ผู้เขียน หัวข้อ: ปุจฉา - วิสัชนาในประเทศ โดย หลวงปู่เทสก์ เทศรังสี  (อ่าน 8836 ครั้ง)

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14201
    • ดูรายละเอียด


ปุจฉา - วิสัชนาในประเทศ โดย หลวงปู่เทสก์  เทศรังสี


(1) ถาม การทำบุญอุทิศให้ผู้มีพระคุณทั้งหลายมีมารดาบิดาเป็นต้น ทำอย่างไรจึงจะทราบได้ว่าผู้นั้นได้รับหรือเปล่า ถ้าผู้นั้นไม่ได้รับบุญเหล่านั้นจะเป็นของใคร

(1) ตอบ ปัญหาเรื่องนี้กินความกว้างขวางมาก มีผู้ถามปัญหาข้อนี้กับผู้เขียนตั้งแต่ยังเป็นสามเณรอยู่ จนมาได้บวชพระนับเป็นเวลา 60 กว่าปีแล้วก็ยังมีคนถามอยู่ นี่แหละผู้เขียนหวังว่าถึงผู้เขียนจะตายไปแล้ว ถ้ายังมีการทำบุญให้ผู้ตายไปแล้วอยู่คงจะมีปัญหาอย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ผู้เขียนจะตั้งประเด็นไว้เป็นข้อๆเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย และกันความหลงลืมดังนี้
1.1 ทำบุญให้แก่ผู้ที่ตายไปแล้ว
1.2 ทำอย่างไรจึงจะทราบได้ว่าผู้นั้นได้รับหรือเปล่า
1.3 ถ้าผู้นั้นไม่ได้รับ บุญอันนั้นจะเป็นของใคร

1.1 ผู้ทำบุญโดยส่วนมาก 99 เปอร์เซนต์ เพื่ออุทิศแก่ผู้มีพระคุณทั้งหลายมีบิดามารดาเป็นต้น
ชาวพุทธมีดีตรงนี้แหละ พุทธศาสนาสอนให้รู้จักบุญคุณของผู้ที่มีพระคุณทั้งหลาย แล้วทำดีเพื่อสนองพระคุณของท่านเหล่านั้น ถ้าไม่รู้จักบุญคุณของผู้มีพระคุณแล้ว คนเราก็จะกลายเป็นเดรัจฉานไปหมด การทำความดีคือ บุญกุศลนี้ย่อมทำสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ ไม่ทำสิ่งที่เป็นโทษแก่ตนและคนอื่น ทำในที่เปิดเผย ไม่ทำในที่ลับด้วยและทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่เหมือนกับคนที่ทำความชั่ว ทำความชั่วนั้นทำด้วยความเศร้าหมอง

ไม่ผ่องใส และก็ทำในที่ลับไม่เปิดเผยด้วย ทั้งไม่อุทิศส่วนบาปนั้นให้แก่ผู้มีพระคุณทั้งหลาย ถึงแม้อุทิศให้แก่ใครก็ไม่มีใครอยากรับ เพราะเป็นของเศร้าหมอง
ทำบุญให้แก่ผู้มีพระคุณที่ตายไปแล้วนี้ จงทำด้วยของบริสุทธิ์ อย่าไปฆ่าเป็ด ไก่ ฆ่าวัว ฆ่าควายมาทำ จะบาปหนักเข้าไปอีก ทำเล็กๆน้อยๆด้วยใจผ่องใสบริสุทธิ์ เป็นต้นว่าตักบาตรถวายอาหารพระสงฆ์ บุญก็มากเอง บุญมิใช่เกิดเพราะไทยทานมากๆ แต่เกิดจากใจเลื่อมใสศรัทธาต่างหาก เปรียบเหมือนเทียนที่เรามีอยู่แล้วไปขอต่อจากคนอื่น เทียนของคนอื่นก็ไม่ดับ ของเราก็ได้ไฟสว่างมา เหตุนั้นบุญในพุทธศาสนาจึงหมดไม่เป็น คนมากี่ร้อยกี่พันเอาหัวใจของตนมาตักตวงเอาบุญในพุทธศาสนานี้ก็ไม่มีหมด บุญยังเต็มเปี่ยมอยู่ตามเดิม ถ้าทำด้วยความเลื่อมใสแล้ว วัตถุทานมีน้อยก็กลายเป็นของมากเอง

1.2 ทำอย่างไรจึงจะรู้ว่าผู้ตายไปนั้นได้รับหรือเปล่า เรื่องนี้เป็นของพูดยาก เพราะผู้ที่ตายไปแล้วก็ไม่ได้ตอบรับเหมือนเราส่งจดหมายไปหากัน อนึ่ง บุญนั้นก็มิใช่จะส่งไปได้อย่างพัสดุไปรษณีย์ เพราะเป็นของไม่มีตัวตน เป็นความรู้สึกภายในใจว่าบุญที่ตนทำนี้ต้องถึงผู้ตายไปแน่ และเราเชื่อตามคำสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสว่า ทำบุญให้แก่ผู้ตายไปแล้วต้องทำในพระภิกษุผู้มีศีลและเมื่อต้องการอยากจะให้เขาได้บริโภคอาหาร ต้องทำบุญถวายอาหาร เมื่อต้องการอยากจะให้เขาได้เครื่องนุ่งห่ม ก็ถวายผ้าผ่อนเครื่องนุ่งของห่ม แล้วอุทิศกุศลนั้นไปให้แก่เขาเหล่านั้น แล้วของเหล่านั้นก็จะปรากฏแก่เขาเหล่านั้นเองโดยที่ไม่มีใครนำไปให้เขา

1.3 เรื่องนี้บอกได้ชัดเลยว่า บุญเป็นของผู้ทำแน่นอน เพราะผู้ทำเกิดศรัทธาเลื่อมใสพอใจในการกระทำบุญ บุญก็ต้องเกิดในหัวใจของผู้นั้นเสียก่อนแล้วอุทิศส่วนบุญนั้นให้แก่ผู้มีอุปการะคุณที่ตายไปแล้ว ได้ชื่อว่าทำบุญสองต่อ แล้วเราอุทิศส่วนบุญนั้นไปให้แก่ผู้ตายไปอีก เป็นอีกต่อหนึ่ง

