แสดงกระทู้

ส่วนนี้จะช่วยให้คุณสามารถดูกระทู้ทั้งหมดสมาชิกนี้ โปรดทราบว่าคุณสามารถเห็นเฉพาะกระทู้ในพื้นที่ที่คุณเข้าถึงในขณะนี้


แสดงหัวข้อ - shad

หน้า: [1] 2
1
หนังสือ “รู้จักพระไตรปิฎก ให้ชัด ให้ตรง”
พระพรหมคุณาภรณ์


ดาวน์โหลดหนังสือ
http://www.watnyanaves.net/uploads/File/books/pdf/know_the_pali_canon_clearly_and_correctly.pdf   
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐


ปรารภ

หนังสือนี้ถือว่าเขียนพอเสร็จให้อ่านไปพลางก่อน เพราะเรื่องที่ปรารภเกิดขึ้นนานแล้วจึงทราบ ควรเร่งให้ความรู้กันไปขั้นหนึ่งก่อนไม่ให้เป็นความประมาท เมื่อใดทราบเรื่องราวที่เป็นไปละเอียดขึ้น ถ้าเวลาอำนวยและร่างกายยังไหว อาจจะได้ต่อได้เติม

เรื่องราวจำพวกปัญหาที่เกิดทยอยมาระยะนี้ แสดงชัดถึงสภาพของพุทธบริษัท ที่คนไทยเหินห่างจากเนื้อตัวของพระพุทธศาสนา ขาดความรู้หลักธรรมวินัย ไม่รู้จักคำพระคำวัดที่พูดจาคุ้นกันมาจนกลายเป็นคำพูดสามัญในสังคมไทย มีแต่ความเข้าใจผิดพลาดเพี้ยนกันไป เมื่อมีเรื่องจำพวกปัญหาเกิดขึ้น ถ้าไม่ถึงกับหลงไปตามเขา ก็มองไม่ออก ตัดสินไม่ได้

จำเป็นต้องรีบตื่นกันขึ้นมา ข้อสำคัญที่สุดอยู่ที่ต้องหาต้องให้ความรู้เข้าใจที่ถูกต้อง คือต้องศึกษา เมื่อรู้เข้าใจเพียงพอแล้ว มีอะไรเกิดขึ้นมา ก็สามารถพิจารณา มองออกและบอกได้ทันที

หนังสือ รู้จักพระไตรปิฎก ให้ชัด ให้ตรง นี้ มิใช่จะตอบโต้ใครแต่มุ่งรักษาประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ อย่างน้อยให้ปลอดพ้นความรู้ผิดเข้าใจพลาดที่เป็นภัยสำคัญ หลายอย่างคงจะยากสักหน่อย แต่ว่าด้วยเรื่องที่จำ เป็นต้องรู้ เพื่อมีคุณสมบัติสมกับที่ได้นับถือพระพุทธศาสนา จึงพึงอดทนศึกษา เหมือนเป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็นพุทธศาสนิกชน

ผู้เขียน (พระพรหมคุณาภรณ์)
๑๒ มีนาคม ๒๕๕๘

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

2
ธรรมะจากพระสูตร / คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑
« เมื่อ: พฤศจิกายน 05, 2014, 01:18:27 pm »
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗
ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท
ยมกวรรคที่ ๑


คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=268&Z=329

อรรถกถา
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=11

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐


๐ ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจ ถ้าบุคคลมีใจอันโทษประทุษร้ายแล้ว กล่าวอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม ทุกข์ย่อมไปตามบุคคลนั้น เพราะทุจริต ๓ อย่างนั้น เหมือนล้อหมุนไปตามรอยเท้าโคผู้ลากเกวียนไปอยู่ ฉะนั้น

๐ ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจ ถ้าบุคคลมีใจผ่องใส กล่าวอยู่ก็ตามทำอยู่ก็ตาม สุขย่อมไปตามบุคคลนั้น เพราะสุจริต ๓ อย่างเหมือนเงามีปรกติไปตาม ฉะนั้น

๐ ก็ชนเหล่าใดเข้าไปผูกเวรไว้ว่า คนโน้นด่าเรา คนโน้นได้ตีเรา คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักสิ่งของๆ เรา ดังนี้ เวรของชนเหล่านั้นย่อมไม่ระงับ

ส่วนชนเหล่าใดไม่เข้าไปผูกเวรไว้ว่า คนโน้นด่าเรา คนโน้นได้ตีเรา คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักสิ่งของๆ เรา ดังนี้ เวรของชนเหล่านั้นย่อมระงับ

๐ ในกาลไหนๆ เวรในโลกนี้ย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย แต่ย่อมระงับเพราะความไม่จองเวร ธรรมนี้เป็นของเก่า

๐ ก็ชนเหล่าอื่นไม่รู้สึกว่า พวกเราย่อมยุบยับในท่ามกลางสงฆ์นี้ ส่วนชนเหล่าใดในท่ามกลางสงฆ์นั้น ย่อมรู้สึก ความหมายมั่นย่อมระงับจากชนเหล่านั้น

๐ มารย่อมรังควาญบุคคลผู้มีปรกติเห็นอารมณ์ว่างาม ผู้ไม่สำรวมแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้ประมาณในโภชนะ เกียจคร้าน มีความเพียรเลว เหมือนลมระรานต้นไม้ที่ทุรพล ฉะนั้น

มารย่อมรังควาญไม่ได้ซึ่งบุคคลผู้มีปรกติเห็นอารมณ์ว่าไม่งามอยู่ สำรวมดีแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณในโภชนะ มีศรัทธา ปรารภความเพียร เหมือนลมระรานภูเขาหินไม่ได้ ฉะนั้น

๐ ผู้ใดยังไม่หมดกิเลสดุจน้ำฝาดปราศจากทมะและสัจจะจักนุ่งห่มผ้ากาสายะผู้นั้นไม่ควรเพื่อจะนุ่งห่มผ้ากาสายะ ส่วนผู้ใดมีกิเลสดุจน้ำฝาดอันคายแล้ว ตั้งมั่นแล้วในศีลประกอบด้วยทมะและสัจจะ ผู้นั้นแลย่อมควรเพื่อจะนุ่งห่มผ้ากาสาวะ

๐ ชนเหล่าใดมีความรู้ในธรรมอันหาสาระมิได้ว่าเป็นสาระ และมีปกติเห็นในธรรมอันเป็นสาระ ว่าไม่เป็นสาระ ชนเหล่านั้นมีความดำริผิดเป็นโคจร ย่อมไม่บรรลุธรรมอันเป็นสาระ

ชนเหล่าใดรู้ธรรมอันเป็นสาระ โดยความเป็นสาระ และรู้ธรรมอันหาสาระมิได้ โดยความเป็นธรรมอันหาสาระมิได้ ชนเหล่านั้นมีความดำริชอบเป็นโคจร ย่อมบรรลุธรรมอันเป็นสาระ

๐ ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่บุคคลมุงไม่ดี ฉันใด ราคะย่อมรั่วรดจิตที่บุคคลไม่อบรมแล้ว ฉันนั้น ฝนย่อมไม่รั่วรดเรือนที่บุคคลมุงดี ฉันใด ราคะย่อมไม่รั่วรดจิตที่บุคคลอบรมดีแล้วฉันนั้น

๐ บุคคลผู้ทำบาปย่อมเศร้าโศกในโลกนี้ย่อมเศร้าโศกในโลกหน้า ย่อมเศร้าโศกในโลกทั้งสอง บุคคลผู้ทำบาปนั้นย่อมเศร้าโศก บุคคลผู้ทำบาปนั้นเห็นกรรมที่เศร้าหมองของตนแล้ว ย่อมเดือดร้อน

๐ ผู้ทำบุญไว้แล้วย่อมบันเทิงในโลกนี้ ย่อมบันเทิงในโลกหน้า ย่อมบันเทิงในโลกทั้งสอง ผู้ทำบุญไว้แล้วนั้นย่อมบันเทิง ผู้ทำบุญไว้แล้วนั้นเห็นความบริสุทธิ์แห่งกรรมของตนแล้ว ย่อมบันเทิงอย่างยิ่ง

๐ บุคคลผู้ทำบาปย่อมเดือดร้อนในโลกนี้ ย่อมเดือดร้อนในโลกหน้า ย่อมเดือดร้อนในโลกทั้งสอง บุคคลผู้ทำบาปนั้นย่อมเดือดร้อนว่า
บาปเราทำแล้ว บุคคลผู้ทำบาปนั้นไปสู่ทุคติแล้ว ย่อมเดือดร้อนโดยยิ่ง

