ผู้เขียน หัวข้อ: ......พาใจกลับบ้าน..... - พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ  (อ่าน 4795 ครั้ง)

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14201
    • ดูรายละเอียด


สมัยที่ยังไม่ได้ปฏิบัติธรรม ผู้เขียนเป็นคนใจร้อน หากต้องการอะไร ก็จะให้ได้ดังใจ ถ้ารออะไรนานๆ ก็จะหงุดหงิด เมื่อต้องเดินทางไกล ก็จะรู้สึกเบื่อหน่ายเสียเวลา ขณะที่มีความรู้สึกหงุดหงิดหรือเบื่อหน่ายเกิดขึ้น ตอนนั้นไม่รู้เลยว่า เรากำลังสร้างทุกข์ให้กับตัวเอง ทำให้ใจของเราแย่ลง สีหน้าและบุคลิกภาพก็พลอยแย่ตามไปด้วย

ที่เป็นเช่นนี้เพราะเราเอาใจไปผูกไว้กับสิ่งที่คาดหวัง ที่เรารอคอย หรือจุดหมายปลายทาง ครั้นไม่ได้ดังใจ ก็เกิดความหงุดหงิด เบื่อหน่าย พลอยทำให้อารมณ์เสีย จนกลายเป็นนิสัยนำทุกข์มาให้ตัวเอง
 

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 03, 2011, 05:35:58 am โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14201
    • ดูรายละเอียด
Re: พาใจกลับบ้าน (พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ)
« ตอบ #1 เมื่อ: พฤษภาคม 29, 2011, 05:25:07 am »


เมื่อผ่านการปฏิบัติธรรมมาพอสมควร ผู้เขียนก็ได้เปลี่ยนแง่คิดมุมมองและวางใจเสียใหม่ แทนที่จะเอาใจไปผูกไว้กับเรื่องที่รอคอยอยู่ ก็เอาใจกลับมาอยู่กับกายของตัวเอง กายนั้นเป็นบ้านของใจ เพราะเป็นสถานที่ใจอาศัยอยู่ เมื่อเอาใจมาอยู่กับกายก็เหมือนให้ใจอยู่กับบ้าน เวลาใจคิดถึงเรื่องต่างๆ มันก็จะไม่รับรู้กาย เท่ากับว่าใจทิ้งกายออกไปเที่ยวนอกบ้าน โดยความเป็นจริงแล้ว ใจชอบหนีออกไปเที่ยวนอกบ้านบ่อยๆ ไม่ค่อยจะอยู่กับบ้าน

ข้างนอกบ้านมีภัยสารพัดอย่าง
ใจที่ชอบหนีออกไปเที่ยวนอกบ้าน
จึงได้รับภัย ทำให้ใจที่ทุกข์อยู่เป็นประจำ

ในบ้านมีงานให้ทำ มีสิ่งที่ให้รับรู้ตั้งหลายอย่าง ถ้าเราต้องตรากตรำกับงานมานาน ลองนั่งลงแล้วสังเกตดูสิว่าร่างกายของเรามีความรู้สึกใดๆ เกิดขึ้น เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เคร่งตึงเครียดบริเวณส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายหรือไม่ สังเกตด้วยความตั้งใจให้เห็นและรับรู้ความเป็นจริงว่ามีความรู้สึกดังกล่าวหรือไม่ หากพบว่าความรู้สึกที่ว่านี้ มีอยู่บริเวณส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็รับรู้ด้วยใจเป็นกลาง อย่าไปมีอคติในทางยินดียินร้ายต่อสิ่งนั้น สังเกตความรู้สึกที่เด่นชัดนั้นไปเรื่อยๆ แล้วเราก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของความรู้สึกนั้น ทำใจให้เบาสบายขณะที่สังเกตความรู้สึกดังกล่าวไม่ช้าความรู้สึกที่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เคร่งตึงเครียด ก็จะค่อยๆ ผ่อนคลายไปในทางที่เบาสบาย เท่ากับว่าเราสบายใจสบายกายไปแล้ว

หรือหากไม่มีความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เคร่งตึงเครียดบริเวณใดๆ ของร่างกาย ก็ให้สังเกตดูว่ามีความรู้สึกอื่นๆ ที่เด่นชัดบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกายหรือไม่ ความรู้สึกมีมากมายหลายชนิด เช่น เหงื่อออกหรือชื้นๆ (ธาตุน้ำ) อุ่นๆ หรือร้อนผ่าว (ธาตุไฟ) หนักๆ แน่นๆ (ธาตุดิน) กายที่ไม่อยู่นิ่งส่วนใดส่วนหนึ่งเคลื่อนไหวแม้เพียงแผ่วเบา (ธาตุลม) ไม่เพียงแต่เท่านั้นความรู้สึกอื่นๆ ก็มีอีกมากมาย ได้แก่ ปวด เมื่อย ล้า หนัก ปลอดโปร่ง โล่ง เบา สบาย ชา เย็น เคร่ง ตึง เนื้อเต้น คัน เหมือนมีแมลงมาไต่บนผิวกาย หรือเหมือนมีพลังงานเลื่อนไหลอยู่ในกาย เป็นต้น

ความรู้สึกจะมีอยู่ในทุก ๆ ส่วนของร่างกาย เพราะตามธรรมชาตินั้น ร่างกายประกอบด้วยธาตุ ๔ ซึ่งอนุภาคของธาตุ ๔ จะเกิดดับอย่างรวดเร็วยิ่งตลอดเวลา การเกิดดับก่อให้เกิดความรู้สึกที่ละเอียดระยิบระยับเลื่อนไหลอยู่ทั่วสรรพางค์กาย นอกจากนี้อารมณ์ความรู้สึกของใจ ก็จะส่งผลสะท้อนออกมาเป็นความรู้สึกของกายอีกด้วย เป็นต้นว่าขณะโกรธ กล้ามเนื้อจะเกร็ง หน้าท้องจะเครียด หัวใจจะเต้นแรง ความดันในเส้นเลือดจะสูง ใบหน้าจะบึ้ง เป็นต้น

