สาระธรรม,ความรู้ที่เป็นประโยชน์ > บทความธรรม

❁ ยอมรับความป่วยไข้ด้วยใจปล่อยวาง ❁ - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

(1/3) > >>

ยาใจ:



☆ ความรู้สึกต้องสู้แบบนี้อาจกดดันผู้ป่วยหลายคน
เพราะฉะนั้น ใครที่ไปเยี่ยมแล้วแนะนำผู้ป่วยว่า
"สู้ๆ นะ" แม้จะมีเจตนาสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ป่วย
แต่มันอาจสร้างความกดดันให้กับผู้ป่วย
ทำให้ผู้ป่วยอึดอัด เหนื่อยล้า
กับการทำตัวให้เข้มแข็ง
หรือเคี่ยวเข็ญให้ตัวเองดีขึ้น
ครั้นอาการไม่ดีขึ้น แย่ลง เขาจะยิ่งทุกข์

☆ ผู้ป่วยคนหนึ่ง
ซึ่งอาตมาได้พูดถึงเมื่อตอนต้น
เธอเล่าความในใจว่า
เวลาใครบอกให้เธอสู้ๆ
เธอรู้สึกเหนื่อยมาก
เธอบอกว่า "ฉันต้องใช้พลังอย่างมาก
เพื่อที่จะเข้มแข็งและสร้างความสบายใจ
แก่ผู้พบเห็น สิ่งนี้ลึกๆ ภายในเป็นอะไร
ที่กัดกร่อนอย่างยิ่ง"
ดังนั้น คำแนะนำว่า "สู้ๆ"
อาจไม่เป็นผลดีกับคนไข้
โดยเฉพาะผู้ป่วยระยะท้าย
แม้แต่การถามคนไข้ว่า "ดีขึ้นหรือยัง?"
สำหรับคนไข้บางคน
คำถามทำนองนี้สร้างแรงกดดันให้กับเขา
ทำให้เขารู้สึกไม่ดี หรือรู้สึกผิดเมื่ออาการไม่ดีขึ้น
แถมแย่ลง

☆ เพราะฉะนั้น
การปล่อยวางความอยากหาย
ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญ
รวมทั้งการปล่อยวางความคาดหวัง
ของคนรอบข้าง และของตัวเองด้วย
ให้นึกว่า หายเมื่อไรก็เมื่อนั้น
 พอวางความคาดหวังแล้ว
หลายคนก็พบว่าร่างกายดีขึ้น

“ยอมรับความป่วยไข้ด้วยใจปล่อยวาง”
ทำดีด้วยใจปล่อยวาง
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล




☆ ☆ ☆-----------------------------------------☆ ☆ ☆
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก Facebook Kanlayanatam
https://web.facebook.com/profile.php?id=100064859643754

ยาใจ:



❀ ปล่อยวางความอยากหาย
รวมทั้งความคาดหวังทั้งของตนเอง และของผู้อื่น
เพราะยิ่งอยากหายก็ยิ่งทุกข์
ยิ่งอยากหายเท่าไร พอมันไม่หาย
ก็ยิ่งทุกข์เพราะความผิดหวัง

❀ หลวงปู่ขาว อนาลโย ท่านเคยกล่าวไว้ว่า

"อันความอยากหายจากทุกขเวทนา
อย่าอยาก ยิ่งอยากให้หายเท่าไร
ก็ยิ่งเพิ่มสมุทัย ตัวผลิตทุกข์ให้มากยิ่งขึ้นเท่านั้น

แต่ให้อยากรู้ อยากเห็น
ความจริงของทุกขเวทนาที่แสดงอยู่
กับกาย กับใจเท่านั้น

❀ นั่นคือความอยากอันเป็นมรรค
ทางเหยียบย่ำกิเลส ซึ่งจะทำให้เกิดผล
คือการเห็นแจ้งตามความจริง
ของกาย เวทนา จิต
ที่กำลังพิจารณาอยู่ในขณะนั้น"

❀ คำแนะนำของหลวงปู่ขาวนี้น่าสนใจ

เป็นข้อคิดที่ดีมาก นั่นคือ
อย่า "อยากหาย"

❀ เพราะอยากหายแล้วก็ยิ่งทุกข์
แต่ให้ "อยากรู้" "อยากเห็น"
ความจริงของทุกขเวทนา
ที่เกิดกับกายและใจดีกว่า

