ผู้เขียน หัวข้อ: พระไตรปิฎก สิ่งที่ชาวพุทธต้องรู้  (อ่าน 9205 ครั้ง)

shad

  • Administrator
  • Full Member
  • *****
  • กระทู้: 217
    • ดูรายละเอียด
พระไตรปิฎก สิ่งที่ชาวพุทธต้องรู้
« เมื่อ: มิถุนายน 03, 2011, 08:22:50 pm »
พระไตรปิฎก สิ่งที่ชาวพุทธต้องรู้
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตโต)


หนังสือพระไตรปิฎก สิ่งที่ชาวพุทธต้องรู้ โดยพระพรหมคุณาภรณ์ เป็นหนังสือธรรมะที่ให้ความรู้ความเข้าใจพื้นฐานในพระไตรปิฎก อันเป็นคัมภีร์ที่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าหรือพระธรรมวินัยสถิตอยู่ ท่านเจ้าคุณได้อธิบายถึง ความสำคัญของพระไตรปิฏก การสังคายนา การรักษาสืบทอดพระไตรปิฏกมาจนถึงเราในปัจจุบัน และยังได้อธิบายถึงหมวดหมู่ของพระไตรปิฎก ซึ่งจะเป็นพื้นฐานให้เราเข้าใจในการจัดหมวดหมู่ของพระไตรปิฎกและศึกษาค้นคว้าได้ต่อไปค่ะ

ขอสรุปย่อใจความที่สำคัญของหนังสือเล่มนี้มาลงไว้ค่ะ ส่วนหนังสือฉบับเต็ม เชิญดาวน์โหลดไปอ่านได้ตามลิงค์ต่อไปนี้ค่ะ
http://www.dhammabookstore.com/book/tripidok.pdf
http://www.watnyanaves.net/uploads/File/books/pdf/the_pali_canon_what_a_buddhist_must_know_(thai).pdf
[/color][/size]
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 03, 2011, 08:39:18 pm โดย shad »

shad

  • Administrator
  • Full Member
  • *****
  • กระทู้: 217
    • ดูรายละเอียด
พระไตรปิฎก สิ่งที่ชาวพุทธต้องรู้
« ตอบ #1 เมื่อ: มิถุนายน 03, 2011, 08:24:20 pm »
โดยสรุป ท่านเจ้าคุณได้อธิบายไว้ดังนี้

พระพุทธศาสนามีความหมายตรงตามคำแปลโดยพยัญชนะของคำว่า “พระพุทธศาสนา” นั้นเองว่า “คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า” ก่อนพุทธปรินิพพานพระพุทธเจ้าไม่ได้แต่งตั้งพระภิกษุองค์ใดเป็นศาสดาแทนพระองค์ แต่ได้มอบหมายให้ชาวพุทธรู้กันว่า พระธรรมวินัยจะเป็นศาสดาแทนพระองค์ ดังพระพุทธพจน์ที่ทรงพระดำรัสต่อพระอานนท์ว่า “ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้วและบัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย โดยกาลที่เราล่วงลับไป” โดยนัยนี้ พระพุทธพจน์ จึงเป็นทั้งพระพุทธศาสนาคือคำตรัสสอนของพระพุทธเจ้า และธำรงสถิตพระศาสนา โดยทรงไว้และประกาศพระธรรมวินัยแทนพระพุทธองค์

หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระมหากัสสปเถระได้ชักชวนพระเถระผู้ใหญ่มาประชุมกัน มาช่วยกันแสดง ถ่ายทอด รวบรวมประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วตกลงวางมติไว้ ซึ่งก็คือ การสังคายนา ในการสังคายนาครั้งนั้นมีพระอรหันต์ 500 รูปมาประชุม โดยพระอานานท์เป็นผู้นำเอาธรรมมาแสดงและพระอุบาลีเป็นผู้นำในด้านการวิสัชนาเรื่องของวินัย โดยพระมหากัสสปะเป็นประธานวางแนวการนำเสนอ ด้วยการซักถามอย่างเป็นระบบ คือตามลำดับและเป็นหมวดหมู่ เมื่อได้มีมติร่วมกันเกี่ยวกับเนื้อหาในเรื่องใด พระเถระในที่ประชุมก็สวดพร้อมกัน เนื้อหาที่ผ่านการรับรองก็จะถือเป็นที่ยุติให้เป็นแบบแผนที่จะทรงจำถ่ายทอดต่อๆ กันมา พระพุทธศาสนาซึ่งถือตามหลักสังคายนาครั้งแรกนี้เรียกว่า “พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ”

