกี้เราก็สวด สัมมาอะระหัง ดีเพราะอะไร เพราะทำให้เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า

อะระหัง แปลว่า ผู้ไกลจากกิเลส เป็นคุณนาม หรือคุณสมบัติอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า เรียกว่า อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ แปลว่าเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง

คนจำนวนมากสมัยก่อน อาจจะรวมถึงสมัยนี้ด้วย ไปเข้าใจว่าคำว่า อะระหัง เอาไว้พูดกับคนตาย หรือคนใกล้ตาย

จนกระทั่งตอนหลังเด็กชายปานมาบวชพระจนได้เข้าใจว่า อะระหัง เป็นคำดี เป็นสุดยอดเลย คำว่า ไกลจากกิเลส หรือพ้นกิเลส พ้นทุกข์ เป็นของดี ของวิเศษทีเดียว

ตอนหลังก็มาแนะนำให้โยมแม่เข้าใจว่า อะระหัง แปลว่าอะไร แล้วก็ไม่ได้ใช้เฉพาะเวลาพูดกับคนตาย เวลาถวายสังฆทาน เวลาจะทำความดี เวลาจะรักษาศีล สมาทานศีล เราก็อ้างถึงคุณพระรัตนตรัย...

เรื่องนี้ชี้ให้เห็นสิ่งที่ลึกไปกว่านั้นอีก คือไปเกิดความเข้าใจว่าธรรมะจะเอามาใช้ก็ต่อเมื่อในยามที่ประสบทุกข์ หรือว่าจะนึกถึงธรรมะก็ในยามที่เจ็บป่วยใกล้ตาย จะใกล้ตายแล้วค่อยมาเอ่ยถึง อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ หรือว่านึกถึงพระพุทธเจ้า นึกถึงพระอรหันต์

แต่ในเวลาปกตินึกถึงก็ดีพูดถึงก็ดี กลายเป็นไม่ดีไป กลายเป็นแช่งไป หรือว่าเวลาปกติแล้วก็ไม่นึกถึงพระธรรม ไม่นึกถึงคำสอนของพระเจ้าเลย ก็ไม่ถูกนะ

เพราะยิ่งเวลาปกติ ยิ่งเวลามีความสุข มีความสำเร็จ มีความเจริญ ยิ่งต้องนึกถึงธรรมะให้มากๆ เพราะว่าความสุข ความเจริญ ความสำเร็จ ยังไงก็ไม่เที่ยง สักวันหนึ่งต้องเสื่อมต้องสลายไป สุขภาพที่เราดีวันนี้ สักวันหนึ่งก็ต้องกลายเป็นเจ็บต้องป่วย ที่ยังหนุ่มยังสาวต่อไปก็ต้องแก่ต้องเหี่ยวย่น ที่ร่ำรวยก็อาจจะกลายเป็นตกอับยากจนก็ได้

นักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิกบางคนได้เงินมา 40 ล้านบาท วันดีคืนคืนดีผ่านไป 7-8ปี กลายเป็นหนี้ซะแล้ว เป็นหนี้เป็นล้านเลย แถมบางคนติดเหล้าซะอีก เพราะอะไร เพราะว่าไม่ได้เฉลียวใจ ไม่ได้คิดว่าความสำเร็จ ความร่ำรวยเป็นของไม่เที่ยง ถ้าเกิดตอนที่เราสำเร็จ มีความสุข ระลึกถึงธรรมะเอาไว้ จะได้เตือนใจว่าถึงเวลาเสื่อม ถึงเวลาขาลง จะได้ไม่ทุกข์

อย่าไปคิดว่าธรรมะเอาไว้ใช้หรือนึกถึงเฉพาะตอนที่มีทุกข์ หลายคนพออกหัก ตกงาน เจ็บป่วยถึงค่อยนึกถึงพระ นึกถึงวัด ก็ดีอยู่นะ ดีกว่าไปนึกถึงเหล้า ไปนึกถึงอบายมุข หรือคิดฆ่าตัวตาย แต่ว่าถ้าจะให้ดีในยามสุขก็ต้องคิดถึงธรรมะ คิดถึงวัด คิดถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไว้ด้วย ไม่ใช่คิดถึงอย่างเดียว ปฏิบัติด้วย จะทำให้ได้รับประโยชน์ในฐานะที่เป็นชาวพุทธอย่างเต็มที่

พระไพศาล วิสาโล

ฟัง/อ่าน ได้ที่ https://pagoda.or.th/aj-visalo/2020-05-03-16-07-35.html








  ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 26, 2020, 11:00:08 am โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14204
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #704 เมื่อ: มิถุนายน 26, 2020, 10:54:56 am »



 
เวลาเราเอาขยะไปทิ้งโคนต้นไม้ บางทีก็เอาอุจจาระและซากพืชซากสัตว์ไปทิ้ง เหม็นก็เหม็น แต่เกิดอะไรขึ้นกับขยะและซากพืชซากสัตว์เหล่านั้น ปรากฏว่ารากต้นไม้เปลี่ยนขยะปฏิกูลและสิ่งเน่าเหม็นทั้งหลายให้กลายเป็นใบไม้และดอกไม้ไม้ที่สวยงาม เปลี่ยนอุจจาระปัสสาวะทั้งหลายให้กลายเป็นผลไม้ที่อร่อยหวานหอม

ผลไม้ที่เรากินลองพิจารณาดูเถอะ มันมาจากขยะทั้งนั้น ยิ่งถ้าเป็นบ้านนอก ก็ต้องรวมมูลสัตว์เข้าไปด้วย แต่จะเป็นอุจจาระปัสสาวะ ขี้หมูหรือขี้คน ต้นไม้ไม่เคยกลัวเลย รากไม้เปลี่ยนหมดให้กลายเป็นของดีของงาม ของหวานมีราคา กลายเป็นคุณประโยชน์แก่โลก

ทั้งใบและรากไม้ สามารถเปลี่ยนของที่เราไม่ชอบให้กลายเป็นของที่เราชอบได้ หรือจะพูดอีกอย่างก็คือเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี

คนเราต้องเรียนรู้จากต้นไม้บ้าง ต้นไม้เขาเปลี่ยนขยะปฏิกูลให้กลายเป็นดอกไม้ เปลี่ยนแดดร้อนให้กลายเป็นร่มเย็น เราก็ต้องรู้จักเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี ถ้าเราทำอย่างนี้ไม่ได้เราก็สู้ต้นไม้ไม่ได้ แต่ที่จริงทุก ๆ คนมีความสามารถที่จะทำอย่างต้นไม้ได้

เรามาลองดูว่าเราเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดีได้อย่างไร อย่างคนที่ทำงานหนัก ยิ่งเจองานหนักมากเท่าไหร่เขายิ่งมีความอดทนความเข้มแข็ง การใช้แรงแม้จะทำให้เราเหนื่อย แต่ก็ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานดี บางครั้งมีเชื้อโรคเข้าไป ปรากฏว่าเชื้อโรคกลับทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานดีขึ้น สุขภาพแข็งแรง นี่ก็เรียกว่าเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี

ร่างกายของเราสามารถเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดีได้โดยที่เราไม่รู้ตัว มันเป็นธรรมชาติของร่างกายซึ่งทำงานเองโดยเราไม่ต้องสั่ง


ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล







  ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 26, 2020, 11:57:35 am โดย ยาใจ »