ทำบุญให้ผู้ตายนี้ท่านแสดงไว้ว่ายากนักผู้ที่ตายจะได้รับ เหมือนกับงมเข็มอยู่ในก้นบ่อ แต่ผู้ยังมีชีวิตอยู่ก็ชอบทำ นับว่าเป็นความดีของผู้นั้นอย่างยิ่ง ท่านเปรียบไว้ สมมุติว่าบุญทำลงไปนั้นแบ่งออกเป็น 16 ส่วน แล้วเอาส่วนที่ 16 นั้นมาแบ่งอีก 16 ส่วน ผู้ตายไปจะได้รับเพียง 1 ส่วนเท่านั้นฟังดูแล้วน่าใจหาย เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายจึงไม่ควรประมาท ในเมื่อยังมีชีวิตอยู่นี้มีสิ่งใดควรจะทำก็ให้รีบทำเสีย ตายไปแล้วเขาทำบุญไปให้ไม่ทราบว่าจะได้รับหรือไม่ ถึงแม้ได้รับก็น้อยเหลือเกิน เพราะคนตายแล้ว เขาเรียกว่าเปรต ไม่ได้เรียกว่าบิดา มารดา ป้า น้า อาว์ ครูบาอาจารย์ อย่างเมื่อเป็นมนุษย์อยู่นี้หรอก ในบรรดาเปรตเหล่านั้นมี 11 พวก มีจำพวกเดียวที่จะได้รับส่วนบุญที่คนยังมีชีวิตอยู่อุทิศไปให้ เรียกว่า ปรทัตตูปชีวีเปรต เปรตทำพวกนี้ได้รับทุกข์ร้อนลำบากมาก เพราะในเปรตโลกนั้นไม่มีการทำนาค้าขาย แม้แต่ขอทานก็ไม่มี เสวยผลกรรมของตนๆที่ทำไว้ เมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่นี้เท่านั้น ฉะนั้นเปรตจำพวกนี้แหละมนุษย์คนที่ยังเป็นอยู่ทำบุญอุทิศไปให้จึงจะได้รับ นับประสาอะไร บางทีสามีภรรยานอนด้วยกันแท้ๆ ฝ่ายหนึ่งทำบุญขอให้อีกฝ่ายหนึ่งอนุโมทนาด้วย ก็ไม่รับ พวกที่ไปเกิดเป็นเดรัจฉานยิ่งไม่รู้กันใหญ่ ไปเกิดในนรกหมกไหม้ทุกขเวทนามาก ทำบุญอุทิศไปให้ก็ไม่รู้อะไร เพราะกำลังเสวยผลกรรมอันนั้นอยู่ หรือไปเกิดเป็นเทวดาชั้นใดชั้นหนึ่งก็เหมือนกัน เขากำลังเสวยผลบุญของเขาอยู่ เขาจะมาเอากุศลผลบุญของเราได้อย่างไร

ปรทัตตูปชีวีเปรต ดังเปรตญาติของพระเจ้าพิมพิสาร มีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ พระเจ้าพิมพิสารเกิดอาเพศในตอนกลางคืน มีเสียงดังขลุกๆขลักๆทั่วไปหมดในห้องพระตำหนัก พระเจ้าพิมพิสารกลัวจะเกิดเหตุเป็นอันตรายแก่ราชบัลลังก์ จึงเข้ากราบทูลเหตุอันนั้นแก่พระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสว่า ไม่มีอันใดเลย พวกเปรตที่เป็นญาติของพระองค์แต่ครั้งพระพุทธเจ้าชื่อว่า พระวิปัสสี โน่น เขามาขอส่วนบุญกับพระองค์ ขอมหาบพิตรจงทำบุญให้เขาแล้วอุทิศส่วนบุญนั้นให้เขาเสีย เสียงนั้นก็จะหายไป พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงกระทำ ทักษิณานุประทาน ทำบุญอุทิศให้แก่เปรตเหล่านั้นแล้ว พวกเปรตเหล่านั้นได้รับส่วนบุญแล้ว

ก็มีกายอ้วนท้วนสมบูรณ์ แต่ยังไม่มีผ้าเครื่องนุ่งห่ม ทีหลังก็มาปรากฏให้พระเจ้าพิมพิสารเห็นอีก พระเจ้าพิมพิสารก็นำเอาเรื่องพฤติการณ์อันเปรตมาแสดงนั้นไปกราบทูลพระพุทธเจ้าอีก พระองค์จึงตรัสว่า เพราะมหาบพิตรไม่ได้ทำบุญผ้า พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงทำบุญถวายผ้าแก่พระสงฆ์ และอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่เปรตเหล่านั้น พอเปรตเหล่านั้นได้รับแล้วก็ไปเกิดในสุคติภพในสวรรค์

ที่มาเล่าสู่กันฟังพอเป็นทัศนคติที่ว่า ทำบุญให้แก่ผู้ที่ตายไปแล้วจะได้รับหรือไม่ เพราะผู้เขียนก็ไม่สามารถจะไปล่วงรู้เขาได้ และผู้ตายไปแล้ว แม้แต่โยมบิดามารดาของผู้เขียนก็ไม่เคยบอกว่า บุญที่ทำแล้วอุทิศไปให้ได้รับหรือเปล่า แต่ผู้เขียนก็ทำบุญอุทิศไปให้เสมอ เป็นแต่ได้ฟังมาจากตำรา จะหาว่าเล่านิทานหลอกเด็กให้กลัวเฉยๆ แต่ถ้าผู้ใหญ่กลัวอย่างเด็กๆแล้ว บ้านเมืองก็ไม่เป็นอย่างทุกวันนี้ เด็กเชื่อง่ายหัวอ่อน สั่งสอนน้อมใจเชื่อเร็ว ผู้ใหญ่จึงชอบสอนเด็กๆ แต่เมื่อโตขึ้นมาแล้ว ถือว่าเรามีสิทธิเสรีเต็มที่ไม่ต้องเชื่อความคิดของคนอื่น เชื่อความคิดของตนเอง หรือเข้าสมาคมกับผู้ใหญ่เลยเป็นผู้ใหญ่ไปหมด ความเชื่อและความคิดเมื่อยังเด็กอยู่ที่อบรมไว้เลยหายหมด เลยกลายมาเป็นผู้ใหญ่อย่างผู้ใหญ่ทั้งหลายที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

อนึ่ง เรื่องการทำบุญใช้หนี้เจ้ากรรมนายเวร เรื่องนี้ผู้เขียนไม่รู้จริงๆจึงตอบไม่ได้ ขอผู้รู้ทั้งหลายได้เมตตาแนะแนวให้ผู้เขียนได้ทราบบ้างก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