การสืบทอดพระไตรปิฎกในช่วงต้นหรือยุคแรกคือนับตั้งแต่พุทธกาลตลอดมาประมาณ 560 ปี พระเถระผู้รักษาพระศาสนาทรงจำพุทธพจน์กันมาด้วยปากเปล่า เรียกว่า มุขปาฐะ คือการเรียน-ท่อง-บอกต่อด้วยปาก ซึ่งพระเถระได้ตระหนักถึงความสำคัญสูงสุดของการรักษาพุทธพจน์ จึงทำให้มีความไม่ประมาท ระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะให้มีการจำพุทธพจน์ไว้อย่างบริสุทธิ์ ถือว่าการรักษาพุทธพจน์นี้เป็นกิจสำคัญสูงสุดของการรักษาพระพุทธศาสนา การท่องจำพระไตรปิฎกหรือพระธรรมวินัยนี้ท่านทำด้วยวิธีสวดพร้อมกันจะต้องสวดตรงกันหมดทุกถ้อยคำ จะตกหล่นตัดขาดหายไปก็ไม่ได้ จะเพิ่มแม้คำเดียวก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น การที่จะสวดโดยคนจำนวนมากๆ ให้เป็นไปได้ด้วยดีให้สอดคล้องกลมกลืนกันก็จะต้องสวดเหมือนกันหมด ท่านจึงรักษาคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ด้วยวิธีนี้

ช่วงที่สองคือระยะที่รักษาพุทธพจน์และเรื่องเกี่ยวข้องในพระไตรปิฎกทั้งหมดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เกิดจากเหตุผลที่ปรารภว่า เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองสภาพแวดล้อมแปรเปลี่ยนไป เกิดมีภัยที่กระทบต่อการทำหน้าที่สืบต่อทรงจำพุทธพจน์ และคนในภายหน้าจะเสื่อมถอยสติสมาธิปัญญา เช่นมีศรัทธาและฉันทะอ่อนลงไป จะไม่สามารถรักษาพุทธพจน์ไว้ด้วยมุขปาฐะ จึงตกลงกันว่าถึงเวลาที่จำต้องบันทึกพระไตรปิฎกลงในใบลาน

ในยุคที่รักษาพุทธพจน์เป็นลายลักษณ์อักษรนี้ พระพุทธศาสนาได้เจริญแพร่หลายไปเป็นศาสนาแห่งชาติของหลายประเทศแล้ว ในเวลาที่มีการตรวจชำระพระไตรปิฎกครั้งหนึ่ง เราก็เอาของทุกประเทศมาสอบทานเทียบเคียงกัน เพื่อดูว่ามีถ้อยคำหรืออักษรตัวไหนผิดเพี้ยนกันไหม ความแตกต่างแม้แต่เพียงนิดเดียว เราก็บันทึกไว้ให้รู้ในเชิงอรรถ แม้กาลเวลาจะผ่านล่วงไปเกินพันปี เมื่อนำพระไตรปิฎกที่ประเทศพุทธศาสนาแต่ละประเทศมาเทียบกัน ก็พูดได้โดยรวมว่าเหมือนกัน ลงกัน แม้จะมีตัวอักษรที่ผิดแผกแตกต่างกันบ้าง เช่น จ เป็น ว บ้าง เมื่อเทียบโดยปริมาณทั้งหมดแล้ว ก็นับว่าเล็กน้อยยิ่ง แสดงถึงความถูกต้องแม่นยำในการรักษาที่ทำกันมาด้วยความตั้งใจและตระหนักถึงความถูกต้องแม่นยำในการรักษาที่ทำกันมาด้วยความตั้งใจและตระหนักถึงความสำคัญอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาเถรวาทจึงมีความภูมิใจโดยชอบธรรม ว่าเรารักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้เป็นแบบเดิมแท้ ดังที่ยอมรับกันเป็นสากล