❀ ข้อความดังกล่าวผู้ที่ศึกษาธรรม
ปฏิบัติธรรมจะเข้าใจว่าหมายความว่าอะไร
ประเด็นที่สำคัญก็คือว่า ยิ่งอยากหาย ก็ยิ่งทุกข์
แต่พอไม่อยากหาย ความทุกข์ในจิตใจก็ลดน้อยลง


“ยอมรับความป่วยไข้ด้วยใจปล่อยวาง”
ทำดีด้วยใจปล่อยวาง
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

ยาใจ:


❀ วิลโก จอห์นสัน ร็อกเกอร์ผู้ไม่ยอมแพ้ต่อมะเร็ง
มีนักดนตรีคนหนึ่งชื่อวิลโก้ จอห์นสัน
 เป็นนักดนตรีที่มีชื่อมาก เป็นผู้บุกเบิกดนตรีแนวพังค์ร็อค 
วันหนึ่งไม่สบาย ไปหาหมอ
ก็พบว่าเป็นมะเร็งตับอ่อน
โรคเดียวกับสตีฟ จ๊อบส์
หมอบอกว่าเขาจะอยู่ได้ไม่เกิน ๑๐ เดือน
ทันทีที่เขาออกจากโรงพยาบาล
แทนที่จิตใจจะหดหู่ ห่อเหี่ยว
เขากลับรู้สึกตรงข้าม
เขาบอกว่า
จู่ๆ ก็รู้สึกมีชีวิตชีวาขึ้นมา
เวลามองเห็นต้นไม้ ท้องฟ้า
เขารู้สึกว่ามันวิเศษจริงๆ
ทั้งที่หมอบอกว่า
เขาจะอยู่ไม่เกิน ๑๐ เดือน
แต่เขากลับรู้สึกว่า ชั่วเวลานั้น
ทุกอย่างที่เขาพานพบเขารู้สึกว่ามันวิเศษมาก
เขาบอกว่า "สิ่งเล็กๆ ทุกอย่างที่เห็น
ลมเย็น ทุกสายที่สัมผัสใบหน้า
 อิฐทุกก้อนบนถนน คุณรู้สึกเลยว่า
ฉันมีชีวิต...ฉันมีชีวิต"
❀  เขาเล่าว่า
ตอนนั้นเขาเป็นเหมือนขนนก
ที่ปลิวไหวไปตามสายลม
ในใจรู้สึกถึงความมีอิสระเสรี
เขาบอกว่ามันเป็นความรู้สึกที่เยี่ยมมาก
ทั้งที่มีเวลาอยู่ในโลกนี้ได้อีกไม่นาน
แต่สิ่งธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวัน
กลับกลายเป็นสิ่งวิเศษ มหัศจรรย์
ทำให้เขารู้สึกมีชีวิตชีวา

❀  เพราะอะไรเขาจึงรู้สึกอย่างนั้น
เป็นเพราะทันทีที่เขารู้ว่า
จะมีเวลาอยู่ในโลกนี้อีกไม่นาน
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยประสบสัมผัส
ที่แสนธรรมดาสามัญ
กลายเป็นสิ่งวิเศษมหัศจรรย์
ทำให้เขารู้สึกมีชีวิตชีวาขึ้นมาทันที
ปรากฏว่าผ่านมาเกือบ ๑๐ ปีแล้ว
เขายังมีชีวิตอยู่จนถึงบัดนี้
เป็นเพราะ เขาสามารถ
ที่จะสัมผัสกับความสุขในปัจจุบันได้
คนหนึ่ง หมอบอกว่าอยู่ได้ไม่เกิน ๓ เดือน
แต่อยู่ได้เพียง ๑๒ วันก็เสียชีวิต
อีกคนหนึ่ง หมอบอกว่า
จะอยู่ได้เพียง ๙ - ๑๐ เดือน
ปรากฏว่าผ่านไปเกือบ ๑๐ ปีแล้ว
เขายังมีชีวิตอยู่
อะไรที่ทำให้เกิดความแตกต่างดังกล่าว ?
คำตอบคือ "ใจ" คือ "ทัศนคติ"
คนหนึ่งจดจ่ออยู่กับอนาคตที่น่ากลัว
อีกคนหนึ่งเปิดใจซึมซับรับเอา
ความสุขในปัจจุบันที่มีอยู่รอบตัว
ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ก้อนเมฆสายลม

❀  อ่านล่าสุดจากลิ้งค์นี้
===> https://www.thaipbs.or.th/news/content/144922


“ยอมรับความป่วยไข้ด้วยใจปล่อยวาง”
ทำดีด้วยใจปล่อยวาง
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

ยาใจ:


