ผู้เขียน หัวข้อ: *รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล  (อ่าน 311365 ครั้ง)

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14201
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #555 เมื่อ: กันยายน 20, 2018, 06:52:13 am »



ความตาย

เป็นเพราะเห็นความตายเป็นเรื่องน่าสะพรึงกลัว เราจึงไม่อยากนึกถึงความตายของตนเอง (แต่อาจสนใจอยากรู้ความตายของคนอื่น ทั้งโดยผ่านสื่อนานาชนิดและด้วยพฤติกรรม “ไทยมุง”) สุดท้ายก็เลยลืม (หรือแกล้งลืม)ว่าตนเองจะต้องตาย แต่ไม่ว่าจะปัดไปให้พ้นตัวเพียงใด ในที่สุดความตายก็ต้องมาถึงจนได้

ความตายนั้นเป็นบททดสอบที่สำคัญที่สุดของชีวิต บททดสอบอื่น ๆ นั้นเราสามารถสอบได้หลายครั้ง แม้สอบตกก็ยังสามารถสอบใหม่ได้อีก แต่บททดสอบที่ชื่อว่าความตายนั้น เรามีโอกาสสอบได้ครั้งเดียว และไม่สามารถสอบแก้ตัวได้เลย ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นบททดสอบที่ยากมาก และสามารถเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ โดยไม่ทันได้ตั้งตัว เป็นบททดสอบที่เราแทบจะควบคุมอะไรไม่ได้เลย ไม่ว่าเวลา สถานที่ หรือแม้กระทั่งร่างกายและจิตใจของตนเอง

พระไพศาล วิสาโล





  ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : Facebook วัดป่าสุคะโต ธรรมชาติที่พักใจ
https://www.facebook.com/Zensukato/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 10, 2019, 02:02:57 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14201
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #556 เมื่อ: กันยายน 22, 2018, 06:38:57 am »





ที่มา : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 25, 2018, 06:29:08 am โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14201
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #557 เมื่อ: กันยายน 25, 2018, 06:27:53 am »




ในทัศนะของคนทั่วไป ความสุขของชีวิตอยู่ที่การมีหรือหามาได้มาก ๆ ไม่ว่าทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ อำนาจ ยิ่งมีมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นสุขมากเท่านั้น ความสำเร็จหรือความเจริญก้าวหน้าก็เช่นกัน วัดกันที่ตรงนั้น ถ้ามีเงินมากขึ้น มีรถยนต์เพิ่มขึ้น มีบ้านหลังใหญ่ขึ้น หรือมีตำแหน่งที่สูงขึ้น ก็ถือว่ามีความสำเร็จและเจริญก้าวหน้ามากกว่าเดิม

แต่ความสุขทางใจหรือความสุขทางธรรมนั้นสวนทางกับความสุขทางโลก คนเราจะพบกับความสุขทางใจได้ต่อเมื่อรู้จักลดละหรือสละออกไป เริ่มจากการสละหรือให้สิ่งของที่มีอยู่แก่ผู้อื่น เมื่อเราให้ทานหรือบริจาคข้าวของเงินทอง เราย่อมรู้สึกปีติยินดี โดยเฉพาะเมื่อเห็นผู้รับมีความสุข เราก็พลอยมีความสุขด้วย คนที่คิดแต่จะเอาเข้าตัวอย่างเดียว จะไม่มีวันรู้จักความสุขชนิดนี้ เพราะถูกความเห็นแก่ตัวครอบงำ

การให้หรือสละสิ่งของนอกจากเป็นการลดความเห็นแก่ตัวแล้ว ยังเป็นการลดความยึดติดถือมั่นในทรัพย์ด้วย ยิ่งของนั้น ๆเป็นสิ่งที่เรารักหรือหวงแหนมากเท่าไร การสละออกไปก็ยิ่งทำให้ความยึดมั่นใน “ของกู”เบาบางลงมากเท่านั้น เป็นการฝึกฝนจิตใจให้รู้จักปล่อยวาง จึงช่วยให้เรามีความสุขใจได้ง่ายขึ้น เพราะหากมีเหตุให้ต้องสูญเสียทรัพย์ เราก็จะปล่อยวางได้รวดเร็ว ไม่มัวเศร้าโศกเสียใจหรือหวนหาอาลัย หรือเป็นทุกข์สองต่อ คือ นอกจากเสียของแล้ว ยังเสียอารมณ์อีกต่างหาก

นอกจากความยึดติดถือมั่นในทรัพย์แล้ว ความยึดติดในอารมณ์ต่าง ๆ เช่น ความโกรธเกลียด ความคับแค้นข้องขัด ความน้อยเนื้อต่ำใจ ก็เป็นสิ่งที่ต้องลดละด้วยจึงจะทำให้เรามีความสุขอย่างแท้จริง การลดละอย่างหลัง ทำไม่ได้ด้วยการให้ทาน แต่ต้องอาศัยวิธีการอื่น ได้แก่ การควบคุมกายวาจาไม่ให้ทำตามอำนาจของอารมณ์ และการฝึกจิตให้เป็นอิสระหรือปล่อยวางอารมณ์เหล่านั้นได้ วิธีการดังกล่าวก็คือ ศีล และ ภาวนา นั่นเอง

จะเห็นได้ว่าการปฏิบัติธรรมหรือการทำบุญในพุทธศาสนา ล้วนเป็นไปเพื่อการลดละหรือสละวางสิ่งซึ่งก่อความข้องขัดในจิตใจ ซึ่งมีแก่นแกนอยู่ที่ความยึดติดถือมั่นในตัวตน หรือยึดมั่นว่าเป็น “ตัวกู ของกู” ความยึดติดถือมั่นดังกล่าวแสดงอาการออกมาในหลายรูปลักษณ์ เช่น อยากได้ไม่รู้จักพอ (ตัณหา) อยากใหญ่ใคร่เด่น(มานะ) และติดยึดในความเห็นของตน(ทิฏฐิ) ตราบใดที่ยังมีความยึดติดถือมั่นในตัวตนอย่างแน่นหนา ก็ยากจะมีความสุขใจได้ แม้มีวัตถุพรั่งพร้อมและมีอำนาจล้นแผ่นดินก็ตาม

ความสำเร็จทางโลกนั้นมุ่งที่การแสวงหาสิ่งต่าง ๆ มาครอบครองให้มากที่สุด สิ่งที่มักตามมาก็คือ ความยึดติดถือมั่นในตัวตนเพิ่มพูนมากขึ้น ทำให้เกิดความอยากได้มากขึ้นกว่าเดิม ไม่มีความสุขกับสิ่งที่มี ขณะเดียวกันก็เกิดความหลงตัวว่าเก่งและสูงเด่น รวมทั้งยึดมั่นในความเห็นของตนเหนียวแน่นกว่าเดิม ซึ่งมักนำไปสู่การวิวาทบาดหมางและทะเลาะวิวาท ดังนั้นจึงมักมีเรื่องร้อนใจอยู่เนือง ๆ สุขแต่กาย แต่ใจไม่เป็นสุข


