ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมิกวรรค อานันทสูตร : การฟังธรรมที่ไม่ถึงความหลงลืม  (อ่าน 4351 ครั้ง)

shad

  • Administrator
  • Full Member
  • *****
  • กระทู้: 217
    • ดูรายละเอียด
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔
อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ธรรมิกวรรค อานันทสูตร
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=22&A=8540&Z=8579


๙. อานันทสูตร
ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระสารีบุตรว่า

ดูกรท่านสารีบุตร ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล
๐ ภิกษุจึงได้ฟังธรรมที่ยังไม่เคยฟัง
๐ ธรรมทั้งหลายที่เธอได้ฟังแล้วย่อมไม่ถึงความหลงลืม
๐ ธรรมทั้งหลายที่เธอได้เคย ถูกต้องด้วยใจในกาลก่อน ย่อมขึ้นใจ
๐ และเธอย่อมทราบชัดธรรมที่ยังไม่ทราบชัด

ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า ท่านพระอานนท์แลเป็นพหูสูต ขอเนื้อความแห่ง ธรรมข้อนั้นจงแจ่มแจ้งกะท่านพระอานนท์เถิด ฯ

อา : ดูกรท่านสารีบุตร ถ้าอย่างนั้นท่านจงฟังธรรม จงทำไว้ในใจให้ดีเราจักกล่าว

ท่านพระสารีบุตรรับคำท่านพระอานนท์แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กล่าวว่า

ดูกรท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
๐ ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณ์ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ
๐ เธอย่อมแสดงธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร
๐ ย่อมบอกสอนธรรมที่ได้ฟังมาได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร
๐ ย่อมทำการสาธยายธรรมตามที่ได้ ฟังมาได้เรียนมาโดยพิสดาร
๐ ย่อมตรึกตรอง เพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมา ได้เรียนมา
๐ ย่อมจำพรรษาอยู่ในอาวาสที่มีภิกษุผู้เถระเป็นพหูสูตชำนาญคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา อยู่ ย่อมเข้าไปหาภิกษุผู้เถระเหล่านั้นโดยกาล อันควร แล้วไต่ถามสอบสวนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภาษิตนี้เป็นอย่างไร เนื้อความของภาษิตนี้อย่างไร ภิกษุผู้เถระเหล่านั้นย่อมเปิดเผยภาษิตที่ยังไม่แจ่มแจ้ง ย่อมทำภาษิตที่ยากให้ง่ายแก่เธอ และย่อมบรรเทาความสงสัยในธรรมทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยมีประการต่างๆ

ดูกรท่านสารีบุตร ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ภิกษุจึงได้ฟังธรรมที่ยังไม่เคยฟัง ธรรมทั้งหลายที่เธอได้ฟังแล้วย่อมไม่ถึงความหลงลืม ธรรมทั้งหลายที่เธอได้เคยถูกต้องด้วยใจในกาลก่อน ย่อมขึ้นใจ และเธอย่อมทราบชัดธรรมที่ยังไม่ทราบชัด ฯ

สา : ดูกรท่านอานนท์ น่าอัศจรรย์ เรื่องไม่เคยมีได้มีแล้ว เรื่องนี้ท่านอานนท์ได้กล่าวดีแล้ว และพวกผมจะทรงจำท่านพระอานนท์ว่าเป็นผู้ประกอบด้วย ธรรม ๖ ประการนี้ เพราะว่า

๐ ท่านอานนท์ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณ์ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ
๐ ท่านอานนท์ ย่อมแสดงธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร
๐ ท่านอานนท์ย่อมบอกสอนธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมา แก่ผู้อื่นโดยพิสดาร
๐ ท่านอานนท์ย่อมทำการสาธยายธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมาโดยพิสดาร
๐ ท่านอานนท์ย่อมตรึกตรอง เพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมา
๐ ท่านอานนท์ย่อมจำพรรษาอยู่ในอาวาสที่มีภิกษุผู้เถระผู้เป็นพหูสูต ชำนาญคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา อยู่ ท่านอานนท์ย่อมเข้าไปหาภิกษุผู้เถระเหล่านั้นโดยกาลอันควร แล้วไต่ถามสอบสวนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภาษิตนี้เป็นอย่างไร เนื้อความของภาษิตนี้เป็นอย่างไร ภิกษุผู้เถระเหล่านั้นย่อมเปิดเผยภาษิตที่ยังไม่แจ่มแจ้ง ย่อมทำภาษิตที่ยากให้ง่ายแก่ท่านอานนท์ และย่อมบรรเทาความสงสัยใน ธรรมทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยมีประการต่างๆ ฯ

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

นวังคสัตถุศาสน์


นวังคสัตถุศาสน์ คำสั่งสอนของพระศาสดา มีองค์ ๙, พุทธพจน์มีองค์ประกอบ ๙ อย่าง,

ส่วนประกอบ ๙ อย่างที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ

๑. สุตตะ (พระสูตรทั้งหลาย รวมทั้งพระวินัยปิฎกและนิทเทส)
๒. เคยยะ (ความที่มีร้อยแก้วและร้อยกรองผสมกัน ได้แก่ พระสูตรที่มีคาถาทั้งหมด)
๓. เวยยากรณะ (ไวยากรณ์ คือความร้อยแก้วล้วน ได้แก่ พระอภิธรรมปิฎกทั้งหมด และพระสูตรที่ไม่มีคาถาเป็นต้น)
๔. คาถา (ความร้อยกรองล้วน เช่น ธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา เป็นต้น)
๕. อุทาน (ได้แก่ พระคาถาพุทธอุทาน ๘๒ สูตร)
๖. อิติวุตตกะ (พระสูตรที่เรียกว่าอิติวุตตกะ ๑๑๐ สูตร)
๗. ชาตกะ (ชาดก ๕๕๐ เรื่อง)
๘. อัพภูตธรรม (เรื่องอัศจรรย์ คือพระสูตรที่กล่าวถึงข้ออัศจรรย์ต่างๆ)
๙. เวทัลละ (พระสูตรแบบถามตอบที่ให้เกิดความรู้และความพอใจแล้ว ซักถามยิ่งๆ ขึ้นไป เช่น จูฬเวทัลลสูตร มหาเวทัลลสูตร เป็นต้น);
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 07, 2011, 09:34:22 am โดย shad »