ผู้เขียน หัวข้อ: ดาวน์โหลด รวม E-Book - พระไพศาล วิสาโล และหนังสือใหม่ที่น่าสนใจ*ล่าสุด*  (อ่าน 96060 ครั้ง)

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14238
    • ดูรายละเอียด


คำปรารภ
น้ำใจเมื่อเกิดขึ้นกับใคร ไม่เพียงนำความชุ่มเย็นสู่บุคคลผู้นั้น หากยังช่วยประสานใจผู้คนให้อยู่ร่วมกันอย่างราบรื่น ในทางตรงกันข้าม จิตใจที่แห้งผาก ย่อมสร้างความเร่าร้อนแก่เจ้าตัว อีกทั้งยังเป็นบ่อเกิดแห่งความร้าวฉานและวิวาทบาดหมางระหว่างผู้คน

จิตใจของเราทุกคนย่อมโหยหาความสงบเย็น เช่นเดียวกับร่างกายที่ขาดน้ำไม่ได้ ความสุขชนิดใดก็สู้ความสงบเย็นในจิตใจไม่ได้ แม้นมีเงินมากมาย พรั่งพร้อมด้วยสิ่งเสพ ยศศักดิ์อัครฐานสูงส่ง แต่หากปราศจากซึ่งความสงบจิตเย็นใจแล้ว ชีวิตก็เสมือนว่างเปล่าและไร้ค่า ครั้นจะตามล่าหาความสงบเย็นจนสุดขอบฟ้าก็ไม่มีวันหาพบ เพราะแท้จริงแล้วความสงบเย็นอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ ที่ผู้คนมักจะมองข้ามไป

ต้นไม้ไพรพฤกษ์ที่หยั่งรากลึกย่อมสัมผัสความชุ่มเย็นของน้ำใต้ดินฉันใด จิตใจที่หยั่งลึกเท่านั้นจึงจะพบความสงบเย็นที่ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตให้สดใส เพิ่มพูนน้ำใจให้เกิดเมตตาปรารถนาดีต่อผู้อื่น ขณะเดียวกันยิ่งช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์มากเท่าใด ความเห็นแก่ตัวและความแข็งกระด้างก็ยิ่งน้อยลงมากเท่านั้น เหมือนชั้นหินใต้ดินที่อ่อนตัว ช่วยให้จิตใจหยั่งลึกขึ้นจนถึงความสุขชั้นในที่ประเสริฐ เป็นสุขที่บำรุงใจให้ใสเย็นอยู่เสมอและเกิดพลังที่จะทำความดีไม่หยุดหย่อน

หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยเป็นแนวทางให้ผู้อ่านได้พบน้ำใสใจเย็นอันเป็นความสุขอย่างง่าย ๆ ที่ไม่ได้แยกขาดจากชีวิตประจำวัน ข้อเขียนทั้ง ๓๐ ชิ้นนั้นแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นงานเขียนของ “ภาวัน”ที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร IMAGE ระหว่างปี ๒๕๕๒-๒๕๕๔ ส่วนที่สองนั้นคัดสรรจาก “คำปรารภ” ในหนังสือของพระไพศาล วิสาโล โดยมีการล้อมกรอบเพื่อให้แยกจากส่วนแรก โดยเรียงสลับกันทีละบทตลอดทั้งเล่ม เพื่อเสริมเนื้อหาของกันและกัน

หนังสือเล่มนี้สำเร็จได้ โดยคุณนงลักษณ์ ตรงศีลสัตย์ เป็นบรรณาธิการคัดเลือกต้นฉบับ และคุณมณี ศรีเพียงจันทร์ ช่วยดำเนินการตีพิมพ์จนสำเร็จเป็นรูปเล่ม ขอขอบคุณทั้งสองท่านมา ณ ที่นี้

พระไพศาล วิสาโล
“ภาวัน”
๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๕




 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 27, 2012, 11:07:12 am โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14238
    • ดูรายละเอียด



คำปรารภ
เราทุกคนย่อมเป็นผลจากการปรุงแต่งของสิ่งแวดล้อมไม่มากก็น้อย แต่ในเวลาเดียวกันเราก็มีอิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน แม้ความจริงจะมีอยู่ว่า มนุษย์เราอยู่ไม่ได้ถ้าขาดธรรมชาติ ส่วนธรรมชาตินั้นอยู่ได้แม้ไม่มีเราก็ตาม ศักยภาพที่เพิ่มพูนในหลายศตวรรษที่ผ่านมาทำให้เรามีความสามารถในการดัดแปลงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ถูกกำหนดโดยสิ่งแวดล้อมน้อยลง ทุกวันนี้เห็นได้ชัดว่าเทคโนโลยีได้ขยายสมรรถนะของมนุษย์อย่างมากมายจนสามารถพลิกผันธรรมชาติทั้งบนดินในน้ำและบนฟ้าได้อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ศักยภาพดังกล่าวถูกใช้เพื่อสร้างความสะดวกสบายแก่มนุษย์ แต่มักลงเอยด้วยความพินาศของสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตามมนุษย์ยังมีศักยภาพอีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ ความสามารถในการรักษาใจให้เป็นอิสระจากสิ่งแวดล้อม ไม่ผันผวนตกต่ำแม้สิ่งแวดล้อมจะผันแปร ถึงกายจะถูกบีบคั้นกระทบกระแทก แต่ใจก็สงบเย็นได้ ใช่แต่เท่านั้นเรายังสามารถใช้ประโยชน์จากสถานการณ์อันเลวร้ายย่ำแย่ ทำให้จิตใจนอกจากจะไม่เป็นทุกข์แล้ว ยังมีความเจริญงอกงามมั่นคง ความสามารถดังกล่าวนี้เองที่สามารถเปลี่ยนเคราะห์ให้กลายเป็นโชค เช่นเดียวกับต้นไม้ที่เปลี่ยนขยะปฏิกูลให้กลายเป็นปุ๋ยบำรุงดอกไม้ให้งดงามและผลไม้ให้หอมหวาน แต่ทุกวันนี้ศักยภาพดังกล่าวมักถูกมองข้ามไป ผู้คนจึงมุ่งเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม ครั้นสิ่งแวดล้อมไม่เป็นไปดั่งใจหรือเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน จึงเป็นทุกข์อย่างยิ่ง