 

 
 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 01, 2011, 06:44:32 am โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14201
    • ดูรายละเอียด
Re: พาใจกลับบ้าน (พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ)
« ตอบ #2 เมื่อ: พฤษภาคม 29, 2011, 05:25:36 am »




สิ่งแวดล้อมภายนอกก็ส่งผลถึงความรู้สึกต่อร่างกายอีกด้วยเช่น อากาศเย็นจะหนาว ถ้าเย็นมากจะสั่น อากาศร้อนเหงื่อจะออกในทำนองเดียวกันกลิ่นบางกลิ่นก็ส่งผลต่อความรู้สึกทางกายเช่นกันเป็นต้นว่า กลิ่นธูปถ้ามากจะแสบตา รู้สึกอึดอัด หายใจไม่ค่อยออกเสียงก็ส่งผลต่อความรู้สึกทางร่างกาย เช่น เสียงเบสที่ดังแรงเหมือนเข้าไปสั่นสะเทือนอยู่ในหน้าอก ทำให้ร่ายกายไม่สบาย อึดอัดเครียด

สุขภาพและการตรากตรำงานก็มีผลต่อความรู้สึกของร่างกายเช่น หากไม่สบายจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย เหนื่อย ล้า ไม่มีแรง ทำงานมามากจะรู้สึกเหนื่อยล้า ปวด เมื่อย เป็นต้น

การที่ใจกลับเข้ามาอยู่ในบ้าน มาสังเกตความรู้สึกต่างๆ ที่มีอยู่ในร่างกาย เท่ากับว่าให้ใจได้มาอยู่กับความจริง ได้มาเรียนรู้ความเป็นจริงอันเป็นสัจธรรม และมีค่าควรแก่การเรียนรู้ กล่าวคือ

๑. ได้เรียนรู้ว่าความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นไปตามธรรมชาติของมัน โดยที่เราไม่สามารถบังคับได้เลยว่า ขอให้ความรู้สึกเช่นนี้ (ตามที่เราชอบ) เกิดขึ้นและอยู่นานๆ เถิด ความรู้สึกเช่นนั้น (ที่เราไม่ชอบ) อย่าได้เกิดขึ้นเลย หรือหากเกิดแล้วก็ขอให้หายไปเร็วๆ และอย่าได้กลับมาอีกเลย แต่โดยความเป็นจริงแล้วความรู้สึกทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ตามเหตุปัจจัย

๒. ฝึกให้ใจอยู่กับความเป็นจริง รับรู้ความเป็นจริง และยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เพราะความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับกายล้วนเป็นของจริงทั้งสิ้น ต่างกับความคิด ที่ใจชอบคิดปรุงแต่งเรื่องราวต่างๆ มากมาย ความคิดเหล่านั้นมีความเจริญอยู่น้อย เพ้อฝันและเลื่อนลอยเป็นส่วนใหญ่

๓. ฝึกให้ใจรับรู้ความรู้สึกอย่างไม่มีอคติ ทั้งในทางที่ชอบและชัง สร้างพฤติกรรมของจิตให้มีความเที่ยงธรรม มีความเป็นอุเบกขา ด้วยความเข้าใจว่าทุกความรู้สึกทางกายเป็นไปตามเหตุปัจจัย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นของชั่วคราว เป็นของธรรมดาไม่ควรที่จะไปยินดียินร้าย ซึ่งเรื่องนี้ถือว่ามีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพของจิต

ขณะที่เรานำใจกลับบ้าน ให้มาเฝ้าอยู่กับปรากฏการณ์ภายในบ้าน ช่วงเวลานั้นได้ตัดกระแสการปรุงแต่งของจิต ที่ไปผูกอยู่กับการรอคอย อันเป็นเหตุให้หงุดหงิด ขุ่นมัว นำทุกข์มาให้ ไม่ช้า งานที่รอคอยก็เสร็จ จนบางครั้งเรากลับรู้สึกว่าเสร็จเร็วจัง ยังสำรวจความเป็นไปต่างๆ ภายในบ้านไม่ครบถ้วนเลย

หรือถ้าต้องเดินทางไกล เราก็มีเวลาสำรวจบ้านในซอกมุมต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง โดยรู้สึกเพลิดเพลินตื่นตาตื่นใจต่อการได้รับรู้ถึงความรู้สึกอันหลากหลาย และธรรมชาติของความรู้สึกนั้นๆ แทนที่จะรู้สึกเบื่อหน่ายต่อการเดินทางเหมือนเช่นที่เคยเป็นมา นอกจากนี้ยังช่วยให้ร่างกายสดชื่น ตื่นตัว ไม่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าด้วย

*การปฏิบัติเช่นนี้ทำให้กิเลสใหม่ไม่เข้ามา* 
ขณะเดียวกันก็ช่วยทอนกำลังของกิเลสเก่าที่มีอยู่ให้อ่อนลง
ผู้อ่านลองนำไปฝึกปฏิบัติดูก็ได้ จะช่วยให้ใจเย็นลงมีความสุขมากขึ้น


วิธีการดังกล่าวเป็นการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
โดยพิจารณาฐานกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
และเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานในคราวเดียวกัน 



ที่มา : จากหนังสือเหรียญมีสามด้าน โดยพระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ
ชมรมกัลยาณธรรม 



 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 16, 2015, 07:34:14 pm โดย ยาใจ »