๐ ผู้ทำบุญไว้แล้วย่อมเพลิดเพลินในโลกนี้ ย่อมเพลิดเพลินในโลกหน้า ย่อมเพลิดเพลินในโลกทั้งสอง ผู้ทำบุญไว้แล้วย่อมเพลิดเพลินว่า บุญอันเราทำไว้แล้ว ผู้ทำบุญไว้แล้วนั้นไปสู่สุคติ ย่อมเพลิดเพลินโดยยิ่ง

๐ หากว่านรชนกล่าวคำอันมีประโยชน์แม้มาก แต่เป็นผู้ไม่ทำกรรมอันการกบุคคลพึงกระทำ เป็นผู้ประมาทแล้วไซร้ นรชนนั้นย่อมไม่เป็นผู้มีส่วนแห่งคุณเครื่องความเป็นสมณะ ประดุจนายโคบาลนับโคของชนเหล่าอื่น ย่อมไม่มีส่วนแห่งปัญจโครส ฉะนั้น

หากว่านรชนกล่าวคำอันมีประโยชน์แม้น้อยย่อมประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ละราคะ โทสะ และโมหะแล้ว รู้ทั่วโดยชอบ มีจิตหลุดพ้นด้วยดีแล้ว ไม่ถือมั่นในโลกนี้หรือในโลกหน้า นรชนนั้นย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งคุณเครื่องความเป็นสมณะ ฯ

จบยมกวรรคที่ ๑
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

3
การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย นอกจากเรื่อง "ใจ" แล้ว
เรื่อง "ความรู้" ก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐


ความตาย ภาวะใกล้ตาย นับเป็นภาวะวิกฤตของมนุษย์ ผู้กำลังเผชิญกับภาวะเช่นนี้ ทั้งตัวผู้ป่วยเองและผู้ใกล้ชิด มักมีความทุกข์ไม่เพียงทางร่างกาย แต่รวมไปถึงจิตใจ อารมณ์ สังคมและจิตวิญญาณ ซึ่งมีผลกระทบต่อการแสดงออกทั้งภาษาพูด และภาษากาย มีผลกระทบต่อการรับฟัง รับรู้และเข้าใจ ในขณะเดียวกัน ก็จะไวต่อคำพูด หรือการแสดงออกของบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง เพี่อนฝูง อาสาสมัคร รวมถึงบุคลากรสุขภาพ

การสื่อสาร วิถีที่เชื่อมโยงผู้ป่วย ผู้ใกล้ชิดและบุคลากรสุขภาพไว้ด้วยกันในช่วงเวลาดังกล่าว จึงมีความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ การสื่อสารที่จะช่วยให้ทุกคนเข้าใจความรู้สึก ความต้องการของกันและกัน นอกจากต้องอาศัยหลักการตามทฤษฎีที่มีผู้รวบรวมไว้แล้ว ยังต้องอาศัยทักษะ ประสบการณ์ที่สะสมจากการปฏิบัติจริงตามบริบทที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย

หนังสือความตาย ภาวะใกล้ตาย สื่ออย่างไรให้เข้า (ถึง) ใจ
หนังสือในโครงการจัดการความรู้ สุขภาวะระยะท้าย

เปิดอ่านและ Download ได้ ที่ http://goo.gl/zF7Fk1

[จากการถอดบทเรียน บันทึกชุมชนคนทำงาน ระหว่างเดือน ธค. 2556 - กพ. 2557 ซึ่งรวบรวมไว้ที่  https://www.gotoknow.org/posts/555440]

4
ฐานสูตร : ฐานะ ๕ ประการควรพิจารณาเนืองๆ

[๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๕ ประการนี้ อันสตรี บุรุษ คฤหัสถ์หรือบรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ

๕ ประการเป็นไฉน คือ สตรี บุรุษ คฤหัสถ์หรือบรรพชิต ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า

๐ เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ๑
๐ เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ ๑
๐ เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ๑
๐ เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ๑
๐ เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ๑

..........................................

๐๐ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า “เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้”

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความมัวเมาในความเป็นหนุ่มสาวมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลาย “ประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ” เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ “ย่อมละความมัวเมาในความเป็นหนุ่มสาวนั้นได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้”

*ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ฯ

๐๐ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า “เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้”

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความมัวเมาในความไม่มีโรคมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลาย “ประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ” เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ “ย่อมละความมัวเมาในความไม่มีโรคนั้นได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้”

*ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไปได้ ฯ

๐๐ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า “เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้น ความตายไปได้”

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความมัวเมาในชีวิตมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลาย “ประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ” เมื่อเขาพิจารณาฐานะ นั้นอยู่เนืองๆ ย่อม “ละความมัวเมาในชีวิตนั้นได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้”

*ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล สตรี บุรุษ คฤหัสถ์หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้

๐๐ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร สตรี บุรุษ คฤหัสถ์หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า “เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น”

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความพอใจ ความรักใคร่ในของรักมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลาย “ประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ” เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ “ย่อมละความพอใจ ความรักใคร่นั้นได้โดยสิ้นเชิงหรือทำให้เบาบางลงได้”

*ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แลสตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ฯ

๐๐ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร สตรี บุรุษ คฤหัสถ์หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า “เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใดดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น”

ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต มีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ “ย่อมละทุจริตได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้”

*ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิดมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น

...................................

โดยสรุป

ควรพิจารณาอยู่เนืองๆ เนื่องจาก ฐานะ ๕ นี้ จะเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลาย “ประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ” แต่เมื่อได้พิจารณาอยู่เนืองๆ “ย่อมละได้โดยสิ้นเชิง หรือ ทำให้เบาบางลงได้”

๐ พิจารณาเนืองๆ ว่า “เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้” : ความมัวเมาในความเป็นหนุ่มสาวมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลาย “ประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ” เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ “ย่อมละความมัวเมาในความเป็นหนุ่มสาวนั้นได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้”

 ๐ พิจารณาเนืองๆ ว่า “เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้” : ความมัวเมาในความไม่มีโรคมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลาย “ประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ” เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ “ย่อมละความมัวเมาในความไม่มีโรคนั้นได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้”

 ๐ พิจารณาเนืองๆ ว่า “เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้น ความตายไปได้” : ความมัวเมาในชีวิตมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลาย “ประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ” เมื่อเขาพิจารณาฐานะ นั้นอยู่เนืองๆ ย่อม “ละความมัวเมาในชีวิตนั้นได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้”

 ๐ ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า “เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น” : ความพอใจ ความรักใคร่ในของรักมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลาย “ประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ” เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ “ย่อมละความพอใจ ความรักใคร่นั้นได้โดยสิ้นเชิงหรือทำให้เบาบางลงได้”

๐ ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า “เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใดดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น” : กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต มีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ “ย่อมละทุจริตได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้”

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
 
อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ นิวรณวรรค  ฐานสูตร
 http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=22&A=1649&Z=1741

5
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค​อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระอ​งค์นั้น

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓
อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
จตุตถปัณณาสก์

โยธาชีววรรคที่ ๔
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=21&A=4617&Z=4990


จากพระสูตร

[๑๘๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล วัสการพราหมณ์ผู้เป็นมหาอำมาตย์ในแคว้นมคธ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า

๐ ผู้ใดผู้หนึ่งย่อมกล่าวสิ่งที่ตนเห็นว่า เราเห็นอย่างนี้ โทษแต่การพูดนั้นไม่มี
 
๐ ผู้ใดผู้หนึ่งย่อมกล่าวสิ่งที่ตนได้ฟังมาว่า เราได้ฟังมาอย่างนี้โทษแต่การพูดนั้นไม่มี

๐ ผู้ใดผู้หนึ่งย่อมกล่าวสิ่งที่ตนทราบ (ทางจมูก ลิ้น กาย) ว่า เราทราบอย่างนี้ โทษแต่การพูดนั้นไม่มี

๐ ผู้ใดผู้หนึ่งย่อมกล่าวสิ่งที่ตนรู้แจ้ง (ทางใจ) ว่า เรารู้แจ้งอย่างนี้ โทษแต่การพูดนั้นไม่มี ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรพราหมณ์
๐ เราไม่กล่าวสิ่งที่เห็นทั้งหมดว่าควรกล่าว และไม่กล่าวสิ่งที่เห็นทั้งหมดว่า ไม่ควรกล่าว

๐ เราไม่กล่าวสิ่งที่ได้ฟังทั้งหมดว่า ควรกล่าว และไม่กล่าวสิ่งที่ได้ฟังทั้งหมดว่า ไม่ควรกล่าว

๐ เราไม่กล่าวสิ่งที่ทราบทั้งหมดว่า ควรกล่าว และไม่กล่าวสิ่งที่ทราบทั้งหมดว่า ไม่ควรกล่าว