กรรมที่ตนกระทำไว้แล้ว ไม่ว่ากรรมดีและกรรมชั่ว ผลของกรรมนั้นย่อมเกิดที่ใจของตนเอง มิใช่ผู้ทำกรรมผู้หนึ่ง เจ้ากรรมนายเวรอีกผู้หนึ่ง คล้ายๆกับว่ามีเจ้ากรรมนายเวรเป็นผู้บัญชาการอยู่ ทำบุญอุทิศกุศลไปให้เจ้ากรรมนายเวรผู้บัญชาการเพื่อให้เป็นสินน้ำใจ แล้วเจ้ากรรมนายเวรก็จะลดหย่อนผ่อนผันให้อย่างนี้เป็นต้น หรือกรรมเวรที่เราทำแก่คนอื่นนั้น คนนั้นเองเป็นเจ้ากรรมนายเวร เราเห็นโทษความผิดแล้วทำบุญอุทิศไปให้แก่เขาเพื่อเขาจะลดโทษผ่อนผันให้ อันนี้ก็ไม่ถูก เพราะเขาตายไปแล้ว ไม่ทราบไปเกิดในที่ใด และกำเนิดภูมิใด ดังได้อธิบายมาแล้วในข้างตน คนที่ทำกรรมทำเวรแก่กันแล้วเมื่อยังเป็นคนอยู่นี้ จะพ้นจากกรรมจากเวรได้ก็เมื่ออโหสิกรรมให้แก่กันและกัน ในเมื่อยังเป็นคนอยู่นี่แหละ ตายไปแล้วจะอโหสิกรรมให้แก่กันและกันไม่ได้เด็ดขาด มิใช่ว่าเราได้ทำกรรมชั่วทุจริตด้วยจิตที่เป็นบาปมีอกุศลมูลเป็นพื้น มาภายหลัง 20 ปี 30 ปี 40 ปีหรือเท่าไรก็ตาม ระลึกถึงกรรมอันนั้นแล้วกลัวบาป จึงทำบุญอุทิศไปให้แก่ผู้ที่เราได้กระทำแก่เขานั้นเพื่อให้เขาอโหสิกรรมให้ ดังนี้ไม่เป็นการยุติธรรม เป็นการตัดสินคดีภายหลังจากเหตุการณ์ ถ้าถือว่าเราระลึกถึงความชั่วของตนแล้วทำความดีเพื่อแก้ตัวหรือปลอบใจของตัวเอง เป็นการสมควรแท้ การทำบุญให้แก่ผู้ตายไปแล้วจะได้หรือไม่ มีอรรถาธิบายกว้างขวางมาก อธิบายมาก็มากพอสมควร พอที่ผู้ฟังจะเข้าใจบ้างตามสมควร จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้เสียก่อนเพื่อจะได้ตอบปัญหาคนอื่นต่อไป


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 02, 2011, 12:50:44 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14201
    • ดูรายละเอียด


นายทหารยศพันตรีผู้หนึ่งมาถามว่า

(2) ถาม รูปเหรียญและวัตถุมงคลต่างๆที่ผู้ถือแล้วศักดิ์สิทธิ์จริงไหม และเป็นสิริมงคลจริงหรือเปล่า ถ้าจริงอย่างที่ว่าแล้ว อาจารย์ผู้ที่ให้ของศักดิ์สิทธิ์และรูปเหรียญต่างๆทำไมจึงต้องเกิดอุปัทวะเหตุ เช่น รถคว่ำ เรือล่ม เครื่องบินตกและถูกโจรฆ่าเป็นต้น


(2) ตอบ ปัญหานี้คนทุกชั้นทุกประเภททุกหมู่เหล่าย่อมถามแซดกันไปหมด และคนเหล่านั้นแหละที่ถือของเหล่านี้อยู่เป็นส่วนมาก เพราะอะไร ก็เพราะของเหล่านี้ไม่มีในตำราคัมภีร์พระพุทธศาสนา และคนทั้งโลกก็พากันกลัวตายกันทั้งนั้น จึงหาเครื่องป้องกันตาย แต่หาไม่ถูก หาออกไปภายนอก ไม่หาเข้ามาที่หัวใจ เพราะภายนอกคือ กายนี้ ทุกรูปทุกกายย่อมตายด้วยกันทั้งหมด แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ต้องเสด็จดับขันธ์เข้าสู่พระ
ปรินิพพาน ต้องหาภายใน คือ ใจ เพราะที่ใจนี้ตายไม่เป็น กายตายแล้วใจยังมีกิเลสอยู่ตราบใดก็ไปเกิดถือกำเนิดอีกต่อไป ปัญหานี้ก็คล้ายกับปัญหาข้อแรกที่ว่า ทำบุญให้ผู้ที่ตายไปแล้วจะได้รับหรือไม่

ก็น่าเห็นใจพวกเรายังมีกิเลสอยู่ ถือรูปขันธ์นี้ว่าเป็นของกูๆอยู่ ก็ต้องกลัวตายเป็นธรรมดา เมื่อกลัวตายก็ต้องหาสิ่งจะมาป้องกัน ใครพูดว่าอะไรดีป้องกันได้ก็วิ่งแสวงหา จะถูกจะแพงสักเท่าใดก็หามาจนได้ เมื่อหามาได้ก็เป็นเครื่องอบอุ่นใจไปชั่วระยะหนึ่ง ในผลที่สุดก็ต้องตายไปด้วยกันทั้งหมด แม้อาจารย์ผู้แจกหรือผู้ขายของศักดิ์สิทธิ์ก็ต้องม้วยไปด้วยกัน ของในโลกนี้ทั้งหมดมันเป็นอนิจจังไม่เที่ยงมั่นถาวรสักอย่างเดียว แท้จริงส่วนมากเกิดจากหน้าม้าหรือลูกศิษย์ผู้ต้องการอยากให้อาจารย์ดัง ตัวอาจารย์เองไม่เท่าไรหรอก

