ผู้เขียน หัวข้อ: แนะนำ หนังสือดี เรื่อง " นิพพานระหว่างวัน" ของ ท่าน ว.วชิรเมธี  (อ่าน 4187 ครั้ง)

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14244
    • ดูรายละเอียด



คำปรารถ

เป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาก็คือ “พระนิพพาน” ทั้งนี้กล่าวตามพระพุทธวัจนะที่ตรัสว่า “นิพพานัง ปรมัง วทันติ พุทธา” (พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า นิพพานเป็นธรรมอันสูงสุด) ลักษณะของพระนิพพานก็คือ ภาวะที่ปลอดจากราคะ (ราคักขโย) ปลอดจากโทสะ (โทสักขโย) ปลอดจากโมหะ (โมหักขโย) อย่างสิ้นเชิง กล่าวอย่างง่ายๆ ภาวะที่สิ้นกิเลสนั่นแหละคือพระนิพพาน และพระนิพพานนี้นับเป็นวิวัฒนาการสูงสุดแห่งความเป็นมนุษย์ตามคติของพุทธศาสนา
เมื่อกล่าวถึงหลักการที่แท้ของพระพุทธศาสนา มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะบรรลุนิพพานได้ในชีวิตนี้ แต่ตามความเชื่อถือเราคนไทยถือสืบต่อกันมา เรากลับเชื่อกันว่า การบรรลุพระนิพพานนั้นเป็นภาวะไกลสุดเอื้อม เป็นจุดหมายปลายทางสุดท้ายที่กว่าคนธรรมดาจะเอื้อมถึง ต้องบ่มบำเพ็ญบารมีกันนับแสนล้านชาติภพ และชาติสุดท้ายอันเป็นที่ปรากฏของพระนิพพานจะมาถึงเมื่อไรก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อเชื่อกันอย่างนี้ พระนิพพานอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของชาวพุทธ ก็ดูท่าว่าจะกลายเป็นเป้าหมายที่กลายเป็นหมันสำหรับคนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ ที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนาในชีวิตนี้

คติที่ว่า พระนิพพานเป็นของไกลเกินฝันเช่นที่ว่านี้ ปรากฏอยู่ทั่วไปในความเชื่อ วิธีคิด คำพูด คำอธิษฐาน ปฏิปทาของเราชาวไทยพุทธ เช่น ที่ได้ยินกันบ่อยๆ เวลาอธิษฐานหลังจากทำบุญก็คือ “ขอให้กุศลผลบุญนี้ จงเป็นพลวปัจจัยแก่พระนิพพาน ในอนาคตกาลโน้นเทอญ” หากเชื่อกันอย่างนี้ต่อไป การเกิดมาพบพระพุทธศาสนาในปัจจุบันชาติของเราทุกคนก็คงเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง และพระพุทธศาสนาก็คงเป็นศาสนาที่มีคุณค่าไม่มากนัก เพราะไม่สามารถให้หลักประกันแก่ผู้นับถือว่าจะบรรลุถึงปลายทางอันเป็นจุดสูงสุดได้เมื่อไร การเป็นชาวพุทธที่ไม่รู้ว่าจะบรรลุถึงพระนิพพานได้เมื่อไร ช่างเป็นเรื่องน่าสิ้นหวัง  คงน่าสิ้นหวังพอๆ กับกัปตันสักคนหนึ่งซึ่งนำเรือออกจากท่าแล้วไม่รู้ว่าท่าที่มุ่งไปนั้นจะต้องใช้เวลากันนานแค่ไหนจึงจะบรรลุถึง

คนไทยจะเข้าใจเรื่องนิพพานคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงกันมาอย่างนี้แต่เมื่อไรไม่ทราบได้ แต่ทราบอยู่อย่างหนึ่งว่า มีนักปราชญ์ไทยมากมายหลายท่านพยายามแก้ไขความเข้าใจเช่นนี้เสียใหม่ ปราชญ์เหล่านั้นก็เช่น หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่ชา หลวงตามหาบัว หลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อเทียน เป็นต้น พ่อแม่ครูอาจารย์เหล่านี้ได้ใช้ชีวิตของท่านพิสูจน์ให้ดูว่า นิพพานเป็นสิ่งที่บรรลุถึงได้ในชาตินี้ โดยเฉพาะหลวงตามหาบัวนั้นถึงกับประกาศให้ศิษยานุศิษย์ทราบกันตรงๆ เพื่อเกื้อกูลแก่การปฏิบัติว่า “ดูเอานี่ พระอรหันต์นั่งอยู่นี่โต้งๆ แล้ว...” อย่างนี้เป็นต้น วัตรปฏิบัติ ปฏิปทา คำสอน ตลอดถึงวิถีชีวิตของครูบาอาจารย์ชั้นนำเหล่านี้ คือประจักษ์พยานที่ยืนยันว่า การบรรลุนิพพานในชีวิตนี้ไม่ใช่เรื่องเหนือวิสัย หากแต่เป็นไปได้จริงในชีวิตนี้

นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังมีนักปราชญ์ในสายวิชาการและสายปฏิบัติร่วมสมัยอีกอย่างน้อยสองท่าน คือ ท่านพุทธทาสภิกขุ และพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ที่เพียรใช้เวลาทั้งชีวิตของท่านในการปรับเปลี่ยนความเชื่อ ความเข้าใจของคนไทยเสียใหม่ว่า นิพพานอันเป็นอุดมคติสูงสุดของพุทธศาสนานั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริงในชีวิตนี้ ท่านพุทธทาสภิกขุเองถึงกับเทศน์ เขียน ย้ำ พร่ำสอน ถึงเรื่องนี้เอาไว้อย่างมากมายมหาศาล ย้ำแล้วย้ำอีก เทศน์แล้วเทศน์อีกว่า เราทุกคนมีสิทธิ์บรรลุพระนิพพาน ไม่แต่เพียงเท่านั้น ท่านยังหาวิธีให้คนไม่กลัวนิพพานและรู้จักนิพพานในระดับที่ “เป็นไปได้” สำหรับทุกคนอีกด้วย

วิธีการสร้างสัมมาทิฏฐิในเรื่องนิพพานว่าเป็นเป้าหมายที่เป็นไปได้ในชีวิตของท่านพุทธทาสประการหนึ่งก็คือ การนำเสนอ “นิพพาน ชิมลอง” ว่าเป็นสิ่งที่เราทุกคนล้วนฝึกให้มี ให้เป็น ให้เกิดขึ้นอยู่เสมอในชีวิตประจำวันได้ โดยท่านเสนอเป็นหลักการง่ายๆ ให้ใครๆ ก็สามารถปฏิบัติตามได้ว่า
“จงปรับปรุงจิตใจให้ดีอยู่เสมอ อย่าให้กิเลสเกิดขึ้นมา ก็จะพบความเย็นที่นี่และเดี๋ยวนี้, ทำสมาธิให้ถูกต้อง กิเลสเกิดไม่ได้ ก็เย็นๆ หายใจเข้าก็เย็น หายใจออกก็เย็น,หายใจเข้าก็เย็น หายใจออกก็เย็น,อยู่กับพระนิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้...”
คำว่า “นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้” กลายเป็นคำติดปากที่ท่านพุทธทาสเทศน์ สอน เขียน ย้ำแล้วย้ำอีกอยู่บ่อยๆ ตั้งแต่ช่วงต้นแห่งชีวิต (ดังที่ท่านได้เขียนหนังสือ ตามรอยพระอรหันต์ เพื่อยืนยันถึงความเชื่อนี้) ช่วงกลาง และช่วงสุดท้ายแห่งชีวิตของท่าน และท่านก็ได้ใช้ชีวิตให้ดูตามที่ท่านเชื่อนั้นตั้งแต่ต้นจนมรณภาพจากไปอย่างสงบ

แม้ “นิพพานชิมลอง” ยังไม่ใช่นิพพานในความหมายที่แท้ แต่การเริ่มต้นเปลี่ยนฐานคิดให้ถูกต้องก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อการแก้ไขความเข้าใจผิดที่สั่งสมกันมานาน ให้กลับมาสู่ฐานทางปัญญาที่ถูกต้องสำหรับคนรุ่นต่อไป