❁ มีผู้ป่วยคนหนึ่งอายุ ๔๐ กว่าๆ
เป็นคนเก่งแต่อารมณ์ร้อน
มีเรื่องทะเลาะกับคนอื่นเป็นประจำ
วันหนึ่งเส้นเลือดในสมองแตก
เป็นอัมพฤกษ์ ช่วยตัวเองไม่ได้
เขารู้สึกหงุดหงิดมาก
ที่ตัวเองไม่สามารถจะทำอะไรได้
เวลาทำกายภาพบำบัดก็อยากหายไวๆ

❁ ทำไปสักพักก็ยังไม่หาย
ไม่ดีขึ้นสักที ก็รู้สึกโกรธ อาละวาด
กราดเกรี้ยวใส่หมอกายภาพบำบัด

เป็นเช่นนี้มาหลายเดือน

❁ ในที่สุดเขาก็เริ่มทำใจยอมรับว่า
ร่างกายคงจะไม่ดีขึ้นอย่างที่คาดหวัง
ตอนหลังก็เลยไม่ค่อยคาดหวังเท่าใด
ทำกายภาพบำบัดก็ยังทำอยู่
แต่ก็ไม่ได้คาดหวังอะไร
เพราะเคยคาดหวังมามากแล้ว แต่ก็ผิดหวัง

❁ ปรากฏว่าพอไม่คาดหวัง
จิตใจก็ไม่เครียด พอจิตใจไม่เครียด
ร่างกายก็ดีขึ้นเรื่อยๆ

การทำกายภาพบำบัด
ก็เห็นผลชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ
จนในที่สุดก็กลับมาเดินได้

❁ และที่แปลกกว่านั้นก็คือ
เขากลายเป็นคนใจเย็นขึ้น
นิสัยที่เคยกราดเกรี้ยวกับลูกน้อง
กับเพื่อนๆ ก็เปลี่ยนไป

⭐ เพราะเขาได้เรียนรู้จากความเจ็บป่วยว่า
ความใจร้อนก็ดีหรือการทำอะไร
ด้วยความคาดหวังก็ดี
มีแต่จะสร้างความทุกข์ให้แก่ตัวเอง

⭐ ความเจ็บป่วยสอน
ให้เขาอดทนและใจเย็นมากขึ้น
เมื่ออาการดีขึ้น นิสัยก็เลยเปลี่ยนไป
เหมือนเป็นคนใหม่ ที่แม้แต่เพื่อนๆ ก็แปลกใจ


“ยอมรับความป่วยไข้ด้วยใจปล่อยวาง”
ทำดีด้วยใจปล่อยวาง
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

ยาใจ:


❀ มีคุณลุงคนหนึ่งเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง
เจ็บป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลอยู่หลายครั้ง
แต่ได้หมอที่เก่ง ป่วยหนักมาแต่ละครั้ง
หมอก็รักษาจนออกจากโรงพยาบาลได้
แต่แล้วไม่นานอาการก็ทรุดหนักอีก
เพราะกลับไปกินเหล้าอีก ต้องเข้าโรงพยาบาลอีก

❀ เป็นอย่างนี้อยู่ ๒- ๓ รอบ

จนวันหนึ่งหมอเรียกมาคุย
และเตือนว่าถ้าคุณลุงยังกินเหล้าไม่เลิก
ครั้งหน้าอาจจะไม่รอดแล้ว ลุงต้องเลิกเหล้านะ

"ครับ ผมจะพยายาม" คุณลุงรับคำ

❀ หมอก็พูดต่อว่า
"ลุงก็รับปากอย่างนี้ทุกที
แต่ทำไมยังกลับไปกินอีก ทั้งๆ ที่
รับปากแล้ว" แกตอบว่า "มันเครียดครับ"
"แล้วลุงเครียดอะไร" หมอถาม

แกตอบว่า "ผมเครียดที่เลิกเหล้าไม่ได้"

❀ ลุงอยากเลิกเหล้ามาก
แต่พอเลิกไม่ได้ก็เลยเครียด
พอเครียด ก็เลยต้องกินเหล้าจะได้หายเครียด

ครั้นกินเหล้าอีก อาการก็กำเริบหนักขึ้น

❀ นี่เป็นเพราะอยากเลิกเหล้ามาก
ยิ่งอยากเลิกเหล้า แต่เลิกไม่ได้
ก็ยิ่งผิดหวังยิ่งเครียดเป็นทุกข์ซ้ำเติมตัวเอง
หรือทำให้อาการย่ำแย่มากขึ้น


“ยอมรับความป่วยไข้ด้วยใจปล่อยวาง”
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

ไปที่เวอร์ชันเต็ม