ข้อธรรมคำสอน พระไพศาล วิสาโล



ที่มา : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 27, 2018, 08:09:34 am โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14201
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #558 เมื่อ: กันยายน 25, 2018, 06:49:03 am »



  มองเป็น ก็เห็นสุข 

เรารู้จักพอใจสิ่งที่มี ยินดีสิ่งที่ได้ ความสุขจะบังเกิดขึ้นทันที แทนที่จะเฝ้ามองสมบัติของคนอื่นว่าดีกว่าอย่างไร เราลองหันมาชื่นชมสิ่งที่เรามี เห็นข้อดีหรือประโยชน์ของสิ่งที่มีอยู่ ความพอใจก็จะเกิดขึ้น ความรุ่มร้อนก็จะหายไป แทนที่จะเป็นทุกข์เพราะสิ่งที่เราไม่มี ทำไมไม่หาความสุขจากสิ่งที่เรามีอยู่แล้วในขณะนี้

ถ้าวางใจได้อย่างนี้ แม้จะมีเพื่อนที่รวยกว่า เก่งกว่า ดังกว่า หรือสวยกว่า เราก็ไม่มีความทุกข์เลย ไม่มีทั้งความรู้สึกด้อยหรืออิจฉา กลับรู้สึกยินดีมีมุทาจิตด้วยซ้ำ อันที่จริงแล้วเมื่อหันมาใส่ใจกับสิ่งที่เรามีอยู่ เราก็จะพบว่าเรายังมีสิ่งดี ๆ อีกมากมายที่น่าชื่นชม ซึ่งบางอย่างคนอื่นอาจไม่มีหรือมีไม่เท่าก็ได้ เช่น แม้จะมีเงินน้อยกว่า ตำแหน่งต่ำกว่า แต่เราก็มีสุขภาพดี มีครอบครัวที่อบอุ่น มีชีวิตที่ราบรื่น เพียงเท่านี้ก็น่าจะมีความสุขแล้วไม่ใช่หรือ ความสุขมีอยู่กับเราอยู่แล้วทุกขณะ อยู่ที่ว่าเราจะมองเห็นหรือไม่เท่านั้น


พระไพศาล วิสาโล



  ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : Facebook วัดป่าสุคะโต ธรรมชาติที่พักใจ
https://www.facebook.com/Zensukato/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 10, 2019, 02:03:39 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14201
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #559 เมื่อ: ตุลาคม 01, 2018, 05:16:09 pm »




  พรที่คู่ควรกับชีวิต 

สมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ แห่งวัดสะแก จังหวัดอยุธยา เป็นพระที่มีผู้คนเคารพนับถือมาก หลายคนมาหาท่านเพราะได้ยินกิตติศัพท์ของท่านในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์และอิทธิปาฏิหาริย์ มีเรื่องเล่าว่า ชายผู้หนึ่งมาบวชที่วัดสะแกอยู่พักใหญ่ เมื่อจะลาสิกขาก็มาหาหลวงปู่เพื่อขอให้ท่านพรมน้ำมนต์และให้พร ขณะที่หลวงปู่พรมน้ำมนต์ให้ พระรูปนั้นตั้งจิตอธิษฐานในใจว่า “ขอความร่ำรวยมหาศาล ขอลาภขอผลพูนทวี มีกินมีใช้ ไม่รู้หมด จะได้แบ่งไปทำบุญมาก ๆ”

พอท่านอธิษฐานเสร็จ หลวงปู่ก็มองหน้าพร้อมกับพูดว่า

“ท่าน...ที่ท่านคิดน่ะมันต่ำ คิดให้มันสูงไว้ไม่ดีหรือ แล้วเรื่องที่ท่านคิดน่ะจะตามมาทีหลัง”

เมื่อพูดถึงพรหรือสิ่งประเสริฐ ผู้คนมักคิดถึงแต่เงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ แต่แท้จริงแล้ว มีสิ่งที่ประเสริฐกว่านั้นอีก ซึ่งจะช่วยนำความสุขมาให้แก่ชีวิตอย่างยั่งยืน สิ่งนั้นได้แก่คุณธรรมหรือคุณภาพจิตที่ดีงาม อาทิ วิริยะ ศีล สมาธิ สติ และ ปัญญา หากมีขึ้น นอกจากความสงบเย็นและมั่นคงในจิตใจแล้ว ความสำเร็จทางโลกก็จะตามมา

ด้วยเหตุนี้พระสุปฏิปันโนซึ่งเปี่ยมด้วยปัญญาอย่างหลวงปู่ดู่จึงเตือนพระรูปนั้นให้นึกถึงสิ่งที่ประเสริฐกว่าความร่ำรวยและโชคลาภ

เรื่องราวของหลวงปู่ดู่ยังสอดคล้องกับชาดกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องราวของพระพุทธเจ้าสมัยยังเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ชื่อกัณหาฤาษี ฤาษีท่านนี้ทำความเพียรและบำเพ็ญคุณธรรมจนท้าวสักกะหรือพระอินทร์ยกย่องนับถือ

วันหนึ่งท้าวสักกะเสด็จมาเยี่ยมกัณหาฤาษีเพื่อประทานพร ๔ ประการ แต่แทนที่ฤาษีจะขอให้มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ หรือทรัพย์สมบัติ กลับบอกท้าวสักกะว่า

“หากพระองค์จะประทานพรแก่อาตมา อาตมาหวังเฉพาะความประพฤติของตน คือ อย่ามีความโกรธ อย่ามีโทสะ อย่ามีความโลภ และอย่ามีความเสน่หา ขอพระองค์ทรงประทานพรทั้ง ๔ ประการเหล่านี้แก่อาตมาเถิด”

ท้าวสักกะคาดไม่ถึงว่าจะเจอคำตอบแบบนี้ แน่นอนว่าพระองค์ไม่สามารถประทานให้ได้ เพราะเป็นสิ่งที่เจ้าตัวเท่านั้นที่จะทำให้เกิดขึ้นแก่ตนได้

มีชาดกอีกเรื่องที่คล้าย ๆ กัน อกิตติฤาษีเป็นอีกผู้หนึ่งท้าวสักกะเสด็จมาเพื่อประทานพร ๔ ประการแต่คำตอบที่ได้จากฤาษีก็คือ

“ขอให้อาตมาไม่พึงพบเห็นคนพาล ไม่พึงได้ยิน ไม่พึงอยู่ร่วมกับคนพาล ไม่พึงทำการเจรจาปราศรัย และไม่พึงพอใจการเจรจาปราศรัยกับคนพาลเลย”

ฤาษีคงรู้ว่าท้าวสักกะประทานพรดังกล่าวให้ไม่ได้ จึงเปลี่ยนใจ ขอพรเพียงแค่ข้อเดียวคือ

“ขอมหาบพิตรอย่าเสด็จมาหาอาตมาอีกเลย”

ทั้งนี้ท่านให้เหตุผลว่า การเสด็จมาของท้าวสักกะ อาจทำให้ท่านประมาทในการบำเพ็ญเพียร “การพบเห็นมหาบพิตรจะเป็นภัยแก่อาตมา”