แต่เมื่อใดที่เราตระหนักถึงศักยภาพในทางจิตดังกล่าว เราจะเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงตนเอง ฝึกจิตให้ฉลาดในการมองโลกและเข้าใจชีวิต อันจะทำให้เราเห็นโลกในมุมใหม่ ขณะเดียวกันก็ยกจิตให้เป็นอิสระจากสิ่งแวดล้อมและมีความสุขได้ง่ายขึ้น

ข้อเขียนทั้งหมดในเล่มนี้เคยตีพิมพ์มาก่อนในคอลัมน์ "รับอรุณ" และ "ริมธาร" ในนิตยสารสารคดีระหว่างปี ๒๕๕๑-๒๕๕๔ นับเป็นเล่มที่ ๓ ต่อจาก เดินสู้ทุกข์ และ ยิ้มได้แม้พ่ายแพ้ บทความเหล่านี้เมื่อครั้งตีพิมพ์ในนิตยสารสารคดี ได้รับการดูแลตรวจตราทางด้านข้อมูลด้วยความเอาใจใส่ของคุณวิรพา อังกูรทัศนียัรัตน์ บรรณาธิการต้นฉบับ ข้าพเจ้าจึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

พระไพศาล วิสาโล
๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

 

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14238
    • ดูรายละเอียด



คำปรารภ
ธรรมยาตราเพื่อชีวิตและลุ่มน้ำลำปะทาว เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นทุกปีบนเทือกเขาภูแลนคา จังหวัดชัยภูมิ นับแต่ปี ๒๕๔๓ จนถึงปัจจุบัน นอกจากมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นอย่างหนักหน่วงในเขตลุ่มน้ำลำปะทาว อันเป็นภาพสะท้อนของวิกฤตการณ์ในระดับโลกแล้ว ยังเป็นการปฏิบัติธรรมเพื่อเจริญสติและฝึกฝนจิตใจ ทั้งนี้เพราะธรรมกับธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกันอย่างใกล้ชิด ในด้านหนึ่งธรรมชาติย่อมเอื้อให้เกิดความงอกงามในธรรม ขณะเดียวกันธรรมที่เจริญมั่นคงในบุคคลย่อมส่งเสริมให้ธรรมชาติดำเนินไปอย่างปกติไม่เสียสมดุล แต่เมื่อใดก็ตามที่ธรรมขาดหายไปจากใจของผู้คน ธรรมชาติย่อมถูกทำลายเพื่อปรนเปรอตัณหาของมนุษย์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ธรรมยาตราแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ ๗ คืน ๘ วัน โดยเยี่ยมเยือนและค้างแรมตามหมู่บ้านต่าง ๆ นอกจากการทำกิจกรรมกับชาวบ้าน อาทิ พิธีกรรมทางศาสนา และการสนทนาแลกเปลี่ยนกันแล้ว การเดินกลางแดด(หรือกลางฝนในบางครั้ง)ในภูมิประเทศที่หลากหลาย เป็นกิจกรรมอีกอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญมาก เพราะแม้จะเต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่ได้ก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมากแก่ผู้เดินชนิดที่หาได้ยากจากชีวิตประจำวันหรือกิจกรรมทั่วไป หลายคนได้พบว่า “เหนื่อยแต่กาย ใจเบิกบาน” หรือ “กายร้อน ใจไม่ร้อน” นั้น ทำได้อย่างไร ขณะที่นักเรียนและหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยได้คำตอบว่าความสุขจากชีวิตที่เรียบง่ายนั้นเป็นอย่างไร

ทุกวันหลังทำวัตรเช้าและเย็น มีการบรรยายธรรมโดยข้าพเจ้า เพื่อย้ำเตือนจุดมุ่งหมายของธรรมยาตรา ขณะเดียวกันก็ให้แง่คิดหรือบทเรียนจากการเดิน ซึ่งแยกไม่ออกจากการดำเนินชีวิต กล่าวได้ว่าเราเดินอย่างไร ก็ใช้ชีวิตอย่างนั้น หากเดินด้วยใจที่เป็นสุข เราก็สามารถดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุขได้ไม่ยาก ในทางตรงข้ามหากเดินด้วยใจที่เครียด กังวล และหงุดหงิดอยู่ตลอดเวลา การดำเนินชีวิตของเราก็ย่อมถูกรบกวนด้วยอาการดังกล่าวอยู่เป็นนิจ

สำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์ เห็นว่าคำบรรยายดังกล่าวมีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ จึงได้นำคำบรรยายดังกล่าวมารวมพิมพ์เป็นเล่ม โดยแยกออกเป็นสองเล่ม คือ ก้าวแห่งความสุข และ เป็นสุขทุกย่างก้าว ข้าพเจ้ายินดีอนุญาต และหวังว่าผู้อ่านจะได้ข้อคิดจากหนังสือเล่มนี้เพื่อทำให้แต่ละก้าวแห่งการดำเนินชีวิตของตนเป็นย่างก้าวแห่งความสุข โดยมีธรรมเป็นที่หมาย

พระไพศาล วิสาโล
๑ ตุลาคม ๒๕๕๕

 

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14238
    • ดูรายละเอียด



คำปรารภ
หนังสือเล่มนี้มีที่มาจากคำบรรยายของข้าพเจ้าระหว่างวันที่ ๑-๘ ธันวาคม ๒๕๕๒ อันเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่ชื่อว่า “ธรรมยาตราเพื่อชีวิตและลุ่มน้ำลำปะทาว” ซึ่งคณะสงฆ์วัดป่าสุคะโตและวัดป่ามหาวัน ร่วมกับเครือข่ายกัลยาณมิตร ได้จัดขึ้นทุกปีบนเทือกเขาภูแลนคา จังหวัดชัยภูมิ นับแต่ปี ๒๕๔๓ จนถึงปัจจุบัน

