ผู้เขียน หัวข้อ: *รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล  (อ่าน 309983 ครั้ง)

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14143
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #585 เมื่อ: พฤศจิกายน 27, 2018, 02:36:20 pm »



  ทางออกจากปัญหา 

เมื่อมีปัญหา ใคร ๆ ก็ย่อมแสวงหาทางออก แต่บ่อยครั้งเรามักได้ยินผู้คนบ่นว่า “ไม่มีทางออก ๆ” อันที่จริงทางออกนั้นมีเสมอ แต่ถ้าไม่เจอก็มักเป็นเพราะมองไม่ถี่ถ้วนหรือมองไม่รอบด้าน เพราะถ้าเพียงแต่เหลียวหลังไปดู ก็จะพบว่าทุกปัญหา โดยเฉพาะที่สร้างความทุกข์ใจ มีทางออกอย่างน้อยก็ทางหนึ่ง นั่นคือทางเข้า

เข้าทางไหน เราก็สามารถออกทางนั้นได้ เป็นแต่ผู้คนจำนวนส่วนใหญ่มองไม่เห็น หรือถึงมองเห็นก็ไม่คิดว่านั่นจะเป็นทางออกได้


พระไพศาล วิสาโล



ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : Facebook Zen Sukato
https://www.facebook.com/profile.php?id=100009011159513
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 11, 2019, 11:04:19 am โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14143
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #586 เมื่อ: ธันวาคม 12, 2018, 03:28:59 pm »



พรหมายถึงสิ่งประเสริฐ เมื่อขอพรจากพระ หลายคนนึกถึง โชคลาภ ทรัพย์สมบัติ รวมถึงการมีอายุยืน แต่อันที่จริงมีสิ่งอื่นที่ประเสริฐกว่านั้น ซึ่งเป็นหลักประกันแห่งความสุขอย่างแท้จริง ผู้คนเป็นอันมากแม้ได้ลาภก้อนใหญ่ มั่งคั่งร่ำรวย และมีอายุยืน ก็หามีความสุขไม่ กลับถูกความกลัดกลุ้มรุมเร้า เพราะพลัดพรากสูญเสียคนรัก ครอบครัวและงานการไม่เป็นดังใจ อีกทั้งยังเป็นเพราะได้เท่าไรก็ยังไม่พอใจเสียที

สิ่งที่ประเสริฐแท้ คือ สิ่งที่ช่วยรักษาใจให้เป็นสุขอยู่เสมอ เจออะไรใจก็ไม่ทุกข์ แม้ต้องประสบกับความพลัดพรากสูญเสีย อุปสรรค ความยากลำบาก หรือความเจ็บป่วยก็ตาม สิ่งนั้นคือธรรม อาทิ สติ สมาธิ ปัญญา และเมตตา หากสั่งสมให้งอกงามขึ้นในใจแล้ว ก็จะรู้จักวางใจถูกต้องกับสิ่งต่าง ๆ ที่มากระทบ ในยามมีโชค ก็ไม่หลงใหลเพลิดเพลินจนลืมตัว เมื่อเจอเคราะห์ ก็ไม่จมทุกข์จนหมดเนื้อหมดตัว อีกทั้งยังสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ด้วย โดยเฉพาะการย้ำเตือนให้ไม่ประมาท และแจ่มแจ้งในสัจธรรมของชีวิต ขณะเดียวกันก็ช่วยให้เข้าถึงสุขที่ประณีต ซึ่งวัตถุสิ่งเสพและเงินตราไม่สามารถให้ได้

ธรรมเหล่านี้ต่างหากคือพรที่ควรแสวงหาและน้อมนำให้เกิดขึ้นกับตนเอง เป็นสิ่งประเสริฐที่ควรมีคู่ชีวิตคู่จิตใจ

ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล






  ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 12, 2018, 03:35:09 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14143
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #587 เมื่อ: ธันวาคม 12, 2018, 03:29:44 pm »



ความสุขมิใช่อภิสิทธิ์ของคนรวย แต่เป็นสมบัติของทุกคน จริงอยู่เงินทองสามารถบันดาลความสะดวกสบายให้เกิดขึ้นได้ แต่ความสะดวกสบายหาใช่ความสุขไม่ คนจำนวนไม่น้อยมีความทุกข์ทั้ง ๆ ที่ชีวิตเต็มไปด้วยความสะดวกสบาย ใช่หรือไม่ว่าคนสมัยนี้มีชีวิตที่สะดวกสบายและมั่งคั่งกว่าคนสมัยก่อนมาก แต่ในเวลาเดียวกันก็มีความเครียด ความเจ็บป่วยทางจิต และอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าด้วยเช่นกัน

เจอสิ่งดี ๆ เช่น โชคลาภไม่ได้เป็นหลักประกันว่าใจจะดีหรือมีความสุขเสมอไป ในทำนองเดียวกันแม้เจอสิ่งร้าย ๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าใจจะย่ำแย่หรือเป็นทุกข์ไปด้วย เจออะไรไม่สำคัญเท่ากับว่าใจเป็นอย่างไร หากใจมีสติ ปัญญา หรือวางใจถูก แม้เจอสิ่งร้าย ๆ ใจก็ยังเป็นปกติ หรือมีความสุขได้ หลายคนไม่เพียงก้าวข้ามความยากลำบากและความสูญเสียพลัดพรากไปได้เท่านั้น หากยังเข้มแข็ง มั่นคง และฉลาดกว่าเดิม

ใจที่ฝึกไว้ดีแล้ว นอกจากจะเป็นปกติในยามเจอเหตุร้ายแล้ว ยังสามารถใช้ประโยชน์จากมันได้ด้วย ดังนั้นแทนที่จะร่ำร้องเรียกหาหรืออธิษฐานขอให้เจอสิ่งดี ๆ ควรที่เราจะให้ความสำคัญกับการหมั่นฝึกใจให้ดี มีคุณภาพ เพราะนี้ต่างหากที่เป็นหลักประกันแห่งความสุขที่แท้จริง

ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล






  ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 12, 2018, 03:36:00 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14143
    • ดูรายละเอียด




  พรวันใหม่ ชีวิตใหม่ 



วันใหม่แต่ละวัน เป็นเสมือนของขวัญที่มอบแก่เรา ทำให้เราสามารถสร้างสรรค์สิ่งดีงามและได้รับประโยชน์สุขจากการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ดังนั้นเพียงแค่ได้ตื่นมาพบวันใหม่ ก็เท่ากับว่าเราได้รับพรอันประเสริฐ ที่ไม่ควรปล่อยให้ผ่านเลยไปโดยเปล่าประโยชน์

วันใหม่หมายถึงโอกาสในการสร้างชีวิตใหม่ ที่เราไม่ควรรอให้ถึงปีใหม่เสียก่อน ขณะเดียวกันเมื่อปีใหม่ใกล้มาถึง เราก็ไม่ควรคาดหวังเพียงแค่ความสนุกสนานรื่นเริงหรือการได้เสพสิ่งใหม่ แต่ควรเป็นโอกาสสำหรับการมอบสิ่งใหม่ให้แก่จิตใจของตน เช่น ความสงบเย็น หรือ การให้คุณค่าใหม่แก่สิ่งที่เรามีอยู่แล้ว รวมทั้งการเร่งทำความดีที่เคยผัดวันประกันพรุ่ง เพราะสิ่งเหล่านี้ต่างหากที่จะทำให้เรามีชีวิตใหม่อย่างแท้จริง หาใช่การมีรถคันใหม่ บ้านหลังใหม่ หรือของขวัญใหม่ ๆ ไม่