๐ เราไม่กล่าวสิ่งที่รู้แจ้งทั้งหมดว่า ควรกล่าว และไม่กล่าวสิ่งที่รู้แจ้งทั้งหมดว่า ไม่ควรกล่าว

ดูกรพราหมณ์
๐ แท้จริง เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้เห็นอันใด “อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป” เรากล่าวสิ่งที่ได้เห็นเห็นปานนั้นว่า “ไม่ควรกล่าว”

๐ แต่เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้เห็นอันใด “อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้น” เรากล่าวสิ่งที่ได้เห็นเห็นปานนั้นว่า “ควรกล่าว”

ดูกรพราหมณ์
๐ เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้ฟังมาอันใด ... สิ่งที่ได้ทราบอันใด ... สิ่งที่รู้แจ้งมาอันใด “อกุศลธรรมเจริญขึ้นกุศลธรรมเสื่อมไป” เรากล่าวสิ่งที่ได้ฟังมาเห็นปานนั้น ... สิ่งที่ได้ทราบมาเห็นปานนั้น ... สิ่งที่รู้แจ้งเห็นปานนั้นว่า “ไม่ควรกล่าว”

๐ แต่เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้ฟังมาอันใด ... สิ่งที่ได้ทราบมาอันใด ... สิ่งที่รู้แจ้งอันใด “อกุศลธรรมเสื่อมไปกุศลธรรมเจริญขึ้น” เรากล่าวสิ่งที่ได้ฟังมาเห็นปานนั้น ... สิ่งที่ได้ทราบมาเห็นปานนั้น ... สิ่งที่รู้แจ้งเห็นปานนั้นว่า “ควรกล่าว”

ครั้งนั้นแล วัสการพราหมณ์มหาอำมาตย์ในแคว้นมคธ ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะแล้วหลีกไป ฯ

6
ธรรมะจากพระสูตร / ภารสูตร
« เมื่อ: มกราคม 27, 2012, 03:03:15 pm »
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค​อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระอ​งค์นั้น
สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ขันธสังยุตต์ มูลปัณณาสก์ ภารวรรคที่ ๓ : ภาระสูตร


ภารสูตร : ว่าด้วยขันธ์ ๕ เป็นภาระ
 
พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงภาระผู้แบกภาระ เครื่องถือมั่นภาระ และเครื่องวางภาระ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว​ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภาระเป็นไฉน? พึงกล่าวว่า ภาระ คือ อุปาทานขันธ์ ๕ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน? คือ อุปาทานขันธ์ คือรูป อุปาทานขันธ์ คือเวทนา อุปาทานขันธ์ คือสัญญา อุปาทานขันธ์ คือสังขาร และอุปาทานขันธ์ คือวิญญาณ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าภาระ.
 
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ผู้แบกภาระเป็นไฉน? พึงกล่าวว่าบุคคล บุคคลนี้นั้น คือท่านผู้มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าผู้แบกภาระ.
 
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เครื่องถือมั่นภาระเป็นไฉ​น? ตัณหานี้ใด นำให้เกิดภพใหม่ประกอบด้วยค​วามกำหนัด ด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน มีปกติเพลิดเพลินยิ่งในภพหรืออารมณ์นั้นๆ ได้แก่กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าเครื่องถือมั่นภ​าระ.
 
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การวางภาระเป็นไฉน? ความที่ตัณหานั่นแลดับไปด้ว​ยสำรอกโดยไม่เหลือ ความสละ ความสละคืน ความพ้น ความไม่อาลัย. ดูกรภิกษุทั้งหลายนี้เรียกว่าการวางภาระ. พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศา​สดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไ​ปอีกในภายหลังว่า
 
ขันธ์ ๕ ชื่อว่าภาระแล และผู้แบกภาระคือบุคคล เครื่องถือมั่น ภาระเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุ​กข์ในโลก การวางภาระเสียได้เป็นสุข บุคคลวางภาระหนักเสียได้แล้​ว ไม่ถือภาระอื่น ถอนตัณหาพร้อมทั้งมูลรากแล้​ว เป็นผู้หายหิว ดับรอบแล้วดังนี้.

อรรถกถา
 
๐ อุปาทานขันธ์ ๕ ท่านกล่าวว่าเป็นภาระ
 ถามว่า ด้วยอรรถว่ากระไร? แก้ว่า ด้วยอรรถว่าเป็นภาระที่จะต้​องบริหาร.

จริงอยู่ อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านั้น จำต้องบริหารด้วยการให้ยืน ให้เดิน ให้นั่ง ให้นอน ให้อาบน้ำ แต่งตัว ให้เคี้ยว ให้กิน เป็นต้น จึงชื่อว่าเป็นภาระ (ของหนัก) เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า ภาระเพราะอรรถว่าเป็นภาระจะ​ต้องบริหาร.

๐ ภารหาระ ผู้แบกภาระ
 จริงอยู่ บุคคลยกขันธภาระขึ้นในขณะปฏิสนธินั้นเอง แล้วให้ขันธ์นี้ อาบ บริโภค นั่ง นอน บนเตียงและตั่ง ที่อ่อนนุ่มแล้วบริหาร ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง ๓๐ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง จนตลอดชีวิตแล้วทิ้งไปในจุติขณะ ยึดเอาขันธ์อื่นในปฏิสนธิขณ​ะอีก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าผู้แบกภาระ.
 
๐ ตัณหา (*)
 # มีปกติยินดีในที่เกิดหรือใน​อารมณ์มีรูปเป็นต้นนั้นๆ. ในกามตัณหาเป็นต้น ความยินดีอันเป็นไปในกามคุณ​ ๕ ชื่อว่า "กามตัณหา"
 # ความยินดีในรูปภพและอรูปภพ ความติดอยู่ในฌาน ความยินดีที่เกิดพร้อมด้วยสัสสตทิฏฐิ (**) นี้ชื่อว่าภวตัณหา
# ความยินดีที่เกิดพร้อมกับอุ​จเฉททิฏฐิ (***) ชื่อว่าวิภวตัณหา.
_________________________
 จากพจนานุกรมพุทธศาสน์ : พระพรหมคุณาภรณ์
 
(*) ตัณหา ๑- ความทะยานอยาก, ความดิ้นรน, ความปรารถนา, ความเสน่หา มี ๓ คือ
 ๑. กามตัณหา ความทะยานอยากในกาม อยากได้อารมณ์อันน่ารักใคร่
 ๒. ภวตัณหา ความทะยากอยากในภพ อยากเป็นนั่นเป็นนี่
 ๓. วิภวตัณหา ความทะยานอยากในวิภพ อยากไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่ อยากพรากพ้นดับสูญไปเสีย
 
(**) สัสสตทิฏฐิ : ความเห็นผิด เป็นความเห็นว่าเที่ยง คือความเห็นว่า อัตตาและโลก เป็นสิ่งเที่ยงแท้ยั่งยืน คงอยู่ตลอดไป เช่น เห็นว่าคนและสัตว์ตายไปแล้ว​ ร่างกายเท่านั้นทรุดโทรมไป ส่วนดวงชีพหรือเจตภูตหรือมนัสเป็นธรรมชาติไม่สูญ ย่อมถือปฏิสนธิในกำเนิดอื่น​สืบไป เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่ง; ตรงข้ามกับ อุจเฉททิฏฐิ

 (***) อุจเฉททิฏฐิ : ความเห็นผิด เป็นความเห็นว่าขาดสูญ เช่น เห็นว่าคนและสัตว์จุติจากอั​ตภาพนี้ แล้วขาดสูญ; ตรงข้ามกับ สัสสตทิฏฐิ
 ________________________
 
๐ การถือภาระ. : จริงอยู่ บุคคลนี้ย่อมถือภาระด้วยตัณ​หา
 
๐ นิพพาน
 จริงอยู่ ตัณหามาถึงพระนิพพานนั้นแล้​ว ย่อมคลายความยินดี ย่อมดับ ย่อมละขาด ย่อมสละคืน ย่อมหลุดพ้น โดยไม่มีส่วนเหลือ ก็ในพระนิพพานนี้ไม่มีอาลัย​คือกาม หรืออาลัยคือทิฏฐิ ฉะนั้น พระนิพพานจึงได้ชื่อเหล่านี้.
 