ธรรมยาตราเพื่อชีวิตและลุ่มน้ำลำปะทาว นอกจากมีจุดมุ่งหมายเพื่อรณรงค์เสริมสร้างจิตสำนึกของผู้คนท่ามกลางปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นอย่างหนักหน่วงในเขตลุ่มน้ำลำปะทาว อันเป็นภาพสะท้อนของวิกฤตการณ์ในระดับโลกแล้ว ยังเป็นการปฏิบัติธรรมเพื่อเจริญสติและฝึกฝนจิตใจ ทั้งนี้เพราะธรรมกับธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกันอย่างใกล้ชิด กล่าวได้ว่าวิกฤตทางธรรมชาตินั้นมีรากเหง้ามาจากวิกฤตทางจิตวิญญาณของผู้คน หากไม่ฟื้นในธรรมในใจของผู้คน ก็ยากที่จะฟื้นธรรมชาติให้กลับมามีความสมดุลได้

ธรรมยาตราแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ ๗ คืน ๘ วัน โดยเยี่ยมเยือนหมู่บ้านต่าง ๆ ตามเส้นทางที่เปลี่ยนไปทุกปี และค้างแรมตามวัดเป็นหลัก แม้ความสะดวกสบายจะหาได้ยาก แต่ผู้ร่วมเดินมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี จนกลายเป็นหลายร้อยคนโดยมาจากทุกภาคของประเทศ กว่าครึ่งเป็นนักเรียนทั้งบนเทือกเขาภูแลนคา และจากจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งจากกรุงเทพ ฯ กระทั่งสองปีมานี้ต้องมีการจำกัดจำนวนผู้เดินเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ชุมชนที่ต้อนรับ

นอกจากการทำกิจกรรมกับชาวบ้าน อาทิ พิธีกรรมทางศาสนา และการสนทนาแลกเปลี่ยนกันแล้ว การเดินกลางแดด(หรือกลางฝนในบางครั้ง)ในภูมิประเทศที่หลากหลาย เป็นกิจกรรมอีกอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญมาก เพราะแม้จะเต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่ได้ก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมากแก่ผู้เดินชนิดที่หาได้ยากจากชีวิตประจำวันหรือกิจกรรมทั่วไป หลายคนได้พบว่า “เหนื่อยแต่กาย ใจเบิกบาน” หรือ “กายร้อน ใจไม่ร้อน” นั้น ทำได้อย่างไร ขณะที่นักเรียนและหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยได้คำตอบว่าความสุขจากชีวิตที่เรียบง่ายนั้นเป็นอย่างไร

ทุกวันหลังทำวัตรเช้าและเย็นเป็นการบรรยายธรรมของข้าพเจ้า เพื่อย้ำเตือนจุดมุ่งหมายของธรรมยาตรา ขณะเดียวกันก็นำเอาประสบการณ์แต่ละวันมาเป็นข้อคิดหรือบทเรียนสำหรับการดำเนินชีวิต เพราะ ความจริงมีอยู่ว่าเราเดินอย่างไร ก็ใช้ชีวิตอย่างนั้น หากเดินด้วยใจที่เป็นสุข เราก็สามารถดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุขได้ไม่ยาก ในทางตรงข้ามหากเดินด้วยใจที่เครียด กังวล และหงุดหงิดอยู่ตลอดเวลา การดำเนินชีวิตของเราก็ย่อมถูกรบกวนด้วยอาการดังกล่าวอยู่เป็นนิจ

สำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์ เห็นว่าคำบรรยายดังกล่าวมีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ จึงได้นำคำบรรยายดังกล่าวมารวมพิมพ์เป็นเล่ม โดยแยกออกเป็นสองเล่ม คือ ก้าวแห่งความสุข และ เป็นสุขทุกย่างก้าว ข้าพเจ้ายินดีอนุญาต และหวังว่าผู้อ่านจะได้ข้อคิดจากหนังสือเล่มนี้เพื่อทำให้แต่ละก้าวแห่งการดำเนินชีวิตของตนเป็นย่างก้าวแห่งความสุข โดยมีธรรมเป็นที่หมาย

พระไพศาล วิสาโล
๑ ตุลาคม ๒๕๕๕
 

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14238
    • ดูรายละเอียด



คำปรารภ

ผู้ป่วยทุกประเภท ไม่ได้ต้องการการเยียวยาทางกายเท่านั้น หากยังปรารถนาความช่วยเหลือทางจิตใจด้วย เพราะหากจิตใจเป็นทุกข์แล้วก็สามารถฉุดกายให้ทรุดลงยิ่งกว่าเดิม อีกทั้งทำให้เกิดความทุกข์ทรมานมากขึ้น  ยิ่งเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยแล้ว  การดูแลทางจิตใจเป็นเรื่องสำคัญมาก อาจจะยิ่งกว่าการดูแลทางกายด้วยซ้ำ  เพราะแม้กายมีแต่จะเสื่อมถอย พ้นวิสัยเยียวยาได้ แต่ใจก็ยังสามารถประคองให้เป็นปกติ มีสติจนวาระสุดท้าย และจากไปอย่างสงบได้  จะว่าไปแล้ว สำหรับผู้ป่วยที่ใกล้สิ้นลม การมีชีวิตยืนยาวไปอีกหนึ่งอาทิตย์หนึ่งเดือนด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์  ไม่สำคัญเท่ากับการพบกับความสงบในวาระสุดท้ายของชีวิต

การให้ความช่วยเหลือทางจิตใจแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้น ไม่ใช่เรื่องลี้ลับซับซ้อน ที่ต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญ เช่น พระสงฆ์  แต่เป็นเรื่องสามัญที่อาศัยความเข้าอกเข้าใจและความใส่ใจ ซึ่งญาติผู้ป่วยก็สามารถทำได้ และอาจทำได้ดีกว่าพระสงฆ์ด้วยซ้ำ   หากตระหนักเป็นเบื้องต้นว่าสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการคือความสงบทางจิตใจ ก็ย่อมเห็นถึงความสำคัญของการน้อมใจให้ผู้ป่วยนึกถึงสิ่งดีงามที่นับถือ บุญกุศลที่ได้บำเพ็ญ สิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจในชีวิต รวมทั้งการปล่อยวางสิ่งที่ค้างคาใจหรือหวงแหนกังวล

เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้คัดเลือกมาจากคำสนทนาของข้าพเจ้ากับผู้ป่วยระยะสุดท้ายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพโคม่าแล้ว แต่ก็เชื่อว่ายังสามารถรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวได้ หลายคนแสดงอาการตอบสนองทั้งระหว่างสนทนาและเมื่อสนทนาเสร็จสิ้นแล้ว  เนื้อหาของการสนทนานั้นแตกต่างกันไปตามภูมิหลังและประสบการณ์ ตลอดจนความเข้าใจทางธรรมของผู้ป่วย  เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยคนอื่น ๆ ด้วย โดยผู้ป่วยอาจอ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยตนเอง หรือมีญาติช่วยอ่านให้ฟัง  ที่ดีกว่านั้นก็คือ ญาติหยิบเอาสาระบางส่วนที่เป็นประโยชน์ มาใช้ในการสนทนากับผู้ป่วย เพื่อให้เป็นการสื่อสารที่ออกมาจากใจและสอดคล้องกับสภาพจิตใจและอุปนิสัยของผู้ป่วย

หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยทั้งหลายสามารถเผชิญความตายด้วยใจสงบ อีกทั้งยังช่วยให้ผู้คนอีกมากมายสามารถทำสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดแก่คนที่ตนรักในวาระสุดท้ายของชีวิต นั่นคือการน้อมใจเขาให้เป็นกุศลและปล่อยวางก่อนสิ้นลม

พระไพศาล วิสาโล
วันมหาปวารณา-ออกพรรษา
๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๕

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14238
    • ดูรายละเอียด



มิตรในเรือนใจ 
โดย พอจ. ไพศาล วิสาโล


ใครๆก็อยากมีเพื่อน โดยเฉพาะเพื่อนสนิทใกล้ชิด ไปไหนไปด้วย ร่วมทุกข์ ร่วมสุขกัน ไม่ทอดทิ้งกัน

พอจ. ไพศาลได้แนะนำเพื่อนให้เรารู้จัก เพื่อนที่จะอยู่ใกล้ชิดกับเรา ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน เพื่อนที่จะเป็นกัลยาณมิตรที่ดีให้แก่เรา




คลิ๊ก => http://www.kanlayanatam.com/Mybookneanam/Mitnairuenjai.pdf




ที่มา :  http://www.kanlayanatam.com



ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14238
    • ดูรายละเอียด



ความสุขอันประเสริฐ
 โดย  พอจ. ไพศาล วิสาโล


คนเราทุกคน ย่อมปราถนาความสุข
แต่ความสุขที่คนส่วนใหญ่แสวงหา
เป็นความสุขที่เจือด้วยทุกข์ และมักนำความทุกข์ตามมาด้วย
ทั้งในระหว่างที่ไขว่คว้า และเมื่อได้มาครอบครองแล้ว
แต่มีความสุขอีกแบบหนึ่ง
เป็นความสุขที่เกิดจากความสงบ 
ไม่ต้องไขว่คว้าหามา ไม่เจือด้วยทุกข์
เราเรียกความสุขนั้นว่า
" ความสุขอันประเสริฐ "

ลองมาดูกันซิว่า
ความสุขที่ พอจ. ไพศาล พูดถึง
เป็นความสุขแบบไหนกัน....
(ข้อความและ File หนังสือจากชมรมกัลยาณธรรม)




คลิ๊ก => http://www.kallayanatham.com/book/KwarmSuk.pdf




ที่มา :  http://kanlayanatam.com/

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14238
    • ดูรายละเอียด


คำปรารภ
หนังสือเล่มนี้มีอนุสนธิจากการที่นักปฏิบัติธรรมกลุ่มหนึ่งนำโดยคุณอโนทัย เจียรสถาวงศ์ ได้มาบำเพ็ญสมาธิภาวนาที่วัดป่ามหาวันหรือ “ภูหลง”เป็นเวลา ๕ วันเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๔๙ หลังจากนั้นคุณอโนทัยและคณะได้นำคำบรรยายธรรมของข้าพเจ้าหลังทำวัตรเช้า-และเย็นในช่วงดังกล่าวมาตีพิมพ์เป็นหนังสือ เพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทาน ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้ยังเป็นที่ต้องการอีก แต่หาได้ยากแล้ว บัดนี้คุณศศิวรรณ เตชะกฤตธีรนันท์ มีความประสงค์จะตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้อีกครั้งหนึ่งเพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจในธรรม อาตมาอนุญาตด้วยความเต็มใจ

ชื่อของหนังสือเล่มนี้แม้บ่งบอกถึงปณิธานของผู้จัดทำที่ต้องการสร้างความตื่นรู้ให้แก่ตนเองที่ภูหลง แต่มิได้หมายความว่าความตื่นรู้จะขึ้นอยู่กับสถานที่ เราสามารถสร้างความตื่นรู้หรืออยู่กับความรู้ตัวทั่วพร้อมได้ทุกหนแห่ง ไม่ว่าในป่าหรือในเมือง ไม่ว่าในกุฏิหรือบนท้องถนน ศักยภาพแห่งความตื่นรู้นั้นมีอยู่กับเราแล้ว เป็นแต่ว่าจะพัฒนาให้ปรากฏขึ้นเป็นจริงหรือไม่

อันที่จริง เมื่อมองให้ลึกลงไปแล้ว “ภูหลง” หาได้หมายถึงสถานที่ซึ่งอยู่นอกตัวเราเท่านั้นไม่ หากยังดำรงอยู่ในใจของเราด้วย “ตื่นรู้ที่ภูหลง” จึงมีนัยยะอีกชั้นหนึ่งว่า แม้ความหลงจะครองใจอยู่ เราก็ยังสามารถตื่นรู้ได้ ใช่หรือไม่ว่าเราต้อง “หลง”ก่อนถึงจะ “รู้”ตามมา ยิ่งไปกว่านั้นในท่ามกลางความหลงนั้นเองที่เราสามารถบรรลุถึงความตื่นรู้ได้ ถ้าเข้าใจเช่นนี้ ย่อมไม่ยากที่เราจะพบสุขท่ามกลางความทุกข์ หรือสงบเย็นท่ามกลางความร้อน แม้แต่ท่านพุทธทาสภิกขุก็ได้เตือนเราว่า ในวัฏสงสารนั้นมีนิพพาน

ขออนุโมทนาคุณศศิวรรณ เตชะกฤตธีรนันท์ และคณะที่ได้ร่วมกันบำเพ็ญธรรม ทั้งส่วนที่เป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ขอให้ความตื่นรู้ของทุกท่านที่มีส่วนร่วมในบุญนี้ จงดำรงอย่างต่อเนื่อง และอำนวยให้ประจักษ์แจ้งในสัจธรรม จนบรรลุถึงอิสรภาพในที่สุด


พระไพศาล วิสาโล
๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕

 

 

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14238
    • ดูรายละเอียด



คำปรารภ
ธรรมะมีอยู่ทุกหนแห่ง ปรากฏให้เราเห็นอยู่รอบตัว   อีกทั้งยังแฝงอยู่ในประสบการณ์ชีวิตของเราตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ไม่ว่าดีหรือร้าย ขึ้นหรือลง  หากรู้จักใคร่ครวญ ก็จะเห็นธรรมและคติเตือนใจได้ไม่ยาก

อย่างไรก็ตามการเรียนรู้จากผู้อื่น เป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจธรรมได้ง่ายขึ้น แต่เพียงแค่สดับฟังหรืออ่านยังไม่พอ จำต้องใคร่ครวญและพิจารณาด้วยตนเอง  จากนั้นก็ต้องนำไปปฏิบัติหรือทดลองใช้เพื่อเห็นผลด้วยตนเอง  ดังพระพุทธองค์ได้ตรัสว่า ปัจจัย ๔ ประการที่ช่วยให้เกิดปัญญางอกงามได้แก่  การเสวนากับสัตบุรุษ การฟังธรรม โยนิโสมนสิการ(การคิดถูก คิดเป็น) และ ธรรมานุธรรมปฏิบัติ (การปฏิบัติอย่างถูกต้องหรือสมควรแก่ธรรมนั้น)

ข้อคิดความเห็นในหนังสือเล่มนี้ส่วนใหญ่เกิดจากกระบวนการทั้ง ๔ ประการ แต่ก็มิได้หมายความว่าจะถูกต้องจริงแท้ เพราะข้าพเจ้าเป็นปุถุชนที่มีขอบเขตจำกัดทั้งในการรับรู้ ใคร่ครวญ รวมทั้งสติปัญญา  แต่เชื่อว่าหากผู้อ่านรู้จักพิจารณาไตร่ตรอง ก็น่าจะได้ประโยชน์ และมีประโยชน์ยิ่งขึ้นหากนำไปทดลองปฏิบัติ  เพราะถึงตอนนั้นธรรมะหรือความรู้ที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นของตนเองอย่างแท้จริง  หาใช่สิ่งที่หยิบยืมมาจากผู้อื่นไม่  แต่ตราบใดที่ยังเป็นแค่ความรู้ที่ได้ยินได้ฟังมา หรือแม้ใคร่ครวญจนเห็นด้วยแล้วก็ตาม ความรู้นั้นก็ยังเป็นความรู้ “มือสอง” อยู่นั่นเอง


เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้  คุณสิริลักษณ์ ปรินรัมย์ คัดตัดตอนมาจากข้อเขียนและคำบรรยายของข้าพเจ้าในที่ต่าง ๆ ซึ่งปรากฏใน Facebook (www.facebook.com/psvisalo)  โดยได้จัดหมวดหมู่ให้อ่านง่ายขึ้น ขออนุโมทนาคุณสิริลักษณ์ที่ได้ริเริ่มจัดทำหนังสือเล่มนี้ขึ้น และหวังว่าผู้อ่านจะได้รับประโยชน์ตามสมควรจากหนังสือเล่มนี้

พระไพศาล วิสาโล
๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๕
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 25, 2013, 01:53:16 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14238
    • ดูรายละเอียด



คำปรารภ


อนุรักษ์  เป็นชื่อจดหมายข่าวรายเดือนที่ข้าพเจ้าและเพื่อน ๆ ได้ช่วยกันจัดทำขึ้นระหว่างปี ๒๕๓๖-๒๕๔๒ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติจากมุมมองของพุทธศาสนา  นอกจากเรื่องราวเกี่ยวกับประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม  แต่ละเดือนยังมีบทความว่าด้วยธรรมะกับธรรมชาติ ข้อมูลเกี่ยวกับระบบนิเวศและสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม และข่าวคราวความเคลื่อนไหวในวงการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยเฉพาะกิจกรรมที่ริเริ่มโดยพระสงฆ์

คอลัมน์หนึ่งที่อยู่คู่กับอนุรักษ์ ตั้งแต่ปีแรกจนปีสุดท้าย คือ “ร่วมโลกเดียวกัน”  ซึ่งเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ต่าง ๆ ตั้งแต่แบคทีเรียไปจนถึงช้าง ทั้งในแง่ที่มีความสำคัญต่อมนุษย์และโลกที่เราอาศัย และในแง่ที่บ่งชี้ถึงความมีสติปัญญาและความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล   อันเป็นคุณสมบัติที่ครั้งหนึ่งเราเคยคิดว่าเป็นของมนุษย์เท่านั้น  แต่อันที่จริงแล้วก็มีอยู่ในสัตว์ด้วยเช่นกันแม้ในระดับที่น้อยกว่าก็ตาม ข้อมูลเหล่านี้บางส่วนข้าพเจ้าเก็บมาจากข่าวหนังสือพิมพ์  อีกส่วนก็สรุปจากบทความหรือรายงานทางวิทยาศาสตร์ โดยนำมาเรียบเรียงให้น่าอ่านมากขึ้น  ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เราเห็นว่าสิ่งมีชีวิตทั้งหลายหาใช่สิ่งต้อยต่ำ ที่มีขึ้นเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ แต่เป็นเพื่อนร่วมโลก ร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่เราควรให้ความเคารพ และพึงถือว่าเป็นเจ้าของโลกเช่นเดียวกับเรา

บทความเหล่านี้ได้เคยรวมพิมพ์เป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ  สองเล่มด้วยกัน คือ ร่วมโลกเดียวกัน (พ.ศ.๒๕๓๘) และ  เพื่อนร่วมโลก  (พ.ศ.๒๕๔๓)  อย่างไรก็ตาม แม้เวลาจะผ่านไปนับสิบปีแล้ว เนื้อหาในหนังสือทั้งสองเล่ม ก็ยังมีประโยชน์อยู่ ด้วยเหตุนี้สำนักพิมพ์สารคดีจึงขออนุญาตนำข้อเขียนจากทั้งสองเล่มมารวมพิมพ์เป็นเล่มเดียวกัน  โดยมีการปรับปรุงแก้ไขบ้างเล็กน้อย  แต่ก็ไม่ถึงกับเพิ่มเติมข้อมูลใหม่ที่เกิดจากการค้นคว้าและค้นพบในช่วงหลายปีที่ผ่านมา (ซึ่งเชื่อว่าคงมีอยู่ไม่น้อย) ทั้งนี้เป็นเพราะข้อจำกัดส่วนตัวของข้าพเจ้า  แต่หากท่านผู้ใดเห็นว่าข้อมูลในเล่มนั้นล้าสมัยแล้ว กรุณาแจ้งให้ทราบด้วย จะขอบคุณมาก เพื่อการปรับปรุงในครั้งต่อไป

ขอขอบคุณคุณนงลักษณ์ ตรงศีลสัตย์ ที่เป็นกำลังสำคัญคนหนึ่งในการจัดทำอนุรักษ์ มาตั้งแต่ปีแรกจนปีสุดท้าย รวมทั้งช่วยหาข้อมูลหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อข้อเขียนในหนังสือเล่มนี้  ขอขอบคุณสำนักพิมพ์สารคดีที่ฟื้นชีวิตของหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา โดยเฉพาะบรรณาธิการของหนังสือเล่มนี้ในการพิมพ์ครั้งล่าสุด


พระไพศาล วิสาโล
๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14238
    • ดูรายละเอียด


คำปรารภ

เราทุกคนรู้ว่าสักวันหนึ่งตนเองต้องตาย แต่ส่วนใหญ่แล้วยากที่จะทำใจยอมรับได้  มองเห็นความตายเป็นสิ่งเลวร้ายน่ากลัว  จึงมีชีวิตเหมือนคนลืมตาย  พยายามทำตัวให้วุ่น ทำใจไม่ให้ว่าง จะได้ไม่ต้องนึกถึงความตาย แต่ในที่สุดก็หนีความตายไม่พ้น  แต่ก่อนจะถึงตรงนั้นก็ต้องประสบกับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสเมื่อรู้ว่าความตายมาประชิดตัว เช่น พบว่าตนเองเป็นโรคร้ายที่รักษาไม่ได้  ผลก็คืออยู่เหมือนตาย หรือรู้สึกตายทั้งเป็น เพราะไม่เคยเตรียมใจไว้เลย  ครั้นถึงเวลาที่ต้องจากโลกนี้ไป ก็มีอาการหลงตาย คือตายอย่างทุรนทุราย   เป็นที่น่าเวทนาอย่างยิ่ง

ในเมื่อเราต้องตายอย่างแน่นอน ไม่มีอะไรดีกว่าการยอมรับความตายและเตรียมตัวเตรียมใจพร้อมรับความตายทุกขณะ  ท่าทีดังกล่าวไม่เพียงช่วยให้เราเผชิญความตายได้ด้วยใจสงบเท่านั้น  หากยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเราด้วย ทำให้ใฝ่ในการทำความดี หลีกหนีความชั่ว ไม่หลงมัวเมาในทรัพย์สมบัติและเกียรติยศชื่อเสียง เพราะรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของชั่วคราว  ไม่สามารถตามติดตัวไปได้เวลาตาย อีกทั้งไม่ช่วยให้จิตใจสงบเย็นได้เลยเมื่อวาระสุดท้ายมาถึง  การระลึกถึงความตายอยู่เสมอทำให้เราคลายความยึดติดทั้งสิ่งที่น่ายินดีและสิ่งที่ชวนยินร้าย (เช่น ความสูญเสีย ความบาดหมาง)  จึงช่วยให้เรามีชีวิตที่ผาสุก โปร่งเบา และสงบเย็น กล่าวอีกนัยหนึ่งหากเรารู้วิธีตายดี ก็ย่อมรู้ว่าจะมีชีวิตที่ดีได้อย่างไร ในทางกลับกันการมีชีวิตที่ดีย่อมช่วยให้เราตายดีในที่สุด  ชีวิตที่ผาสุกกับความตายที่สงบ หาได้แยกจากกันไม่

บทความทั้ง ๒๕ บทในหนังสือเล่มนี้นำมาจากข้อเขียนในคอลัมน์ “Joyful Life and Peaceful Death”  ซึ่งพิมพ์ในนิตยสาร Secret สองเดือนครั้ง ระหว่างปี ๒๕๕๒- ๒๕๕๕  สำนักพิมพ์อมรินทร์เห็นว่าข้อเขียนเหล่านี้น่ารวมพิมพ์เป็นเล่มเพื่อสะดวกแก่การอ่าน  จึงรวบรวมและจัดหมวดหมู่ขึ้นใหม่   หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้ผู้อ่านเห็นความสำคัญของการเตรียมตัวเตรียมใจจนเป็นมิตรกับความตายขณะเดียวกันก็มีความสุขกับชีวิตได้มากขึ้น


พระไพศาล วิสาโล
วันมาฆบูชา
๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖



ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14238
    • ดูรายละเอียด



คำปรารภ

รุ่งอรุณที่สุคะโต  พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๔๖ เพื่อแจกเป็นธรรมทานในงานทอดผ้าป่าของคณะครูและผู้ปกครองโรงเรียนรุ่งอรุณ ณ วัดป่าสุคะโต  หลังจากนั้นไม่นานได้มีการตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้ง แล้วก็ขาดช่วงไป  บัดนี้คุณหมออัจฉรา กลิ่นสุวรรณ์ ประธานชมรมกัลยาณธรรม แจ้งความประสงค์ขอพิมพ์ซ้ำ ข้าพเจ้าอนุญาตด้วยความเต็มใจ

หนังสือเล่มนี้มีที่มาจากคำบรรยายรับอรุณหลังจากทำวัตรเช้าในช่วงเข้าพรรษาปี ๒๕๔๕   หลายบทเป็นคำบรรยายให้แก่คณะครูและผู้ปกครองโรงเรียนรุ่งอรุณ จึงให้ชื่อว่า รุ่งอรุณที่สุคะโต  มองให้กว้างออกไป คำว่า “รุ่งอรุณ” ยังมีความหมายงดงามในทางธรรม บ่งบอกถึงสภาวะหรือปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสว่างไสวทางปัญญา ดังพระพุทธองค์ได้ตรัสว่า โยนิโสมนสิการ และ กัลยาณมิตร  เป็นบุพนิมิตหรือรุ่งอรุณแห่งวิถีชีวิตที่ดีงาม อันได้แก่อริยมรรคอันมีสัมมาทิฐิเป็นตัวนำ  ดังนั้นบุคคลที่หวังชีวิตที่ดีงาม จึงพึงให้ความสำคัญแก่ โยนิโสมนสิการ และ กัลยาณมิตร 

ที่ควรกล่าวถึงในที่นี้ก็คือ รุ่งอรุณที่สุคะโต เป็นหนังสือรวมคำบรรยายเล่มแรกของข้าพเจ้า ก่อนที่จะมีตามมาอีกหลายเล่มในช่วงสิบปีที่ผ่านมา  สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับงานเขียนหรือคำบรรยายของข้าพเจ้า หนังสือเล่มนี้คงไม่มีอะไรใหม่  แต่ก็หวังว่าจะเป็นกัลยาณมิตรหรือช่วยเสริมสร้างโยนิโสมนิสการแก่ผู้อ่านบ้างตามสมควร

ในการจัดพิมพ์ครั้งใหม่นี้ ชมรมกัลยาณธรรมได้จัดทำรูปเล่มอย่างสวยงามน่าอ่าน  จึงขอขอบคุณมา ณ  ที่นี้ พร้อมกันนั้นก็ขออนุโมทนาคุณหมออัจฉรา กลิ่นสุวรรณ์ และชาวชมรมกัลยาณธรรมที่บำเพ็ญธรรมทานมาอย่างต่อเนื่อง นับว่าเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมสัมมาทัศนะและสัมมาปฏิบัติตลอดหลายปีที่ผ่านมา 


พระไพศาล วิสาโล
๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๖



คลิ๊กดาวน์โหลด => http://www.visalo.org/book/WordaPdf/RungAroonKYD.pdf



ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14238
    • ดูรายละเอียด


คำปรารภ

ความสุขนั้นเป็นเรื่องง่ายเพราะอยู่ใกล้ตัวเรา อีกทั้งยังมีอยู่กับเราแล้วทุกขณะ เราเองต่างหากที่ทำให้ความสุขเป็นเรื่องยาก เพราะมัวแต่ใช้ชีวิตอย่างซับซ้อนตั้งแต่การกิน การแต่งกาย การพักผ่อน การคบเพื่อน ไปจนถึงการนอน  เราทำให้ชีวิตพะรุงพะรังไปด้วยวัตถุสิ่งเสพ รุ่มร่ามด้วยเกียรติยศ และพูนพอกด้วยพิธีรีตอง  ทั้ง ๆ ที่ความเรียบง่ายสามารถให้ความสุขสงบเย็นแก่เราได้ แต่เรากลับมองข้ามไป

ความสุขยังแยกไม่ออกจากความงดงาม  คนเราไม่ได้มีความสุขเพียงเพราะอยู่ท่ามกลางทิวทัศน์ที่งดงามเท่านั้น  ที่สำคัญกว่านั้นคือ การมีจิตใจที่งดงาม เอื้ออาทรต่อผู้อื่น  ชีวิตที่อุทิศตนเพื่อผู้อื่นนั้น เป็นความงดงามที่นำความสุขอย่างลึกซึ้งมาให้แก่ตนเอง   นี้เป็นบ่อเกิดแห่งความสุขอีกประการหนึ่งที่ถูกละเลยไป

ชีวิตที่เรียบง่ายนั้นมักเป็นชีวิตที่งดงาม เพราะนึกถึงตนเองน้อย แต่คำนึงถึงผู้อื่นมาก  เป็นชีวิตเปี่ยมด้วยน้ำใจ ปรารถนาดีต่อผู้อื่นอยู่เสมอ  รางวัลแห่งความง่ายและงามก็คือความสุข ที่ไม่ว่ารวยหรือจน ชายหรือหญิง  หนุ่มหรือแก่ ก็สามารถสัมผัสได้ เพราะเป็นความสุขที่สากล

เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ คุณอัคพันธ์ อภิรักษ์พงศ์ได้คัดสรรจากข้อความใน Facebook ของข้าพเจ้า (www.facebook.com/psvisalo) เพราะเห็นว่าให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์ ควรเผยแพร่ในวงกว้าง  โดยมอบหมายให้สำนักพิมพ์เพชรประกายเป็นผู้จัดพิมพ์  หวังว่าผู้อ่านจะได้ประโยชน์จากข้อเขียนดังกล่าวตามสมควร 


พระไพศาล วิสาโล
๒๓ เมษายน ๒๕๕๖

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14238
    • ดูรายละเอียด



คำปรารภ

จิตใจนั้นเปรียบเหมือนน้ำ จิตที่ดีงามเปรียบเหมือนน้ำใสสะอาด    แต่ส่วนใหญ่ใจมักถูกครอบงำด้วยอารมณ์  เช่นเดียวกับน้ำที่เจือปนแปดเปื้อนด้วยสิ่งต่าง ๆ  หากไม่ขุ่นมัวด้วยตะกอน มีสีแปดเปื้อน  ก็มีสาหร่ายปกคลุมอยู่เต็ม หรือถูกลมพัดกระเพื่อม หนักกว่านั้นก็คือเดือดพล่าน  จนไม่สามารถมองเห็นอะไรที่อยู่เบื้องล่าง หรือสะท้อนสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริงได้เลย

ทุกวันนี้เรามักปล่อยให้จิตใจขุ่นมัว มืดมน กระเพื่อมไหว หรือเดือดพล่านตลอดทั้งวัน  ทั้ง ๆที่จิตใจนั้นสามารถใสสะอาดได้ เพียงแต่ปกป้องมิให้สิ่งต่าง ๆ มาแปดเปื้อนหรือปรุงแต่งจิตใจ  สติเป็นเครื่องรักษาจิต ปกป้องใจมิให้เศร้าหมอง  เมื่อใจใสสะอาด ย่อมเปิดเผยความเป็นจริงในส่วนลึกให้เราได้เห็นอย่างแจ่มแจ้ง อีกทั้งสะท้อนความเป็นจริงภายนอกอย่างซื่อตรงไม่บิดเบี้ยว ทำให้เกิดปัญญาที่แจ่มกระจ่าง

จิตที่ใสสะอาดแจ่มกระจ่างย่อมนำมาซึ่งความสุข   เป็นสุขที่มิได้เกิดจากการเสพรับอารมณ์ต่าง ๆ ภายนอกที่พึงใจ แต่เกิดจากการทรงไว้ซึ่งความปกติหรือสงบนิ่ง ท่ามกลางความผันผวนปรวนแปรต่าง ๆ ของสิ่งรอบตัว  เป็นความเย็นท่ามกลางความรุ่มร้อนเดือดดาล

จิตใสใจสุขเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับเราทุกคน หากหมั่นมองตนและฝึกฝนจิตอยู่เสมอในทุกมิติของชีวิตและในทุกความสัมพันธ์ ไม่ว่ากับผู้อื่น กับวัตถุสิ่งเสพ กับประสบการณ์ต่าง ๆ ที่พานพบ รวมทั้งกับความรู้สึกนึกคิดของตนเอง

หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยข้อเขียนรวมทั้งสิ้น  ๓๖  ชิ้น แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นงานเขียนของ “ภาวัน” ที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร IMAGE ระหว่างปี ๒๕๕๔-๒๕๕๖  ส่วนที่สองเป็นข้อเขียนของพระไพศาล วิสาโล ซึ่งคัดเลือกจาก “คำปรารภ” หรือ “คำนิยม” ในที่ต่าง ๆ   โดยมีการล้อมกรอบเพื่อให้แยกจากส่วนแรก โดยเรียงสลับกันทีละบทตลอดทั้งเล่ม เพื่อเสริมเนื้อหาของกันและกัน

หนังสือเล่มนี้สำเร็จได้ โดยคุณนงลักษณ์ ตรงศีลสัตย์ เป็นบรรณาธิการคัดเลือกต้นฉบับ และคุณมณี ศรีเพียงจันทร์ ช่วยดำเนินการตีพิมพ์จนสำเร็จเป็นรูปเล่ม  ขอขอบคุณทั้งสองท่านมา ณ ที่นี้


พระไพศาล วิสาโล 
“ภาวัน”
๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๖




คลิ๊กดาวน์โหลด => http://www.ebooks.in.th/ebook/15536/



ที่มา : http://www.ebooks.in.th/ebook
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 20, 2013, 12:36:08 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14238
    • ดูรายละเอียด



คำปรารภ
ความสุขไม่ได้อยู่ที่ไหน แต่อยู่ตรงนี้และเดี๋ยวนี้แล้ว  เพียงแต่เปลี่ยนมุมมอง วางใจให้ถูก  เราก็จะพบความสุขได้เสมอ   ความสุขไม่ได้เกิดจากทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ และอำนาจ แต่อยู่ที่ว่าเรามีสติรู้ทันอารมณ์ของตน และมีปัญญารู้เท่าทันธรรมดาโลก หรือไม่    หากมองเป็น ไม่เพียงพบความสุขรอบตัวเท่านั้น หากยังสามารถสัมผัสความสุขที่มีอยู่กับตัวเราแล้วด้วย

เมื่อใดก็ตามที่เราตระหนักว่าความสุขนั้นตามติดเราไปตลอด  ไม่ว่าอยู่ที่ไหน อยู่ในสถานการณ์ใด มีอะไรมากระทบ เราก็สามารถพบความสุขได้เสมอ

หนังสือเล่มเล็ก ๆ นี้ปรับปรุงจากคำบรรยายของข้าพเจ้าเมื่อปี ๒๕๕๓   และเคยนำไปรวมพิมพ์กับคำบรรยายของท่านอื่น ๆ ในหนังสือชื่อเดียวกันนี้ ในการพิมพ์ครั้งนี้เครือข่ายพุทธิกาขอนำมาพิมพ์แยกเล่มต่างหาก เพื่อสะดวกแก่การเผยแพร่ในวงกว้าง


พระไพศาล วิสาโล
๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๖


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 15, 2013, 07:16:03 am โดย ยาใจ »