พระไพศาล วิสาโล





  ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : Facebook วัดป่าสุคะโต ธรรมชาติที่พักใจ
https://www.facebook.com/Zensukato/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 25, 2019, 06:02:51 am โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14143
    • ดูรายละเอียด
พรคู่ชีวิต - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #589 เมื่อ: มกราคม 10, 2019, 02:18:35 pm »




    พรคู่ชีวิต   


พรหมายถึงสิ่งประเสริฐ เมื่อขอพรจากพระ หลายคนนึกถึง โชคลาภ ทรัพย์สมบัติ รวมถึงการมีอายุยืน แต่อันที่จริงมีสิ่งอื่นที่ประเสริฐกว่านั้น ซึ่งเป็นหลักประกันแห่งความสุขอย่างแท้จริง ผู้คนเป็นอันมากแม้ได้ลาภก้อนใหญ่ มั่งคั่งร่ำรวย และมีอายุยืน ก็หามีความสุขไม่ กลับถูกความกลัดกลุ้มรุมเร้า เพราะพลัดพรากสูญเสียคนรัก ครอบครัวและงานการไม่เป็นดังใจ อีกทั้งยังเป็นเพราะได้เท่าไรก็ยังไม่พอใจเสียที

สิ่งที่ประเสริฐแท้ คือ สิ่งที่ช่วยรักษาใจให้เป็นสุขอยู่เสมอ เจออะไรใจก็ไม่ทุกข์ แม้ต้องประสบกับความพลัดพรากสูญเสีย อุปสรรค ความยากลำบาก หรือความเจ็บป่วยก็ตาม สิ่งนั้นคือธรรม อาทิ สติ สมาธิ ปัญญา และเมตตา หากสั่งสมให้งอกงามขึ้นในใจแล้ว ก็จะรู้จักวางใจถูกต้องกับสิ่งต่าง ๆ ที่มากระทบ ในยามมีโชค ก็ไม่หลงใหลเพลิดเพลินจนลืมตัว เมื่อเจอเคราะห์ ก็ไม่จมทุกข์จนหมดเนื้อหมดตัว อีกทั้งยังสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ด้วย โดยเฉพาะการย้ำเตือนให้ไม่ประมาท และแจ่มแจ้งในสัจธรรมของชีวิต ขณะเดียวกันก็ช่วยให้เข้าถึงสุขที่ประณีต ซึ่งวัตถุสิ่งเสพและเงินตราไม่สามารถให้ได้

ธรรมเหล่านี้ต่างหากคือพรที่ควรแสวงหาและน้อมนำให้เกิดขึ้นกับตนเอง เป็นสิ่งประเสริฐที่ควรมีคู่ชีวิตคู่จิตใจ


พระไพศาล วิสาโล




  ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : Facebook วัดป่าสุคะโต ธรรมชาติที่พักใจ
https://www.facebook.com/Zensukato/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 10, 2019, 02:29:59 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14143
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #590 เมื่อ: มกราคม 11, 2019, 11:03:08 am »





การปฏิบัติธรรมหรือการทำบุญในพุทธศาสนาล้วนเป็นไปเพื่อการลดละหรือสละวางสิ่งซึ่งก่อความข้องขัดในจิตใจ ซึ่งมีแก่นแกนอยู่ที่ความยึดติดถือมั่นในตัวตน หรือยึดมั่นว่าเป็น “ตัวกูของกู” ความยึดติดถือมั่นดังกล่าวแสดงอาการออกมาในหลายรูปลักษณ์

เช่น อยากได้ไม่รู้จักพอ (ตัณหา) อยากใหญ่ใคร่เด่น (มานะ) และติดยึดในความเห็นของตน (ทิฏฐิ) ตราบใดที่ยังมีความยึดติดถือมั่นในตัวตนอย่างแน่นหนาก็ยากจะมีความสุขใจได้ แม้มีวัตถุพรั่งพร้อมและมีอำนาจล้นแผ่นดินก็ตาม

ความสำเร็จทางโลกนั้นมุ่งที่การแสวงหาสิ่งต่างๆ มาครอบครองให้มากที่สุด สิ่งที่มักตามมาก็คือ ความยึดติดถือมั่นในตัวตนเพิ่มพูนมากขึ้น ทำให้เกิดความอยากได้มากขึ้นกว่าเดิม ไม่มีความสุขกับสิ่งที่มีขณะเดียวกันก็เกิดความหลงตัวว่าเก่งและสูงเด่น รวมทั้งยึดมั่นในความเห็นของตนเหนียวแน่นกว่าเดิม ซึ่งมักนำไปสู่การวิวาทบาดหมางและทะเลาะวิวาท ดังนั้นจึงมักมีเรื่องร้อนใจอยู่เนืองๆ สุขแต่กายแต่ใจไม่เป็นสุข


ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล






  ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 11, 2019, 11:06:39 am โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14143
    • ดูรายละเอียด




  เป็นมิตรกับความเครียด 

ความเครียดเป็นปัญหาสำคัญของคนในยุคนี้ มันไม่เพียงส่งผลต่อจิตใจเท่านั้น หากยังเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วย มีการศึกษาพบว่าร้อยละ ๕๐-๗๕ ของความเจ็บป่วยที่ผลักดันให้ผู้คนไปหาหมอนั้นสืบเนื่องจากความเครียด ใช่แต่เท่านั้นเมื่อพิจารณาจากสาเหตุการตายแล้ว กล่าวได้ว่าความเครียดเป็นภัยที่ร้ายแรงกว่าเหล้าหรือบุหรี่เสียอีก

อย่างไรก็ตามความเครียดมิใช่สิ่งเลวร้ายไปเสียหมด ความเครียดหากอยู่ในระดับพอประมาณก็ส่งผลดีได้ เช่น กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ เป็นที่รู้กันว่าหากเรียนแบบสบาย ๆ ไม่มีการบ้านยาก ๆ หรือฝึกทำสิ่งที่แปลกใหม่ไม่คุ้นเคย ( พูดง่าย ๆ คือ ถ้าไม่ออกจาก “ไข่แดง”เสียบ้าง) พัฒนาการในทางสติปัญญาหรือทักษะก็เกิดขึ้นได้ยาก ในทำนองเดียวกันความเครียดที่เกิดจากเส้นตายหรือการแข่งขัน นอกจากไม่เป็นโทษแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อการงานด้วย ทำให้ผู้คนเอาศักยภาพที่มีอยู่มาใช้อย่างเต็มที่

เป็นที่รู้กันว่าเมื่อมีภัยคุกคาม คนเราจะมีปฏิกิริยาสองอย่าง คือ ไม่สู้ก็หนี ในภาวะดังกล่าวหัวใจจะเต้นเร็ว เส้นเลือดจะหดตัว เลือดจะถูกสูบฉีดเลือดไปยังกล้ามเนื้อมากขึ้น ขณะที่สมองจะจดจ่ออยู่กับภาพรวมและมองข้ามรายละเอียด ในกรณีที่สถานการณ์ไม่เลวร้ายมาก และหากเรามองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมิใช่ภัยคุกคาม แต่เป็นสิ่งท้าทายความสามารถ ร่างกายจะมีปฏิกิริยาแตกต่างกัน แม้หัวใจยังคงเต้นเร็ว แต่สมองจะคมชัดขึ้น และมีฮอร์โมนบางอย่างหลั่งออกมาเพื่อช่วยในการฟื้นตัวและการเรียนรู้ โดยเส้นเลือดยังคงเปิดกว้าง

