ผู้เขียน หัวข้อ: ปรุงแต่งใจให้เป็นสุข - พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต)  (อ่าน 3443 ครั้ง)

เสรี ลพยิ้ม

  • รักธรรม
  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 489
    • ดูรายละเอียด
ปรุงแต่งใจให้เป็นสุข
พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต)           
             

 ใช้ความสามารถปรุงแต่ง

สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ภายนอก
แล้วอย่าลืมใช้ความสามารถนั้น
ปรุงแต่งสร้างสรรค์ความสุขภายในด้วย


พระพุทธศาสนาเปิดเผยความจริงว่าความสุขมีมากมาย ความสุขมีหลายแบบ

ความสุขมีหลายชั้นหลายระดับ ทั้งความสุขภายนอกภายใน ทั้งความสุขแบบแบ่งแยก
และความสุขแบบประสาน ทั้งความสุขที่อาศัยวัตถุและไม่อาศัยวัตถุ ทั้งความสุขทางร่างกาย
และความสุขทางจิตใจ ทั้งความสุขระดับจิตและความสุขระดับปัญญา ทั้งความสุขแบบมัวเมาติดจม
และความสุขแบบโปร่งโล่งผ่องใส
         
ความสุขของมนุษย์อย่างหนึ่งคือ ความสามารถในการปรุงแต่งสร้างสรรค์คิดค้น ซึ่งสัตว์อื่นไม่มี

การที่มนุษย์เจริญขึ้นมามีเทคโนโลยีมีสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ มากมาย ก็เกิดจากความสามารถ
ของมนุษย์ในการปรุงแต่งสร้างสรรค์นี่แหละแต่กว่าจะออกมาเป็นวัตถุปรุงแต่งสร้างสรรค์ได้
ต้นเดิมมันมาจากไหน มันก็มาจากในใจของเรา คือ ใจที่มีสติปัญญาเริ่มด้วยใช้ปัญญา
คิดปรุงแต่งข้างในแล้วจึงแสดงออกมาเป็นการปรุงแต่งประดิษฐ์วัตถุ สร้างสรรค์วัตถุข้างนอกได้
จนกระทั้งเป็นคอมพิวเตอร์และดาวเทียม ก็เกิดจากความคิดในใจเป็นจุดเริ่ม
         
ทีนี้ความคิดของเรานี่น่ะ นอกจากปรุงแต่งสร้างสรรค์วัตถุข้างนอกแล้ว อีกอย่างหนึ่งก็คือ

ปรุงแต่งสุขปรุงแต่งทุกข์ข้างใน เราไม่รู้ตัวหรอกว่า เราใช้ความสามารถนี้ตลอดเวลา
ด้วยการปรุงแต่งความสุข และปรุงแต่งความทุกข์ จริงไหมว่า ที่เราทุกข์ เราสุขกันนี้
ส่วนมากเป็นสุขและทุกข์ที่เราปรุงแต่งขึ้นเอง ไม่เหมือนกับสัตว์อื่น
         
สัตว์อื่นนั้น ไม่รู้จักความทุกข์ ความสุขมากเหมือนมนุษย์ มันมีความสุขความทุกข์

ที่เกิดจากทางกาย ได้กินอาหาร ได้หลับนอนพักผ่อนหรือต่อสู้หนีภัยอะไร ๆ ก็ตามประสา
แต่ความสุขความทุกข์ทางใจที่เกิดจากการคิดปรุงแต่งมันไม่มี เราจะเห็นว่า
สัตว์กลุ้มใจไม่เป็น สัตว์มันเครียดไม่เป็น เครียดได้แต่เรื่องที่ สืบเนื่องจากทางกาย ไม่เหมือนมนุษย์
         
มนุษย์นี้ปรุงแต่งสุขทุกข์ในใจกันมากมาย พิสดารปรุงแต่งทุกข์ให้กลุ้ม ให้กังวล ให้เครียด

จนกระทั้งเสียจิตไปเลย สัตว์อื่นปรุงแต่งใจให้เป็นบ้าไม่ได้ แต่มนุษย์ปรุงแต่งจิตใจ
จนกระทั่งกลายเป็นบ้าไปก็มี มนุษย์มีความสามารถนี้อยู่มากมายนัก แต่น่าเสียดาย
ที่มนุษย์ใช้ความสามารถนี้ไปในการปรุงแต่งทุกข์มากกว่าปรุงแต่งสุข มีอะไรมา
กระทบตากระทบหู ไม่สบายใจนิดหน่อย ก็เก็บเอามาปรุงแต่งต่อเสียยืดยาวใหญ่โต
เวลาอยู่ว่าง ๆ แทนที่จะปรุงแต่งสุข ก็ปรุงแต่งทุกข์ เอาเรื่องที่ไม่ดีมาวาดเป็นภาพ
ทำให้เกิดความรู้สึกกลุ้มใจกังวล มีความโกรธเคียดแค้นต่าง ๆ ทำให้มีความทุกข์มากมาย
แสดงว่า มนุษย์ส่วนมาก ใช้ความสามารถไม่ถูกทาง จึงเป็นโทษแก่ตนเอง ทีนี้ถ้ามนุษย์ฝึกตัว
ให้ใช้ความสามารถนั้นให้ถูก เขาก็จะปรุงแต่งความสุขได้มากมายมหาศาล


ในทางพระพุทธศาสนาท่านแนะนำให้เราปรุงแต่งความสุข
         
ท่านสอนวิธีทำใจหรือฝึกจิตฝึกใจ และบอกวิธีใช้ปัญญามากมาย อย่างเช่น การบำเพ็ญสมาธิต่าง ๆ

ก็คือวิธีปรุงแต่งจิตใจนั่นเอง แต่เป็นการปรุงแต่งให้เป็นสุข ในการมองโลกแม้แต่สิงเดียวกัน
 ถ้าเรามองไม่เป็น ก็เป็นเรื่องร้ายเกิดทุกข์ แต่ถ้ามองเป็น ก็กลายเป็นดีเกิดสุขได้
         
ขอเล่าเรื่องพระท่านหนึ่งที่เป็นเพื่อนกันตอนเรียนหนังสือที่มหาจุฬาฯ ในวัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์

เวลาชั่วโมงว่างไม่ได้เรียนหนังสือ ท่านจะมองไปที่ท่าพระจันทร์ ซึ่งมีผู้คนเดินผ่านไปผ่านมา
ขวักไขว่จำนวนมาก ท่านมองไปมองมาแล้วก็นั่งหัวเราะ อาตมาก็ถามว่าหัวเราะอะไร ไม่เห็นมีอะไร
ท่านบอกว่ามองไปเห็นผู้คนเดินไปเดินมา ท่าทาง รูปร่างเครื่องแต่งกาย เสื้อผ้าสีสันต่าง ๆ กัน
คนนั้นเดินอย่างนี้ คนนี้เดินอย่างนั้น ดูแล้วขำ ท่านก็เลยหัวเราะ นี่ก็เป็นวิธีมองโลกอย่างหนึ่ง
         
บางคนมองอะไรก็น่าขำไปทั้งนั้น บางคนมองเห็นอะไรก็รู้สึกขัดหู ดูขัดตาไปทุกอย่าง

บางคนไม่มีอะไรก็นั่งกังวลไม่สบายใจ ทุกข์ไปหมด นี้เป็นตัวอย่างง่าย ๆ ของการปรุงแต่งจิตใจ
เราตั้งท่าทีของจิตใจอย่างไรก็สร้างจิตใจให้เป็นอย่างนั้น สุข-ทุกข์ก็เกิดตามมา
         
ในชีวิตประจำวัน เมื่อทำงานทำการ เราก็มองโลก เราก็มองคนที่พบเห็นมาหาไปหา

เช่นเป็นแพทย์เป็นพยาบาลก็มองคนไข้ไปด้วย เราต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนทั่วไป กับผู้ร่วมงาน
เราจะต้องหัดมองให้เป็น อย่ามองในแง่ที่กระทบหูกระทบตา
         
วิธีมองให้ไม่เกิดโทษมีหลายอย่าง อย่างน้อยก็ควรมองเห็นว่าเป็นประสบการณ์แปลก ๆ

ในวันหนึ่ง ๆ เราพบเห็นผู้มีกิริยาอาการต่างๆ มากมาย คนนั้นลักษณะอย่างนั้น
คนนี้ลักษณะอย่างนี้ เราก็มองในแง่ที่ว่า เป็นสิ่งที่ได้รู้ได้เห็น เป็นประสบการณ์ หลากหลาย
เป็นข้อมูลความรู้ อย่าเก็บมาเป็นอารมณ์ เราอาจจะสบายใจ หรือพอใจว่า นี่เราได้รู้เห็น
รู้จักโลกมากขึ้น โลกเป็นอย่างนี้ เมื่อเราทำใจอย่างนี้ สิ่งที่พบเห็นก็ไม่กระทบหูไม่กระทบตา
ไม่กระทบใจ เราก็สบายใจ แต่ไม่แค่นั้น ยังดีกว่านั้นอีกคือเราได้ความรู้ด้วย.



คัดตัดตอนมาจากหนังสือ "ทำอย่างไรจะให้งานประสานกับความสุข" โดย พระธรรมปิฏก (ป.อ. ปยุตโต)

แหล่งที่มา :
http://www.budpage.com/ba35.shtml
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 30, 2011, 10:18:49 am โดย นายเสรี ลพยิ้ม »