อวิชชาชื่อว่าเป็นมูลของตัณ​หา
 
ถอนตัณหานั้นพร้อมทั้งรากด้​วยอรหัตตมรรค
 
ผู้ออกจากตัณหาจะเรียกว่าผู้ปรินิพพานแล้ว ก็ควรแล
 

7
อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต สันธานวรรค สังขิตตสูตร
http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=23&A=5908&Z=5933


สังขิตตสูตร
 
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้พระนครเวสาลี ครั้งนั้นแล พระนางมหาปชาบดีโคตมีเสด็จเ​ข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง​ที่ประทับ ถวายบังคมแล้วประทับยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
 
ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรร​มโดยย่อแก่หม่อมฉัน ซึ่งหม่อมฉันได้ฟังแล้ว จะพึงเป็นผู้หลีกออกจากหมู่​อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่เถิด ฯ
 
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรโคตมี ท่านพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้เป็นไป
๐ เพื่อความกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด
๐ เป็นไปเพื่อประกอบสัตว์ไว้ ไม่เป็นไปเพื่อพรากสัตว์ออก
๐ เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเ​ลส
๐ เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักม​าก ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย
๐ เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อความสันโดษ
๐ เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วย​หมู่คณะ ไม่เป็นไปเพื่อความสงัด
๐ เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ไม่เป็นไปเพื่อปรารภความเพี​ยร
๐ เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ย​งยาก ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นคน
 เลี้ยงง่าย

ดูกรโคตมี ท่านพึงทรงจำไว้โดยส่วนหนึ่​งว่า "นี้ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัยไม่ใช่คำสั่งสอน​ของพระศาสดา ฯ"

ดูกรโคตมี ท่านพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้เป็นไป
 
๐ เพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความกำหนัด
๐ เป็นไปเพื่อไม่ประกอบสัตว์ไ​ว้ ไม่เป็นไปเพื่อประกอบสัตว์ไ​ว้
๐ เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส
๐ เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักมาก
๐ เป็นไปเพื่อสันโดษไม่เป็นไป​เพื่อไม่สันโดษ
๐ เป็นไปเพื่อความสงัด ไม่เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
๐ เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร ไม่เป็นไปเพื่อความเกียจคร้​าน
๐ เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ย​งง่าย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงยาก

ดูกรโคตมี ท่านพึงทรงจำไว้โดยส่วนหนึ่​งว่า "นี้เป็นธรรมเป็นวินัย เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ฯ"

 

8
มนุษย์ประมาทเป็นนิตย์ มีอายุประมาณ ๑๐๐ ปี ประหนึ่งถือเอาอายุตั้ง "อสงไขย." เกิดแล้วประหนึ่งว่า "ไม่แก่ ไม่ตาย"
 
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปุปผวรรคที่ ๔
เรื่องนางปติปูชิกา


พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภหญิงชื่อ “ปติปูชิกา” ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ปุปฺผานิ เหว" เป็นต้น.

เรื่องตั้งขึ้นในดาวดึงสเทวโลก.​

❀เทพธิดาจุติแล้วเกิดในกรุงสาวั​ตถี❀
ได้ยินว่า เทพบุตรนามว่ามาลาภารี ในดาวดึงสเทวโลกนั้น มีนางอัปสรพันหนึ่งแวดล้อมแล้ว เข้าไปสู่สวน. เทพธิดา ๕๐๐ ขึ้นสู่ต้นไม้ ยังดอกไม้ให้ตกอยู่. เทพธิดา ๕๐๐ เก็บเอาดอกไม้ที่เทพธิดาเหล่านั้นให้ตกแล้ว ประดับเทพบุตร. บรรดาเทพธิดาเหล่านั้น เทพธิดาองค์หนึ่ง จุติบนกิ่งไม้นั่นแล. สรีระดับไป ดุจเปลวประทีป นางถือปฏิสนธิในเรือนแห่งตระกูล​หนึ่ง ในกรุงสาวัตถี

ในเวลาที่นางเกิดแล้ว เป็นหญิงระลึกชาติได้ ระลึกอยู่ว่า "เราเป็นภริยาของมาลาภารีเทพบุต​ร" ถึงความเจริญ กระทำการบูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น ปรารถนาการเกิดเฉพาะในสำนักสามี​. นางแม้ไปสู่ตระกูลอื่น ในเวลามีอายุ ๑๖ ปี ถวายสลากภัต ปักขิกภัต และวัสสาวาสิกภัตเป็นต้นแล้ว ย่อมกล่าวว่า "ส่วนแห่งบุญนี้ จงเป็นปัจจัยเพื่อประโยชน์แก่อั​นบังเกิดในสำนักสามีของเรา."

❀จุติจากมนุษยโลกแล้วไปเกิดในสว​รรค์❀
 ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายทราบว่า "นางนี้ ลุกขึ้นเสร็จสรรพแล้ว ย่อมปรารถนาสามีเท่านั้น" จึงขนานนามของนางว่า "ปติปูชิกา."

แม้นางปติปูชิกานั้น ย่อมปฏิบัติโรงฉัน เข้าไปตั้งน้ำฉัน ปูอาสนะเป็นนิตย์. มนุษย์แม้พวกอื่นใคร่เพื่อจะถวา​ยสลากภัตเป็นต้น นำมามอบให้ด้วยคำว่า "แม่ ท่านจงจัดแจงภัตเหล่านี้ แก่ภิกษุสงฆ์." แม้นางเดินไปเดินมาอยู่โดยทำนอง​นั้น ได้กุศลธรรม ๕๖ ทุกย่างเท้า. นางตั้งครรภ์แล้ว. นางก็คลอดบุตร โดยกาลอันล่วงไป ๑๐ เดือน. ในกาลที่บุตรนั้นเดินได้ นางได้บุตรแม้อื่นๆ รวม ๔ คน. ในวันหนึ่ง นางถวายทาน ทำการบูชา ฟังธรรม รักษาสิกขาบท ในเวลาเป็นที่สุดแห่งวัน ก็ทำกาละด้วยโรคชนิดใดชนิดหนึ่ง​ ซึ่งบังเกิดขึ้นในขณะนั้น แล้วบังเกิดในสำนักสามีเดิมของต​น.

❀อายุของมนุษย์ประมาณ ๑๐๐ ปี❀
ฝ่ายนางเทพธิดานอกนี้ กำลังประดับอยู่นั่นเอง ตลอดกาลเท่านี้. เทพบุตรเห็นนางนั้น กล่าวว่า "เธอหายหน้าไปตั้งแต่เช้า, เธอไปไหนมา?"

เทพธิดา : ดิฉันจุติค่ะ นาย.
เทพบุตร. : เธอพูดอะไร?
เทพธิดา : ข้อนั้นเป็นอย่างนี้ นาย.
เทพบุตร. : เธอเกิดแล้วในที่ไหน?
เทพธิดา : เกิดในเรือนแห่งตระกูล ในกรุงสาวัตถี.
เทพบุตร. : เธอดำรงอยู่ในกรุงสาวัตถีนั้นสิ้นกาลเท่าไร?

เทพธิดา : ข้าแต่นาย ดิฉันออกจากท้องมารดา โดยกาลอันล่วงไป ๑๐ เดือน ในเวลาอายุ ๑๖ ปี ไปสู่ตระกูลสามี คลอดบุตร ๔ คน ทำบุญมีทานเป็นต้น ปรารถนาถึงนาย มาบังเกิดแล้วในสำนักของนายตามเ​ดิม.

เทพบุตร. : อายุของมนุษย์มีประมาณเท่าไร?
เทพธิดา : ประมาณ ๑๐๐ ปี.
เทพบุตร. : เท่านั้นเองหรือ?
เทพธิดา : ค่ะ นาย.

เทพบุตร. : พวกมนุษย์ถือเอาอายุประมาณเท่านี้เกิดแล้ว เป็นผู้ประมาทเหมือนหลับ ยังกาลให้ล่วงไปหรือ? หรือทำบุญมีทานเป็นต้น?

เทพธิดา : พูดอะไร นาย, พวกมนุษย์ประมาทเป็นนิตย์ ประหนึ่งถือเอาอายุตั้งอสงไขยเก​ิดแล้ว ประหนึ่งว่าไม่แก่ไม่ตาย.

ความสังเวชเป็นอันมาก ได้เกิดขึ้นแก่มาลาภารีเทพบุตรว่า "ทราบว่า พวกมนุษย์ถือเอาอายุประมาณ ๑๐๐ ปีเกิดแล้ว ประมาท นอนหลับอยู่, เมื่อไรหนอ? จึงจักพ้นจากทุกข์ได้."

❀๑๐๐ ปีของมนุษย์เท่า ๑ วันในสวรรค์❀
 ก็ ๑๐๐ปีของพวกเรา เป็นคืนหนึ่งวันหนึ่งของพวกเทพเ​จ้าชั้นดาวดึงส์, ๓๐ ราตรีโดยราตรีนั้น เป็นเดือนหนึ่ง, กำหนดด้วย ๑๒ เดือนโดยเดือนนั้น เป็นปีหนึ่ง, ๑,๐๐๐ ปีทิพย์ โดยปีนั้น เป็นประมาณอายุของเทพเจ้าชั้นดา​วดึงส์, ๑,๐๐๐ ปีทิพย์นั้น โดยการนับในมนุษย์เป็น ๓ โกฏิ ๖ ล้านปี.