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า กัมมัสสกา วิภัชชันติ กรรมที่มนุษย์และสัตว์ได้กระทำไว้แล้วย่อมจำแนกสัตว์ให้เกิดและตายไปเป็นต่างๆกัน คนเรามักมองแต่ความตาย ความเกิดไม่มองเกิดมากเท่าไรก็ตายมากเท่านั้น ถ้าตายไม่ดีไม่งาม เช่น ตายเพราะเกิดอุปัทวะเหตุหรือตายปัจจุบัน ก็เรียกว่าตายไม่ดี ความตายจะตายอย่างไรก็เอาเถิด เรียกว่า ธาตุแตกขันธ์ดับ เปลี่ยนสภาพใหม่เหมือนกันทั้งนั้นไม่เป็นปัญหา ความต้องการของทุกๆคนก็เพื่อทำใจของตนให้ใสสะอาดเท่านั้นเป็นพอ หากเกิดอุปัทวะเหตุรถคว่ำเรือล่มหรือเครื่องบินตก ถ้าเราทำจิตของเราให้สะอาดแล้ว จะไม่ดีกว่าที่ตายอย่างทรมานนั่นหรือ บางคนเจ็บออดๆแอดๆหรือเป็นอัมพาตทรมานอยู่ตั้งหลายๆปี จะตายแหล่ไม่ตายแหล่ เมื่อร่างกายทรุดโทรมสติสตังก็อ่อนแอ หลงหน้าลืมหลัง กินแล้วก็หาว่าไม่ได้กิน เห็นแล้วเป็นที่น่าทุเรศมาก นี่เพราะกรรมตกแต่งให้แท้ๆ ใครจะปรารถนาเอาตามใจชอบของตนเองไม่ได้ ฉะนั้นจึงควรทำแต่กรรมที่ดีจนเป็นนิสสัย เพื่อจะไม่ได้เสวยผลของกรรมชั่วเมื่อจวนจะตาย และตายไปแล้วก็จะไปสู่สุคติในภพนั้น

เรื่องกรรมนี้บุคคลที่ทำลงแล้วไม่ว่าดีและชั่ว จะทำอย่างไรๆแม้พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายก็ตาม เมื่อยังมีวิบากอันนี้เหลืออยู่ ได้โอกาสเมื่อไรย่อมตามขยี้เอาจนได้ ดังพระโมคคัลลานะเป็นตัวอย่าง เมื่อนานมาแล้วในอดีต พระโมคคัลลานะท่านเกิดเป็นบุรุษลูกคนเดียวเลี้ยงบิดามารดาตาบอด โดยความเอาใจใส่ ไม่ว่าจะเป็นอาหารและเครื่องนุ่งห่มตลอดถึงอาบน้ำนวดเท้า ไม่ให้บิดามารดาอุทธรณ์ร้อนใจตามปฏิบัติทุกเช้าเย็น มารดาเห็นเช่นนั้นด้วยสัญชาติญาณก็เกิดสงสารบุตร จึงเรียกบุตรมาบอกว่า ลูกเอ๋ยลูกคนเดียว ปฏิบัติบิดามารดาเป็นการลำบากมาก ไหนจะต้องวิ่งเข้าครัวออกครัว ไหนจะต้องวิ่งทำมาหากินภายนอกบ้าน แล้วจะต้องปฏิบัติคนพิการทั้งตายายอีกด้วย อย่ากระนั้นเลย แม่จะไปหาภรรยามาให้เพื่อจะได้ช่วยแบ่งเบากัน ลูกชายคนดีก็บอกว่า ไม่เป็นไรหรอก ลูกคนเดียวสามารถจะทำได้ทุกอย่าง ได้ภรรยามาแล้วไม่ทราบว่าเขาจะพอใจปฏิบัติหรือไม่ ถ้าเขาพอใจปฏิบัติก็ดีไป ถ้าเขาไม่พอใจปฏิบัติก็จะทำให้ยุ่งไปเปล่าๆ มาภายหลังมารดาก็พูดเช่นนี้อีก 2 ครั้ง 3 ครั้ง ลูกชายก็คัดค้านเช่นเคย มีหลังมารดาไม่ได้พูดอีกแล้ว ขอเอาหญิงในตระกูลที่เห็นว่าสมควรมาให้ลูกชายมาเป็นภรรยา เมื่อภรรยามาอยู่ทีแรกก็ดีอยู่ น้ำท่า ฟืนไฟและปฏิบัติพ่อผัวแม่ผัวแทนผัวได้ อยู่มาหน่อยมันไม่ใช่บิดามารดาของตนเอง เราปฏิบัติแต่ผัวของเราก็แย่อยู่แล้ว ธุระอะไรจะมาปฏิบัติพ่อผัวแม่ผัวอีกเล่า คิดแล้วก็อดกลั้นไว้แต่ในใจไม่กล้าพูดให้ผัวฟัง เมื่อผัวออกไปทำงานนอกบ้านก็ไม่เอาใจใส่ปฏิบัติพ่อผัวแม่ผัว เวลาผัวกลับมาจากทำงานก็แกล้งกุลีกุจอปฏิบัติพ่อผัวแม่ผัวดี

อยู่มาวันหนึ่งทำเป็นหน้าเศร้าข้าวก็ไม่กิน ผัวจึงเข้าไปถามเรื่องอะไร ทำเป็นอิดๆออดๆตามภาษามารยาของหญิงชั่ว แล้วร้องไห้โฮออกมาว่า จะเรื่องอะไรก็พ่อแม่ของคุณนั่นแหละ ทำอะไรก็ไม่ถูกใจสักอย่างเดียว ฉันอยู่ไม่ได้หรอก ถ้าอย่างนี้เห็นจะอยู่ไม่ได้แน่ สามีบอกว่า พ่อแม่ของฉัน เธออยู่ไม่ได้จะกลับไปอยู่กับพ่อแม่ของเธอก็ตามใจ แต่ฉันจะต้องปฏิบัติพ่อแม่ของฉัน แล้วเรื่องนั้นก็ระงับไป อยู่มาทีหลังเธอก็พูดอย่างนี้อีก สามีก็พูดอย่างเก่า เสาอินทขีลฝังลึกถึง 8 ศอก หากมีคนผลักบ่อยๆ หนักเข้ามันก็คลอนเป็นเหมือนกัน
นับประสาอะไรใจผู้ชายถูกเมียกระตุกบ่อยเข้าจะไม่หวั่นไหวได้หรือ มาวันหนึ่งจึงเข้าไปพูดกับบิดามารดาว่า ฉันจะพาไปเยี่ยมญาติที่บ้านโน้น แล้วเอามารดาบิดาขึ้นเกวียนขับไปพอถึงกลางดงแห่งหนึ่ง จึงบอกมารดาบิดาว่า ที่แห่งนี้มีโจรชุกชุมมากขอให้ระวังตัวหน่อย ว่าแล้วก็แกล้งว่ามีธุระ หยุดเกวียนแล้วก็ลงจากเกวียนไป ประเดี๋ยวเดียวก็ร้องตะโกนมาว่า เหวยๆใครมานั่นเอาให้ตาย ใครมาอะไรนั่น ส่วนมารดาบิดาด้วยรักบุตรสุดกำลังจึงเรียกบอกว่า พ่อหนูจงหนีให้พ้นจากมือโจร มารดาบิดาจะตายก็ช่างเถิด หาได้รู้ว่าเป็นโจรบุตรของตนไม่ พอมาถึงก็ทุบเอา 2 ตายายจนดับในที่นั้น ลูกทรพีพอดับสิ้นชีพไปแล้วก็ไปเกิดในทุคติและถูกเขาฆ่าเป็นอเนกชาติ (แต่มิใช่บิดามารดาตามไปฆ่า กรรมหากบันดาลให้เขาฆ่าเอง) มาชาติสุดท้ายได้มาเกิดเป็นพระโมคคัลลานะสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ไปจำพรรษาอยู่ ณ กาฬศิลาประเทศ กรรมเก่าตามทัน ทำให้โจรมาล้อมปองทำร้ายอยู่นานถึง 4 เดือน มาทีไรท่านเหาะหนีทุกที ทีหลังท่านมาพิจารณาดูก็รู้ว่า อ้อ กรรมเก่าท่านได้กระทำไว้ จึงปล่อยให้โจรทุบเอาจนนิพพาน อันนี้เรียกว่ากรรม