ในทางตรงข้าม แม้เจอสถานการณ์อย่างเดียวกัน (เช่น ทำข้อสอบ พูดในที่ชุมชน หรือเสนอแผนงาน) แต่เรามองว่ามันเป็นสิ่งเลวร้าย รู้สึกเหมือนกับว่ากำลังถูกกดดันบีบคั้น ร่างกายจะมีปฏิกิริยาอีกแบบหนึ่ง ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพและงานที่กำลังทำอยู่

มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์เคยทำการทดลองกับพนักงานธนาคารจำนวน ๔๐๐ คนในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ โดยแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มแรกได้ดูวีดีโอที่ตอกย้ำถึงผลร้ายของความเครียด กลุ่มที่สองดูวีดีโอที่พูดถึงความเครียดว่าสามารถเพิ่มพูนสมรรถนะของคนเราได้ ส่วนกลุ่มสุดท้ายไม่มีวีดีโอให้ดู หนึ่งสัปดาห์ต่อมา ผู้วิจัยพบว่ากลุ่มที่สองจดจ่อกับงานมากขึ้น มีส่วนร่วมมากขึ้น และมีปัญหาสุขภาพน้อยลง ส่วนสองกลุ่มที่เหลือไม่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเลย

ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็คือเมื่อปี ๒๕๕๕ นักวิจัยชาวอเมริกันได้ย้อนกลับไปดูผลการสำรวจสุขภาพแห่งชาติเมื่อปี ๒๕๔๑ ซึ่งมีการสอบถามคน ๓๐,๐๐ คนเกี่ยวกับความเครียดที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา รวมทั้งถามความเห็นว่าเขาเหล่านั้นเชื่อว่าความเครียดมีผลเสียต่อสุขภาพหรือไม่ เมื่อตามไปดูว่าคนเหล่านั้นมีใครบ้างที่เสียชีวิตไปแล้ว ผู้วิจัยพบว่าคนที่ระบุว่ามีความเครียดสูงและเชื่อว่ามันมีผลเสียต่อสุขภาพ มีโอกาสตายก่อนวัยอันควรมากกว่าถึงร้อยละ ๔๓ ส่วนคนที่มีความเครียดสูงแต่ไม่คิดว่ามันเป็นอันตราย มีโอกาสตายเร็วน้อยกว่าคนที่มีความเครียดต่ำด้วยซ้ำ

การศึกษาดังกล่าวชี้ว่า ความเครียดจะส่งผลดีหรือเสียอยู่ที่ทัศนคติของเราเป็นสำคัญ รู้กันมานานแล้วว่าใจมีผลต่อกาย แต่ที่ผ่านมาเรามักให้ความสำคัญกับภาวะอารมณ์ เช่น ดีใจหรือเสียใจ รักหรือโกรธ ผ่อนคลายหรือกังวล แต่ในความเป็นจริง แม้แต่ทัศนคติหรือมุมมองของเราก็ส่งผลต่อสุขภาพหรือความเป็นไปในร่างกายด้วย

เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยลพบว่า คนอายุ ๔๐ ที่มีทัศนคติลบต่อวัยชรา (เช่น เห็นว่าคนแก่เป็นพวกเหม่อลอย เรียนรู้สิ่งใหม่ได้ยาก) เมื่อผ่านไป ๒๕ ปี เนื้อสมองในส่วนที่เรียกว่าฮิปโปแคมปัสของคนเหล่านี้จะฝ่อลงมากกว่า รวมทั้งมีลิ่มเลือดมากกว่า ซึ่งล้วนเป็นตัวบ่งชี้ของโรคอัลไซเมอร์ สอดคล้องกับการวิจัยก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าคนที่มีอคติต่อวัยชราจะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้นใน ๔๐ ปีให้หลัง

ทั้งหมดนี้บอกเราว่า อะไรเกิดขึ้นกับเรา ไม่สำคัญเท่ากับว่าเรารู้สึกหรือมีทัศนคติต่อมันอย่างไร แม้สิ่งไม่ดีเกิดกับเรา แต่หากเรารู้สึกดีกับมัน หรือมองมันในแง่บวก มันก็อาจมีประโยชน์กับเราได้ หรืออย่างน้อยก็ก่อความเสียหายน้อยลง ผู้ป่วยหลายคนเมื่อรู้สึกดีกับมะเร็ง ก็สามารถอยู่กับมะเร็งได้อย่างมีความสุข แต่ถ้าหากรู้สึกลบกับมัน ก็จะทุกข์ทรมานและตายเร็ว

กับความเครียดก็เช่นกัน หากเราหนีมันไม่พ้น แทนที่จะผลักไสมัน หรือตีโพยตีพาย ควรมองมันในแง่บวก หรือปรับใจให้เป็นมิตรกับมัน ด้วยวิธีนี้เท่านั้นมันจะเป็นคุณกับเรา และกลายเป็นมิตรกับเราในที่สุด


ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล






  ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 11, 2019, 12:21:49 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14143
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #592 เมื่อ: มกราคม 11, 2019, 11:23:31 am »



มีผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ “กานต์” เธอป่วยเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเมื่ออายุ ๓๐ ต้น ๆ โรคนี้มักเกิดขึ้นกับคนที่มีอายุมาก ๆ ทีแรกหมอไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ หมอคิดว่าสาเหตุที่ทำให้เธอป่วยเป็นมะเร็งนั้น อาจมาจากการที่เธอสูบบุหรี่ แต่เธอก็ไม่เคยสูบบุหรี่เลย

ผู้หญิงคนนี้เป็นคนที่กลัวความตายมาก ๆ ครั้งแรกที่รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งนั้น อารมณ์ของเธอแปรปรวน กลายเป็นคนขี้โกรธ โมโหใส่คนใกล้ชิดเป็นประจำ แต่ผ่านไปปีหนึ่งเธอก็สามารถทำใจได้ และสงบนิ่งขึ้นเรื่อย ๆ จนมาถึงจุดหนึ่งเธอก็พบว่า มะเร็งนั้นไม่ร้ายเท่ากับความทุกข์ใจ เธอบอกว่า

“มะเร็งไม่ได้ทำให้ยิ้มคุณหายไป ทุกข์ในใจต่างหากเป็นตัวทำ”
เธอกำลังจะบอกว่ามะเร็งที่เกิดขึ้นกับเธอนั้น อย่างมากก็ทำให้เกิดทุกข์ทางกายเท่านั้น มันไม่สามารถทำให้รอยยิ้มหายไปได้ หากรอยยิ้มจะหายไปก็เป็นเพราะความทุกข์ใจล้วน ๆ ถามว่าความทุกข์ใจเกิดจากอะไร ความทุกข์ใจเกิดจากการที่ไม่ยอมรับความจริง เธอเคยกล่าวว่า

“ในขณะที่เราคิดว่าความจริงมันโหดร้าย แต่การไม่ยอมรับความจริงนั้นโหดร้ายกว่า เพราะมันเปรียบเหมือนคุกที่ขังใจเราไว้”
มะเร็งเป็นเรื่องของกาย ส่วนความทุกข์ใจเป็นเรื่องของจิตใจที่ไม่ยอมรับความจริง คนที่จะเห็นอย่างนี้ต้องเจอความทุกข์มาด้วยตนเอง ถามว่าอะไรทำให้คนเราไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นมะเร็ง