เมื่อได้อ่านเรื่องราวของหลวงปู่ดู่และฤาษีทั้งสองแล้ว ผู้มีปัญญาย่อมตัดสินได้เองว่าอะไรคือพรอันประเสริฐที่ตนควรตั้งจิตปรารถนาให้บังเกิดขึ้นกับตน


ข้อธรรมคำสอน พระไพศาล วิสาโล



ที่มา : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 05, 2018, 05:44:49 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14201
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #560 เมื่อ: ตุลาคม 01, 2018, 05:19:38 pm »




ชายผู้หนึ่งไปซื้อของที่ตลาดคลองเตย เห็นแผงมะม่วงเรียงติด ๆ กันหลายแผง เขาจึงเดินดูและสอบถามราคาตั้งแต่แผงแรกไปจนถึงแผงสุดท้าย จากนั้นก็กลับมาที่แผงแรก และเลือกมะม่วงมาได้จำนวนหนึ่ง แต่เมื่อจะจ่ายเงิน พ่อค้ากลับพูดด้วยเสียงอันดังว่า “ไปดูร้านอื่นแบบนี้ อั๊วไม่ขายให้แล้ว”

พ่อค้าไม่พอใจที่เห็นชายผู้นั้นเดินผ่านแผงของเขาทีแรก ไปสนใจแผงอื่น ความรู้สึกว่า “ตัวกู” ถูกกระทบเพราะไม่ได้รับความสนใจ ทำให้รู้สึกขุ่นเคืองชายผู้นั้น จึงตอบโต้ด้วยการไม่ยอมขายมะม่วงให้

พ่อค้าคงรู้สึกสะใจที่ชายผู้นั้นไม่ได้มะม่วงอย่างที่ต้องการ เขาอาจรู้สึกว่า “กูชนะ” แล้ว แต่ถ้าถามว่าพ่อค้าผู้นี้ฉลาดหรือโง่ คำตอบย่อมชัดเจนอยู่แล้ว

ธรรมดาพ่อค้าควรดีใจที่มีลูกค้ามาซื้อของ เพราะนั่นคือรายได้ที่จะตามมา จะว่าไปแล้วเขามาเป็นพ่อค้าก็เพราะเหตุนี้ การปฏิเสธลูกค้าย่อมไม่เป็นผลดีแก่ตัวเขาเอง แต่อะไรทำให้เขาทำเช่นนั้น คำตอบก็คือ ความลืมตัว

พ่อค้าลืมตัวเพราะถูกความขุ่นเคืองครอบงำจิตใจ จึงคิดแต่จะตอบโต้หรือเอาชนะผู้อื่น จนลืมไปว่าผลเสียจะเกิดขึ้นกับตัวเองอย่างไรบ้าง มะม่วงของเขาแม้จะดี หอมหวาน แถมราคาถูก แต่หากเขาลืมตัวแบบนี้บ่อย ๆ เพราะปล่อยให้ความหงุดหงิดขุ่นเคืองเกิดขึ้นเป็นประจำ ก็หวังความเจริญในอาชีพนี้ได้ยาก

คนเราไม่ว่าฉลาดหรือเก่งเพียงใดก็ตาม หากลืมตัวเสียแล้ว ก็สามารถทำสิ่งที่เป็นโทษแก่ตัวเองได้ทั้งนั้น นักธุรกิจต้องการเสนอขายผลิตภัณฑ์ลูกค้า แต่เมื่อถูกลูกค้าวิจารณ์ ก็โกรธ ห้ามใจไม่อยู่ ใช้ถ้อยคำรุนแรงตอบโต้ลูกค้า ผลก็คือเสียลูกค้า ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่เขาควรทำคือตั้งสติ ไม่ปล่อยให้ความโกรธครอบงำใจ พยายามโน้มน้าวลูกค้าให้เห็นข้อดีของผลิตภัณฑ์ หรือใช้เหตุผลหักล้างคำวิจารณ์ดังกล่าว

ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม นอกจากความรู้ ความสามารถ เงินทุน เครือข่าย และโอกาสแล้ว อย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ สติหรือความรู้ตัว ถึงแม้จะประสบความสำเร็จในการงาน เป็นซีอีโอ ศาสตราจารย์ ดาราดัง แต่หากขาดสติ จนลืมตัว แม้เพียงชั่วขณะ ชีวิตก็อาจดำดิ่ง ประสบหายนะได้ เพราะอารมณ์ชั่ววูบชักนำให้ทำสิ่งเลวร้าย จนต้องติดคุกติดตะราง


ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล


ที่มา : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14201
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #561 เมื่อ: ตุลาคม 01, 2018, 05:23:36 pm »



คนที่ไม่เห็นหรือไม่เชื่อมั่นในคุณค่าของตนเองต่างหาก ที่พยายามเรียกร้องคาดหวังให้คนอื่นยกย่องเชิดชูหรือสรรเสริญตนเอง หรือมิเช่นนั้นก็พยายามหาสินค้าแบรนด์เนมมาใช้ หารถแพง ๆ มาขับเพื่อเพิ่มคุณค่าให้แก่ตนเอง แต่การเอาคุณค่าของตัวเองไปผูกติดกับคนอื่นหรือวัตถุนอกตัวนั้นเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง เพราะสิ่งเหล่านั้นล้วนไม่เที่ยง แปรเปลี่ยนเป็นนิจ เมื่อใดที่มันผันแปรไป ใครกันที่ทุกข์ถ้าไม่ใช่เรา

ถ้าคุณไม่อยากทุกข์ ก็ควรฝากใจไว้กับคนอื่นหรือสิ่งอื่นให้น้อยลง ฝากใจไว้ในธรรม จนมั่นใจในคุณค่าของตน หรือรักตนเองได้อย่างแท้จริง นี้ต่างหากที่จะทำให้คุณมีความสุขอยู่ได้ในโลกที่ผันผวนเรรวนอยู่เสมอ

พระไพศาล วิสาโล
#หอจดหมายเหตุพุทธทาส #BIA



ที่มา : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 28, 2018, 07:31:33 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14201
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #562 เมื่อ: ตุลาคม 01, 2018, 05:27:07 pm »




หลวงปู่มั่น ภูริทัตโตเคยกล่าวว่า “ธรรมะนั้นมีอยู่ทุกหย่อมหญ้าสำหรับผู้มีปัญญา” คำพูดนี้เกิดขึ้นเนื่องจากสมเด็จพระมหาวีรวงศ์  สงสัยว่าหลวงปู่มั่นเรียนปริยัติธรรมน้อย เอาแต่อยู่ป่า แต่ทำไมจึงรู้ธรรมได้ลึกซึ้ง

สมเด็จองค์นี้สมัยที่ท่านเป็นเจ้าคณะมณฑลอุบลราชธานี ท่านเห็นว่าปริยัติธรรมเป็นเรื่องสำคัญที่พระต้องเรียน ตัวท่านเองก็เรียนถึงประโยค ๕ ตอนนั้นท่านไม่ชอบพระป่าเอามาก ๆ โดยเฉพาะพระป่าสายหลวงปู่มั่น หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม เพราะพระเหล่านี้ไม่ยอมเรียนหนังสือ และไม่อยู่วัดเป็นหลักเป็นแหล่ง ธุดงค์จาริกในป่าเป็นอาจิณ คราวหนึ่งหลวงปู่สิงห์กับคณะธุดงค์มาถึงอำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี เจ้าคณะมณฑลจึงสั่งเจ้าคณะอำเภอ ให้บอกชาวบ้านว่า ขับไล่คณะพระธุดงค์กลุ่มนี้ออกไปจากอำเภอ แต่ชาวบ้านไม่ทำ

