ผู้เขียน หัวข้อ: ★ ผักพื้นบ้านไทย ช่วยลดอ้วน ลดไขมันในเลือด ★  (อ่าน 34 ครั้ง)

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14238
    • ดูรายละเอียด



สมุนไพรน่ารู้ | ผักพื้นบ้านไทย ช่วยลดอ้วน ลดไขมันในเลือด

วัฒนธรรมการปรุงอาหารของไทย มีใช้เครื่องปรุงที่มีอยู่ในพื้นที่ ทั้งพืชผักและเครื่องเทศ ซึ่งพบว่า มีสารประกอบพฤกษเคมี หรือไฟโตเคมิคอล (phytochemical) ที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการและปฏิกิริยาต่างๆ ของร่างกาย และยังช่วยต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเราสามารถใช้ประโยชน์เป็นยาในการช่วยปรับสมดุล ป้องกัน และรักษาโรคได้ดีมาก โดยมีการวิจัยเพื่อตรวจหาศักยภาพของผักในบ้านเรา ที่สามารถลดไขมันในเลือดได้ พบว่า…

“พริกไทยดำ” และสารสำคัญ คือ ไปเปอรีน สามารถลดการซึมผ่านของโคเลสเตอรอลจากลำไส้เล็กเข้าสู่กระแสเลือด (cholesterol uptake)

“ข่า” มีน้ำมันหอมระเหยและ “ชาดำ” มีสารกลุ่มแทนนินช่วยต้านกระบวนการย่อยสลายไขมันในลำไส้ของเอนไซม์ไลเปสจากตับอ่อน (pancreatic lipase activity) ทำให้ไขมันที่บริโภคไม่สามารถดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้ และถูกขับออกมากับกากอาหารอื่นๆ นอกจากนี้ ข่า ยังสามารถลดระดับโคเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ ฟอสโฟไลปิด และเพิ่มระดับไขมันชนิดดี (HDL) ในซีรัมหนูทดลองไขมันสูง

“สารสกัดกลีบเลี้ยงกระเจี๊ยบแดง” “ใบมะรุม” และ “ผลมะระขี้นก” ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ HMG-CoA reductase เช่นเดียวกับยาลดไขมันกลุ่มสแตติน เช่น พราวาสแตติน ทำให้การสังเคราะห์โคเลสเตอรอลในร่างกายลดลง

“เหง้าขิง” มีสารสำคัญกลุ่มน้ำมันหอมระเหยและยางเรซิน ซึ่งไม่ค่อยละลายในน้ำ พบว่าสัตว์ทดลองไขมันสูงกินน้ำต้มขิงในขนาดสูง (500 มก./กก.) สามารถลดโคเลสเตอรอลได้ แต่ไม่มีผลลดระดับไตรกลีเซอไรด์ หลังจากให้กระต่ายทดลองที่กินขิงสกัดด้วย 50% แอลกอฮอล์ ตรวจพบปริมาณไขมันถูกขับออกมาในอุจจาระเพิ่มขึ้น

“พริกชี้ฟ้า” มีสารสีแดงกลุ่มแคโรทีนอยด์ ชื่อ แคปแซนติน ทำให้ระดับไขมันชนิดดีในสัตว์ทดลองสูงขึ้น

“ใบผักบุ้ง” ช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ของหนูแรทที่ทำให้มีไขมันสูงได้ทั้งในเลือด ตับ ไต และหัวใจอย่างมีนัยสำคัญ

“ตะไคร้” มีการทดลองในหนู โดยให้กินน้ำต้มใบตะไคร้ขนาดต่างๆ นาน 42 วัน พบว่า ระดับโคเลสเตอรอลในเลือด และไขมันชนิดไม่ดีลดลงตามขนาดที่กิน แต่ไม่มีผลลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์

“มะขามป้อม” มีงานวิจัยในสัตว์เป็นจำนวนมาก ระบุว่ามะขามป้อมมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงมาก โดยพบว่า น้ำคั้นผลมะขามป้อมสด สามารถลดระดับโคเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และ LDL ของกระต่ายโคเลสเตอรอลสูงลงได้ โดยกลไกลดการดูดซึมในระบบทางเดินอาหาร และเพิ่มการขับถ่ายออกไปพร้อมอุจจาระ สารออกฤทธิ์เป็นกลุ่มฟลาโวนอยด์ และโพลีฟีนอล ซึ่งลดการสังเคราะห์ไขมันและเสริมการทำลายโคเลสเตอรอลทั้งในซีรัมและในเนื้อเยื่อของหนูที่โคเลสเตอรอลสูงด้วย

“กระเทียมสด” มีสารอัลลิซิน และอะโจอิน ที่มีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสร้างสารโคเลสเตอรอลในร่างกาย และมีฤทธิ์ต้านการก่อไขมันอุดตันในหลอดเลือดได้

“ลูกเดือย” มีการวิจัย ในปี 2012 สรุปได้ว่า ในลูกเดือยมีสารกลุ่มโพลีฟีนอล ซึ่งออกฤทธิ์ลดโคเลสเตอรอล ต้านอนุมูลอิสระ และลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด

“มะเขือเทศ” เป็นผักที่มีไลโคปีนสูง มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และสามารถลดระดับไขมันชนิดเลวได้ดี การศึกษาโดยการสังเกตและวิเคราะห์ไปข้างหน้า (Prospective cohort) พบว่า หญิงที่รับประทานมะเขือเทศเป็นหลักอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 7-10 มื้อ จะลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย

ที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น อันที่จริงแล้ว นอกจากสารประกอบพฤกษเคมีหลากหลายชนิดที่พบในผักผลไม้ต่างๆ แล้ว ยังมีส่วนประกอบอื่นที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ นั่นคือ สารแมคโครนิวเทรียนต์ (macronutrient) ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน สารอาหารอีกชนิดหนึ่ง คือ สารไมโครนิวเทรียนต์ (micronutrient) ซึ่งเป็นสารที่มีความจำเป็นต่อร่างกายเช่นกัน แต่ต้องการปริมาณเพียงเล็กน้อย ได้แก่ ไวตามินและแร่ธาตุ แม้แต่ส่วนกากเส้นใย (fiber) ก็ยังช่วยดูดซับไขมันที่เราบริโภคในมื้อนั้นไว้ และช่วยกำจัดออกจากร่างกายไปพร้อมกับอุจจาระนั่นเอง

ข้อมูลจาก
https://pharmacy.mahidol.ac.th/en/knowledge/article/151/ลดความอ้วน-ลดไขมันในเลือด-ด้วยผักพื้นบ้านไทย



✪ ✪ ✪ --------------------------------✪ ✪ ✪ ----------------------------------✪ ✪ ✪

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก Facebook อภัยภูเบศร สมุนไพรไทย

https://web.facebook.com/profile.php?id=100063551125106
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 03, 2024, 04:59:41 pm โดย ยาใจ »