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสแสดงคำสอนคือพระธรรมวินัยแล้ว สาวกทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์ก็นำหลักธรรมวินัยนั้นไปเล่าเรียนศึกษา  คำสอนหรือพุทธพจน์ส่วนใดที่ยาก ต้องการคำอธิบาย นอกจากทูลถามจากพระพุทธเจ้าโดยตรงแล้ว ก็มีสาวกผู้ใหญ่ที่เป็นอุปปัชฌาย์หรืออาจารย์คอยแนะนำชี้แจงช่วยตอบข้อสงสัย คำอธิบายและคำตอบที่สำคัญก็ได้รับการทรงจำถ่ายทอดต่อกันมาควบคู่กับหลักธรรมวินัยที่เป็นแม่บทนั้นๆ ต่อมาเมื่อมีการจัดหมวดหมู่พระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกแล้ว คำชี้แจงอธิบายเหล่านั้นก็เป็นระบบและมีลำดับไปตามพระไตรปิฎกด้วย คำอธิบายพุทธพจน์หรือหลักธรรมวินัยหรือคำอธิบายความในพระไตรปิฎกนี้เรียกว่า “อรรถกถา” นอกจากอรรถกถาแล้ว คัมภีร์พระพุทธศาสนาภาษาบาลีที่เกิดขึ้นในยุคต่างๆ หลังพุทธกาลยังมีอีกมากมาย คัมภีร์สำคัญบางคัมภีร์ เป็นผลงานอิสระของพระเถระผู้แตกฉานพระธรรมวินัย ท่านเรียบเรียงขึ้นตามโครงเรื่องที่ท่านจัดวางเองหรือเกิดจากเหตุการณ์พิเศษ

คัมภีร์ที่เกิดหลังยุคอรรถกถา ก็มีทั้งคัมภีร์ที่อยู่ในสายเดียวกับอรรถกถา คือเป็นคัมภีร์ที่อธิบายพระไตรปิฎกและอธิบายอรรถกถาและอธิบายกันเองเป็นขั้นๆ ต่อกันไป เมื่อเรียงลำดับคัมภีร์ในสายพระไตรปิฎกและอรรถกถาก็จะเป็นดังนี้

- บาลี คือพระไตรปิฎก
– อรรถกถา คือคัมภีร์ที่อธิบายบาลีหรืออธิบายความในพระไตรปิฎก
– ฎีกา คือคัมภีร์ที่อธิบายอรรถกถาหรือขยายความต่อจากอรรถกถา
– อนุฎีกา คือคัมภีร์ที่อธิบายขยายความต่อจากฎีกาอีกทอดหนึ่ง

ที่จริงนั้นหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนามีความชัดเจนแน่นอน และไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของความคิดหรือความคาดเดา แต่เป็นเรื่องหลักฐานที่ชาวพุทธถือกันว่ามาจากพระพุทธเจ้าโดยตรง คือมาในพระไตรปิฎก และคัมภีร์อรรถกถาเป็นต้น อธิบายประกอบ ซึ่งชาวพุทธทุกยุคทุกสมัย ถือว่าเป็นเนื้อเป็นตัวของพระศาสนา เป็นหลักสำคัญที่สุด และได้เพียรพยายามอย่างยิ่งที่จะรักษาให้แม่นยำ ด้วยการทรงจำศึกษาเล่าเรียน และมีการสังคายนาเป็นงานใหญ่หลายยุคหลายสมัย

เราควรตื่นตัวต่อภัยคุกคามและร่วมแรงร่วมใจกันแก้ปัญหาด้วยการส่งเสริมสัมมาปฏิบัติโดยอิงอาศัยคำสอนที่แท้ ซึ่งเราจะต้องช่วยกันรักษาให้บริสุทธิ์ อันที่จริง ถึงเวลาแล้วที่จะต้องหันมาฟื้นฟูชาวพุทธให้กลับสู่พระธรรมวินัย ให้รู้จักศึกษาพระไตรปิฎกกันอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง

shad

  • Administrator
  • Full Member
  • *****
  • กระทู้: 217
    • ดูรายละเอียด
พระไตรปิฎก สิ่งที่ชาวพุทธต้องรู้
« ตอบ #2 เมื่อ: มิถุนายน 03, 2011, 08:26:49 pm »
การจัดหมวดหมู่คัมภีร์ในพระไตรปิฏก