คำตอบก็คือความยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย แต่หลังจากที่กานต์ได้หันมาศึกษาธรรม เธอพยายามไตร่ตรองมองตน จนพบว่า ทุกข์กายอันหนึ่ง ทุกข์ใจก็อีกอันหนึ่ง ทุกข์กายเกิดจากมะเร็ง ส่วนทุกข์ใจเกิดจากการวางใจผิด เพราะความหลงนั่นเอง การได้เห็นความจริงทำให้เธอมีใจที่สงบ และยอมรับความตายได้ ในที่สุดเธอก็จากโลกนี้ไปอย่างสงบ

หากใคร่ครวญดี ๆ จะพบว่าความทุกข์ใจนั้นไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายนอก มันเกิดจากใจของเรา ใจที่วางผิด ใจที่หลง ใจที่ไม่เห็นความจริง หรือใจที่ลืมตัว หลงจมอยู่กับความทุกข์ คนเราทุกข์เพราะหลง แต่ความทุกข์นั้นเองทำให้เราเห็นความจริงได้ เพราะอะไร ก็เพราะเราหันมาพิจารณาความทุกข์ เมื่อเราพิจารณาความทุกข์ก็ทำให้เราเห็นความจริง

เป็นเพราะเหตุนี้เมื่อพระพุทธเจ้าทรงสอนอริยสัจ ๔ จึงทรงยกเอาทุกข์เป็นอริยสัจข้อแรก พระองค์ตรัสว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ให้รอบ ให้ทั่วถึง ท่านทรงใช้คำว่าปริญญา คือ รู้รอบรู้ทั่ว หมายความว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน จะทำให้เกิดปัญญาที่ทำให้ออกจากทุกข์ได้ แต่การที่เราจะเห็นความจริงอย่างรอบด้านก็ต้องเจอทุกข์ด้วยตัวเองก่อน เมื่อเราเห็นทุกข์ พิจารณาทุกข์ ปัญญาก็จะเกิดขึ้น

คนเราเมื่อเกิดทุกข์ ก็มักหลงเข้าไปเป็นผู้ทุกข์ แต่ถ้ามีสติ จิตก็จะออกจากทุกข์ มาเป็นผู้เห็นทุกข์ พิจารณาทุกข์อย่างรอบด้านทั่วถึง ความทุกข์ที่พิจารณานั้นไม่ใช่ความทุกข์ที่ไหน ก็เป็นความทุกข์ที่เกิดจากความหลงนั่นเอง

เมื่อเราหันกลับมาใคร่ครวญ ก็จะรู้ว่าเราทุกข์เพราะหลง ไม่ใช่ทุกข์เพราะอากาศหนาว ไม่ใช่ทุกข์เพราะอากาศร้อน ไม่ใช่ทุกข์เพราะคำพูดของคนอื่น ไม่ใช่ทุกข์เพราะเกิดโรคร้ายกับตน แต่เกิดจากความหลง ไม่รู้ตัว หรือวางใจผิด

ดังนั้นเราจะต้องหมั่นมองตนด้วยสติ พิจารณาตัวเรา ดูร่างกายไปเรื่อย ๆ ก็จะเห็นความจริงว่ากายและใจมันไม่จีรังยั่งยืน เกิดแล้วก็ดับไป มีแล้วก็เสื่อมไป เพราะมันเป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เมื่อมีความทุกข์เกิดขึ้น ลองใช้ความทุกข์มาเป็นแบบฝึกหัดในการใคร่ครวญด้วยปัญญา โดยเริ่มจากสติ ดูว่าความโศกเศร้า ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจนั้นเกิดจากอะไร ดูเพื่อให้เรารู้ว่าเรากำลังคับแค้นอยู่ กำลังทุกข์อยู่ โดยไม่ต้องทำอะไร เพียงแค่รู้แค่นั้นพอ

ถ้าหากยังไม่รู้ใจ ก็ขอให้รู้กายก่อน แล้วค่อยตามรู้ใจทีหลัง โดยหมั่นฝึกฝนเรื่อย ๆ ก็จะเห็นว่าเราทุกข์เพราะความคิด ไม่ได้ทุกข์เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา ไม่ใช่เพราะมีสิ่งภายนอกมากระทบเรา ไม่ใช่เพราะแดด ไม่ใช่เพราะอากาศหนาว ไม่ใช่เพราะรถติด ไม่ใช่เพราะคำพูดของคนอื่น แต่เป็นเพราะใจที่หลงต่างหากทำให้เป็นทุกข์

เราจะพ้นจากความหลง เห็นความจริงได้ ก็ด้วยการหมั่นรู้ตัวอยู่บ่อย ๆ เห็นความจริงบ่อย ๆ ปัญญาก็จะเกิด ตอนแรกจะเห็นด้วยสติ ตอนหลังเราจะเห็นด้วยปัญญา การเห็นด้วยสติ คือ การรู้ตัว ส่วนการเห็นด้วยปัญญา คือรู้ความจริง ทำให้หลุดจากความหลงซึ่งเป็นรากเหง้าของความทุกข์

ดังนั้นเราขอให้หมั่นเจริญสติ สร้างความรู้สึกตัวบ่อย ๆ เพื่อรับมือความทุกข์ที่จะเกิดขึ้น จนสามารถเป็นอิสระจากความทุกข์ทั้งปวงได้


ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล






  ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 11, 2019, 12:24:47 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14143
    • ดูรายละเอียด



  ปีใหม่ชีวิตใหม่ ทำในใจให้ถูกต้อง 


ปีใหม่นี้ ใครๆ ก็อยากได้ของใหม่ อยากได้ชีวิตใหม่ แต่ชีวิตใหม่ไม่ได้เกิดจากการที่เรามีโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ มีรถคันใหม่ มีบ้านหลังใหม่ อันนั้นไม่ได้ทำให้มีชีวิตใหม่อย่างแท้จริง จะมีชีวิตใหม่อย่างแท้จริงได้ก็ต่อเมื่อเรามีคุณภาพจิตแบบใหม่ เริ่มต้นจากการเป็นมิตรกับตัวเอง รักตัวเองอย่างแท้จริง อยู่กับตัวเองได้ เมื่อเรามีความสุขในตัวเอง เราก็จะสามารถแบ่งปันความสุขให้กับผู้อื่นได้

การอยู่กับตัวเองยังรวมไปถึงการอยู่กับปัจจุบันด้วย ปีใหม่จะให้ชีวิตใหม่อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อเราทิ้งสิ่งเก่าๆ ไป นิสัยที่ไม่ดีเก่าๆ ก็วางหรือทิ้งเสีย อารมณ์เก่า ๆ ที่หมักหมมค้างคาในใจ รู้จักปล่อย รู้จักวางบ้าง ถ้ามันสะสมอยู่ในใจก็จะกลายเป็นพิษ เหมือนกับอาหารที่เรากิน ถ้าถ่ายไม่หมด มีสิ่งตกค้างหมักหมมมากๆ ก็จะเป็นพิษต่อร่างกาย อาจทำให้เกิดมะเร็งได้ อารมณ์ที่หมักหมมในจิตใจก็อาจทำให้ เกิดเป็นมะเร็งในจิตใจได้

ปีใหม่ควรเป็นเวลาที่เราจะได้ปล่อยวาง หรือว่าขจัดปัดเป่าอารมณ์เก่าๆ ออกไป ไม่ว่าจะเป็นความเศร้า ความโกรธ ความท้อแท้ ความเกลียด อย่าเก็บความโกรธเอาไว้ อย่าเก็บความเกลียดเอาไว้ อย่าเก็บสะสมความเศร้าเอาไว้ ปีใหม่ทั้งทีก็ปลดเปลื้องออกไป

การมีสติเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าเรามีสติ สติจะช่วยขจัดปัดเป่าอารมณ์เก่าๆ ไป ไม่ให้หมักหมมในจิตใจ และทำให้ชีวิตใหม่อยู่เสมอ ตื่นขึ้นทุกวันจะไม่ใช่เป็นแค่เช้าวันใหม่แต่จะเป็นวันเริ่มต้นของปีใหม่ ของชีวิตใหม่

ทำทุกวันให้เป็นวันใหม่อยู่เสมอ แม้ว่าชีวิตประจำวันยังเป็นเหมือนเดิม ไม่ต่างจากเมื่อวาน แต่ว่ามีความรู้สึกใหม่ มีความรู้สึกใหม่เพราะว่าเราวางความรู้สึกเก่าๆ ทำให้ใจเราโปร่งโล่ง ปลอดจากความเศร้า ความโกรธ ความเกลียด ความหม่นหมองในใจ เราจะเป็นมิตรกับตัวเองได้ ก็ต้องรู้จักปล่อยวางอารมณ์ที่เศร้าหมอง ละวางความโกรธ ความโลภ มีความเพียร ใส่ใจในการทำความดี

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จะทำให้เรามีชีวิตใหม่อย่างแท้จริง แม้ว่าเรายังมีรถคันเดิม มีบ้านหลังเดิม ใช้โทรศัพท์มือถือเครื่องเดิม แต่ถ้าเรามีคุณภาพจิตแบบใหม่แล้ว เราจะมีชีวิตใหม่อย่างแท้จริง ทุกวันจะเป็นเวลาแห่งความสุข ทุกวันจะใหม่เสมอสำหรับเรา และทุกชั่วโมงก็จะใหม่เสมอเช่นเดียวกัน


พระไพศาล วิสาโล







  ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 11, 2019, 12:31:33 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14143
    • ดูรายละเอียด
ความสุขเริ่มที่ใจ - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #594 เมื่อ: มกราคม 11, 2019, 11:43:39 am »



  ความสุขเริ่มที่ใจ 

หลายคนทำอะไรต่ออะไรมากมายเพราะอยากได้ความสุข แต่ก็ไม่พบความสุขเสียที ทั้งนี้ก็เพราะมีสิ่งหนึ่งที่เขามองข้ามไป นั่นคือ การดูแลรักษาใจของตน ซึ่งต้องอาศัยการหมั่นมองหมั่นสังเกตจิตใจของตนอยู่เสมอ

เป็นเพราะละเลยจิตใจของตน ผู้คนจึงนอกจากหาความสุขไม่พบแล้ว ยังรู้สึกเหินห่างหมางเมินกับใจตน การอยู่คนเดียวจึงเป็นความทุกข์ทรมาน เกิดความรู้สึกเหงาเปล่าเปลี่ยว ทั้ง ๆ ที่มิตรที่ดีที่สุดนั้นพบได้ที่ใจตนเช่นกัน

เมื่อใดก็ตามที่พบว่าความสุขหาได้ที่ใจ และมิตรที่ประเสริฐที่สุดก็คือใจของตน เมื่อนั้นเราก็มีความสุขได้ในทุกหนแห่ง เจออะไรก็ไม่ทุกข์ มีเท่าไรก็ไม่รู้สึกยากไร้ อยู่คนเดียวก็ไม่รู้สึกอ้างว้าง ใครจะมองเราอย่างไรใจก็ไม่หวั่นไหว สูญเสียเท่าใดใจก็ไม่เสียศูนย์

ภาวะเช่นนี้ย่อมประเสริฐกว่าชีวิตที่ร่ำรวยมั่งคั่ง มียศศักดิ์อัครฐาน ชื่อเสียงขจรไกล แต่ข้างในกลับไร้สุข ไม่รู้สึกพอในสิ่งที่ได้มา หวั่นไหวเพราะกลัวสูญเสีย และหงอยเหงาอ้างว้างเพราะไร้เพื่อนแท้

น้อยคนตระหนักว่า มีความสุขอีกชนิดหนึ่งที่ประเสริฐกว่า ขณะที่ความสุขประเภทแรกต้องอาศัยการเสพ ความสุขประเภทหลังเกิดจากการกระทำ เช่น การทำความดี เอื้อเฟื้อผู้อื่น หรือเกื้อกูลส่วนรวม รวมทั้งการทำสิ่งยากให้สำเร็จด้วยความเพียรของตน ความสุขประเภทนี้เป็นความสุขทางใจ ทำให้จิตใจเกิดปีติ แช่มชื่นเบิกบานหรือเกิดความภาคภูมิใจ ระลึกนึกถึงเมื่อใด ก็มีความสุขเมื่อนั้น แม้กาลเวลาจะผ่านไปหลายปีก็ตาม

ความปีติ แช่มชื่นเบิกบาน หรือความภาคภูมิใจ แม้ไม่หวือหวาเท่ากับความสนุกตื่นเต้นจากการเสพ แต่ประณีต ลุ่มลึกและช่วยเติมเต็มจิตใจ ทำให้สัมผัสได้ถึงคุณค่าและความหมายของชีวิต อีกทั้งยังเป็นสะพานไปสู่ความสงบเย็นในจิตใจ อันเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้คนโหยหาในส่วนลึกของจิตใจ

การได้ครอบครองโภคทรัพย์แม้ให้ความสุขใจแก่เราอย่างรวดเร็ว แต่ก็จางหายไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน อีกทั้งยังตามมาด้วยความทุกข์ เพราะมันกลายเป็นภาระที่ต้องแบก สิ่งที่ยั่งยืนคงทนกว่าคือความสุขจากการทำความดี รวมทั้งความสงบที่เกิดจากการฝึกจิต ความสุขดังกล่าวไม่เพียงหล่อเลี้ยงใจให้เบิกบาน มีพลังในการทำงาน ยังช่วยให้เราเผชิญกับความผันผวนปรวนแปรในชีวิตโดยไม่จมดิ่งในทุกข์

นอกจากเติมอาหารให้กาย หาทรัพย์มาใส่บ้านแล้ว การเติมสุขให้ใจด้วยการทำความดี ช่วยให้ผู้อื่นมีความสุขและฝึกจิตอยู่เสมอ เป็นสิ่งที่มิอาจละเลยได้

หากหวังความสุขจากทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง เกียรติยศ ความสำเร็จ ก็ไม่มีวันพบสุขอย่างแท้จริง แม้แวดล้อมด้วยบริษัทบริวารที่สนองและปรนเปรอทุกสิ่งสรรพ อยู่ในคฤหาสน์อันโอฬาร หรือสถานที่อันงามวิจิตร ก็ยากที่จะพึงพอใจในชีวิตได้ เพราะสุขที่แท้จริงนั้นไม่ได้อยู่ข้างนอก แต่อยู่ในใจเราต่างหาก

ใจที่มองเป็น เห็นถูก มีเมตตา เข้าใจความจริงของชีวิต และรู้จักปล่อยวาง คือใจที่เปี่ยมสุข สุขจึงมิใช่สิ่งที่ต้องดิ้นรนแสวงหาจากที่ใด หากวางใจให้เป็น ก็พบสุขได้ทันที ดังนั้นแทนที่จะมองออกไปนอกตัว ควรหันกลับมาที่ใจของตน ปรับจิตรักษาใจให้ดี ก็จะพบความสุข ดังพระพุทธองค์ได้ตรัสว่า “จิตที่ฝึกไว้ดีแล้วนำสุขมาให้”