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์แต่เดิมท่านไม่เห็นว่าการทำสมาธิภาวนามีประโยชน์อะไร กระทั่งวันหนึ่งท่านล้มป่วย รักษาเท่าไรก็ไม่หาย ต่อมาพระอาจารย์ลี ธัมมธโร และพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น ช่วยรักษาท่านให้หายจากโรค โดยใช้สมาธิภาวนาและสมุนไพร ปรากฏว่าท่านหายอย่างอัศจรรย์ จึงแปลกใจและประทับใจมาก ท่านถึงกับกล่าวว่า “ตลอดชีวิตของเรา เราไม่เคยนึกมาก่อนเลยว่า สมาธิภาวนาจะมีประโยชน์ถึงเพียงนี้

น่าคิดนะ สมเด็จพระมหาวีรวงค์ เป็นพระผู้ใหญ่ มีความรู้สูงด้านปริยัติธรรม แต่ไม่เคยเชื่อเลยว่า สมาธิภาวนาจะมีคุณค่ามาก เมื่อเห็นประโยชน์ของสมาธิภาวนาด้วยตนเอง ท่านจึงเริ่มทำสมาธิภาวนา และมีศรัทธาในหลวงปู่มั่น ต่อมาเมื่อได้เจอหลวงปู่มั่น ท่านจึงถามว่าหลวงปู่มั่นว่า ในเมื่อหลวงปู่มั่นไม่ได้เรียนหนังสือมามาก ทำไมจึงสอนธรรมะได้ลึกซึ้ง หลวงปู่มั่นจึงตอบพูดว่า “ธรรมะนั้นมีอยู่ทุกหย่อมหญ้าสำหรับผู้มีปัญญา”

เราสามารถเห็นธรรมได้จากทุกสิ่ง เมื่อเราเปิดใจรับรู้ทุกสิ่งอย่างมีโยนิโสมนสิการ ถ้าเราครองตนด้วยสติ ก็จะเห็นกายและใจตามที่เป็นจริง และเมื่อเรามองโลก เราก็จะเกิดปัญญาเห็นธรรม

เราจะเห็นกายและใจตามจริงได้อย่างไร ก็เริ่มจากการปฏิบัติ ซึ่งมีหลายวิธี หลักใหญ่ ๆ คือ เจริญสติปัฏฐาน 4 ได้แก่
กายานุปัสสนา คือ เห็นกายในกาย
เวทนานุปัสสนา คือ เห็นเวทนาในเวทนา
จิตตานุปัสสนา คือ เห็นจิตในจิต
ธัมมานุปัสสนา คือ เห็นธรรมในธรรม


อธิบายสั้น ๆ คือ เห็นกายว่าเป็นกาย ไม่ใช่เห็นกายว่าเป็นเรา เวลาเราเดิน หากเดินอย่างมีสติจะเห็นว่ากายเดิน ไม่ใช่ “ฉัน” เดินเวทนาเกิด ก็เห็นเป็นเวทนา ไม่ใช่เห็นว่าฉันปวด คนเราเวลาปวดก็จะรู้สึกว่าฉันปวด ๆ แต่ที่จริงเมื่อเจริญสติก็จะเห็นว่า การปวดเป็นอาการปวด ไม่ใช่ฉันปวด เวลาโกรธก็เห็นว่ามีความโกรธเกิดขึ้น ไม่ใช่ฉันโกรธ

ปฏิบัติธรรมไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อเห็นสีหรือแสงข้างนอก ถ้าเป็นการภาวนาที่แท้จริงเพื่อหลุดพ้นจากความทุกข์ วิธีการก็คือเห็นกายและใจตามที่เป็นจริง ด้วยการเจริญสติ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดปัญญา ถ้าเราเกี่ยวข้องกับโลกภายนอก ตาดู หูฟัง เมื่อเกิดโยนิโสมนสิการ ก็เกิดปัญญา

การปฏิบัติธรรมนั้นสามารถทำได้หลายวิธี มีรูปแบบการปฏิบัติ เช่น ตามลมหายใจ เดินจงกรม ยกมือเคลื่อนไหว ดูท้องพองยุบ หรือไม่มีรูปแบบก็ได้ เป็นการปฏิบัติที่กลืนกับชีวิตประจำวัน เป็นการเกี่ยวข้องโลกภายนอกอย่างมีสติ มีปัญญา ทั้งสองวิธีล้วนมีความสำคัญ บางคนไปเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมหมายถึงการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ตามลมหายใจ เท่านั้น ทำอย่างนี้ถึงจะเรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรม อันนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด

หลวงพ่อชาเล่าว่า ท่านเคยไปปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่กินรี หลวงพ่อชาตั้งใจปฏิบัติมาก เดินจงกรม และนั่งสมาธิทั้งวัน แต่ก็อดแปลกใจไม่ได้ว่า หลวงปู่กินรีวัน ๆ ไม่ค่อยเดินจงกรม ไม่ค่อยนั่งสมาธิเลย ทำโน่นทำนี่ เกือบตลอดเวลา แล้วท่านจะเห็นอะไร แต่หลังจากที่ได้อยู่ปฏิบัติกับหลวงปู่นาน ๆ และได้ฟังธรรมอันลุ่มลึกจากท่าน หลวงพ่อชาก็รู้ว่าเป็นความเขลาของท่านเองที่คิดเช่นนั้น ท่านพูดถึงบทเรียนที่ท่านได้จากประสบการณ์ครั้งนั้นว่า

“เรามันคิดผิด หลวงปู่ท่านรู้อะไร ๆ มากกว่าเราเสียอีก คำเตือนของท่านสั้น ๆ และไม่ค่อยมีให้ฟังบ่อยนัก เป็นสิ่งที่ลุ่มลึก แฝงไว้ด้วยปัญญาอันแยบคาย ความคิดของครูบาอาจารย์กว้างไกลเกินปัญญาเราเป็นไหน ๆ ตัวแท้ของการปฏิบัติคือความพากเพียร กำจัดอาสวกิเลสภายในใจ ไม่ใช่ถือเอากิริยาอาการภายนอกของครูบาอาจารย์เป็นเกณฑ์”

ท่านมาได้ตระหนักชัดอีกครั้งว่า การปฏิบัติธรรมนั้นไม่ได้อยู่ที่รูปแบบ แต่อยู่ที่การวางใจให้ถูกต้อง ไม่ว่าทำอะไร ก็สามารถเป็นการภาวนาได้

คราวหนึ่งท่านนั่งปะชุนจีวรที่ขาดวิ่น ใจนั้นนึกถึงการภาวนาอยู่ตลอดเวลา อยากรีบปะชุนให้เสร็จเร็ว ๆ เพื่อจะได้ไปภาวนาต่อ ขณะนั้นเองหลวงปู่กินรีเดินผ่านมา สังเกตเห็นอาการของพระหนุ่ม จึงพูดขึ้นมาว่า