ส่วนเวรนั้นสับเปลี่ยนทำร้ายล้างผลาญซึ่งกันและกัน ตัวอย่างเรื่องนี้ก็คล้ายๆกับเรื่องก่อน แต่เรื่องนี้มีแต่มารดา เมื่อมารดาหาภรรยามาให้แล้วไม่มีบุตร ทีหลังภรรยาหลวงไปหาภรรยาน้อยมาให้สามีเอง เมื่อภรรยาน้อยมีบุตรก็กลัวเขาจะใหญ่กว่าตน จึงแกล้งไปทำดีด้วย ให้อาหารและรักษาครรภ์ในผลที่สุดทำยาแท้งลูกให้กินเสีย ทำอยู่อย่างนี้ถึง 2-3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายนี้แม่ของเด็กเลยตายไปด้วย ก่อนจะตายจึงรู้ว่าภรรยาหลวงทำให้ตาย จึงปรารถนาว่าขอให้กูได้ฆ่าลูกมึงถึง 2 ครั้ง ครั้งที่ 3 ขอให้กูได้ฆ่ามึงพร้อมทั้งลูกด้วย เมื่อสามีรู้เรื่องนั้นเข้าจึงโกรธภรรยาหลวง ทุบด้วยศอกตอกด้วยเข่าเอาจนตาย ตายไปแล้วเกิดเป็นแม่ไก่ ภรรยาน้อยไปเกิดเป็นแมว ไก่ไข่มาแมวก็ก็เอาไปกินเสียถึง 2 ครั้ง ครั้งที่ 3 ขม้ำแม่ไก่เอาไปกินด้วย แม่ไก่ตายไปเกิดเป็นเสียเหลือง แมวตายไปเกิดเป็นนางเนื้อ นางเนื้อเกิดลูกมาเสือเหลืองก็เอาไปกินหมด ครั้งที่ 3 ขม้ำแม่เนื้อเอาไปกินด้วย นางเนื้อตายไปเกิดเป็นนางยักขินี เสือเหลืองตายไปเกิดเป็นนางกุลธิดา เมื่อนางกุลธิดาคลอดบุตรมา นางยักขินีทำเป็นเหมือนสหาย แล้วอุ้มลูกของนางกุลธิดาชมไปชมมาก็ฉีกกินลูกนั้นเสีย ครั่งที่ 2 ก็ทำเช่นนั้นอีก ครั้งที่ 3 นางกุลธิดาเข็ด พอคลอดแล้วก็อุ้มลูกพาสามีหนีไปสู่ตระกูลของตน พอไปถึงกลางทาง นางอุ้มลูกให้สามีแล้วลงอาบน้ำอยู่ก็เห็นนางยักขินีวิ่งติดตามมา พอนางเห็นก็วิ่งเข้าไปในวัดเชตวันหวังที่พึ่งพระพุทธเจ้า แล้วบอกว่า ขอพระองค์โปรดช่วยลูกของข้าพระองค์ด้วย นางยักขินีมันจะกินเอา นางยักขินีวิ่งไปถึงประตูวัด พระอานนท์ไม่ให้เข้าไป พระพุทธองค์บอกว่า ให้เข้ามาเถิด เมื่อเข้าไปถึงแล้วพระพุทธองค์เทศนาเรื่องเวรก่อเวรไม่มีที่สิ้นสุด ดีที่เธอได้มาพบเราตถาคตในวันนี้ ถ้าหาไม่แล้วก็จะก่อเวรแก่กันและกันไปไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อจบเทศนาแล้วต่างมีความเบิกบานชื่นใจให้อภัยซึ่งกันและกัน พระองค์จึงให้ทั้งสองเป็นสหายกัน แล้วนำไปเลี้ยงดูกันต่อไป
ทั้งสองเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าเวรนั้นถ้าอยู่พร้อมหน้ากันก็สามารถอภัยให้ซึ่งกันและกันได้ ในบางกรณี เช่น เรื่องนางยักขินีนี้เป็นต้น ส่วนกรรมนั้นใช้กันเป็นอเนกชาติกันทีเดียว กรรมมิใช่คู่กรรมด้วยกันจะมาสนองกรรมอยู่เรื่อยไป แต่กรรมที่ตนแระทำไว้มันบันดาลให้เป็นไปเอง

เจ้ากรรมนายเวรก็คือตัวของเราเองนั่นแหละ เราได้กระทำไว้แล้วด้วยความตั้งใจ มิใช่มีคนอื่นมาบังคับให้กระทำ หรือคนอื่นมายกให้ จิตที่ตั้งเจตนาไว้แล้วว่า จะทำกรรมนั้นๆไม่ว่าดีหรือชั่วนั่นแหละเป็นตัวกรรม ผลของกรรมดีและกรรมชั่วก็จิตของผู้นั้นได้เสวย คนอื่นจะเสวยแทนไม่ได้
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 03, 2012, 08:00:51 am โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14201
    • ดูรายละเอียด


อุบาสิกาคนหนึ่งถามว่า

(3) ถาม ทำบุญอะไร มากและน้อยอย่างไร จึงจะได้บุญมาก


(3) ตอบ ทำบุญอย่างหนึ่ง ทำทานอย่างหนึ่ง ทำกุศลอย่างหนึ่งไม่เหมือนกัน แต่ลงที่เจตนาอันเดียวเป็นรากฐาน
ทำบุญ นั้น มีเจตนาศรัทธาเป็นทุนก่อน จะมีวัตถุหรือไม่ก็ตาม ศรัทธานั้นเต็มเปี่ยมบริบูรณ์อยู่ในใจแล้ว ยิ่งมีวัตถุสิ่งของเป็นเครื่องแสดงให้ไปก็ยิ่งเพิ่มศรัทธาขึ้นเป็นทวีคูณ นี่เรียกว่าบุญ บุญคือความยินดีในสิ่งที่ตนให้แล้วเกิดเต็มเปี่ยมขึ้นมาในใจ