พระไพศาล วิสาโล






  ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 11, 2019, 12:38:56 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14143
    • ดูรายละเอียด




ยอมรับความจริง...เป็นการกระทำเพื่อตัวเอง


จะว่าไปแล้วความทุกข์ของคนสมัยนี้ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากใจที่ปฏิเสธต่อต้านความจริงที่เกิดขึ้นยิ่งกว่าอะไรอื่น ดังนั้นแม้แต่เหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ เช่น รถติด ก็ทำให้ผู้คนหงุดหงิดอย่างหนัก ทั้งๆ ที่เครียดหรือกังวลเท่าใดก็ไม่ช่วยให้รถเคลื่อนได้เร็วขึ้น มีแต่จะทำให้เป็นทุกข์มากขึ้น

อะไรเกิดขึ้นกับเราก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าเรารู้สึกกับมันอย่างไร มีสิ่งร้ายเกิดขึ้นกับเราก็ไม่ทำให้เราทุกข์มากเท่ากับใจที่ปฏิเสธต่อต้านสิ่งนั้น พูดอีกอย่าง ยิ่งเราปฏิเสธต่อต้านสิ่งใด ความทุกข์ก็จะยิ่ง เพิ่มขึ้นเมื่อเจอสิ่งนั้น

การวิจัยพบว่า คนที่กลัวเข็มฉีดยานั้น เมื่อถูกเข็มแทงจะรู้สึกปวดมากกว่าคนที่วางเฉยต่อเข็มนั้นถึงสามเท่าคงไม่ผิดหากจะกล่าวว่าใจที่ปฏิเสธต่อต้านความทุกข์ย่อมทำให้ความทุกข์นั้นทบทวีหรือตรีคูณ


พระไพศาล วิสาโล






  ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14143
    • ดูรายละเอียด



ทำไมทำบุญ ทำทาน รักษาศีล แล้วยังเป็นทุกข์ ยังป่วย ยังเจ็บ ยังผิดหวัง ยังล้มเหลว ยังอกหัก ยังมีคนไม่ชอบหน้า ยังเกิดอุบัติเหตุ หรือรวมย่อ ๆ "ทำไมทำดี....แล้วไม่ได้ดี" หาคำตอบได้จากบทความนี้

- - - -

ธรรมในพุทธศาสนาแยกได้เป็นสองอย่างเท่านั้น คือ "จริยธรรม" และ "สัจธรรม"

จริยธรรมคือความดีเป็นสิ่งที่ต้องทำ ถ้าอยากมีความสุขก็ต้องทำ ต้องทำจึงจะมีชีวิตที่ผาสุกและเจริญงอกงามได้

ส่วนสัจธรรมคือความจริง เป็นสิ่งที่ต้องเห็นหรือเข้าถึง

การปฏิบัติธรรมถ้ากล่าวอย่างย่อๆ ก็มีแค่สองเท่านั้น คือทำความดี และเห็นความจริง

ทำความดีได้แก่ การให้ทาน การรักษาศีล รวมทั้งการภาวนาที่ทำให้คุณภาพจิตเจริญงอกงาม เช่น มีเมตตา มีความเพียร มีขันติ มีความอดทน ซึ่งล้วนทำให้จิตใจอ่อนโยน นุ่มนวล เอื้อเฟื้อต่อการทำความดี แต่เท่านั้นยังไม่พอ เราต้องฝึกจิตให้ "เห็นความจริง" ด้วย ความจริงนั้นมีมากมาย อาจจะเรียกว่าไม่น้อยกว่าดวงดาวที่อยู่บนฟากฟ้า หรือที่อยู่ในจักรวาลนี้

พระพุทธเจ้าเคยเปรียบความจริงทั้งหลายในโลกนี้ เหมือนกับใบไม้ในป่า คราวหนึ่งพระพุทธองค์ได้ประทับที่ป่าประดู่ลาย และหยิบใบไม้มากำมือหนึ่ง ตรัสถามพระสาวกว่าใบไม้ในมือของพระองค์กับใบไม้ในป่า อันไหนมีมากกว่ากัน พระสาวกก็ตอบว่าใบไม้ในป่ามีมาก ใบไม้ในกำมือพระองค์มีน้อย

พระพุทธองค์ก็ตรัสว่า ธรรมะที่พระองค์สอนก็เหมือนกับใบไม้ในกำมือ น้อยกว่าความจริงทั้งหลายในโลกและจักรวาลนี้ ความจริงมีมากมายนับประมาณไม่ได้ มหาศาลมาก แต่ความจริงที่พระพุทธเจ้าเอามาสอนนี้มีเพียงน้อยนิด เช่น ความจริงเกี่ยวกับรูปนาม ความจริงเกี่ยวกับกฎแห่งกรรม ความจริงเกี่ยวกับเหตุแห่งทุกข์ คือปฏิจจสมุปบาท ความจริงที่เกี่ยวกับการดับทุกข์ คือปฏิจจสมุปบาทฝ่ายนิโรธวาร รวมทั้งความจริงเกี่ยวกับไตรลักษณ์

จะว่าไปแล้วมีความจริงไม่กี่อย่างที่เราควรเปิดใจให้เห็น ถ้าเราทำความดีแต่ไม่สามารถเปิดใจให้เห็นความจริงอย่างที่ว่ามา ก็ยังหนีความทุกข์ไม่พ้น หรือยังไม่สามารถยกจิตเหนือความทุกข์ได้ ก็ยังต้องทุกข์ต่อไป

ถึงแม้ว่าการทำความดีนั้นจะช่วยให้เรามีความทุกข์น้อยลง มีความสุขมากขึ้น แต่ก็ไม่สามารถช่วยให้เราพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง คนที่ทำความดีมามากก็ยังมีความทุกข์อยู่ อาจจะทุกข์เพราะทำความดีแล้วไม่มีคนเห็น มีความน้อยเนื้อต่ำใจที่ถูกตำหนิ มีความแค้นเคืองที่ถูกต่อว่าด่าทอ หรือเป็นทุกข์เมื่อล้มป่วย

มีคนจำนวนไม่น้อยทำความดี สร้างบุญกุศล เพราะมีความเชื่อว่าจะทำให้มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ คือมีอายุยืน ไม่ป่วยไข้ ชีวิตมีแต่ความเจริญ แต่พอเจ็บป่วยก็ทำใจไม่ได้ ตีโพยตีพายว่าทำไมต้องเป็นฉัน ฉันอุตส่าห์ทำความดี ทำไมฉันถึงต้องเป็นมะเร็ง อันนี้เป็นตัวอย่างของคนที่แม้ทำความดีแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะพ้นทุกข์ ยิ่งถ้าทำความดีด้วยความเชื่อว่าทำความดีแล้วจะไม่มีทุกข์ ก็ยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่

มีชายคนหนึ่งทำบุญให้ทานรักษาศีลตั้งแต่ยังหนุ่ม เพราะมีความเชื่อว่าทำแล้วชีวิตจะมีแต่ความสุขความเจริญ อายุยืน รอดพ้นจากโรคาพยาธิ แคล้วคลาดจากภัยอันตราย แล้ววันหนึ่งก็พบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง เขาทำใจไม่ได้ ไม่ใช่เสียใจเท่านั้น แต่ยังมีความโกรธเคือง รู้สึกเหมือนถูกโกหกหลอกลวง ถูกหักหลัง เอาแต่ตัดพ้อว่า ทำไมฉันทำบุญแล้วถึงต้องล้มป่วย ทำไมบุญกุศลไม่ช่วยฉันเลย ทำไมทำดีแล้วต้องมาเจอทุกข์ภัยแบบนี้

เขาแค้นเคืองมาก แสดงความก้าวร้าวต่อหมอและพยาบาลเพราะทำใจไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตน กลายเป็นว่าไม่เพียงแค่ป่วยกาย แต่ยังป่วยใจด้วย เพราะว่าวางใจผิด ตอนตายเขาก็ตายไม่สงบเพราะรู้สึกผิดหวังที่ต้องมาเจอเคราะห์กรรมแบบนี้ ทั้งๆ ที่ทำความดี รักษาศีลมาตลอด

อันนี้เป็นเพราะเขาไม่ตระหนักถึงความจริงที่ว่าคนเราไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม รวยหรือจน เด็กหรือผู้ใหญ่ พระหรือโจร ก็หนีความเจ็บป่วยและความตายไม่พ้น แต่ถ้าตระหนักถึงความจริงที่ว่าความแก่ ความเจ็บป่วยหรือความตายก็ดี เป็นธรรมดาของชีวิต เป็นความจริงที่ไม่มีใครหนีพ้น ก็จะทำใจยอมรับได้ และจะไม่ตีโพยตีพายซึ่งกลายเป็นการซ้ำเติมร่างกายให้ย่ำแย่ลงไป

อันนี้เป็นตัวอย่างว่าทำความดีอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องฝึกใจหรือเปิดใจให้เห็นความจริง เห็นความจริงเกี่ยวกับไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตระหนักว่าในที่สุดแล้วคนเราก็ไม่อาจหนีความเจ็บป่วยและความตายได้พ้น รวมไปถึงความพลัดพรากสูญเสียด้วย เป็นเพราะคนเราไม่เห็นความจริงตรงนี้ ดังนั้นแม้ทำความดีก็ยังทุกข์

ดังนั้นการฝึกใจให้เห็นความจริงเป็นการปฏิบัติธรรมที่สำคัญ ช่วยให้เราสามารถอยู่ในโลกที่ผันผวนแปรปรวนได้โดยที่ใจไม่ทุกข์ เมื่อเราได้เห็นความจริงในเรื่องไตรลักษณ์แล้ว ก็ทำให้เรามีท่าทีและวางใจเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นกับเรา ใจก็เป็นปกติได้ ไม่ต้องรู้ความจริงถึงขั้นเป็นพระอริยเจ้าก็ได้ แม้เป็นปุถุชน แต่ถ้าเปิดใจยอมรับความจริงเหล่านี้อยู่เสมอ ก็สามารถที่จะอยู่กับความทุกข์ ความพลัดพรากสูญเสียได้โดยใจไม่ทุกข์


ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล






  ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 11, 2019, 12:40:21 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14143
    • ดูรายละเอียด
ไม่รู้จักตัวเอง - wะอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #597 เมื่อ: มกราคม 11, 2019, 11:57:13 am »



เดวิด เซอร์วอง ชไรเบอร์ เป็นศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาชาวฝรั่งเศส ที่ผ่านงานวิจัยมานับไม่ถ้วน คราวหนึ่งเขาทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์กับสมอง โดยให้อาสาสมัครดูภาพที่รุนแรงน่ากลัว ขณะเดียวกันก็มีการตรวจวัดคลื่นสมองของอาสาสมัครด้วยเครื่อง MRI

อาสาสมัครผู้หนึ่งเป็นนักวิจัยสาวในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดียวกับเขา หลังจากที่ฉายภาพดังกล่าวให้เธอดูพักใหญ่ หัวใจของเธอก็เต้นแรงมาก ความดันเลือดพุ่งพรวดจนอยู่ในระดับที่ไม่ปกติ เขารู้สึกเป็นห่วงเธอ จึงแนะนำว่าควรหยุดการทดลองนี้ เธอมีสีหน้าแปลกใจ แล้วบอกกับเขาว่าเธอสบายดี ไม่ได้รู้สึกอะไรเลย ภาพเหล่านี้ไม่มีผลต่อเธอ เธอไม่เข้าใจว่าทำไมเขาจึงคิดหยุดการทดลอง

คำตอบของเธอทำให้เขาแปลกใจ เพราะร่างกายของเธอฟ้องชัดเจนว่าเธอกลัว แต่เธอกลับไม่รู้ตัวว่ากำลังมีความกลัว เขารู้ในเวลาต่อมาว่าเธอมีเพื่อนน้อยมาก เพื่อนร่วมงานของเธอไม่มีใครที่ชอบเธอเลย ทั้ง ๆ ที่เธอฉลาดหลักแหลมแต่ไม่มีใครอยากทำงานกับเธอ หลายคนสงสัยว่าเป็นเพราะอะไร บ้างก็คิดว่าเป็นเพราะเธอพูดแต่เรื่องของตัวเอง โดยไม่สนใจคนอื่นเลย ตัวเธอเองก็ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่มีใครอยากคบเธอเลย

แต่เดวิดคิดว่าเขารู้คำตอบ ปัญหาสำคัญของเธอก็คือ การไม่รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตนเอง ส่งผลให้เธอมืดบอดต่ออารมณ์ความรู้สึกของคนอื่น เธอจึงพูดหรือทำอะไรต่ออะไรที่กระทบความรู้สึกของคนอื่นอยู่เนือง ๆ โดยไม่รู้ตัว ทำให้ใคร ๆ ไม่อยากคบเธอ หรือทำงานร่วมกันกับเธอ

อารมณ์ความรู้สึกนั้นเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเราอย่างยิ่ง เกิดขึ้นเมื่อใดใจก็น่าจะรับรู้ได้ทันที แต่นับวันผู้คนที่ไม่รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตนมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อถูกถามว่า “คุณรู้สึกอย่างไรขณะนี้” หรือ “เมื่อกี้รู้สึกอย่างไร” หลายคนกลับตอบไม่ได้ว่ารู้สึกอย่างไร บางคนเอาความคิดในหัวของตนมาตอบ

นั่นเป็นเพราะทุกวันนี้ผู้คนเหินห่างแปลกแยกกับตัวเองมาก เนื่องจากหมกมุ่นอยู่กับสิ่งภายนอกมากเกินไป เช่น งานการ เงินทอง จนละเลยความรู้สึกของตน หาไม่ก็ใช้ “สมอง”มากเกินไป จนลืมใช้ “หัวใจ”ของตน
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนเป็นอันมากทั้ง ๆ ที่กำลังหงุดหงิด แต่กลับไม่รู้ตัวว่าหงุดหงิด จริงอยู่คนที่ด้านชาต่ออารมณ์ของตน และมืดบอดต่ออารมณ์ของคนอื่น อย่างนักวิจัยสาวผู้นั้น อาจมีไม่มาก แต่เธอก็เป็นภาพสะท้อนของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้คนมากมายในปัจจุบัน

