ผู้เขียน หัวข้อ: ดาวน์โหลด รวม E-Book - พระไพศาล วิสาโล และหนังสือใหม่ที่น่าสนใจ*ล่าสุด*  (อ่าน 96056 ครั้ง)

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14238
    • ดูรายละเอียด



คำปรารภ

ทุกวันนี้ผู้คนแทบทั้งโลกพากันไขว่คว้าแสวงหาเงินทอง  ชื่อเสียง อำนาจ และสิ่งเสพนานาชนิดอย่างเอาเป็นเอาตาย   ด้วยความเชื่อมั่นว่านั่นคือจุดหมายสูงสุดของชีวิต  แต่น้อยคนที่จะหันมาไตร่ตรองว่า ชีวิตที่พอกพูนมั่งคั่งด้วยสิ่งเหล่านั้น เป็นชีวิตที่จิตใฝ่หาจริงหรือ  หรือว่าแท้จริงแล้วมันเป็นเพียงชีวิตที่ไหลไปตามกระแส  มิใช่แต่กระแสโลกเท่านั้น หากรวมถึงกระแสกิเลสด้วย

มีคนจำนวนไม่น้อยที่สามารถไขว่คว้าไล่ล่าเงินทอง ชื่อเสียง อำนาจมาไว้ในความครอบครองเป็นจำนวนมาก แต่ก็หารู้สึกว่ามีความสุขแต่อย่างใดไม่  ยังอยากจะมีเพิ่มขึ้นอีก แต่แม้จะมีแล้วมีเล่าก็ยังไม่พอใจ  ในส่วนลึกยังรู้สึกหิวโหย ว่างเปล่า หรือขาดอะไรไปบางอย่าง นั่นเป็นเพราะเงินทอง ชื่อเสียง อำนาจ หาใช่สิ่งที่จิตต้องการอย่างแท้จริงไม่  ดังนั้นไม่ว่าจะได้มามากมายเพียงใด จิตก็ยังรู้สึกพร่องอยู่ดี

สิ่งที่จิตส่วนลึกปรารถนาอย่างแท้จริง คือ ความสงบเย็น และความเบิกบาน ซึ่งมิอาจได้จากการครอบครองสิ่งภายนอก แต่เกิดจากความตื่นรู้ และความอิสระภายใน  อันเป็นที่มาแห่งความสุขอย่างแท้จริง  ดังนั้นชีวิตที่จิตใฝ่หา จึงมิใช่ชีวิตที่มั่งคั่งรุ่มรวยด้วยยศทรัพย์และอำนาจ  หากคือชีวิตที่เข้าถึงสัจธรรม จนไม่หลงยึดติดถือมั่นในสิ่งใด ๆ ให้เป็นทุกข์ และไม่มีที่ตั้งให้แก่กิเลส แต่ขณะเดียวกันก็เป็นชีวิตที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูล เปี่ยมด้วยเมตตาอย่างไม่มีประมาณ

ชีวิตที่จิตใฝ่หา เป็นหนังสือรวมคำบรรยายบางส่วนของข้าพเจ้า ณ วัดป่ามหาวัน จังหวัดชัยภูมิ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๔๖  แม้เนื้อหาจะมุ่งที่พระสงฆ์และญาติโยมที่มาปฏิบัติธรรมที่วัดเป็นประการสำคัญ แต่ก็เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านทั่วไปด้วย  ต่อมาชมรมกัลยาณธรรมประสงค์ได้ขอพิมพ์ซ้ำเมื่อปี ๒๕๕๔  บัดนี้บัดนี้คุณศศิวรรณ เตชะกฤตธีรนันท์ แห่งชมรมธรรมจริยะ มีความประสงค์ที่จะพิมพ์แจกเป็นธรรมทานในงานบรรยายที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยในวันที่ ๒๐ ธันวาคม ศกนี้

ขออนุโมทนาในกุศลจริยาของคุณศศิวรรณ ชมรมธรรมจริยะ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ที่มุ่งเผยแพร่ธรรมเพื่อประโยชน์สุขของสาธุชนทั้งหลาย หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะมีส่วนช่วยเพิ่มพูนกำลังใจให้แก่ทุกท่านในการดำเนินชีวิตอย่างมั่นคงบนวิถีธรรม อันเป็นสิ่งที่จิตใฝ่หาอย่างแท้จริง


พระไพศาล วิสาโล

๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๘

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14238
    • ดูรายละเอียด



   
ใบไม้ไหว ใจนิ่งสงบ

โดย พระไพศาล วิสาโล

จัดพิมพ์โดย เครือข่ายพุทธิกา
พิมพ์ครั้งที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๘


คำปรารภ

สังคมสมัยใหม่นั้นเต็มไปด้วยเสียงอึกทึกและความวุ่นวาย  ความสงบกลายจึงเป็นสิ่งที่ผู้คนเสาะแสวงหามากขึ้น   ทุกวันนี้ใครต่อใครพากันดั้นด้นไปยังสถานที่ที่สงบสงัด   เสียเงินเท่าไรก็ไม่ว่าขอได้อยู่ท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพรสักระยะหนึ่ง  ความสงบจึงมีค่าดั่งทองคำ  แต่บ่อยครั้งแม้พาตนมาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ แวดล้อมด้วยความสงบสงัดแล้ว แต่ใจหาได้สงบตามด้วยไม่  เพราะครุ่นคิดวิตกกังวลต่าง ๆสารพัด  หลายคนได้ตระหนักว่า  ความสงบภายนอกนั้นเอื้อให้ใจสงบก็จริง แต่ก็ไม่เสมอไป   ใช่แต่เท่านั้น ภายนอกไม่ว่าสงบเพียงใด ก็ไร้ความหมายหากใจไม่สงบไปด้วย

แม้สิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลอย่างมากต่อใจเรา แต่จะพบความสงบใจได้ก็ไม่จำเป็นต้องหนีไปอยู่ป่าหรือเข้าวัด  แทนที่จะสอดส่ายแสวงหาสถานที่เงียบสงบ  ลองกลับมาดูใจเรา สังเกตอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายใน นี้คือจุดเริ่มต้นของการสัมผัสความสงบกลางใจเรา   เมื่อใดก็ตามที่รู้จักใจของเราดีพอ จะพบว่าความว้าวุ่นฟุ้งซ่านหรือร้อนรนในใจนั้น ไม่ได้อยู่ที่สิ่งแวดล้อม  หากอยู่ที่ความยึดอยากอันเกิดจากอำนาจของความหลง  แค่ลืมตัว ใจก็เป็นทุกข์ได้ทันที   ถ้าอยากให้ใจสงบ  เพียงแค่มีความรู้สึกตัว รู้จักปล่อยวาง  หรือมองเป็นเห็นถูก  ความว้าวุ่นหนักใจก็เลือนหายไปได้ไม่ยาก 

ลมพัดใบไม้ไหว ก็ใช่ว่าจะทำให้ใจกระเพื่อมได้  ถึงแม้รอบตัวจะอึกทึกวุ่นวาย  แต่ใจก็สามารถสงบได้  ไม่จำเป็นต้องควบคุมสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปดั่งใจ หรือเรียกร้องผู้คนรอบตัวให้ทำถูกใจ  แค่รักษาใจให้ดี เข้าใจความจริงของใจ  เราก็สามารถเป็นสุขได้ในทุกหนแห่ง  ทั้งความสุขและความสงบ แท้จริงแล้วพบได้ที่ใจเรานั่นเอง

หนังสือเล่มนี้มีที่มาจากคำบรรยายแก่เจ้าหน้าที่เครือข่ายพุทธิกาที่มาปฏิบัติธรรมโดยการค้างแรมกลางป่า ณ วัดป่ามหาวัน ระหว่างวันที่ ๑๑-๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๗  คำบรรยายหลายตอนได้ซอยเป็นบทสั้น ๆ เพื่ออ่านง่ายขึ้น  ขณะเดียวกันภาพประกอบฝีมือของสุดารัตน์ แก้วแท้  ซึ่งไปร่วมอบรมครั้งนั้นด้วย  ก็ช่วยให้หนังสือเล่มนี้น่าอ่านขึ้น

ขออนุโมทนาเครือข่ายพุทธิกาที่เห็นว่าสาระของคำบรรยายดังกล่าวมีประโยชน์แก่ผู้อื่น  จึงจัดพิมพ์เป็นหนังสือเพื่อเผยแพร่ให้กว้างขวางออกไป


พระไพศาล วิสาโล
วันมหาปวารณา
๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๘

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14238
    • ดูรายละเอียด


คำปรารภ
 
ชีวิตเปรียบได้กับการเดินทาง  ไม่ว่าเลือกทางสายใดก็ล้วนมีอุปสรรคที่ทำให้ขัดเคืองใจและเป็นทุกข์  บางครั้ง  เส้นทางก็วกวนและตีบตัน  แต่ชีวิตนั้นไม่เคยอับจนหนทาง ขอเพียงไม่ยึดติดกับเส้นทางเก่า และพร้อมที่จะไปทางใหม่ที่ยากลำบากและไม่คุ้นเคย

วิถีชีวิตสมัยใหม่นั้นแม้เต็มไปด้วยความสุขสบายทางกาย แต่ก็หนีความทุกข์ใจไม่พ้น  ความเครียดและความวิตกอาจจะมากกว่าแต่ก่อนด้วยซ้ำ ยังไม่ต้องพูดถึงความพลัดพรากจากคนรักหรือสูญเสียสิ่งรัก ยิ่งมีมากก็ยิ่งทุกข์มาก  บางครั้งความทุกข์ก็ถาโถมเข้ามาระลอกแล้วระรอกเล่าจนตั้งตัวไม่ติด ปิดหนทางที่จะไปต่อ  แต่หากตั้งสติให้ดี  ทางออกจากทุกข์นั้นมีเสมอ โดยเฉพาะความทุกข์ใจ  ทางออกนั้นมิได้อยู่ที่ไหน หากอยู่ที่ใจเรานั้นเอง

เมื่อมีความทุกข์ใจ ผู้คนมักมองว่าสาเหตุอยู่ที่คนอื่นหรือสิ่งอื่น เช่น ดินฟ้าอากาศแปรปรวน เศรษฐกิจผันผวน 
หนี้สินท่วมตัว หรือโรคร้ายถึงตาย  แต่แท้จริงแล้วตัวการสำคัญอยู่ที่ใจเราซึ่งยึดติดถือมั่น ปรุงแต่งในทางร้าย หรือมองเห็นแต่แง่ลบ  หมกมุ่นอยู่กับอดีตที่ผ่านไปแล้วหรือพะวงกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง  หากวางใจให้ถูก ทุกข์ใจก็จะคลายลง  แม้ปัญหาภายนอกจะยังอยู่ แต่ใจก็ไม่กลัดกลุ้มอีกต่อไป  กลับมีเรี่ยวแรงที่จะแก้ไขตามกำลังที่มี

ชีวิตมีทางออกเสมอหากกลับมามองที่ใจเรา อย่าเสียเวลากล่าวโทษคนอื่นหรือก่นด่าชะตากรรม แต่หันมาใคร่ครวญตนเองด้วยสติและปัญญา  ไม่ช้าทางออกก็ย่อมปรากฏ  แต่เมื่อพบแล้วสิ่งที่ต้องทำต่อไปคือก้าวเดิน  หากไม่เดินหรือลงมือปฏิบัติ ก็มิอาจออกจากทุกข์ได้   ใช่หรือไม่ว่าทางออกจากทุกข์นั้นมีอยู่ตลอดเวลา แต่สาเหตุที่โลกนี้เต็มไปด้วยคนทุกข์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้คนส่วนใหญ่ยังหลงใหลเส้นทางเดิม ไม่ยอมก้าวสู่เส้นทางใหม่แม้รู้ว่ามีอยู่ก็ตาม

หนังสือเล่มนี้มีที่มาจากคำบรรยายของข้าพเจ้าหลังทำวัตรและก่อนฉันอาหารในโอกาสที่คณะครูและเจ้าหน้าที่โรงเรียนวรรณสว่างจิตมาปฏิบัติธรรม ณ วัดป่าสุคะโต ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๔ มีนาคม ๒๕๕๘  ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีการบวชเณรและศีลจาริณีภาคฤดูร้อน  ดังนั้นคำบรรยายบางช่วงจึงมุ่งที่เยาวชนกลุ่มนี้ซึ่งมาร่วมทำวัตรและทานอาหารพร้อมกับคณะผู้ปฏิบัติธรรมด้วย

ผู้บริหารโรงเรียนวรรณสว่างจิตเห็นว่าคำบรรยายดังกล่าวมีประโยชน์ต่อผู้ปกครองและผู้สนใจ  จึงขออนุญาตพิมพ์คำบรรยายนี้เป็นหนังสือเช่นเดียวกับคำบรรยายครั้งก่อน ๆ  ข้าพเจ้ายินดีอนุญาตและขออนุโมทนาในบุญกิริยาดังกล่าว


พระไพศาล วิสาโล
๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๘


ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14238
    • ดูรายละเอียด



วารสาร “ผู้ไถ่” ในมุมที่ พระไพศาล วิสาโล รู้จัก
และวิสัชนา ประเด็น สังคมบริโภคนิยม กับ โลกโซเชียลเน็ตเวิร์ค

สัมภาษณ์พระไพศาล วิสาโล
โดยวารสารผู้ไถ่ ปีที่ ๓๗ ฉบับที่ ๑๐๐ ม.ค. - เม.ย. ๒๕๕๙




อ่านได้ที่ ===> http://www.visalo.org/columnInterview/phutai100.html



ที่มา : Facebook พระสุรินทร์ ก่อนการคิด
https://www.facebook.com/profile.php?id=100002331721139

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 03, 2016, 07:24:08 am โดย ยาใจ »