“ท่านชา จะรีบร้อนไปทำไมเล่า”
“ผมอยากให้เสร็จเร็ว ๆ ครับหลวงปู่”
“เสร็จแล้วท่านจะทำอะไรล่ะ”
“จะไปทำอันนั้นอีก”
“ถ้าเสร็จอันนั้นแล้ว ท่านจะทำอะไรอีกล่ะ”
“ผมก็จะทำอย่างอื่นอีก”
“เมื่อทำอย่างอื่นเสร็จแล้ว ท่านจะไปทำอะไรอีกเล่า”

เมื่อเห็นว่าใจของหลวงพ่อชาไม่ได้อยู่กับงานที่กำลังทำ แต่คิดถึงงานชิ้นอื่น ๆ ที่อยู่ข้างหน้า และรีบร้อนจะทำให้เสร็จไว ๆ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อไปภาวนาต่อ หลวงปู่กินรีจึงเตือนว่า

“ท่านชา ท่านรู้ไหม นั่งเย็บผ้าผืนนี้ก็ภาวนาได้ ท่านดูจิตตัวเองสิว่าเป็นอย่างไร แล้วก็แก้ไขมัน ท่านจะรีบร้อนไปทำไมเล่า ทำอย่างนี้เสียหายหมด ความอยากมันเกิดขึ้นท่วมหัว ท่านยังไม่รู้เรื่องของตนอีก”

คำพูดของหลวงปู่กินรีกระตุกใจของหลวงพ่อชาอย่างแรง ทำให้ท่านได้สติ และเกิดความเข้าใจชัดเจนว่า ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ทำอะไร ก็ภาวนาได้ทั้งนั้น ขอให้หมั่นดูใจของตนอย่างต่อเนื่อง จนเกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อม นี้เป็นบทเรียนที่ประทับใจท่านมาก และถือเป็นหลักปฏิบัติของท่านตลอดมา

เมื่อท่านไปตั้งสำนักปฏิบัติธรรมที่หนองป่าพง จึงทำให้มีกิจกรรมหลาย ๆ อย่าง และมีเรื่องเล่าว่า ตอนนั้นหลวงพ่อชาอายุมากแล้ว มีเด็กหนุ่มมาถามท่านว่า “ทำไมพระจึงไม่นั่งสมาธิ” พอหลวงพ่อชาได้ฟังน้ำเสียงแล้วรู้ว่า ไม่ได้ถามเพราะต้องการคำตอบที่แท้จริง ท่านจึงตอบว่า “นั่งอย่างเดียวมันถ่ายไม่ออกว่ะ จะนั่งอย่างเดียวก็ไม่ได้ มันต้องปฏิบัติกับการทำงานด้วย” และท่านก็บอกว่า “การปฏิบัติธรรมมันต้องมาดูกายและใจ” ไม่ว่าทำอะไร ต้องให้รู้ทันกายและใจ ทำงานก่อสร้างก็เป็นการปฏิบัติธรรมได้ อันนี้สำคัญมาก เดี๋ยวนี้นักปฏิบัติธรรมจำนวนมากคิดอย่างเดียวว่า เวลาปฏิบัติธรรมจะต้องเข้าวัด จะต้องหลบลี้หนี้หน้าผู้คน โดยไม่คิดว่า การอยู่ที่ไหนก็ปฏิบัติธรรมได้

อยู่บนท้องถนน รถติดก็กำหนดลมหายใจไปด้วย หรือเวลาเจอไฟแดง หงุดหงิดขึ้นมาก็ปฏิบัติธรรมได้ ถามว่าเวลารถติดทำไมถึงหงุดหงิด นั่นก็เพราะใจมันไปอยู่ที่จุดหมายปลายทางแล้ว ใจมันอยู่ข้างหน้าแล้ว ใจไม่อยู่กับปัจจุบัน จึงกลัวไปไม่ทัน กลัวไม่ทันประชุม เป็นต้น ดังนั้นให้พาใจกลับมาอยู่กับปัจจุบัน จะตามลมหายใจด้วยก็ได้ การปฏิบัติธรรมก็คือ ติดไฟแดงทำอย่างไรจะไม่หงุดหงิด ทำอย่างไรเวลาถูกต่อว่าจะไม่หงุดหงิด เวลาเสียเงินจะไม่โมโห เวลาเงินหายก็หายแต่เงิน แต่ใจไม่หาย ถ้าทำได้อย่างนี้ก็เรียกว่าปฏิบัติธรรมแล้ว




ที่มา : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 01, 2018, 05:37:45 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14201
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #563 เมื่อ: ตุลาคม 05, 2018, 05:44:28 pm »



“รู้” ตรงข้ามกับ “หลง” เมื่อใดที่เราหลง ปัญหาและความทุกข์ก็มักจะตามมา เราไม่เพียงแต่หลงทางหรือหลงเชื่อคนอื่นเท่านั้น ที่สำคัญและเกิดขึ้นบ่อย ๆ ก็คือ “หลงความคิด” และ“หลงอารมณ์” ซึ่งทำให้เราไม่รู้เนื้อรู้ตัว จนพลั้งเผลอหรือผิดพลาด เช่น พูดร้าย หรือทำร้ายผู้อื่น กระทั่งทำร้ายตนเอง แม้ไม่ถึงขั้นนั้น แต่สิ่งที่มักเกิดขึ้นก็คือ จมอยู่ในความทุกข์ เพราะจิตหลงเข้าไปในอดีตอันเจ็บปวด หรือติดอยู่ในภาพอนาคตที่ปรุงแต่งในทางลบ จนเกิดความเศร้าโศก อาลัยอาวรณ์ โกรธแค้น ขุ่นมัว หรือไม่ก็วิตกกังวล หนักอกหนักใจ

เพียงแค่กลับมารู้สึกตัว หรือรู้ทันความคิดและอารมณ์ที่เผลอพลัดเข้าไปเท่านั้น จิตก็จะกลับมาเป็นปกติสุข หลุดพ้นจากอารมณ์เหล่านั้นได้ ทุกวันสามารถเป็นวันแห่งความสดชื่นเบิกบานได้ หากเรามีความรู้สึกตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีสติช่วยเตือนใจให้รู้ทัน ไม่หลงเข้าไปในความคิดและอารมณ์เหล่านั้นจนหมดเนื้อหมดตัว

ความรู้สึกตัวหรือความรู้ตัว เป็นพื้นฐานให้เกิด “รู้” อีกชนิดหนึ่ง คือ รู้ความจริง หรือเห็นธรรมชาติของกายและใจตามความเป็นจริง เห็นกระทั่งว่า มันไม่ใช่ “กู”หรือ “ของกู” ดังนั้นจึงช่วยไถ่ถอนจิตจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง เมื่อใดที่รู้สึกตัว “ตัวกู”ก็หายไป แม้ปุถุชนยากที่จะรู้สึกตัวได้ต่อเนื่อง แต่ละวัน ๆ อาจหลงมากกว่ารู้ แต่ความรู้สึกตัวที่เพิ่มพูนขึ้น ย่อมช่วยลดความยึดติดถือมั่นในตัวตน ความทุกข์จึงบรรเทาเบาบางตามไปด้วย สิ่งที่มาแทนที่คือความปกติสุข สดชื่น เบิกบาน