เพราะฉะนั้น แม้วันเดียวของเทพบุตรนั้น ก็ยังไม่ล่วงไป ได้เป็นกาลเช่นครู่เดียวเท่านั้​น. ขึ้นชื่อว่าความประมาทของสัตว์ผู้มีอายุน้อยอย่างนี้ ไม่ควรอย่างยิ่งแล.

ในวันรุ่งขึ้น พวกภิกษุเข้าไปสู่บ้าน เห็นโรงฉันยังไม่ได้จัด อาสนะยังไม่ได้ปู น้ำฉันยังไม่ได้ตั้งไว้ จึงกล่าวว่า "นางปติปูชิกาไปไหน?"

ชาวบ้าน. ท่านผู้เจริญ พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจักเห็นน​าง ณ ที่ไหน? วันวานนี้ เมื่อพระผู้เป็นเจ้าฉันแล้ว (กลับ) ไป, นางตายในตอนเย็น.

ภิกษุปุถุชนฟังคำนั้นแล้ว ระลึกถึงอุปการะของนางนั่น ไม่อาจจะกลั้นน้ำตาไว้ได้, ธรรมสังเวชได้เกิดแก่พระขีณาสพ.​ ภิกษุเหล่านั้นทำภัตกิจแล้ว ไปวิหาร ถวายบังคมพระศาสดา ทูลถามว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุบาสิกาชื่อปติปูชิกา ลุกขึ้นเสร็จสรรพแล้ว ทำบุญมีประการต่างๆ ปรารถนาถึงสามีเท่านั้น, บัดนี้ นางตายแล้ว (ไป) เกิด ณ ที่ไหน?"

พระศาสดา : ภิกษุทั้งหลาย นางเกิดในสำนักสามีของตนนั่นแหล​ะ.

ภิกษุ : ในสำนักสามี ไม่มี พระเจ้าข้า.

พระศาสดา : ภิกษุทั้งหลาย นางปรารถนาถึงสามีนั่น ก็หามิได้, มาลาภารีเทพบุตร ในดาวดึงสพิภพ เป็นสามีของนาง, นางเคลื่อนจากที่ประดับดอกไม้ขอ​งสามีนั้นแล้ว ไปบังเกิดในสำนักสามีนั้นนั่นแล​อีก.

ภิกษุ : ได้ยินว่า อย่างนั้นหรือ? พระเจ้าข้า.

พระศาสดา : อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย.

ภิกษุ : น่าสังเวช ! ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายน้อย (จริง) พระเจ้าข้า เช้าตรู่ นางอังคาสพวกข้าพระองค์ ตอนเย็น ตายด้วยพยาธิที่เกิดขึ้น.

พระศาสดา : อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าชีวิตของสัตว์ทั้งหลายน้​อย (จริง), เหตุนั้นแล มัจจุผู้กระทำซึ่งที่สุด ยังสัตว์เหล่านี้ซึ่งไม่อิ่ม ด้วยวัตถุกามและกิเลสกามนั่นแล ให้เป็นไปในอำนาจของตนแล้ว ย่อมพาเอาสัตว์ที่คร่ำครวญ ร่ำไรไป"

ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-

ปุปฺผานิ เหว ปจินนฺตํ พฺยาสตฺตมนสํ นรํ
อติตฺตํเยว กาเมสุ อนฺตโก กุรุเต วสํ ฯ
มัจจุ ผู้ทำซึ่งที่สุด กระทำนระผู้มีใจข้องในอารมณ์ต่า​งๆ
เลือกเก็บดอกไม้อยู่เทียว ผู้ไม่อิ่มในกามทั้งหลายนั่นแล
สู่อำนาจ.

❀แก้อรรถ❀
“ปุปฺผานิ เหว ปจินนฺตํ” ความว่า ผู้มัวเลือกเก็บดอกไม้ คือกามคุณทั้งหลาย อันเนื่องด้วยอัตภาพ และเนื่องด้วยเครื่องอุปกรณ์อยู่ เหมือนนายมาลาการเลือกเก็บดอกไม้ต่างชนิดอยู่ในสวนดอกไม้ฉะนั้น​.

“พฺยาสตฺตมนสํ นรํ” ความว่า ผู้มีจิตซ่านไปโดยอาการต่างๆ ในอารมณ์อันยังไม่ถึงแล้ว ด้วยสามารถแห่งความปรารถนาในอาร​มณ์ที่ถึงแล้ว ด้วยสามารถแห่งความยินดี.

“อติตฺตํเยว กาเมสุ” ความว่า ผู้ไม่อิ่มในวัตถุกามและกิเลสกา​มทั้งหลายนั่นแล ด้วยการแสวงหาบ้าง ด้วยการได้เฉพาะบ้าง ด้วยการใช้สอยบ้าง ด้วยการเก็บไว้บ้าง.

“อนฺตโก กุรุเต วสํ” ความว่า มัจจุผู้ทำซึ่งที่สุด กล่าวคือมรณะ พานระผู้คร่ำครวญ ร่ำไร ไปอยู่ ให้ถึงอำนาจของตน.

ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลา​ย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น,
เทศนามีประโยชน์แก่มหาชน ดังนี้แล.
 

9
ขุททกนิกาย เถรคาถา ทวาทสกนิบาต ๑. สีลวเถรคาถา
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=26&A=7120&Z=7147


คาถาสุภาษิตของพระสีลวเถระ

ท่านทั้งหลายพึงศึกษาศีลในศาสนานี้ ด้วยว่าศีลอันบุคคลศึกษาดีแล้ว สั่งสมดีแล้ว ย่อมนำสมบัติทั้งปวงมาให้ในโลกนี้

นักปราชญ์เมื่อปรารถนาความสุข ๓ ประการ คือ ความสรรเสริญ ๑ การได้ความปลื้มใจ ๑ ความบันเทิงในสวรรค์เมื่อละไปแล้ว ๑ พึงรักษาศีล ด้วยว่าผู้มีศีล มีความสำรวม ย่อมได้มิตรมาก

ส่วนผู้ทุศีลประพฤติแต่กรรมอันลามก ย่อมแตกจากมิตร นรชนผู้ทุศีล ย่อมได้รับการติเตียนและความเสียชื่อเสียง ส่วนผู้มีศีลย่อมได้รับการสรรเสริญและชื่อเสียงทุกเมื่อ

ศีลเป็นเบื้องต้น เป็นที่ตั้ง เป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดีทั้งหลาย และเป็นประธานแห่งธรรมทั้งปวง

เพราะฉะนั้น พึงชำระศีลให้บริสุทธิ์ สังวรศีลเป็นเครื่องกั้นความทุจริต ทำจิตให้ร่าเริง เป็นท่าที่หยั่งลงมหาสมุทร คือ นิพพานของพระพุทธเจ้าทั้งปวง

เพราะฉะนั้นพึงชำระศีลให้บริสุทธิ์ ศีลเป็นกำลังหาเปรียบมิได้ เป็นอาวุธอย่างสูงสุด เป็นอาภรณ์อันประเสริฐ เป็นเกราะอันน่าอัศจรรย์ศีลเป็นสะพาน เป็นมหาอำนาจ เป็นกลิ่นหอมอย่างยอดเยี่ยม เป็นเครื่องลูบไล้อันประเสริฐ บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมหอมฟุ้งไปทั่วทุกทิศ ศีลเป็นกำลังอย่างเลิศ เป็นเสบียงเดินทางชั้นเยี่ยม เป็นพาหนะอันประเสริฐยิ่งนัก เป็นเครื่องหอมฟุ้งไปทั่วทิศานุทิศ

คนพาลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นในศีล ย่อมได้รับการนินทาในเวลาที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมได้รับทุกข์โทมนัสในอบายภูมิ ย่อมได้รับทุกข์โทมนัสในที่ทั่วไป

ธีรชนผู้มีจิตตั้งมั่นด้วยดีในศีล ย่อมได้รับการสรรเสริญในเวลาที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ครั้นตายไปแล้ว ก็ได้รับความสุขโสมนัสในสวรรค์ ย่อมรื่นเริงใจในที่ทุกสถานในโลกนี้

ศีลเท่านั้นเป็นยอดและผู้มีปัญญาเป็นผู้สูงสุดในโลกนี้ ความชนะในมนุษยโลกและเทวโลก ย่อมมีได้เพราะศีลและปัญญา.

10
บทความธรรม / ราชรถสู่พระนิพพาน
« เมื่อ: พฤศจิกายน 04, 2011, 10:28:45 am »
*****************************​***********************************************
จากหนังสือ รู้แจ้งในชาตินี้ : พระกัมมัฏฐานาจริยะ อู บัณฑิตาภิวังสะ
 
บทที่ ๖ ราชรถสู่พระนิพพาน
http://www.sati99.com/images/1​138964991/05%20mama.pdf

*****************************​***********************************************


*****************************​***********************************************
 ดูกรเทพ หนทางที่ท่านดำเนินอยู่นี้ถูกตร​งแล้ว และย่อมนำท่านไปสู่ภูมิที่ปลอดจ​ากภัยเป็นอิสระจากความหวาดกลัวใ​ด ๆ อันเป็นจุดมุ่งหมายของท่าน

ท่านจงขับยานอันสงัดเงียบ

๐ ล้อทั้งสองจะเป็นความพากเพียรทา​งกายและใจ
๐ หิริจะเป็นพนักพิง
๐ สติเป็นเกราะป้องกำบัง
๐ และสัมมาทิฏฐิจะเป็นสารถี

บุคคลไม่ว่าหญิงหรือชายผู้ครอบค​รองยานนี้และขับยานนี้ไปด้วยดี ย่อมดำเนินถึง "พระนิพพาน" เป็นแน่แท้
*****************************​***********************************************
*****************************​***********************************************

*****************************​***********************************************
*****************************​***********************************************
 หากอริยมรรคสามารถประกอบได้สำเร็จรูปเหมือนรถยนต์ที่มาจากสายกา​รผลิตที่โรงงานก็คงจะดีไม่น้อย

ทว่ามันมิได้เป็นเช่นนั้น ผู้ปฏิบัติที่น่าสงสารอย่างเรา ๆ จึงต้องลงมือสร้างยานนี้เอง เราต้องติดเครื่องมืออาวุธให้ตั​วเราเองด้วยศรัทธาและความปรารถน​าอย่างแรงกล้าที่จะไปให้ถึงเป้า​หมาย

เราต้องตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติใน​ทุกสถานการณ์ ฝ่าฟันความยากลำบาก ความเหนื่อยล้าความเบื่อหน่าย และความตึงเครียดจากการดิ้นรนที่จะประกอบยานของเราขึ้นมาเอง

เมื่อประกอบเสร็จแล้ว
๐ เราต้องทุ่มเทความเพียรเพื่อให้​ล้อของยานนี้หมุนไป
๐ พยายามดำรงเกราะกำบังแห่งสติไว้​ให้มั่นคง
๐ ตั้งมั่นอยู่ในหิริและโอตตัปปะ อันเป็นเสมือนพนักพิงที่จะให้เร​าอิงอาศัยได้
๐ ฝึกสัมมาทิฏฐิอันเป็นสารถีของเร​าให้ขับเคลื่อนไปตามทางที่ถูกต้​อง

ในที่สุด หลังจากที่ผ่านญาณลำดับต่าง ๆ ครบถ้วนแล้ว เราก็จะได้ครอบครองราชรถแห่งโสด​าปัตติมรรค เมื่อราชรถดังกล่าวเป็นของเราแล้วเราจะสามารถดำเนินสู่พระนิพพา​นได้อย่างสะดวกและง่ายดายเป็นอย่างยิ่ง
 
เมื่อราชรถแห่งการเข้าสู่กระแสพ​ระนิพพานได้บรรลุเป้าหมายแล้ว ก็จะไม่มีวันเสื่อมค่าหรือมีสมร​รถภาพลดลง ซึ่งแตกต่างจากยานพาหนะอื่น ๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ เราไม่ต้องหยอดน้ำมันเครื่อง ซ่อมแซม หรือเปลี่ยนแปลงชิ้นส่วน ยิ่งใช้ก็ยิ่งแข็งแรงและมีความป​ระณีตยอดเยี่ยมมากยิ่งขึ้น
 
นอกจากนี้ ยังเป็นยานพาหนะที่ปลอดอุบัติเห​ตุอย่างสิ้นเชิง เมื่อเราเดินทางบนยานพาหนะนี้ รับประกันได้ว่าจะมีความปลอดภัย​ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม

 ตราบเท่าที่เรามีชีวิตอยู่ในโลก​นี้ เราจะยังต้องเผชิญกับความขึ้นลง​ และความผันผวนของชีวิตนานัปการ

บางครั้งอะไร ๆ ก็ดำเนินไปอย่างราบรื่นด้วยดี แต่บางครั้งกลับต้องประสบกับควา​มผิดหวัง ความท้อถอย ความทุกข์และโทมนัสต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้ครอบครองยานพาหนะสู่พร​ะนิพพานแล้ว จะสามารถขับเคลื่อนผ่านเวลาแห่ง​ความทุกข์ยากไปได้อย่างราบรื่น และไม่เสียสมดุลจนเกินไปในยามที่มีความสุข ประตูสู่อบายได้ปิดตายลงแล้ว และบุคคลผู้นั้นสามารถดำเนินไปสู่พระนิพพานอันเป็นที่ที่ปลอดจา​กทุกข์ภัยทั้งปวงได้ตลอดเวลา
*****************************​***********************************************
*****************************​***********************************************

11
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔
อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ธรรมิกวรรค อานันทสูตร
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=22&A=8540&Z=8579


๙. อานันทสูตร
ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระสารีบุตรว่า

ดูกรท่านสารีบุตร ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล
๐ ภิกษุจึงได้ฟังธรรมที่ยังไม่เคยฟัง
๐ ธรรมทั้งหลายที่เธอได้ฟังแล้วย่อมไม่ถึงความหลงลืม
๐ ธรรมทั้งหลายที่เธอได้เคย ถูกต้องด้วยใจในกาลก่อน ย่อมขึ้นใจ
๐ และเธอย่อมทราบชัดธรรมที่ยังไม่ทราบชัด

ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า ท่านพระอานนท์แลเป็นพหูสูต ขอเนื้อความแห่ง ธรรมข้อนั้นจงแจ่มแจ้งกะท่านพระอานนท์เถิด ฯ

อา : ดูกรท่านสารีบุตร ถ้าอย่างนั้นท่านจงฟังธรรม จงทำไว้ในใจให้ดีเราจักกล่าว

ท่านพระสารีบุตรรับคำท่านพระอานนท์แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กล่าวว่า

ดูกรท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
๐ ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณ์ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ
๐ เธอย่อมแสดงธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร
๐ ย่อมบอกสอนธรรมที่ได้ฟังมาได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร
๐ ย่อมทำการสาธยายธรรมตามที่ได้ ฟังมาได้เรียนมาโดยพิสดาร
๐ ย่อมตรึกตรอง เพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมา ได้เรียนมา
๐ ย่อมจำพรรษาอยู่ในอาวาสที่มีภิกษุผู้เถระเป็นพหูสูตชำนาญคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา อยู่ ย่อมเข้าไปหาภิกษุผู้เถระเหล่านั้นโดยกาล อันควร แล้วไต่ถามสอบสวนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภาษิตนี้เป็นอย่างไร เนื้อความของภาษิตนี้อย่างไร ภิกษุผู้เถระเหล่านั้นย่อมเปิดเผยภาษิตที่ยังไม่แจ่มแจ้ง ย่อมทำภาษิตที่ยากให้ง่ายแก่เธอ และย่อมบรรเทาความสงสัยในธรรมทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยมีประการต่างๆ

ดูกรท่านสารีบุตร ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ภิกษุจึงได้ฟังธรรมที่ยังไม่เคยฟัง ธรรมทั้งหลายที่เธอได้ฟังแล้วย่อมไม่ถึงความหลงลืม ธรรมทั้งหลายที่เธอได้เคยถูกต้องด้วยใจในกาลก่อน ย่อมขึ้นใจ และเธอย่อมทราบชัดธรรมที่ยังไม่ทราบชัด ฯ

สา : ดูกรท่านอานนท์ น่าอัศจรรย์ เรื่องไม่เคยมีได้มีแล้ว เรื่องนี้ท่านอานนท์ได้กล่าวดีแล้ว และพวกผมจะทรงจำท่านพระอานนท์ว่าเป็นผู้ประกอบด้วย ธรรม ๖ ประการนี้ เพราะว่า

๐ ท่านอานนท์ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณ์ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ
๐ ท่านอานนท์ ย่อมแสดงธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร
๐ ท่านอานนท์ย่อมบอกสอนธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมา แก่ผู้อื่นโดยพิสดาร
๐ ท่านอานนท์ย่อมทำการสาธยายธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมาโดยพิสดาร
๐ ท่านอานนท์ย่อมตรึกตรอง เพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมา
๐ ท่านอานนท์ย่อมจำพรรษาอยู่ในอาวาสที่มีภิกษุผู้เถระผู้เป็นพหูสูต ชำนาญคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา อยู่ ท่านอานนท์ย่อมเข้าไปหาภิกษุผู้เถระเหล่านั้นโดยกาลอันควร แล้วไต่ถามสอบสวนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภาษิตนี้เป็นอย่างไร เนื้อความของภาษิตนี้เป็นอย่างไร ภิกษุผู้เถระเหล่านั้นย่อมเปิดเผยภาษิตที่ยังไม่แจ่มแจ้ง ย่อมทำภาษิตที่ยากให้ง่ายแก่ท่านอานนท์ และย่อมบรรเทาความสงสัยใน ธรรมทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยมีประการต่างๆ ฯ