ทำทาน นั้น จะมีเจตนาหรือไม่ก็ตาม คิดจะให้แล้วก็ให้ไปเลย ไม่ว่าสิ่งของอะไรทั้งหมด ถ้ามีเจนาศรัทธาเลื่อมใสในบุคคลผู้รับและสิ่งที่ตนให้นั้น หรือเอ็นดูต่อบุคคลผู้รับนั้นแล้วให้ไปเรียกว่าทาน สมดังคำว่า ทานัง เทติ เทก็หมายความว่า เทให้ ทอดให้ ให้สิ่งของจึงเรียกให้
สรุปได้ว่า ทำทานคือ ให้สิ่งของพัสดุนั้นไม่ว่ามากหรือน้อย หยาบหรือละเอียด ไม่ปรารถนาผลตอบแทน แต่มีเมตตาจิตเป็นพื้นฐาน แม้ที่สุดให้ด้วยแก้ความรำคาญ เรียกว่า ทำทาน
การทำบุญนั้น ต้องมีเจตนาศรัทธาเป็นพื้นฐาน ก็การให้นั่นแหละเรียกว่า ทำบุญ จะให้สิ่งของอะไรมากและน้อย หยาบและละเอียดก็ตาม ให้แล้วหวังผลตอบแทน เช่น ปรารถนาว่า ด้วยอำนาจอานิสงส์ที่ข้าพเจ้าได้ทำบุญแล้วในครั้งนี้ ขอให้ได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติเป็นต้น

การกุศล นั้น คือ ทำบุญทำทานนั่นเอง แต่เป็นกุศโลบายของท่านผู้รู้ทั้งหลายที่จะให้พ้นจากความยากและความหิวทั้งปวง ทำไปเพื่อให้ใจผ่องใสสะอาดไม่พึงปรารถนาสิ่งใดๆทั้งสิ้น แม้แต่จิตคิดจะทำภาวนาสมาธิก็เช่นเดียวกัน

ทำบุญ ทำทาน ทำกุศล ไม่ว่ามากหรือน้อย วัตถุมิใช่ตัวบุญแท้ ตัวบุญแท้มันเกิดที่หัวใจ คือ เจตนาของบุคคลนั้นต่างหาก ถ้าเจตนาศรัทธาในขณะใด ในบุคคลใด ในสถานที่ใด ในที่นั้นๆได้บุญมาก ฉะนั้น บุญในพุทธศาสนานี้คนทำจึงไม่รู้จักหมดจักสิ้นสักที พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาไว้สองพันกว่ามีแล้วว่า ทำบุญได้บุญเช่นไร มาในปัจจุบันนี้หรือในอนาคตต่อไปก็ได้อย่างนั้นเช่นเคย คนทำบุญมากเท่าไรก็จะได้บุญมากเท่าที่ตนนั้นสามารถจะรับเอาไปได้ เหมือนกับคนนับเป็นหมื่นๆแสนๆถือเทียนมาคนละเล่ม ไปขอจุดจากผู้ที่มีเทียนจุดอยู่แล้ว ย่อมได้แสงสว่างตามที่ตนมี เทียนเล่มโตหรือเล่มเล็ก ส่วนดวงเดิมที่ตนขอจุดต่อนั้นก็ไม่ดับ เทียนหลายดวงยิ่งเพิ่มแสงสว่างยิ่งๆขึ้นไปอีก
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 18, 2011, 03:37:03 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14201
    • ดูรายละเอียด


ครูโรงเรียนคนหนึ่งได้ถามปัญหาผู้เขียนมานานแล้ว แต่ปัญหานั้นผู้เขียนเห็นว่าคงจะเป็นประโยชน์แก่คนทั่วไป จึงได้นำมาลงไว้ ณ ที่นี้

(4) ถาม ผู้ไม่มีศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีล 227 หรือมีแต่ไม่ครบทั้งหมด จะทำสมาธิภาวนาให้แน่วแน่เต็มที่ได้หรือไม่

(4) ตอบ ปัญหานี้กว้างขวางมาก จะขอตอบแต่เฉพาะข้อแรก คือข้อที่ว่ามี ศีล 5 แต่ไม่ครบทั้ง 5 ข้อ จะทำสมาธิภาวนาได้หรือไม่ ตอบว่าไม่ได้แน่นอน เพราะศีล 5 ข้อ แต่ละข้อจะล่วงละเมิดได้ก็เพราะเจตนา เจตนาเป็นตัวศีล 5 ข้อนั้นเป็นแดนให้เกิดโทษต่างหาก ถึงผู้นั้นจะไม่มีเจตนาที่จะรักษาศีลเลย ไม่ว่า ศีล 5 ศีล 8 ศีล 227 ในเบื้องต้น แต่เมื่อภาวนาเป็นแล้ว ศีลเข้าถึงจิต ตัวเจตนาในศีลข้อนั้นๆศีลจะสมบูรณ์ขึ้นมาเอง คราวนี้ไม่ต้องสมาทานและไม่ต้องรักษาศีล ศีลกลับมารักษาตัวของเราเอง ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมมสาริ ธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติธรรม ธมฺโม สุจิณโณ สุขมาวหาติ ผู้ปฏิบัติธรรมดีแล้วย่อมนำสุขมาให้

ครูผู้นั้นแกบอกว่า บางคนพูดว่าศีลและสมาธิไม่ต้องเจริญ เพราะเป็นของภายนอกเจริญวิปัสสนาเอาเลยทีเดียว ผู้เขียนอยากจะร้องขอว่า คำๆนั้นอย่าได้เอามาพูดเลยในที่นี้ เพราะเป็นวังคศาสนาไม่ใช่

สัตถุศาสนา ถ้าจะสอนให้คนปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธแล้ว จงสอนตามแนวคำสอนของพระองค์เถิด พระองค์สอนว่า สิกขา 3 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นทางดำเนินในพุทธศาสนา มรรค 8 ก็รวมลงใน ศีล สมาธิ ปัญญานี่แหละ ผู้เจริญศีลให้มากแล้วมีสมาธิเป็นอานิสงส์มาก สมาธิเมื่อเจริญให้มากแล้วมีปัญญาเป็นอานิสงส์มาก เมื่อปีปัญญาแล้วจะทำให้จิตใจพ้นจากอาสวะกิเลสทั้งปวงได้ คำสอนของพระองค์บ่งชัดอยู่อย่างนี้ จะสอนนอกลู่นอกทางไปทำไม ผู้พูดอย่างนั้นคือผู้ที่ไม่เคยรักษาศีลเลย หรือรักษาศีลไม่ได้จึงพูดอย่างนั้น
ศีลห้าเป็นรากฐานของการกระทำกรรมต่างๆไม่ว่ากรรมดีและกรรมชั่ว กรรมดีต้องเว้นจากโทษห้านี้ ข้ออื่นๆเป็นเรื่องปลีกย่อยออกไปจากศีลห้าทั้งนั้น เมื่อไม่มีศีลห้าข้อนี้กำกับอยู่กับใจแล้ว ความชั่วนอกนั้นทั้งหมดจะหลั่งเข้ามาครองใจ ความดีทั้งปวงไม่สามารถจะทำให้เกิดมีขึ้นมาได้ ถึงทำให้เกิดมีขึ้นมาได้ก็ไม่สามารถจะตั้งอยู่ได้นาน ไม่ต้องพูดถึงสมาธิ สมาบัติ ปัญญาหรอก
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 02, 2011, 12:54:03 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14201
    • ดูรายละเอียด



ข้าราชการผู้ใหญ่จากกระทรวงศึกษาคนหนึ่งถามว่า

(5) ถาม มีสำนักปฏิบัติมากในสมัยนี้ เมื่อเข้าไปศึกษาแต่ละสำนักก็สอนไม่เหมือนกัน เป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติลังเลใจไม่ทราบว่าจะปฏิบัติตามสำนักไหนดีจึงจะถูกต้อง


(5) ตอบ น่าเห็นใจมากสำหรับผู้ฟังเฉยๆจะลังเลอยู่เลยไม่ทราบจะปฏิบัติตามสำนักไหน แต่สำหรับผู้ปฏิบัติมาแล้วย่อมได้รับรสชาติต่างๆ แล้วเลือกเอาแต่สิ่งที่เห็นว่าสมควรเหมาะสมกับอัธยาศัยของตน ยังจะเป็นประโยชน์ให้เพิ่มความรู้อีกด้วย อาจารย์แต่ละองค์ท่านปฏิบัติมาแคล่วคล่องทางไหนก็สอนไปในทางนั้น เพราะท่านเห็นว่าถูกที่สุดดีที่สุดแล้ว ทั้งๆที่ท่านสอนอยู่นั้น (บางสำนักก็ไม่มีในคัมภีร์พุทธศาสนาด้วย) สอนเอาตามความเห็นของท่าน แต่ก็ยังดีมีคนปฏิบัติตามมากเหลือหลาย ทำให้คนละชั่วทำดีได้อักโข แต่บางองค์หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ พอได้ศึกษาขากครูบาอาจารย์ได้ความรู้ความเข้าใจเล็กๆน้อยๆหรือศึกษาจากตำราแล้วก็เอาไปสอนเลย ตัวเองยังไม่ได้ฝึกหัดอบรมให้เป็นไป หรือฝึกหัดอบรมพอเป็นไปบ้าง แต่ยังไม่ชำนาญเพียงพอ แล้วก็ไปตั้งสำนักฝึกหัดอบรมลูกศิษย์ พอลูกศิษย์เป็นสมาธิภาวนามีนิมิตเห็นสิ่งต่างๆก็ชมเชยสรรเสริญว่านั่นถูกแล้วดีแล้วอะไรต่างๆนานา เลยทำให้เขาเกิดวิปริตเสียผู้เสียคนไปก็มาก

การฝึกหัดสมาธิภาวนาเป็นการฝึกหัดใจ ซึ่งเป็นของไม่มีตัวไม่มีตน ไม่เหมือนการสอนหนังสือ ต้องฝึกหัดด้วยตนเองให้ชำนิชำนาญ รู้จักเล่ห์กลมารยาของใจเสียก่อน จึงจะฝึกหัดคนอื่นได้ถูกต้อง เวลาลูกศิษย์เป็นไปต่างๆจึงจะสามารถแก้ไขเขาได้ เพราะนิสสัยของคนเราเป็นไม่เหมือนกัน บางคนชอบสงบซึมเซ่อ บางคนก็ชอบเห็นโน้นเห็นนี่ เมื่อเขาไปพูดให้อาจารย์ฟัง อาจารย์ก็เห็นเป็นของแปลกและน่าอัศจรรย์ อาจารย์ไม่เคยเป็นและไม่เคยเห็นก็ชมเชยว่านั้นถูก ดีแล้วอะไรไปตามทำนองนี้ ลูกศิษย์ก็ยิ่งได้ใจใหญ่ทำให้เสียคน เป็นเหตุให้คนอื่นซึ่งจะเริ่มทำหรือยังไม่เคยทำเลยก็กลัวกันใหญ่ พุทธศาสนานี้สอนให้คนดี มิใช่สอนให้คนเป็นบ้า แต่ผู้สอนเองสอนไม่ถูกทางจึงทำให้คนเป็นบ้า ไม่เหมือนสอนหนังสือสอนผิดแล้วลบได้เขียนใหม่
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 18, 2011, 03:38:15 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14201
    • ดูรายละเอียด



(6) ถาม ท่านปฏิบัติอยู่นี้เชื่อว่าถูกหนทางอยู่แล้วหรือ มีอะไรเป็นเครื่องวัด

(6) ตอบ ผู้เขียนเชื่อว่าถูกทางแล้วเพราะปฏิบัติมา 60 กว่าปียังไม่เคยท้อถอย และครูบาอาจารย์ก็ปฏิบัติเช่นนี้มาหลายชั่วคนแล้ว อนึ่ง การปฏิบัตินั้นก็ไม่ผิดจากศีล สมาธิ ปัญญา ตามแนวที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ และการปฏิบัตินั้นก็มิใช่เพื่อเห็นแก่ตัว ปฏิบัติเพื่อละสิ่งที่ชั่วได้จริงๆแล้วตัวเองก็เห็นด้วยใจของตัวเองจริงๆว่าสิ่งที่ชั่วนั้นค่อยหายไปโดยลำดับ แต่การที่ถูกมากถูกน้อยเห็นด้วยใจของตนเอง คนอื่นจะตัดสินให้ไม่ได้
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 02, 2011, 12:54:33 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14201
    • ดูรายละเอียด


(7) ถาม ปฏิบัติแบบไหนที่เรียกว่าถูกแล้ว แบบยุบหนอพองหนอ หรือสัมมาอรหัง หรืออานาปานสติ หรือพุทโธ

(7) ตอบ ถูกด้วยกันทั้งนั้น ขอให้ตั้งสติกำหนดอารมณ์ของบริกรรมนั้นๆให้มั่นคง จนกระทั่งจิตเป็นหนึ่งอยู่ในอารมณ์นั้นๆก็ใช้ได้ทั้งนั้น เมื่อจิตรวมลงเต็มที่แล้ว คำบริกรรมที่บริกรรมอยู่นั้นก็หายหมด จะเหลือแต่จิตตัวเดียว เพราะคำบริกรรมนั้นเป็นแต่เครื่องล่อให้จิตรวมเข้ามาเท่านั้น การบริกรรมก็คือต้องการให้จิตรวมเข้าอยู่ที่เดียว เมื่อรวมเข้ามาอยู่ในที่เดียวกับจิตได้แล้วคำบริกรรมนั้นไม่มีปัญหา จะใช้คำบริกรรมอื่นนอกเหนือจากนี้ก็ได้เหมือนกัน ผู้ไม่เข้าใจถือเอาแต่คำบริกรรมนั้นเป็นหลัก จิตจึงไม่ก้าวหน้า
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 01, 2011, 06:35:42 am โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14201
    • ดูรายละเอียด


นักศึกษาหญิง คนแก่ทั้งหญิงและชาย และข้าราชการหลายคนซึ่งไม่เคยหัดกัมมัฏฐานถามในทำนองเดียวกันนี้ว่า

(13) ถาม การฝึกหัดกัมมัฏฐานคือทำอย่างไร และฝึกหัดตรงไหน อย่างพวกผมนี้เป็นฆราวาส พวกผมจะทำกัมมัฏฐานได้ไหม

(13) ตอบ  พวกเราชาวพุทธนับถือพุทธศาสนาทำบุญทำทาน รักษาศีลตามบรรพบุรุษสืบเนื่องมาโดยลำดับ แต่ไม่มีการทำภาวนา จึงน่าเห็นใจมากที่ถามเช่นนั้น แท้จริงพุทธศาสนาสอนให้ทำกัมมัฏฐาน คือภาวนาสมาธินั่นเอง จาคานุสติ ระลึกถึงการจาคะก็ดี ศีลานุสติ ระลึกถึงศีลของตนอยู่ก็ดี เรียกว่าภาวนาแล้ว แต่ผู้สอนไม่สอนให้เขาเข้าใจว่าเป็นกัมมัฏฐานต่างหาก แต่ถึงกระนั้นคนแต่ก่อนก็ยังนำพระศาสนามาให้เราได้ปฏิบัติอยู่จนทุกวันนี้ ดีว่าผู้ที่เอาแต่ภาวนาอย่างเดียว หรือเอาแต่ปัญญาอย่างเดียว แต่ไม่เคยเข้าวัดทำบุญเลย ถ้าเป็นอย่างพวกหลังนี้แล้ว พุทธศาสนาเห็นจะไม่มีเหลือให้พวกเราได้รู้ได้เรียนอีกแล้ว

ที่ถามว่า การฝึกหัดกัมมัฏฐาน คือทำอย่างไร

ตอบว่า การฝึกกัมมัฏฐานคือ ฝึกหัดจิตของตนให้อยู่ในความสงบ จิตของคนเราไม่สงบชอบส่งส่ายปรุงแต่งไปในที่ต่างๆ ดีบ้าง ชั่วบ้าง ถ้าชั่วมันก็เศร้าหมอง ถ้าดีมันก็ผ่องใสเบิกบาน พระพุทธเจ้าทรงมีเมตตากรุณาแก่เหล่ามนุษย์ จึงได้ทรงสอนให้ทำจิตสงบอยู่ในความดี คือจาคะ และรักษาศีลอย่าได้ส่งส่ายออกไปภายนอกหาความดี จิตตะเศร้าหมอง

ถามว่า แล้วจะฝึกหัดตรงไหน

ตอบว่า ฝึกหัดตรงใจของทุกๆคนนั่นแหละ เพราะทุกๆคนก็มีใจด้วยกันทั้งนั้น และใจของทุกคนก็ต้องมีการปรุงแต่งและกระสับกระส่ายวุ่นวายเหมือนกันทั้งนั้น

ถามว่า อย่างพวกผมนี้เป็นฆราวาสจะทำกัมมัฏฐานได้ไหม

ตอบว่า ถ้าต้องการให้จิตสงบก็ทำได้ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนแต่เฉพาะพระ สอนทั่วไปหมดตลอดถึงฆราวาสด้วย ไม่ว่าพระไม่ว่าฆราวาสมีกิเลสเท่ากัน คือมีโลภ โกรธ หลงเหมือนกัน ที่ไปบวชเป็นพระนั้นคือต้องการละกังวลทางโลก แล้วจะมีเวลาบำเพ็ญความเพียรให้มากๆจึงต้องบวช ถ้าบวชแล้วยังมละความชั่ว บวชมาก็จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย
บางคนพูดว่า กิเลสอยู่ที่หัวใจของตนทุกๆคนแล้ว บวชหรือไม่บวชไปวัดหรืออยู่ที่บ้าน หรือเข้าป่าก็เหมือนกัน ไม่เห็นผิดแปลกอะไร เราละกิเลสได้อย่างเดียวก็ใช้ได้ จริงอยู่ผู้ที่พูดเช่นนั้นไม่ค่อยเห็นทำอะไร นอกจากจะติดสุขในทุกข์ คนทำไม่ได้แล้วก็พูดเอาเปรียบคนอื่นเท่านั้นเข้าตำราว่า ตนไม่พายแล้วเอามือราน้ำ ลองคิดดู ถ้าหากทำตนอย่างคนที่พูดนั้นทุกๆคนแล้ว พุทธศาสนาจะเป็นมาได้ถึงขนาดหรือ พุทธศาสนาสอนให้ละสิ่งที่ยึดมั่นทั้งปวง เพราะเป็นอุปสรรคแก่การฝึกจิตให้สงบ ผู้ที่ฝึกจิตให้สงบได้แล้ว อย่าว่าแต่เข้าวัดหรือออกบวชเลย แม้แต่ในป่าที่มีทหารคอมมิวนิสต์อยู่ตั้งกองพันก็สามารถบุกเข้าไปหาวิเวกได้


------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ที่มา : http://www.fungdham.com/book/tes.html
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 09, 2011, 11:43:53 am โดย ยาใจ »