“รู้ตัว” และ “รู้ความจริง” คือสิ่งที่ช่วยให้ใจเป็นสุขได้อย่างแท้จริง

ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล




ที่มา : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 12, 2018, 05:20:19 am โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14201
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #564 เมื่อ: ตุลาคม 05, 2018, 05:49:15 pm »



การเคารพความเห็นต่าง หมายความว่า ไม่มองว่าเป็นความเห็นที่งี่เง่า ไม่ได้เรื่อง หรือเหยียดหยามความเห็นนั้นเพียงแค่เขาเห็นต่างจากเรา พร้อมรับฟังอย่างตั้งใจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่โต้แย้งเลย แม้เคารพความคิดเห็นของเขา ก็ไม่ได้แปลว่าเราต้องเห็นด้วยกับเขา

เราสามารถมีความเห็นต่างได้ แต่จะพูดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเหตุหลายอย่าง เช่น สถานการณ์แวดล้อม หรือความพร้อมของอีกฝ่าย แต่ถ้าเรามีความปรารถนาดีต่อเขา และเห็นว่าประเด็นที่พูดนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ก็ควรพูดให้เขารู้ ในเรื่องนี้พระพุทธองค์ให้หลักไว้ว่า ๑.พูดความจริง ๒.มีประโยชน์ ๓.ถูกเวลา ๔.วาจาสุภาพ ๕.มีจิตปรารถนาดี


พระไพศาล วิสาโล
หอจดหมายเหตุพุทธทาส BIA
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 10, 2019, 02:04:03 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14201
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #565 เมื่อ: ตุลาคม 12, 2018, 05:19:54 am »



ไม่ว่าเราจะพยายามเพียงใด ก็หนีทุกข์ไม่พ้น ทุกข์นั้นมีสองอย่าง คือ ทุกข์กาย กับ ทุกข์ใจ ทุกข์กายนั้นมักจะเกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น ดินฟ้าอากาศ เชื้อโรค สารพิษ อุบัติเหตุ รวมทั้งคนที่มุ่งร้าย ส่วนทุกข์ใจนั้น แม้มีปัจจัยภายนอกมาเกี่ยวข้อง แต่สาเหตุหลักนั้นอยู่ที่ใจของเราเอง เช่น มองลบ คิดร้าย ผูกใจเจ็บ และเมื่อสาวไปให้ถึงที่สุด ก็จะพบว่า เกิดจากความเห็นผิดในตัวกูของกู

เมื่อมีความทุกข์ใจ คนส่วนใหญ่มักจะโทษปัจจัยภายนอก มองไม่เห็นสาเหตุที่ใจของตน ดังนั้นไม่ว่าจะทำอย่างไร ใจก็ยังเป็นทุกข์อยู่นั่นเอง ต่อเมื่อตระหนักว่าตัวการที่แท้นั้นอยู่ที่ภายใน มิใช่ภายนอก การทำใจให้กลับมาเป็นปกติจึงจะเกิดขึ้นได้

ใจจะเป็นอิสระจากทุกข์อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อละความเห็นผิดในตัวกูของกูได้อย่างสิ้นเชิง แต่ในขณะที่ยังละความเห็นผิดดังกล่าวไม่ได้ อีกทั้งยังลดไม่ได้มาก ทุกข์ใจก็ยังบรรเทาได้ ด้วยการรู้จักวางใจอย่างถูกต้องจะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องมีสติรู้ทันอาการของใจเมื่อเกิดทุกข์หรือมีเหตุร้ายมากระทบ แม้เหตุร้ายยังแก้ไขไม่ได้ แต่อย่างน้อยเราก็ไม่ซ้ำเติมตัวเอง ด้วยการรักษาใจให้เป็นปกติ

ผู้คนยุคนี้มีชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้น ทุกข์กายมีน้อยลง แต่ทุกข์ใจกลับเพิ่มมากขึ้น จนผู้คนมากมายหันไปพึ่งยาและวัตถุสิ่งเสพ สาเหตุสำคัญเป็นเพราะเรามองข้ามจิตใจของตน ไม่เห็นความสำคัญของการฝึกจิตรักษาใจ แต่ในระยะยาวแล้วเราทุกคนก็หนีความทุกข์กายไม่พ้น โดยเฉพาะเมื่อร่างกายแก่ชร หรือล้มป่วย ถึงตอนนั้นหากไม่รู้จักรักษาใจ ก็จะยิ่งเป็นทุกข์มากขึ้น จะว่าไปแล้ว กายนั้นมีแต่จะทุกข์มากขึ้น ส่วนใจนั้นสามารถเป็นอิสระจากความทุกข์ได้ หากเราหมั่นฝึกจิตรักษาใจ ซึ่งไม่เพียงช่วยให้ปล่อยวางความทุกข์ได้อย่างรวดเร็ว ปัญญาที่เกิดขึ้นยังช่วยให้ละวางความเห็นผิดในตัวกูของกูได้ในที่สุด จนทุกข์ไม่อาจย่ำยีบีฑาได้อีกต่อไป



ที่มา : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 12, 2018, 05:23:08 am โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14201
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #566 เมื่อ: ตุลาคม 12, 2018, 05:22:36 am »




ความรักนั้นสำคัญไม่น้อยไปกว่าวิชาความรู้ สำคัญไม่น้อยไปกว่าข้าวปลาอาหาร พ่อแม่หลายคนมีเงินทองให้ลูก แต่ว่าสิ่งที่ทำน้อยไปคือการให้ความรัก มาโรงเรียนเขาก็ต้องการความรัก เขาไม่ได้แค่ต้องการวิชาความรู้อย่างเดียว วิชาความรู้อาจจะไปเติมเต็มที่สมอง แต่ว่าจิตใจก็ต้องการความรักมาเติมเต็มด้วย ถ้าขาดความรักก็อาจจะมีอาการผิดปกติ ไม่ใช่อาการทางกาย เช่น ความเจ็บป่วยเท่านั้น อาจจะมีพฤติกรรมที่ผิดปกติ เช่น ก้าวร้าว หรือทำตัวน่าระอา ใครที่มีพฤติกรรมแบบนี้อาจเป็นเพราะขาดความรักก็ได้

บางทีการขาดความรักอาจจะเกิดขึ้นกับเราเองก็ได้ หลายคนไม่รู้ว่าตัวเองพร่องหรือขาดสิ่งนี้ บางทีก็ไม่เข้าใจว่าทำไมมีอาการแบบนี้ เช่น ขี้อิจฉา ก้าวร้าว หงุดหงิด เครียด จนเป็นโรคนั้นโรคนี้ขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ถ้าเราขาดความรัก เราก็สามารถเติมเต็มความรักให้กับตัวเองได้เหมือนกัน ไม่ต้องรอคอยหรือคาดหวังความรักจากคนอื่น เพราะว่าเขาอาจจะไม่รู้ หนทางหนึ่งที่จะเติมเต็มความรักให้ตัวเราคือการให้ความรักกับผู้อื่น ซึ่งจะย้อนกลับมาช่วยเติมเต็มความรักให้กับจิตใจของเราด้วย

ความสุขนั้น ถ้าเราอยากได้ความสุข เราต้องเริ่มด้วยการให้ความสุขแก่ผู้อื่น ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้ให้ความสุข ย่อมได้รับความสุข” ถ้าเป็นการให้ที่จริงใจ ด้วยใจบริสุทธิ์ ความสุขที่ให้เขาก็จะกลับมาสู่จิตใจของเรา ความรักก็เช่นกัน เมื่อเราให้ความรักแก่ผู้อื่นด้วยความจริงใจ ความรักนั้นก็จะกลับมาเติมเต็มจิตใจของเราในที่สุด



ที่มา : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 20, 2018, 06:43:57 am โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14201
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #567 เมื่อ: ตุลาคม 20, 2018, 06:27:17 am »



เกื้อจิตร แขรัมย์ เป็นพยาบาลที่ทำงานกับผู้ป่วยระยะท้ายมานานนับสิบปี เธอได้พบผู้ป่วยจำนวนนับไม่ถ้วน แต่มีน้อยคนที่ก่อความสะเทือนใจได้มากเท่ากับวัยรุ่นคนหนึ่งซึ่งอายุประมาณ ๑๗ ปี

ผู้ป่วยคนนี้กำพร้าพ่อแม่ ตั้งแต่อายุ ๒ ขวบ พ่อแม่ตายเพราะเอดส์ อยู่กับยาย ยายเลี้ยงเด็กคนนี้มาจนโต ยายยากจนมาก มีอาชีพหาของเก่าหรือคุ้ยขยะขาย พออายุ ๑๗ ปีก็เป็นมะเร็งที่กระดูกแล้วลามไปที่สมอง มารักษาตัวที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ไม่นาน ก็ถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ทีแรกเด็กหนุ่มไม่ยอมไป อ้างว่าไม่มีเงิน ต้องช่วยยายหาเงิน แต่ภายหลังก็ยอมไป

ปรากฏว่า ๓ วันต่อมาโรงพยาบาลมหาราชฯ แจ้งให้โรงพยาบาลบุรีรัมย์มารับเขากลับ เพราะว่าเขาไม่ให้ความร่วมมือ เอาแต่ร้องว่าจะกลับบ้านท่าเดียว จะกลับไปหายาย เขารักยายมาก ห่วงยาย กลับมาที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ อาการแย่ลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งเข้าสู่ระยะสุดท้าย มะเร็งลามไปที่สมองและลูกอัณฑะ พยาบาลคุยกับยายก็ทราบว่า เขามีน้องอีกคนหนึ่ง น้องร่วมพ่อแม่เดียวกัน แต่ไม่เคยได้พบเจอกันเลย เพราะน้องไปอยู่กับย่า พยาบาลจึงไปตามหา เพราะว่าเขาใกล้เสียชีวิตแล้ว อยากให้ได้พบน้อง มีโอกาสมาดูใจ

น้องสาวอายุ ๑๕ ปี แม้จะไม่เคยรู้จักหรือเห็นหน้าพี่ชายมาก่อน แต่พอมาเยี่ยมก็เอาเงินมาให้ ซื้อนมกล่องมาให้ ๑ ห่อ คนป่วยเห็นก็ดีใจมาก นม ๑ ห่อนี้เขาไม่กินเลย เก็บไว้ที่หัวเตียง บางทีก็เอามาลูบ มาคลำ เพราะว่าไม่เคยได้ของขวัญจากใคร ไม่เคยมีใครมาเยี่ยมนอกจากยาย

ทุกวันยายมาเยี่ยมก็เดินมาจากบ้าน แล้วกินข้าวถาดเดียวกับหลาน เพราะจนมาก ช่วงหลัง ๆ หมอต้องให้มอร์ฟีนทุก ๓ ชั่วโมง เพราะเขาปวดมาก จนกระทั่งวันหนึ่งพยาบาลจะมาให้มอร์ฟีน เขาจึงพูดว่า “หมอครับ ยาแก้ปวดมอร์ฟีนใช่ไหมครับ ผมไม่ปวด ผมไม่เอาได้ไหมครับ ฉีดแล้วมันไม่มีประโยชน์” ว่าแล้วเขาก็พูดต่อ “ผมขอนิดเดียวได้ไหมครับ”

ว่าแล้วเขาก็เอื้อมมือไปจับแขนพยาบาลไว้แน่น พยาบาลก็ใจดี ยืนนิ่งให้เขาจับ

เด็กหนุ่มคนนี้จับแขนพยาบาลโดยไม่พูดอะไรเลยถึงครึ่งชั่วโมง พยาบาลก็ให้จับ นานเป็นครึ่งชั่วโมง โดยไม่ได้พูดไม่ได้คุยอะไรกันเลย จนกระทั่งเพื่อนพยาบาลอีกคนหนึ่งเห็น แล้วก็พูดว่า ไม่มีงานทำหรือไง ไปยืนให้มันจับแขนอยู่ได้ ต้องฉีดยาคนไข้อีกมากมาย แต่พยาบาลคนนั้นเข้าใจความรู้สึกของคนป่วย จึงยืนนิ่งให้เขาจับแขนต่อไป ฝ่ายคนป่วยเมื่อได้ยินอย่างนั้น เลยพูดว่า “หมอครับ พอแล้วครับ ชีวิตผมต้องการแค่นี้แหละครับ หมอไปทำงานเถอะครับ ผมเข้าใจดี” ว่าแล้วเขาก็ปล่อยมือ ตีหนึ่งคืนนั้นเขาก็จากไป

วาระสุดท้ายของเด็กหนุ่มคนนี้ต้องการแค่นี้ คือจับแขนพยาบาล แล้วเขาก็เจาะจงพยาบาลคนนี้ เขาคงสังเกตเวลาพยาบาลคนอื่นมาพลิกตัว มาฉีดยา มาให้ยา ก็ทำไปตามหน้าที่ แต่พยาบาลคนนี้มีท่าทีใส่ใจคนป่วย ทำด้วยความอ่อนโยน เขารู้สึกประทับใจในน้ำใจของพยาบาลคนนี้ จึงปรารถนาจะได้สัมผัสเธอก่อนตาย เป็นความปรารถนาที่จะได้รับความรัก ความใส่ใจ ในวาระสุดท้ายของชีวิต ทั้งชีวิตอาจจะไม่เคยได้รับการสวมกอด หรือการสัมผัสด้วยความอ่อนโยนมาก่อน ยายเองก็คงจะไม่ได้ทำอย่างนั้นกับเขา เขาจึงขาดความรักมาตั้งแต่เล็ก ความรักของยายคงไม่พอเพียง เพราะว่ายายต้องทำมาหากิน

มีคนจำนวนไม่น้อยเมื่อจะตายมีสิ่งเดียวที่เขาปรารถนา คือการได้รับความรักมาเติมเต็ม สำหรับบางคน เพียงแค่ใครคนหนึ่งมีเมตตายอมให้เขาจับแขน เขาก็มีความสุขแล้ว สามารถที่จะตายอย่างสงบ ทั้งที่เจ็บป่วยด้วยโรคร้าย

เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าความรักเป็นสิ่งสำคัญมาก คนเราถ้าพร่องความรักก็จะทุกข์ทั้งใจ ทุกข์ทั้งกาย แต่หากได้รับความรัก ความทุกข์กายและความทุกข์ใจก็บรรเทาได้ บางครั้งแม้เยียวยากายไม่ได้เพราะโรคที่เป็นอยู่มันหนัก แต่ความรักก็เยียวยาใจได้ อย่างน้อยก็ในวาระสุดท้าย


ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล



ที่มา : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 20, 2018, 06:44:34 am โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14201
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #568 เมื่อ: ตุลาคม 20, 2018, 06:31:57 am »



   ทำงานอย่างปล่อยวาง   


เวลาเราทำงานก็ให้ลองนึกว่า เสร็จทุกวัน เลิกงานแล้วก็กลับบ้านไปหาลูก พ่อแม่ หรือคนรัก ด้วยใจที่ปลอดโปร่งเสมือนกับว่างานเสร็จแล้ว

แต่คนจำนวนมากทำอย่างนั้นไม่เป็น เวลากลับไปบ้านก็แบกเอางานไปด้วย ไม่ได้ถือแฟ้มแบกกลับไป แต่ว่าแบกที่ใจ เวลาอยู่กับลูก ก็นึกถึงงาน ใจไม่ได้อยู่กับลูกเต็มร้อย เวลานึกถึงงานก็รู้สึกวิตกกังวล หงุดหงิด แสดงอารมณ์ออกทางสีหน้าให้ลูกเห็น ลูกก็จะรู้สึกเครียดเวลาอยู่กับเรา เพราะใจเรายังแบกงานไว้เต็มที่

ให้เรานึกว่ามันเสร็จแล้ว วางมันลงเสีย เราจะได้กลับบ้าน จะได้อยู่กับลูก กับคนรัก หรืออยู่กับตัวเองด้วยใจที่ปลอดโปร่ง และทำสิ่งที่ควรทำเมื่ออยู่บ้าน เช่น พักผ่อน สวดมนต์ นั่งสมาธิ หลายคนแบกงานกลับบ้าน เอาเข้าห้องนอน แม้กระทั่งจะนอนก็ยังไม่ยอมวาง เลยนอนไม่หลับ ตื่นขึ้นมาก็เลยไม่มีเรี่ยวแรงทำงาน

ที่จริงงานไม่ใช่ปัญหา หลายคนมักจะบ่นว่างานเยอะ มีภาระมาก จริง ๆ แล้วงานไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอยู่ที่ว่าเราแบกมันเอาไว้ไม่ยอมวางต่างหาก

เวลาทำงานใจก็ไม่ได้อยู่กับงานจริง ๆ มัวแต่จดจ่ออยู่กับผลของงาน ว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ เจ้านายจะพอใจไหม เพื่อนร่วมงานจะว่าอย่างไร หรือไม่ก็เอาแต่คิดว่า เมื่อไรจะเสร็จ เวลามาปฏิบัติธรรมก็คิดว่าเมื่อไรจะได้กลับบ้าน เวลาเดินทางกลับบ้านก็เอาแต่คิดว่าเมื่อไรจะถึง อันที่จริงมันถึงทุกขณะอยู่แล้ว มันถึงทุกเวลา มันถึงทุกวินาที ให้ลองคิดแบบนี้ดูบ้าง

การที่ใจเรามัวคิดถึงจุดหมายปลายทางว่าเมื่อไรจะเสร็จ เมื่อไรจะถึง เมื่อไรไฟแดงจะเปลี่ยนเป็นไฟเขียว วิธีคิดแบบนี้สร้างความทุกข์ให้กับจิตใจมาก ทำให้เครียด วิตกกังวล จนส่งผลเสียต่อสุขภาพ อย่างนี้เรียกว่าเป็นการแบกอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเราลองวางมันลงบ้าง อนาคตจะเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของอนาคต ให้นึกถึงคำของหลวงพ่อคำเขียนก็ได้ ท่านเคยพูดไว้ว่า “ถึงต่อเมื่อมันถึง”

เวลาเดินทางก็ไม่ต้องกังวลว่าเมื่อไรจะถึง ถึงต่อเมื่อมันถึง หรือจะมองอย่างท่านอาจารย์พุทธทาสก็ได้ว่า มันเสร็จทุกเวลาอยู่แล้ว เสร็จทุกวัน เสร็จทุกชั่วโมง เสร็จทุกนาที สิ่งสำคัญก็คือ ใจอยู่กับปัจจุบัน

ใจอยู่กับปัจจุบัน เวลาทำงานก็ทำด้วยใจที่ปล่อยวาง คือปล่อยวางอดีต ปล่อยวางอนาคต เหตุการณ์เมื่ออาทิตย์ก่อน เดือนก่อน งานการล้มเหลวอย่างไร มีอุปสรรคอย่างไร ก็เป็นเรื่องของอดีต ปล่อยมันไป ข้างหน้าจะเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของอนาคต ไม่ต้องเอามาใส่ใจ ใจอยู่กับปัจจุบันก็พอ

เมื่อใดก็ตามเราทำงานตรงหน้าด้วยใจเต็มร้อย ก็เรียกได้ว่าทำงานด้วยใจปล่อยวาง ยิ่งถ้าเราทำใจถึงขั้นที่ว่า มันไม่ใช่งานของเรา ถึงแม้ไม่ใช่งานของเรา เราก็ทำเต็มที่ หากว่ามันมีประโยชน์ เราก็ทำ ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าต้องเป็นงานของเรา เราถึงจะทำ และเมื่องานเสร็จก็ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นผลงานของเรา

ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่า “ยกผลงานให้เป็นของความว่าง” ทำงานเสร็จก็ยกผลงานให้เป็นของความว่าง หรือยกให้เป็นของส่วนรวมก็ได้ เพราะว่าไม่ใช่เราคนเดียวที่ทำให้งานสำเร็จ มีคนอีกมากมายที่ร่วมกันทำให้สำเร็จ ทั้งที่ทำด้วยกัน ทั้งที่อยู่เบื้องหลัง คนที่เป็นแม่ครัว คนที่เป็นนักการภารโรง แม้กระทั่งพ่อแม่ของเราที่บ้าน ก็มีส่วนช่วยทำให้งานสำเร็จ เพราะถ้าไม่มีคนเหล่านั้น ก็คงไม่มีเรา หรือเราก็คงจะไม่มีเรี่ยวแรง กำลัง หรือสติปัญญาที่จะทำให้งานสำเร็จได้ งานแต่ละชิ้นจึงเป็นผลงานร่วมของผู้คนมากมายด้วย การวางใจอย่างนี้ ก็เรียกได้ว่าทำงานด้วยใจที่ปล่อยวาง


ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล



ที่มา : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 20, 2018, 06:45:20 am โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14201
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #569 เมื่อ: ตุลาคม 20, 2018, 06:42:52 am »





ที่มา : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 20, 2018, 06:45:34 am โดย ยาใจ »