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

นวังคสัตถุศาสน์


นวังคสัตถุศาสน์ คำสั่งสอนของพระศาสดา มีองค์ ๙, พุทธพจน์มีองค์ประกอบ ๙ อย่าง,

ส่วนประกอบ ๙ อย่างที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ

๑. สุตตะ (พระสูตรทั้งหลาย รวมทั้งพระวินัยปิฎกและนิทเทส)
๒. เคยยะ (ความที่มีร้อยแก้วและร้อยกรองผสมกัน ได้แก่ พระสูตรที่มีคาถาทั้งหมด)
๓. เวยยากรณะ (ไวยากรณ์ คือความร้อยแก้วล้วน ได้แก่ พระอภิธรรมปิฎกทั้งหมด และพระสูตรที่ไม่มีคาถาเป็นต้น)
๔. คาถา (ความร้อยกรองล้วน เช่น ธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา เป็นต้น)
๕. อุทาน (ได้แก่ พระคาถาพุทธอุทาน ๘๒ สูตร)
๖. อิติวุตตกะ (พระสูตรที่เรียกว่าอิติวุตตกะ ๑๑๐ สูตร)
๗. ชาตกะ (ชาดก ๕๕๐ เรื่อง)
๘. อัพภูตธรรม (เรื่องอัศจรรย์ คือพระสูตรที่กล่าวถึงข้ออัศจรรย์ต่างๆ)
๙. เวทัลละ (พระสูตรแบบถามตอบที่ให้เกิดความรู้และความพอใจแล้ว ซักถามยิ่งๆ ขึ้นไป เช่น จูฬเวทัลลสูตร มหาเวทัลลสูตร เป็นต้น);

12
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหัตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

มุทุลักขณาชาดก
มุทุลักขณาชาดก เป็นชาดกเรื่องราวในอดีตชาติของพระพุทธองค์ ที่แสดงให้เห็นถึงโทษของกาม พระโพธิสัตว์ซึ่งในขณะนั้นบวชเป็นฤาษี ได้อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ แต่เมื่อกิเลสกำเริบก็เสื่อมจากฌานได้ และเสวยทุกข์ใหญ่หลวง เพราะจิตปฏิพัทธ์ต่อพระนางมุทุลักขณา

พระพุทธองค์ตรัสเล่าชาดกนี้แก่ภิกษุผู้หนึ่ง ซึ่งตกอยู่ในอำนาจของกิเลส จากการที่ไม่สำรวมมองหญิงคนหนึ่ง เกิดความพอใจ จนเป็นทุกข์ไม่มีความยินดีในพระศาสนา และปล่อยผมและขนรุงรังเล็บยาว จีวรก็เศร้าหมอง

เรื่องนี้ยกเป็นตัวอย่างเรื่องหนึ่งของโทษของการยินดีในรูป

13
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

คาถาธรรมบท อัตตวรรคที่ ๑๒


หากว่าบุคคลพึงรู้ว่าตนเป็นที่รักไซร้
พึงรักษาตนนั้นไว้ ให้เป็นอัตภาพอันตนรักษาดีแล้ว
บัณฑิตพึงประคับประคองตนไว้ตลอดยามทั้งสาม


ยามใดยามหนึ่ง
บุคคลพึงยังตนนั้นแลให้ ตั้งอยู่ในคุณอันสมควรเสียก่อน
พึงพร่ำสอนผู้อื่นในภายหลัง บัณฑิตไม่พึงเศร้าหมอง

 
หากว่าภิกษุพึงทำตนเหมือนอย่างที่ตนพร่ำสอนคนอื่นไซร้
ภิกษุนั้นมีตนอันฝึกดีแล้วหนอ พึงฝึก ได้ยินว่าตนแลฝึกได้ยาก


ตนแลเป็นที่พึ่งของตน บุคคลอื่นไรเล่าพึงเป็นที่พึ่งได้
เพราะว่าบุคคลมีตนฝึกฝนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งอันได้โดยยาก


ความชั่วที่ตนทำไว้เองเกิดแต่ตน มีตนเป็นแดนเกิด
ย่อมย่ำยีคนมีปัญญาทราม ดุจเพชรย่ำยีแก้วมณีที่เกิดแต่หิน ฉะนั้น


ความเป็นผู้ทุศีลล่วงส่วน ย่อมรวบรัดอัตภาพของบุคคลใด
ทำให้เป็นอัตภาพ อันตนรัดลงแล้ว
เหมือนเถาย่านทรายรวบรัดไม้สาละให้เป็น อันท่วมทับแล้ว
บุคคลนั้นย่อมทำตนเหมือนโจรผู้เป็นโจกปรารถนา โจรผู้เป็นโจก ฉะนั้น


กรรมไม่ดีและไม่เป็นประโยชน์แก่ตน ทำได้ง่าย
ส่วนกรรมใดแล เป็นประโยชน์ด้วย ดีด้วย กรรมนั้นแลทำได้ยากอย่างยิ่ง

ผู้ใดมีปัญญาทราม อาศัยทิฐิอันลามก
ย่อมคัดค้านคำสั่งสอนของพระ-พุทธเจ้า ผู้อรหันต์
เป็นพระอริยเจ้า มีปกติเป็นอยู่โดยธรรม
การคัดค้านและทิฐิอันลามกของผู้นั้น
ย่อมเผล็ดเพื่อฆ่าตน เหมือนขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่ฉะนั้น

ทำชั่วด้วยตนเอง ย่อมเศร้าหมองด้วยตนเอง
ไม่ทำชั่วด้วยตนเอง ย่อมหมดจดด้วยตนเอง
ความบริสุทธิ์ ความไม่บริสุทธิ์ เป็นของเฉพาะตัว
คนอื่นพึงชำระคนอื่นให้หมดจดหาได้ไม่
บุคคลไม่พึงยังประโยชน์ของตนให้เสื่อม
เพราะประโยชน์ของผู้อื่นแม้มาก
บุคคลรู้จักประโยชน์ของตนแล้ว
พึงขวนขวายในประโยชน์ของตน ฯ


จบอัตตวรรคที่ ๑๒

14
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓
อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
 
โรหิตัสสสูตรที่ ๑

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี

ครั้งนั้นแลโรหิตัสสเทวบุตร เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว มีรัศมีงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตาย ย่อมไม่จุติ ย่อมไม่อุบัติในโอกาสใดหนอแล พระองค์อาจหรือหนอเพื่อจะทรงทราบ เพื่อจะทรงเห็นหรือเพื่อจะทรงถึงซึ่งที่สุดแห่งโลกด้วยการเสด็จไปในโอกาสนั้น

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอาวุโส สัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตาย ย่อมไม่จุติย่อมไม่อุบัติ ในโอกาสใดแล เราย่อมไม่กล่าวโอกาสนั้นว่าเป็นที่สุดแห่งโลกที่ควรรู้ ควรเห็น ควรถึงด้วยการไป ฯ
 
โร. อัศจรรย์ พระเจ้าข้า สิ่งไม่เคยมีได้มีขึ้น พระเจ้าข้า เท่าที่พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ว่า ดูกรอาวุโส สัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตายย่อมไม่จุติ ย่อมไม่อุบัติ ในโอกาสใดแล เราย่อมไม่กล่าวโอกาสนั้น ว่าเป็นที่สุดแห่งโลก ที่ควรรู้ ควรเห็น ควรถึง ด้วยการไป เป็นอันตรัสดีแล้ว
 
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว ข้าพระองค์เป็นฤาษีชื่อโรหิตัสสะเป็นบุตรนายบ้าน มีฤทธิ์ไปในอากาศได้ ความเร็วของข้าพระองค์นั้นเปรียบได้กับนายขมังธนู ผู้มีธนูอันมั่นเหมาะ ศึกษาดีแล้ว เชี่ยวชาญ เคยแสดงให้ปรากฏแล้ว พึงยิงลูกศรอันเบาให้ผ่านเงาตาลด้านขวางไปได้โดยไม่สู้ยาก ฉะนั้น การยกย่างเท้าแต่ละก้าวของข้าพระองค์ เปรียบด้วยสมุทรด้านตะวันตกไกล จากสมุทรด้านตะวันออก ฉะนั้น