ในประเทศไทย พระไตรปิฎกได้รับการตีพิมพ์เป็นเล่มหนังสือครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพ.ศ. 2431 พระไตรปิฎกที่ตีพิมพ์ครั้งนั้นจัดเป็นจบละ 39 เล่ม ต่อมาพ.ศ. 2436ในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้โปรดเกล้าฯให้ตีพิมพ์ใหม่เป็นพระไตรปิฎกฉบับที่สมบูรณ์ เพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่รัชกาลที่ 6 เรียกว่า “พระไตรปิฏกฉบับบสยามรัฐ” มีจำนวนจบละ 45 เล่ม ซึ่งได้ถือเป็นหลักในการจัดแบ่งเล่มพระไตรปิฎกในประเทศไทยสืบต่อมาจนปัจจุบัน

สรุปสาระสำคัญของพระไตรปิฎก

ก. พระวินัยปิฎก : ประมวลพุทธพจน์หมวดพระวินัย คือพุทธบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติ ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียม และการดำเนินกิจการต่างๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ แบ่งเป็น 5 คัมภีร์ (เรียกย่อหรือหัวใจว่า อา ปา ม จุ ป) มี 8 เล่ม ประกอบด้วย:

- อาทิกัมมิกะ : เล่ม 1 มหาวิภังค์ ภาค 1: ว่าด้วยสิกขาบทในปาติโมกข์ฝ่ายภิกษุสงฆ์ 19 ข้อ ซึ่งอยู่ในระดับอาบัติหนักหรือความผิดสถานหนัก คือปาราชิก 4, สังฆาทิเสส 13 และอนิยต 2

- ปาจิตตีย์ : เล่ม 2 มหาวิภังค์ ภาค 2: ว่าด้วยสิกขาบทในปาติโมกข์ฝ่ายภิกษุสงฆ์ข้อที่เหลือ ซึ่งอยู่ในระดับอาบัติเบาหรือความผิดสถานเบา คือตั้งแต่นิสสัคคิยปาจิตตีย์ 30 จนครบสิกขาบท 227, เล่ม 3 ภิขุนีวิภังค์: ว่าด้วยสิกขาบท 311 ของภิกษุณี

- มหาวรรค : เล่ม 4 มหาวรรค ภาค 1: ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาติโมกข์ตอนต้น (ระเบียบข้อบังคับทั่วไปเกี่ยวกับความเป็นอยู่และการดำเนินกิจการของพระภิกษุสงฆ์) มี 4 ขันธกะ (หมวด) คือเรื่องกำเนิดภิกษุสงฆ์และการอุปสมบท อุโบสถ จำพรรษา และปวารณา, เล่ม 5 มหาวรรค ภาค 2: ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนต้น (ต่อ) มี 6 ขันธกะ (หมวด) คือเรื่องเครื่องหนัง เภสัช กฐิน จีวร นิคหกรรม และการทะเลาะวิวาทและสามัคคี

- จุลลวรรค : เล่ม 6-จุลลวรรค ภาค 1: ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาติโมกข์ตอนปลาย มี 4 ขันธกะ (หมวด) คือเรื่องนิคหกรรม วุฏฐานวิธี และการระงับอธิกรณ์, เล่ม 7 จุลลวรรค ภาค 2: ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนปลาย  (ต่อ) มี 8 ขันธกะ (หมวด) คือเรื่องข้อบัญญัติปลีกย่อย เรื่องเสนาสนะ สังฆเภท วัตรต่างๆ การงดสวดปาติโมกข์ เรื่องภิกษุณี เรื่องสังคายนาครั้งที่ 1 และ 2

- ปริวาร : เล่ม 8-ปริวาร: คู่มือถามตอบซ้อมความรู้พระวินัย

ข. พระสุตตันตปิฎก : ประมวลพุทธพจน์หมวดพระสูตร  คือพระธรรมเทศนา คำบรรยายหรืออธิบายธรรมต่างๆ ที่ตรัสยักเยื้องให้เหมาะกับบุคคลและโอกาส ตลอดจนบทประพันธ์ เรื่องเล่า และเรื่องราวทั้งหลายที่เป็นชั้นเดิมในพระพุทธศาสนา แบ่งออกเป็น 5 นิกาย (เรียกย่อหรือหัวใจว่า ที ม สํ อํ ขุ) มี 25 เล่ม คือ

- ทีฆนิกาย : ชุมนุมพระสูตรขนาดยาว มี 3 เล่ม : เล่ม 9 สีลขันธวรรค, เล่ม 10 มหาวรรค,
เล่ม 11 ปาฏิกวรรค

- มัชฌิมนิกาย : ชุมนุมพระสูตรขนาดกลาง มี 3 เล่ม : เล่ม 12 มูลปัณณาสก์, เล่ม 13 มัชฌิมปัณณาสก์, เล่ม 14 อุปริปัณณาสก์