ส่วนพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) นั้น ท่านก็ยืนยันไว้อย่างชัดเจนในหนังสือ พุทธธรรมว่า นิพพานนั้นเป็น “ประโยชน์สูงสุดของชีวิตนี้” ที่ทุกคนควรลุถึง หรืออย่างน้อยที่สุด แม้ไม่ได้บรรลุนิพพานสิ้นเชิง (อรหัตตมรรค อรหัตตผล) ก็ควรมุ่งมั่นไปให้ถึงนิพพานในระดับเบื้องต้น อย่างเช่นการบรรลุโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล เป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบันก็ยังดี
ปราชญ์ของพุทธศาสนาอีกท่านหนึ่งที่เน้นย้ำอย่างชัดเจนว่านิพพานเป็นภาวะที่ทุกคนมีสิทธิ์บรรลุถึงได้ในชีวิตนี้ก็คือ ท่านติช นัท ฮันห์ พระวิปัสสนาจารย์สายเซน ผู้นำทางจิตวิญญาณระดับโลกจากหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส คำสอนของท่านที่ศิษยานุศิษย์คุ้นชินก็คือเรื่อง “hear and now” อันหมายความว่า “การตื่นรู้อยู่กับปัจจุบันขณะ” ซึ่งเป็นอาการอย่างหนึ่งของภาวะพระนิพพานในชีวิตนั้น เป็นสิ่งที่เราทุกคนพัฒนาให้เกิดขึ้นมาได้ หนังสือทุกเล่ม การบรรยายทุกครั้งของท่านติช นัท ฮันห์ ยืนยันถึงสิ่งนี้อย่างชัดเจน และตัวของท่านเองก็เป็นประจักษ์พยานบุคคลที่ใช้ชีวิตให้เป็นแรงบันดาลใจสำหรับผู้ใฝ่หานิพพานในชีวิตได้อย่างยอดเยี่ยม
หนังสือ นิพพานระหว่างวันเล่มนี้ก็เช่นเดียวกัน เกิดขึ้นบนฐานความคิด บนฐานความรู้ บนฐานความเชื่อ และบนฐานของประสบการณ์ที่ว่า “นิพพานในชีวิตนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้สำหรับเราทุกคน” เช่นเดียวกับที่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเพียรทำและเพียรนำเสนอ ทั้งด้วยองค์ความรู้ภาคทฤษฎีและด้วยวิถีแห่งการปฏิบัติในชีวิตจริงเป็นตัวอย่าง

อย่างไรก็ตาม มีข้อที่ควรชี้แจงไว้ในที่นี้ว่า เนื่องจากต้นฉบับหนังสือเล่มนี้เกิดจากการเรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ในต่างกรรมต่างวาระ ดังนั้นจึงย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่เนื้อหาอาจจะมีความลักลั่นไม่เรียบรื่นเหมือนงานเขียน และมีบางข้อ บางประเด็นที่ยาว สั้น ตื้น ลึก แตกต่างกัน ด้วยที่มาและวิธีทำงานอย่างที่ชี้แจงไว้ในที่นี้ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านผู้อ่านจะเข้าใจได้เป็นอย่างดีถึงข้อจำกัดและข้อบกพร่องต่างๆ หากจะพึงมีอยู่บ้างประปรายในผลงานเล่มนี้ ผู้เขียนหวังใจว่า ในโอกาสต่อไปคงจะมีเวลาในการเรียบเรียงแก้ไขข้อจำกัดต่างๆ เหล่านั้นให้สมบูรณ์ขึ้น

ในชั้นแรกนี้ หนังสือเล่มนี้อาจเป็นเพียงการ “กรุยทาง” เพื่อสร้างสัมมาทิฏฐิเรื่องนิพพานในชีวิตไปพลางก่อน หากมีเวลามากกว่านี้ ผู้เขียนก็ปรารถนาจะเรียบเรียงอย่างเป็นระบบและนำเสนอให้ผู้อ่านได้พิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง และใคร่ขอย้ำไว้ตรงบรรทัดนี้อีกครั้งหนึ่งว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ผลงานเชิงวิชาการ จึงไม่เหมาะที่จะนำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการหรือไม่เหมาะอย่างยิ่งในการอ่านเพื่อที่จะหาจุดวิวาทะจนเกิดการโต้วาทีตีวาทะเหมือนที่เกิดขึ้นอยู่กับหนังสือบางเล่ม หรือเกิดขึ้นกับครูบาอาจารย์บางท่าน แต่หากใครก็ตามมีข้อ “ติ-ติง-เตือน” ด้วยไมตรีจิตผู้เขียน (หรือที่ถูก – ผู้ให้สัมภาษณ์) ก็ยินดีน้อมรับฟังไมตรีจิตและหรือความเห็นต่างนั้นๆ ด้วยใจเคารพ

ในที่สุดนี้ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การฝึกที่จะมี “นิพพานระหว่างวัน” ด้วยการเพียรนำพาตัวเองกลับมา “เจริญสติ” จนตื่นรู้อยู่กับปัจจุบันขณะอยู่เสมอๆ ในชีวิตประจำวัน จนก่อเกิดเป็นความสดชื่นรื่นเย็นในชีวิตตามสมควร ซึ่งสมมติเรียกขานวิธีการดังกล่าวในหนังสือเล่มนี้ว่า “นิพพานระหว่างวัน” นั้น คงจะอำนวยประโยชน์แก่ผู้อ่านและปฏิบัติตามโดยทั่วหน้ากันตามสมควร

ว.วชิรเมธี
วิปัสสนาศรม กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม
24 พฤษภาคม 2554
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 06, 2011, 08:10:00 am โดย ยาใจ »