ผู้เขียน หัวข้อ: คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑  (อ่าน 9987 ครั้ง)

shad

  • Administrator
  • Full Member
  • *****
  • กระทู้: 217
    • ดูรายละเอียด
คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑
« เมื่อ: พฤศจิกายน 05, 2014, 01:18:27 pm »
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗
ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท
ยมกวรรคที่ ๑


คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=268&Z=329

อรรถกถา
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=11

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐


๐ ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจ ถ้าบุคคลมีใจอันโทษประทุษร้ายแล้ว กล่าวอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม ทุกข์ย่อมไปตามบุคคลนั้น เพราะทุจริต ๓ อย่างนั้น เหมือนล้อหมุนไปตามรอยเท้าโคผู้ลากเกวียนไปอยู่ ฉะนั้น

๐ ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจ ถ้าบุคคลมีใจผ่องใส กล่าวอยู่ก็ตามทำอยู่ก็ตาม สุขย่อมไปตามบุคคลนั้น เพราะสุจริต ๓ อย่างเหมือนเงามีปรกติไปตาม ฉะนั้น

๐ ก็ชนเหล่าใดเข้าไปผูกเวรไว้ว่า คนโน้นด่าเรา คนโน้นได้ตีเรา คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักสิ่งของๆ เรา ดังนี้ เวรของชนเหล่านั้นย่อมไม่ระงับ

ส่วนชนเหล่าใดไม่เข้าไปผูกเวรไว้ว่า คนโน้นด่าเรา คนโน้นได้ตีเรา คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักสิ่งของๆ เรา ดังนี้ เวรของชนเหล่านั้นย่อมระงับ

๐ ในกาลไหนๆ เวรในโลกนี้ย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย แต่ย่อมระงับเพราะความไม่จองเวร ธรรมนี้เป็นของเก่า

๐ ก็ชนเหล่าอื่นไม่รู้สึกว่า พวกเราย่อมยุบยับในท่ามกลางสงฆ์นี้ ส่วนชนเหล่าใดในท่ามกลางสงฆ์นั้น ย่อมรู้สึก ความหมายมั่นย่อมระงับจากชนเหล่านั้น

๐ มารย่อมรังควาญบุคคลผู้มีปรกติเห็นอารมณ์ว่างาม ผู้ไม่สำรวมแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้ประมาณในโภชนะ เกียจคร้าน มีความเพียรเลว เหมือนลมระรานต้นไม้ที่ทุรพล ฉะนั้น

มารย่อมรังควาญไม่ได้ซึ่งบุคคลผู้มีปรกติเห็นอารมณ์ว่าไม่งามอยู่ สำรวมดีแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณในโภชนะ มีศรัทธา ปรารภความเพียร เหมือนลมระรานภูเขาหินไม่ได้ ฉะนั้น

๐ ผู้ใดยังไม่หมดกิเลสดุจน้ำฝาดปราศจากทมะและสัจจะจักนุ่งห่มผ้ากาสายะผู้นั้นไม่ควรเพื่อจะนุ่งห่มผ้ากาสายะ ส่วนผู้ใดมีกิเลสดุจน้ำฝาดอันคายแล้ว ตั้งมั่นแล้วในศีลประกอบด้วยทมะและสัจจะ ผู้นั้นแลย่อมควรเพื่อจะนุ่งห่มผ้ากาสาวะ

๐ ชนเหล่าใดมีความรู้ในธรรมอันหาสาระมิได้ว่าเป็นสาระ และมีปกติเห็นในธรรมอันเป็นสาระ ว่าไม่เป็นสาระ ชนเหล่านั้นมีความดำริผิดเป็นโคจร ย่อมไม่บรรลุธรรมอันเป็นสาระ

ชนเหล่าใดรู้ธรรมอันเป็นสาระ โดยความเป็นสาระ และรู้ธรรมอันหาสาระมิได้ โดยความเป็นธรรมอันหาสาระมิได้ ชนเหล่านั้นมีความดำริชอบเป็นโคจร ย่อมบรรลุธรรมอันเป็นสาระ

๐ ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่บุคคลมุงไม่ดี ฉันใด ราคะย่อมรั่วรดจิตที่บุคคลไม่อบรมแล้ว ฉันนั้น ฝนย่อมไม่รั่วรดเรือนที่บุคคลมุงดี ฉันใด ราคะย่อมไม่รั่วรดจิตที่บุคคลอบรมดีแล้วฉันนั้น

๐ บุคคลผู้ทำบาปย่อมเศร้าโศกในโลกนี้ย่อมเศร้าโศกในโลกหน้า ย่อมเศร้าโศกในโลกทั้งสอง บุคคลผู้ทำบาปนั้นย่อมเศร้าโศก บุคคลผู้ทำบาปนั้นเห็นกรรมที่เศร้าหมองของตนแล้ว ย่อมเดือดร้อน

๐ ผู้ทำบุญไว้แล้วย่อมบันเทิงในโลกนี้ ย่อมบันเทิงในโลกหน้า ย่อมบันเทิงในโลกทั้งสอง ผู้ทำบุญไว้แล้วนั้นย่อมบันเทิง ผู้ทำบุญไว้แล้วนั้นเห็นความบริสุทธิ์แห่งกรรมของตนแล้ว ย่อมบันเทิงอย่างยิ่ง

๐ บุคคลผู้ทำบาปย่อมเดือดร้อนในโลกนี้ ย่อมเดือดร้อนในโลกหน้า ย่อมเดือดร้อนในโลกทั้งสอง บุคคลผู้ทำบาปนั้นย่อมเดือดร้อนว่า
บาปเราทำแล้ว บุคคลผู้ทำบาปนั้นไปสู่ทุคติแล้ว ย่อมเดือดร้อนโดยยิ่ง

๐ ผู้ทำบุญไว้แล้วย่อมเพลิดเพลินในโลกนี้ ย่อมเพลิดเพลินในโลกหน้า ย่อมเพลิดเพลินในโลกทั้งสอง ผู้ทำบุญไว้แล้วย่อมเพลิดเพลินว่า บุญอันเราทำไว้แล้ว ผู้ทำบุญไว้แล้วนั้นไปสู่สุคติ ย่อมเพลิดเพลินโดยยิ่ง

๐ หากว่านรชนกล่าวคำอันมีประโยชน์แม้มาก แต่เป็นผู้ไม่ทำกรรมอันการกบุคคลพึงกระทำ เป็นผู้ประมาทแล้วไซร้ นรชนนั้นย่อมไม่เป็นผู้มีส่วนแห่งคุณเครื่องความเป็นสมณะ ประดุจนายโคบาลนับโคของชนเหล่าอื่น ย่อมไม่มีส่วนแห่งปัญจโครส ฉะนั้น

หากว่านรชนกล่าวคำอันมีประโยชน์แม้น้อยย่อมประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ละราคะ โทสะ และโมหะแล้ว รู้ทั่วโดยชอบ มีจิตหลุดพ้นด้วยดีแล้ว ไม่ถือมั่นในโลกนี้หรือในโลกหน้า นรชนนั้นย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งคุณเครื่องความเป็นสมณะ ฯ

จบยมกวรรคที่ ๑
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