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความปรารถนาเห็นปานนี้ว่า เราจักถึงที่สุดแห่งโลกด้วยการไป เกิดขึ้นแล้วแก่ข้าพระองค์นั้นผู้ประกอบด้วยกำลังเร็วเห็นปานนั้น และด้วยการยกย่างเท้าเห็นปานนั้น ข้าพระองค์นั้นแล เว้นจากการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม เว้นจากการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เว้นจากการหลับและการบรรเทาความเหน็ดเหนื่อย เป็นผู้มีชีวิตอยู่ตลอดร้อยปีในคราวที่มนุษย์มีอายุร้อยปี ไปตลอดร้อยปี ไม่ทันถึงที่สุดแห่งโลก ได้ทำกาละเสียในระหว่างทีเดียว น่าอัศจรรย์ พระเจ้าข้า สิ่งไม่เคยมี ได้มีขึ้นพระเจ้าข้า

เท่าที่พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ว่า ดูกรอาวุโสสัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตาย ย่อมไม่จุติ ย่อมไม่อุบัติ ในโอกาสใด เราไม่กล่าวโอกาสนั้น ว่าเป็นที่สุดแห่งโลก ที่ควรรู้ ควรเห็น ควรถึงด้วยการไป เป็นอันตรัสดีแล้ว
 
พ. ดูกรอาวุโส สัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตาย ย่อมไม่จุติ ย่อมไม่อุบัติ ในโอกาสใด เราไม่กล่าวโอกาสนั้น ว่าเป็นที่สุดแห่งโลก ที่ควรรู้ ควรเห็น ควรถึง ด้วยการไป และเราย่อมไม่กล่าวการกระทำที่สุดแห่งทุกข์ เพราะไปไม่ถึงที่สุดแห่งโลก

แต่เราย่อมบัญญัติโลก เหตุเกิดแห่งโลก ความดับแห่งโลก และปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่งโลก ในอัตภาพอันมีประมาณวาหนึ่ง มีสัญญาและมีใจนี้เท่านั้น ฯ
 
ในกาลไหนๆ ที่สุดแห่งโลก อันใครๆ ไม่พึงถึงด้วยการไปและการเปลื้องตนให้พ้นจากทุกข์ ย่อมไม่มีเพราะไม่ถึงที่สุด แห่งโลก เพราะฉะนั้นแล ท่านผู้รู้แจ้งโลก มีเมธาดีถึงที่สุดแห่งโลก มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว เป็นผู้มีบาปอันสงบ รู้ที่สุดแห่งโลกแล้ว ย่อมไม่หวังโลกนี้และโลกหน้า ฯ

 
อรรถกถา
บทว่า โลกํ คือ ทุกขสัจ.
บทว่า โลกสมุทยํ คือ สมุทยสัจ.
บทว่า โลกนิโรธํ คือ นิโรธสัจ.
บทว่า ปฏิปทํ คือ มรรคสัจ.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ผู้มีอายุ เราย่อมไม่บัญญัติสัจจะ ๔ เหล่านี้ลงในหญ้าและไม้เป็นต้น แต่เราย่อมบัญญัติลงในกายนี้ที่มีมหาภูต ๔ เท่านั้น.

15
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=19&A=5886&Z=5948

สัทธาสูตร
ว่าด้วยศรัทธาของพระอริยสาวก


ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวอังคะชื่ออาปณะ ในแคว้นอังคะ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระสารีบุตรมาแล้วตรัสว่า

ดูกรสารีบุตร อริยสาวกผู้ใดมีศรัทธามั่น เลื่อมใสยิ่งในพระตถาคต อริยสาวกนั้นไม่พึงเคลือบแคลงหรือสงสัยในตถาคต หรือในศาสนาของตถาคต.

พระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อริยสาวกใด มีศรัทธามั่นเลื่อมใสยิ่ง ในพระตถาคต อริยสาวกนั้น ไม่พึงเคลือบแคลงหรือสงสัย ในพระตถาคตหรือในศาสนาของพระตถาคต ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม มีกำลัง มีความบากบั่น มั่นคงไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็วิริยะของอริยสาวกนั้น เป็นวิริยินทรีย์ ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียรแล้ว พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเป็นผู้มีสติประกอบด้วยสติเป็นเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง จักระลึกถึง ตามระลึกถึง กิจที่ทำและคำพูดแม้นานได้.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็สติของอริยสาวกนั้น เป็นสตินทรีย์ ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียร เข้าไปตั้งสติไว้แล้ว พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักยึดหน่วงนิพพานให้เป็นอารมณ์ ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็สมาธิของอริยสาวกนั้น เป็นสมาธินทรีย์ ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียร เข้าไปตั้งสติไว้ มีจิตตั้งมั่นโดยชอบ พึงหวังข้อนี้ได้ว่าจักรู้ชัดอย่างนี้ว่า สงสารมีที่สุดและเบื้องต้นอันบุคคลรู้ไม่ได้แล้ว เบื้องต้นที่สุดไม่ปรากฏแก่เหล่าสัตว์ ผู้มีอวิชชาเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกไว้ ผู้แล่นไปแล้ว ท่องเที่ยวไปแล้ว ก็ความดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือแห่งกองมืดคืออวิชชา นั้นเป็นบทอันสงบ นั่นเป็นบทอันประณีตคือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสิ้นกำหนัดความดับ นิพพาน.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ปัญญาของอริยสาวกนั้น เป็นปัญญินทรีย์ อริยสาวกนั้นแล พยายามอย่างนี้ ครั้นพยายามแล้ว ระลึกอย่างนี้ ครั้นระลึกแล้ว ตั้งมั่นอย่างนี้ ครั้นตั้งมั่นแล้ว รู้ชัดอย่างนี้ ครั้นรู้ชัดแล้ว ย่อมเชื่อมั่นอย่างนี้ว่า ธรรมเหล่านี้ ก็คือธรรมที่เราเคยได้ฟังมาแล้วนั่นเอง เหตุนั้น บัดนี้ เราถูกต้องด้วยนามกายอยู่ และเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ศรัทธาของอริยสาวก เป็นสัทธินทรีย์ ดังนี้แล.

พ. ดีละๆ สารีบุตร อริยสาวกใดมีศรัทธามั่น เลื่อมใสในตถาคตอริยสาวกนั้นไม่พึงเคลือบแคลงหรือสงสัย ในพระตถาคต หรือในศาสนาของพระตถาคต ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม มีกำลัง มีความบากบั่น มั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย.

ดูกรสารีบุตร ก็วิริยะของอริยสาวกนั้น เป็นวิริยินทรีย์ ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียรแล้ว พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติเป็นเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง จักระลึกถึง ตามระลึกถึง กิจที่ทำและคำที่พูดแม้นานได้.

ดูกรสารีบุตร ก็สติของอริยสาวกนั้น เป็นสตินทรีย์ ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียร เข้าไปตั้งสติไว้แล้ว พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักยึดหน่วงนิพพานให้เป็นอารมณ์ ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต.

ดูกรสารีบุตร ก็สมาธิของอริยสาวกนั้น เป็นสมาธินทรีย์ ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียร เข้าไปตั้งสติไว้ มีจิตตั้งมั่นโดยชอบ พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักรู้ชัดอย่างนี้ว่า สงสารมีที่สุดและเบื้องต้น อันบุคคลรู้ไม่ได้แล้ว เบื้องต้นที่สุดไม่ปรากฏแก่เหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกไว้ ผู้แล่นไปแล้ว ท่องเที่ยวไปแล้ว ก็ความดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือแห่งกองมืด คืออวิชชา นั่นเป็นบทอันสงบ นั่นเป็นบทอันประณีตคือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสิ้นกำหนัด ความดับ นิพพาน.

ดูกรสารีบุตร ก็ปัญญาของอริยสาวกนั้น เป็นปัญญินทรีย์ อริยสาวกนั้น แลพยายามอย่างนี้ ครั้นพยายามแล้ว ระลึกอย่างนี้ ครั้นระลึกแล้ว ตั้งมั่นอย่างนี้ ครั้นตั้งมั่นแล้วรู้ชัดอย่างนี้ ครั้นรู้ชัดแล้ว ย่อมเชื่อมั่นอย่างนี้ว่า ธรรมเหล่านี้ ก็คือธรรมที่เราเคยได้ฟังมาแล้วนั่นเอง เหตุนั้น บัดนี้ เราถูกต้องด้วยนามกายอยู่ และเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา.

ดูกรสารีบุตร สิ่งใดเป็นศรัทธาของอริยสาวกนั้น สิ่งนั้นเป็นสัทธินทรีย์ของอริยสาวกนั้น ดังนี้แล.

หน้า: [1] 2