นอกจากเหินห่างแปลกแยกกับอารมณ์ของตนแล้ว หลายคนยังมีอาการดังกล่าวแม้กระทั่งกับร่างกายของตน เดวิดพบว่าแพทย์ประจำบ้านในโรงพยาบาลของเขาหลายคนมีพฤติกรรมคล้าย ๆ กัน กล่าวคือ หลังจากทำงานอย่างหนักตลอดทั้งวันติดต่อกันวันแล้ววันเล่า แถมยังต้องเข้าเวรดึก หรือถูกเรียกตัวกลางดึกอาทิตย์ละหลายครั้ง คนเหล่านี้เมื่อเสร็จงานก็เดินไปยังร้านฟาสต์ฟูดทันทีราวกับว่านั่นคือสิ่งที่ร่างกายต้องการ
อันที่จริงร่างกายของคนเหล่านี้ส่งสัญญาณว่าต้องการพักผ่อน แต่เป็นเพราะเขาไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างทุกข์เพราะเหนื่อยล้า กับ ทุกข์เพราะหิว ดังเมื่อเหนื่อยล้าขึ้นมา แทนที่จะไปนอนสักงีบ กลับตรงไปหาของกินทั้ง ๆ ที่ดึกแล้ว ผลก็คือคนเหล่านี้อ้วนเอา ๆ ขณะที่ร่างกายก็เหนื่อยล้าขึ้นเรื่อย ๆ

นี้คงเป็นคำอธิบายว่าเหตุใดผู้คนยุคนี้ยิ่งเครียดยิ่งล้าก็ยิ่งอ้วนขึ้น ๆ
ฉลาดแค่ไหน รวยเพียงใด ก็ไม่ควรลืมกายและใจ แต่หากเหินห่างแปลกแยกกับใจและกายของตน ก็เท่ากับไม่รู้จักตัวเอง และเมื่อไม่รู้จักตัวเองเสียแล้ว จะมีความสุขหรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร


ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล






  ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 19, 2019, 06:25:59 am โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14143
    • ดูรายละเอียด



  หลุดหลงเพราะรู้ทุกข์ 


ความหลงมีสองอย่าง คือ “ไม่รู้ตัว” กับ “ไม่รู้ความจริง” การไม่รู้ตัวเกิดจากความเผลอ ลืมตัว มันทำให้เราคิดไปในทางที่เพิ่มทุกข์ให้แก่ตนเอง เชื้อเชิญความทุกข์ใจให้เกิดขึ้นกับเรา ความโศกความร่ำไรรำพันมักจะเกิดตอนที่เรานึกถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว สิ่งที่เสียไปแล้ว คนรักที่จากไปแล้ว ไม่สามารถจะเอากลับคืนมาได้ ก็เลยเศร้าโศกเสียใจ ความคับแค้นใจมักจะเกิดตอนที่เรานึกถึงคนที่ขัดอกขัดใจเรา หรือคนที่ต่อว่าด่าทอเรา บางครั้งเรื่องเกิดขึ้นนานแล้ว แต่ใจก็ไม่ยอมวางเสียที บางทีก็จดจ่อหมกมุ่นกับอนาคต คิดไปในทางเลวร้าย มันจะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่าไม่รู้ แต่ก็คิดไปในทางลบแล้ว เรียกว่ามโน ก็ทำให้เกิดความวิตกกังวล กระวนกระวาย ความทุกข์ใจเกิดขึ้นแล้วก็ยังหลงปกป้องรักษาฟูมฟักหล่อเลี้ยงมันเอาไว้ อันนี้ก็คือความหลง ไม่รู้ตัว

แต่ที่จริงแล้วรากเหง้าของความทุกข์คือ หลงตัวที่สองคือ “ไม่รู้ความจริง” ความจริงที่ว่า คือ สิ่งทั้งปวงล้วนไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไป ดับไป เรียกว่าเป็นทุกข์ หรือ ทุกขัง รวมทั้ง ไม่มีอะไรที่สามารถยึดเป็นตัวเป็นตนได้ คือเป็นอนัตตา สรุปก็คือ สิ่งทั้งปวง ไม่ว่ารูปธรรมหรือนามธรรม ล้วนไม่น่ายึดถือเพราะยึดถือไม่ได้ เพราะว่ามันแปรเปลี่ยนเป็นนิจ มันต้องเสื่อมต้องดับไป แต่พอเราไม่รู้ความจริงข้อนี้ เราก็เลยมีความคิดหรือความอยากที่สวนทางกับความจริง หรือมิอาจเป็นจริงได้ เช่น ยึดว่าร่างกายนี้จะต้องหนุ่มต้องสาวตลอด จะต้องไม่แก่ จะต้องมีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง มีกำลังวังชาไปเรื่อย ๆ จะต้องไม่เจ็บไม่ป่วย ทั้ง ๆ ที่ควรจะมองว่าคนเราที่ไม่แก่ ไม่ป่วยนั้นไม่มี แต่ว่าใจไม่ยอมรับเพราะหลงยึดเอาไว้ ยึดไว้ว่าอะไรที่ได้มาแล้วก็จะไม่เสื่อมสูญไป มีของรักมีของถูกใจแล้วก็จะยึดให้มันอยู่กับเราไปนาน ๆ ชั่วฟ้าดินสลาย แต่ความปรารถนาเหล่านี้ล้วนขัดแย้งกับความจริง ก็เลยเกิดความทุกข์ใจ เกิดความอาลัย เกิดความวิตก เมื่อของรักหายไปก็กลุ้มอกกลุ้มใจ เมื่อคนรักจากไปก็โศกเศร้าเสียอกเสียใจ นี่เป็นเพราะความหลง ไม่รู้ความจริง

พระไพศาล วิสาโล






  ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : Facebook วัดป่าสุคะโต ธรรมชาติที่พักใจ
https://www.facebook.com/Zensukato/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 11, 2019, 12:55:38 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14143
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #599 เมื่อ: มกราคม 19, 2019, 06:25:27 am »



ความจริงกับสิ่งที่ควรจะเป็นนั้นมักจะขัดแย้งกันอยู่เสมอ ใครที่มัวยึดติดกับสิ่งที่ควรจะเป็นมักยอมรับความจริงที่กำลังเกิดขึ้นได้ยาก จึงอยู่อย่างระทมทุกข์

จริงอยู่การยอมรับ กับ การยอมจำนนนั้นต่างกัน เหตุร้ายหลายอย่างเราสามารถแก้ไขหรือบรรเทาได้ ดังนั้นจึงไม่ควรยอมจำนน แต่ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการยอมรับมันอย่างที่เป็นก่อน กระนั้นก็มีเหตุร้ายบางอย่างที่ไม่อาจแก้ไขได้เลย ในกรณีเช่นนั้นสิ่งเดียวที่ทำได้คือการยอมรับมันและอยู่กับมันให้ได้

ความแก่ ความเจ็บ ความตาย และความพลัดพรากสูญเสีย เป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่มีใครหนีพ้น แม้นร่ำรวยมหาศาล มีอำนาจล้นฟ้า ก็หนีความจริงเหล่านี้ไปไม่ได้ ในทำนองเดียวกันคนดีมีศีล ขยันทำบุญทำทาน ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ได้ เพราะแม้แต่พระอรหันต์ก็ยังต้องประสบเช่นกัน สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ว่าจะวางใจอย่างไร เจอเหตุร้ายแต่ใจไม่ทุกข์ ป่วยกายแต่ใจไม่ป่วยนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ ดังนั้นเมื่อเจอเหตุร้าย แทนที่จะบ่นตีโพยตีพายว่า “ทำไมต้องเป็นฉัน” ควรหันมาวางใจให้ถูก เริ่มต้นด้วยการยอมรับมัน แล้วใคร่ครวญหาทางแก้ไข หรือใช้ประโยชน์จากมัน


ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล





  ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 25, 2019, 05:52:44 am โดย ยาใจ »