- สังยุตตนิกาย : ชุมนุมพระสูตรที่เกี่ยวกับหัวเรื่องเดียวกัน คือชุมนุมพระสูตรที่จัดรวมเข้าเป็นกลุ่มๆ เรีกว่า สังยุตต์หนึ่งๆ ตามเรื่องที่เนื่องกันหรือตามหัวข้อหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง มี 5 เล่ม : เล่ม 15 สคาถวรรค, เล่ม 16 นิทานวรรค, เล่ม 17 ขันธวารวรรค, เล่ม 18 สฬายตนวรรค,
เล่ม 19 มหาวารวรรค

- อังคุตตรนิกาย : ชุมนุมพระสูตรที่จัดเป็นหมวดตามจำนวนข้อธรรม มี 5 เล่ม : เล่ม 20 เอก-ทุก-ติกนิบาต, เล่ม 21 จตุกกนิบาต, เล่ม 22 ปัญจก-ฉักกนิบาต, เล่ม 23 สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต, เล่ม 24 ทสก-เอกทสกนิบาต

- ขุททกนิกาย : ชุมนุมพระสูตร คาถาภาษิต คำอธิบาย และเรื่องราวเบ็ดเตล็ด มี 9 เล่ม : เล่ม 25 มีคัมภีร์ย่อย 5 คือขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน อิติวุตตกะ สุตตนิบาต, เล่ม 26 มีคัมภีร์ย่อย 4 คือวิมานวัตถุ เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา, เล่ม 27 ชาดก ภาค 1, เล่ม 28 ชาดก ภาค 2, เล่ม 29 มหานิทเทส, เล่ม 30 จูฬนิทเทส, เล่ม 31 ปฏิสัมภิทามรรค, เล่ม 32 อปทาน ภาค 1, เล่ม 33อปทาน ภาค 2

ค. พระอภิธรรมปิฎก :  ประมวลพุทธพจน์หมวดอภิธรรม คือหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นเนื้อหาวิชาล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์ แบ่งเป็น 7 คัมภีร์ (เรียกย่อหรือหัวใจว่า สํ วิ ธา ปุ ก ย ป) มี 12 เล่ม ดังนี้

- ธัมมสังคณี : เล่ม 34 ธัมมสังคณี : ต้นเล่มแสดงมาติกา (แม่บท) อันได้แก่บทสรุปแห่งธรรมทั้งหลาย

- วิภังค์ : เล่ม 35 วิภังค์ : ยกธรรมสำคัญๆ ขึ้นมาแจกแจง แยกแยะ อธิบายกระจายออกให้เห็นทุกแง่ และวินิจฉัย จนชัดเจนจบไปเป็นเรื่องๆ

- ธาตุกถา และปุคคลบัญญัติ: เล่ม 36 มี 2 คัมภีร์ คือ ธาตุกถา และปุคคลบัญญัติ : ธาตุกถานำข้อธรรมในมาติกาทั้งหลายและข้อธรรมอื่นๆ มาจัดเข้าในขันธ์ 5 อายตนะ 12 และธาตุ 18 ว่าข้อใดจัดเข้าได้หรือไม่ได้ในอย่างไหน และปุคคลบัญญัติ บัญญัติความหมายของชื่อที่ใช้เรียกบุคคลต่างๆ ตามคุณธรรม เช่น โสดาบัน ได้แก่ บุคคลผู้ละสังโยชน์ 3 ได้แล้ว เป็นต้น

- กถาวัตถุ : เล่ม 37 กถาวัตถุ : เป็นคัมภีร์ที่พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ประธานการสังคายนาครั้งที่ 3 เรียบเรียงขึ้นเพื่อแก้ความเห็นผิดของนิกายต่างๆ ในพระพุทธศาสนาครั้งนั้น ซึ่งได้แตกแยกกันออกไปแล้วถึง 18 นิกาย

- ยมก : เล่ม 38-39 ยมก ภาค 1-ภาค 2 : อธิบายหลักธรรมสำคัญให้เห็นความหมายและขอบเขตอย่างชัดเจน และทดสอบความรู้อย่างลึกซึ้งด้วยวิธีตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ ๆ

- ปัฏฐาน : เล่ม 40-45 ปัฏฐาน ภาค 1-ภาค 6 : อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลาย