ผู้เขียน หัวข้อ: *รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล  (อ่าน 309985 ครั้ง)

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14143
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #795 เมื่อ: เมษายน 12, 2022, 11:15:49 am »





การมี "ปัญญา" ทำให้รู้ว่าไม่มีอะไรทำให้สุขได้อย่างแท้จริง เพราะทุกสิ่งล้วนเจือไปด้วยทุกข์

เมื่อเห็นความจริงเช่นนี้ก็ปล่อย เมื่อปล่อยก็ไม่รุ่มร้อน ใจสงบเย็น

แม้เมื่อพลัดพรากสูญเสียก็ไม่ทุกข์เพราะไม่ได้ยึดมั่นตั้งแต่แรกว่าของกูหายไป ของกูเสียไป

เวลาคนเราทุกข์ เช่นโกรธเศร้าเสียใจก็เพราะยึดมั่นใน ตัวกูของกู ทั้งนั้น ถ้ารถยนต์ของเพื่อนหายเรารู้สึกเฉยๆ โทรศัพท์ของเพื่อนหายเราก็รู้สึกเฉยๆแต่ถ้าปากกาของเราหายโทรศัพท์ของเราหายเราเป็นทุกข์ทันที

ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล








  ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 29, 2022, 05:19:04 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14143
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #796 เมื่อ: เมษายน 12, 2022, 11:18:17 am »
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 12, 2022, 11:30:17 am โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14143
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #797 เมื่อ: เมษายน 12, 2022, 11:20:21 am »



  การทำความดี ช่วยเหลือผู้อื่นเป็นหน้าที่ของเรา ส่วนคนที่เราช่วยนั้นจะเห็นคุณค่าของเราหรือไม่ เป็นเรื่องของเขา อันนี้ใช้ได้กับกรณีอื่น ๆ ด้วย เวลาเราช่วยเหลือใคร ช่วยเขาให้เต็มที่ ส่วนเขาจะสำนึกบุญคุณของเรา หรือเห็นคุณค่าของเราหรือไม่ เป็นเรื่องของเขา ถ้าเราโกรธเขาเราก็จะเป็นทุกข์มากขึ้น เมื่อช่วยใครไปแล้ว อย่าไปคาดหวังว่าเขาจะเห็นคุณค่าของเราหรือไม่ หลายคนช่วยคนอื่นแล้วก็เป็นทุกข์เพราะเหตุนี้

ขอให้เราตระหนักว่า การทำความดีเป็นหน้าที่ของเรา ส่วนการสำนึกบุญคุณเป็นหน้าที่ของเขา ถ้าเขาไม่ทำก็เป็นเรื่องของเขา วิบากกรรมก็จะเกิดกับเขาเอง เราจะไปโกรธ หรือเรียกร้องให้เขาตอบแทนทำไมกัน บ่อยครั้งที่เราเรียกร้องจากเขาจนกระทั่งกลายเป็นคาดคั้น กดดันเขาไม่หยุดหย่อน ทำให้ความสัมพันธ์แย่ลง อันที่จริงบางครั้งเขาก็ตอบแทนแล้ว แต่เราต้องการมากกว่านั้น เช่นเขาให้ ๑๐ แต่เราคาดหวัง ๒๐ เราก็เลยผิดหวังไม่พอใจ หรือโกรธเคืองเขา การคาดหวังการตอบแทนจากคนที่เคยช่วยเหลือ บั่นทอนความสัมพันธ์ของผู้คนมาเยอะแล้ว

เวลาเราทำความดี อย่าไปคาดหวัง ว่าเขาจะต้องตอบแทนหรือสำนึกบุญคุณของเรา หน้าที่ของเราคือการทำความดีในฐานะที่เป็นลูก คุณธรรมของลูกคือความกตัญญูต่อพ่อแม่ ทำให้เต็มที่ ส่วนเขาจะเห็นหรือไม่ เป็นเรื่องของเขา แต่ในที่สุดเชื่อว่าเขาก็จะเห็น ขอให้เราทำความดีด้วยความจริงใจ

ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล







  ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 12, 2022, 11:33:27 am โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14143
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #798 เมื่อ: เมษายน 12, 2022, 11:23:13 am »



อะไรก็ตามที่เรายึดว่าเป็นของเรา เราก็กลายเป็นของมันทันทีเลย อย่างที่เคยพูดไว้หลายครั้งแล้ว ลองพิจารณาดูว่าจริงไหม ยิ่งยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นของเราๆมากเท่าไหร่ เราก็กลายเป็นของมันอย่างแน่นหนา ทันทีเลย ทำอย่างไรเราถึงจะไม่เป็นของมัน ก็อย่าไปยึดมั่นว่า มันเป็นของเรา โดยเฉพาะทรัพย์สมบัติเช่น เงินทอง ถ้าเราเผลอเมื่อไหร่ ไปคิดว่ามันเป็นของเรานี่ เราเป็นของมันทันที

เราต้องเปลี่ยนใหม่ว่า เราไม่ใช่ของมัน เราก็เป็นนายมันได้เลย จะทำอย่างนั้นได้ ก็จะต้องไม่ยึดมั่นว่า มันเป็นของเรา พอเราไม่ยึดมั่นว่ามันเป็นของเรา เราก็เป็นนายมันเลย

หลวงพ่อคูณ ท่านพูดไว้ดีเรื่องเงิน ท่านพูดอย่างชนิดที่เรียกว่าถึงลูกถึงคนมาก ท่านบอกว่า กูใช้เงินนี่อย่างไม่มีเมตตากรุณาเลย กูใช้มันอย่างทารุณมาก เพราะมันเป็นทาสของกู กูเป็นนายมัน กูใช้คน กูมีเมตตาแต่กูใช้เงินไม่มีเมตตาเลย ไม่มีวันหยุดเลย ใช้มันแม้กระทั่งเสาร์อาทิตย์ ใช้ยังไงก็คือแจก

ท่านบอกว่านัดคนมารับเงินทุกวันเลย ต้องแจกให้ได้อย่างน้อยวันละหมื่น นี้คือสมัยที่ท่านยังไม่ได้มีทรัพย์มาก หรือมีคนบริจาคมาก ท่านพูดไว้เด็ดมากเลยนะว่า กูใช้มันอย่างทารุณมาก ใช้มันอย่างไม่มีเมตตากรุณา ใช้อะไร คือแจก ถ้าเก็บเอาไว้ เราก็กลายเป็นทาสของมัน คอยปกปักรักษามัน วิธีที่ท่านจะขึ้นมาเป็นนายของเงิน ก็คือใช้มัน คือการสละ คือการบริจาค คือการให้

เพราะว่าไม่ได้ยึดว่ามันเป็นของกู หรือถึงจะมีความยึดอย่างนั้นอยู่ แต่ว่าการสละออกไป การให้ การบริจาค มันก็ช่วยลดความยึดมั่นในความมีของกู เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากให้เราตกเป็นทาสของเงิน หรือตกเป็นทาสของทรัพย์ เราต้องใช้มัน ใช้มันอย่างทารุณยิ่งดีเลย มันจะไม่มีโอกาสเผยอขึ้นมาเป็นนายเหนือหัวเรา


อันนี้เป็นวิธีการของหลวงพ่อคูณ ที่เราก็เอามาใช้ได้ วิธีการที่ตัดช่องทางที่มันจะมาเป็นนายเรา ก็ด้วยการที่เราทำให้มันเป็นทาสของเรา ใช้มันอย่างทารุณ คือให้ ให้มันอย่างไม่มีวันหยุด เสาร์อาทิตย์ก็ให้ มันก็ปิดช่อง ไม่ให้กิเลส ตัณหา อุปาทานเข้ามาครอบงำจิต จนไปหลงผิดว่า เงินเป็นของเรา


นอกจากการตระหนักว่า สิ่งที่เรามีไม่ว่าอะไรก็ตาม มีแล้วก็หมด ได้แล้วก็เสีย อยู่กับเราเพียงแค่ชั่วคราว เราไม่สามารถจะเป็นเจ้าเข้าเจ้าของมันอย่างได้แท้จริง ในระหว่างที่มีในระหว่างที่ใช้มัน มีความสุขมีความสบาย ก็ต้องเตือนใจอยู่เหมือนกันว่า มันเป็นสุขที่เจือไปด้วยทุกข์ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม เงิน โทรศัพท์ บ้าน รถยนต์ ให้ความสะดวกสบายกับเรา แต่มันก็เป็นภาระให้กับเราไม่ใช่น้อยเลย ภาระในการดูแล ภาระในการรักษา

ยังไม่นับว่า เมื่อถึงเวลาที่มันสูญหาย หรือว่าเสียหายไป มันก็สร้างทุกข์ให้กับเรามากกว่าตอนที่เราไม่มีมันเสียอีก เมื่อเราตระหนักว่าความสุขที่มี หรือที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ใช้มันนี้ มันเจือไปด้วยทุกข์ เราก็จะได้ไม่ไปหลงยึดมัน หรือเพลินกับมัน

มีผู้ชายคนหนึ่ง เขาเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรม เขามีความใฝ่ฝันที่จะเป็นเจ้าของโรงแรมมาตั้งแต่วัยรุ่นแล้ว สุดท้ายเขาก็ดิ้นรนขวนขวาย จนกระทั่งได้เป็นเจ้าของโรงแรม หลังจากนั้นเขาก็มีกิจการอีกหลายแห่ง แต่โรงแรมเป็นสิ่งที่เขารักมาก แต่ต่อมาเกิดวิกฤตจากโควิด โรงแรมได้รับผลกระทบมาก ขาดทุนไปมากมาย ตัวเองก็มีอายุมาก ไม่มีเวลาที่จะมาดูแลหรือว่าพาโรงแรมให้พ้นจากวิกฤต ลูกเองก็ไม่ได้สนใจเพราะลูกก็มีความฝันอย่างอื่น

ทั้งที่โรงแรมเป็นธุรกิจที่เขารักมาก ไม่ได้คิดที่จะทำเงินหรือเอากำไร แต่ว่ามันเป็นธุรกิจ เป็นกิจการที่ชอบ ใฝ่ฝันมาตั้งแต่เล็ก แต่สุดท้ายก็ต้องขาย มีคนถามว่ารู้สึกยังไง หลังจากที่ขายโรงแรมที่รักไป เขาตอบดี เขาตอบว่าโล่งอก ไม่ได้เสียใจเลย

จะคิดแบบนี้ได้ หรือจะรู้สึกแบบนี้ ส่วนหนึ่งก็คงเพราะว่า รู้ว่าโรงแรมแม้จะเป็นสิ่งที่เขารัก แต่ว่ามันก็เป็นภาระเหมือนกัน ไม่ได้ฝันหวานว่ามีแต่ความสุข หรือฝันหวานว่ามีแต่ความสุข เพราะมันเจือไปด้วยทุกข์ด้วย เพราะฉะนั้นพอสูญเสียโรงแรมนั้นไป ก็ไม่เสียใจ กลับรู้สึกโล่งอก แล้วก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้

มีอะไรก็ตาม แม้มันจะให้ความสุขกับเราก็เตือนตน หรือว่าหมั่นพิจารณาอยู่เสมอว่า มันก็มีความทุกข์แฝงอยู่ ทุกข์มันแฝงอยู่ในความสุขเสมอ ไม่ว่าเราจะนั่งในท่าที่สบายแค่ไหน ให้เราสังเกตดูอยู่ในท่านั้นไม่ได้นานหรอก เดี๋ยวก็เมื่อยแล้ว ไม่ว่าจะเอนหลัง พิงเสา ไขว่ห้าง หรือแม้กระทั่งเอนกายลงนอน

แม้แต่นอนที่ใครๆก็คิดว่าเป็นท่าที่สบายสบาย พอนอนไปสักพักก็ต้องขยับ เพราะถ้าไม่ขยับก็จะเมื่อย ความเมื่อยที่ปรากฏมันก็คือทุกข์นั่นแหละที่มันแฝงอยู่ในความสุขความสบาย ซ่อนอยู่ในท่าที่เราคิดว่าผ่อนคลายในที่สุด ทุกข์มันเจออยู่ในสุขอยู่เสมอ

มันก็คงเหมือนกับกินปลาก็ต้องมีก้าง ถ้าคนที่ไม่รู้ว่าปลามีก้าง ก็อาจจะมีก้างติดคอ ถ้าคนที่รู้ว่าปลามีก้างก็จะกินอย่างระมัดระวัง ก็ทำให้ไม่ต้องเจอความทุกข์เพราะว่าก้างติดคอ อันนี้ก็หมายความว่า คนเราจะมีอะไรก็มีได้ แต่ว่าก็ขอให้มีอย่างรู้เท่าทัน รู้เท่าทันในความเป็นอนิจจังของมัน แล้วก็รู้เท่าทันในทุกข์ที่มันซุกซ่อนอยู่ ที่มันแฝงอยู่

ฉะนั้นถ้าเราเตือนใจอยู่เสมอ ว่าอะไรๆก็ไม่เที่ยง สิ่งที่เรามี ก็ไม่เที่ยง ไม่ใช่ว่าสิ่งที่มีอย่างเดียว สิ่งที่เราเป็นด้วย เป็นอะไรก็ตาม โดยเฉพาะเป็นในสิ่งที่ใครๆอยากจะเป็น ปรารถนาจะเป็น เช่น เป็นอธิบดี เป็นปลัดกระทรวง เป็นผู้ว่า ไม่ว่าเป็นอะไรก็กลายเป็นอื่นได้เสมอ เพราะเป็นของชั่วคราว

แต่ถ้าไปหลงคิดว่า มันเป็นของเราจริงๆ อันนี้จะทุกข์มากเลย อย่างที่เคยเล่า ผู้ว่าจังหวัดใหญ่จังหวัดหนึ่ง จังหวัดเกรดเอ พอเกษียณแล้ว กลายเป็นคนธรรมดา เสียศูนย์ไปเลย ทำใจไม่ได้เพราะว่าอำนาจที่เคยมีหายหมด บริษัทบริวารที่เคยห้อมล้อมก็หายไปหมด เพราะไปหลงคิดว่าเราเป็นอย่างนั้นจริงๆ แม้กระทั่งสมณศักดิ์อันสูงส่งก็เหมือนกัน

มีเรื่องเล่าว่า หลวงพ่อโต ในบั้นปลายชีวิตของท่าน ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ก็สูงมาก วันหนึ่ง ท่านได้รับนิมนต์ไปในสวนแห่งหนึ่งแถวราษฎร์บูรณะ ต้องพายเรือเข้าไปทางคลองเล็กๆ คลองหนึ่ง ท่านเอาพัดยศไปด้วย เพราะเป็นงานใหญ่ ปรากฏว่าวันนั้นน้ำลด เรือเข้าคลองไม่ได้ ทั้งที่เรือลำเล็ก เรือสำปั้น ทั้งที่มีลูกศิษย์ แต่ลูกศิษย์เข็นเรือไม่ไหว ท่านก็ลงไปเข็นเรือด้วย

คนแถวนั้นเห็นแล้วก็จำท่านได้ ก็ตะโกนบอกต่อๆกันไปว่า สมเด็จเข็นเรือโว้ยๆ เพราะไม่เคยเห็น หลวงพ่อโตท่านได้ยิน ท่านก็เลยพูดกับชาวบ้านแถวนั้นว่า ฉันไม่ใช่สมเด็จจ้า ฉันชื่อขรัวโตจ้า สมเด็จอยู่ที่เรือ แล้วท่านก็ชี้ไปที่พัดยศที่ปักตั้งไว้ตรงกลางเรือ คือท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นสมเด็จ แต่ท่านรู้ว่าเป็นแค่สมมุติ ท่านก็ไม่สำคัญมั่่นหมาย รู้ว่าเป็นแค่หัวโขน

ถ้าคิดแบบนี้ ทำใจแบบนี้ ถึงเวลาที่แปรเป็นอื่น หรือสูญเสียสิ่งที่มีไป หรือสูญเสียสิ่งที่เป็น มันก็ไม่ทุกข์ เรามีอะไรก็มีได้ แต่ว่าต้องมีให้เป็น ถ้ามีไม่เป็นก็เป็นทุกข์ เป็นอะไรก็ตาม ต้องเป็นให้ถูก ถ้าเป็นไม่ถูกก็ยากที่จะมีความสุขได้

เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะมีอะไรก็ตาม จะเป็นอะไรก็ตาม ก็หมั่นเตือนใจอยู่เสมอว่า มันเป็นของไม่เที่ยง มันมาแล้วก็หมด ได้แล้วก็เสีย เป็นของไม่ยั่งยืน แม้ว่ามันจะให้ความสุขกับเรา แต่มันก็เจือไปด้วยทุกข์ และสุดท้ายเมื่อสูญเสียมันไป ก็มีแต่ทุกข์สถานเดียวถ้าไปยึดมั่นถือมั่น ในทางตรงข้าม รู้จักใช้มัน ใช้มันเยี่ยงนาย ใช้มันในฐานะผู้เป็นนาย มันก็ยากที่จะมีความทุกข์ในสิ่งที่มี ในสิ่งที่เป็น


ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล







  ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 12, 2022, 11:36:45 am โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14143
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #799 เมื่อ: เมษายน 12, 2022, 11:26:12 am »



มองจากมุมของผู้อื่นบ้าง

บ่อยครั้งเรานึกถึงแต่ความทุกข์ของตนเอง จนไม่สนใจรับรู้ความทุกข์ของผู้อื่น การทำเช่นนั้นกลับทำให้เราทุกข์มากขึ้น เพราะยิ่งนึกถึงตัวเองมากเท่าไร ความทุกข์ของตนเองก็เป็นเรื่องใหญ่โตมากเท่านั้น จนลืมไปว่าที่จริงแล้วความทุกข์ของเรานั้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับของคนอื่น

หมอผู้หนึ่งเล่าว่าเมื่อจบแพทย์ใหม่ ๆ ไปทำงานในโรงพยาบาลชุมชน ตั้งใจว่าจะเป็นหมอที่ดี เวลาตรวจคนไข้นอกตอนเช้า จะตรวจให้หมดแม้ว่าเลยเวลาเที่ยงไปแล้ว เพราะถ้าให้คนไข้รอตรวจตอนบ่ายอาจจะหารถกลับบ้านลำบาก

วันหนึ่งมีคนไข้มาก หมอตรวจทั้งเช้าโดยไม่ได้พักเลย กว่าคนไข้จะหมดก็เป็นเวลาบ่ายโมง เมื่อเดินออกจากห้องตรวจ พบคุณลุงคนหนึ่งเพิ่งทำบัตรคนไข้เสร็จ แกขอให้หมอตรวจให้ด้วยเพราะไม่สบายมาก

หมอรู้สึกไม่พอใจมาก เพราะเลยเวลาตรวจมานานแล้ว จึงพูดด้วยอารมณ์ว่า "คุณลุงทำไมเพิ่งมาตอนนี้ รู้ไหมหมอยังไม่ได้กินข้าวเที่ยงเลย"

"ขอโทษคุณหมอ ลุงออกจากบ้านตี ๓ รถเขาเพิ่งมาถึง พยายามมาให้ทันหมอ ลุงยังไม่ได้กินข้าวเช้าเลย"

พอได้ยินเช่นนั้น หมอก็หายโกรธทันที เพราะได้ตระหนักว่าทุกข์ของคุณลุงนั้นมากกว่าตนเองเยอะ หมอท่านนี้เล่าว่าเหตุการณ์วันนั้นเป็นบทเรียนสำคัญและเป็นจุดเปลี่ยนครั้งหนึ่งในชีวิต

คนเรานั้นมีทั้งความเห็นแก่ตัวและเมตตากรุณาอยู่ในใจ การมองจากมุมของตัวเองบ่อยครั้งเป็นการกระตุ้นเร้าความเห็นแก่ตัว ทำให้ความต้องการของตนเองกลายเป็นเรื่องใหญ่กว่าอะไรอื่น ดังนั้นเมื่อมีสิ่งใดที่ขัดกับความต้องการของตนเอง ก็จะรู้สึกไม่พอใจหรือโกรธเคืองขึ้นมาทันที

ในทางตรงข้ามเมื่อมองจากมุมของคนอื่น หรือเปิดใจรับฟังเขา โดยเฉพาะคนที่มีความทุกข์ เมตตากรุณาในใจเราจะถูกปลุกขึ้นมา ทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ และปรารถนาที่จะช่วยเหลือเขาโดยไม่คำนึงถึงความลำบากของตนเอง ดังนั้นแม้เหนื่อยกายแต่ใจไม่ทุกข์ คนที่มองจากมุมของผู้อื่นจึงสามารถเป็นสุขได้ง่ายกว่าคนที่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง

ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล








  ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 15, 2022, 11:07:39 am โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14143
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #800 เมื่อ: เมษายน 15, 2022, 11:02:00 am »




ปุจฉา – มีเรื่องขอคำชี้แนะค่ะ เนื่องจากพี่สาวตอนนี้เกิดความสับสนในคำสอนทางพุทธศาสนา คือ มีพี่สาวได้ฟังธรรมจากหลวงปู่รูปหนึ่งที่เมตตาเทศนาว่า ลูก พ่อแม่ พี่น้อง เป็นสิ่งสมมุติ มันไม่มี แต่ในขณะเดียวกันทางพุทธศาสนาเองก็สอนให้ลูกต้องเคารพ กตัญญูต่อพ่อแม่ ซึ่งพี่สาวบอกว่าถ้าพ่อแม่ ลูก เป็นสิ่งสมมุติ ไม่มีจริงก็ไม่ต้องกตัญญูสิ

คือคำตอบของหนูที่ตอบพี่สาวบอกไปว่า ขณะนี้เรามีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติในทางโลก เราต้องทำหน้าที่ ส่วนที่หลวงปู่เทศน์ มันเป็นสิ่งสมมุติจริงๆ เพราะถ้าเราตายเราก็ไม่ได้เป็นพี่น้อง พ่อแม่ลูกแล้ว มันไม่มี

พี่สาวก็ไม่เข้าใจในคำตอบ ซึ่งคำตอบที่ให้พี่สาวอาจไม่ชัดเจน และไม่อยากให้พี่สาวไม่เข้าใจ อันปิดโอกาสให้พี่สาวเจริญทางธรรมต่อ เพราะพี่สาวมีทีท่าไม่เชื่อพุทธศาสนาเพราะไม่ชัดเจนในคำตอบตรงนี้ อยากให้พี่เป็นพุทธแท้ๆ ที่เอาพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ เลยขอรบกวนพระอาจารย์ชี้แนะค่ะ

พระไพศาล วิสาโล วิสัชนา – ธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นมี ระดับ คือ ระดับ “ปรมัตถสัจจะ” กับระดับ “สมมติสัจจะ” ที่หลวงพ่อสอนพี่สาวคุณนั้น ท่านพูดในแง่ปรมัตถสัจจะ แต่ในชีวิตประจำวันนั้นคนเราต้องอาศัยสมมติสัจจะเป็นหลัก

ถ้าหากพี่สาวของคุณมองว่าพ่อแม่เป็นสิ่งสมมุติ (ดังนั้นจึงไม่ควรกตัญญูท่าน) ก็ควรมองต่อไปด้วยว่าเงินทองเป็นเรื่องสมมุติ ดังนั้นจึงไม่ควรหาเงินหาทอง เงินทองที่มีอยู่ก็ควรแจกจ่ายให้หมด ไม่ควรสะสมต่อไป ในทำนองเดียวกันร่างกายของเธอก็เป็นของสมมุติ จึงไม่ควรดูแลรักษา ไม่ควรอาบน้ำชำระร่างกาย ใครจะมาทำร้ายก็ไม่ต้องป้องกัน

แต่โดยสามัญสำนึกเราก็รู้ว่าการทำเช่นนั้นไม่ถูกต้อง แม้เงินทองเป็นของสมมุติ แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตในโลกสมัยใหม่ ถ้ารู้จักใช้ก็มีประโยชน์ ร่างกายก็เช่นกัน แม้จะเป็นสิ่งสมมุติว่าเป็นของเรา แต่ก็ควรดูแลรักษาเพื่อเป็นประโยชน์ในการทำความดี

ฉันใดก็ฉันนั้น แม้พ่อแม่เป็นสิ่งสมมุติ แต่ความดีที่ท่านทำต่อเราตั้งแต่เล็กจนโตนั้นเป็นของจริง ทำให้เราเติบใหญ่ เป็นคนดี รู้จักพุทธศาสนา เราก็ควรทำดีต่อท่าน มีความกตัญญูต่อท่าน (เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระเจ้าสุทโธทนะจนเป็นพระอรหันต์)


อันที่จริงที่พูดว่าพ่อแม่เป็นสิ่งสมมุตินั้น ท่านหมายถึงว่า คำว่า “พ่อแม่” หรือ “ความเป็นพ่อแม่”เป็นสิ่งสมมุติ แต่รูปนามที่เรียกว่า “พ่อแม่” นั้นเป็นของจริง มีอยู่จริง ไม่ได้เป็นมายา ส่วนเราหรือรูปนามที่สมมุติว่าเป็น “ตัวเรา”นั้น เกิดและเติบโตได้ก็เพราะรูปนามที่เรียกว่า “พ่อแม่” ดังนั้นจึงควรรู้สึกสำนึกในบุญคุณ

เรื่องสมมุตินี้หากเข้าใจไม่ถูกต้อง ก็จะพลอยเข้าใจไปว่าความดีความชั่วเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง สมมุติกันขึ้นมาเอง ดังนั้นจะทำชั่วก็ได้ จะฆ่าใครก็ได้เพราะคนก็เป็นสิ่งสมมุติ

ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากคนมองว่าทุกอย่างเป็นสมมุติไปหมด ความจริงระดับปรมัตถสัจจะนั้น เหมาะสำหรับผู้มีปัญญาและมีคุณธรรม (และผู้มีปัญญาเท่านั้นที่จะเข้าถึงความจริงระดับนี้ได้อย่างแท้จริง) หากยังเป็นปุถุชนอยู่ก็ยังต้องพึ่งพิงสมมุติสัจจะ หาไม่จะกลายเป็นคนชั่วและถลำสู่ความตกต่ำได้ง่ายมาก

ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล

13 เมษายน วันผู้สูงอายุแห่งชาติ
14 เมษายน วันครอบครัว








  ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 24, 2022, 07:42:54 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14143
    • ดูรายละเอียด




ผู้เข้าถึงธรรมคือผู้เข้าถึงธรรมดา


ธรรมขั้นสูงสุดนั้นมิได้อยู่ที่ไหน หากอยู่ในความธรรมดาสามัญ เพราะธรรมดาสามัญนั้นเอง

ผู้เข้าถึงธรรมคือผู้เข้าถึงธรรมดา
กลมกลืนกับธรรมดา
ไม่ขัดขืนโต้แย้งกับธรรมดา
ทั้งไม่ผลักไสหรือยึดติดธรรมดา

เพราะธรรมดานั้นไม่มีบวกหรือลบ สูงหรือต่ำ น่ายินดีหรือไม่น่ายินดี หากเป็นใจเราต่างหากที่ไปกำหนดหมายหรือให้ค่าเอาเอง

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางโลกที่เร่งรีบอึกทึก และถูกปรุงแต่งจนพอกหนาด้วยสมมติและมายา บางครั้งเราจำเป็นต้องหลีกเร้นไปยังที่ที่สงบสงัดและปลอดโปร่งจากภารกิจ เพื่อมีเวลาพินิจจิตใจของตน จนหยั่งเห็นธรรมะหรือธรรมดาท่ามกลางความผันผวนของความรู้สึกนึกคิด ขณะเดียวกันก็เรียนรู้ที่จะอยู่อย่างกลมกลืน และเป็นมิตรกับธรรมดามากขึ้น

แต่ในที่สุดแล้ว เราจำเป็นต้องกลับมาสู่โลกกว้างและชีวิตที่เป็นจริง ต้องเกี่ยวข้องกับงานการและผู้คน เผชิญกับความแปรปรวนของสรรพสิ่งรอบตัว พบกับความสมหวังและไม่สมหวัง จนบางครั้งเราอดไม่ได้ที่จะคิดหัวนกลับไปสู่สำนักปฏิบัติอันสงบสงัด หรือไม่ก็อยากจะเก็บตัวอยู่ในห้องพระเพื่อเจริญสมาธิภาวนานานเท่านาน แต่ใช่หรือไม่ว่าในชั่วขณะนั้น เรากำลังคิดหันหลังให้กับธรรมะที่อยู่ท่ามกลางความธรรมดาสามัญ

ชีวิตที่นั่งหรือเดินภาวนาทั้งวันเป็นชีวิตที่ไม่ธรรมดาสามัญ แม้จะจำเป็น แต่ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของชีวิตเรา เราไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ตลอด เมื่อถึงเวลาเราก็ต้องพร้อมกลับมาสู่ชีวิตธรรมดาสามัญ ซึ่งมีภารกิจและความรับผิดชอบที่ต้องใส่ใจ

แต่งานการใช่ว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม แท้จริงเป็นอุปกรณ์แห่งการเข้าถึงธรรมได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้เมื่อพระรูปหนึ่งขอร้องให้อาจารย์สอนธรรม ท่านกลับถามว่า เธอฉันภัตตาหารเช้าเสร็จแล้วหรือ เมื่อศิษย์ตอบว่า ฉันเสร็จแล้ว ท่านกลับตอบว่า งั้นเธอก็กลับไปล้างจานได้แล้ว

การปฏิบัติธรรมในสำนักอันสงบสงัด เปรียบไปก็ไม่ต่างจากการฝึกซ้อมของนักกีฬา แต่การฝึกซ้อมจะมีประโยชน์อะไรหากไม่ลงไปสู่สนามจริง นักกีฬาย่อมไม่กลัวสนามจริงฉันใด นักปฏิบัติธรรมก็ไม่พรั่นพรึงโลกกว้างและชีวิตจริงฉันนั้น

จะว่าไปแล้ว โลกว้างและชีวิตจริงนั่นแหละคือสถานที่ดีที่สุดสำหรับการปฏิบัติธรรม เพราะความเป็นจริงโดยเฉพาะความทุกข์คือครูที่ฉลาดทีสุดในการเคี่ยวเข็ญเราให้เข้าถึงธรรมและธรรมดา

การปฏิบัติธรรมที่แท้จริงคือการเรียนรู้ที่จะอยู่กับความพลัดพราก ความสูญเสีย และความไม่สมหวังอย่างไม่เป็นทุกข์ สามารถเข้าถึงความสงบเย็นได้ ท่ามกลางความผันผวนของโลกและชีวิต อีกทั้งยังสามารถเอื้อเฟื้อเกื้อกูลและเป็นมิตรกับผู้อื่นได้ โดยไม่แบ่งแยกหรือเลือกที่รักมักที่ชัง ทั้งหมดนี้เราสามารถเรียนรู้ได้จากชีวิตสามัญที่มีทั้งสุขและทุกข์ มีทั้งมิตรและศัตรู มีทั้งสมหวังและไม่สมหวัง

ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล







  ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 21, 2022, 06:38:40 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14143
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #802 เมื่อ: มิถุนายน 21, 2022, 06:33:21 pm »




องคุลิมาลนั้นเป็นมหาโจร แต่เมื่อบวชเป็นภิกษุก็มีความอ่อนน้อมถ่อมตนและใฝ่ธรรม เมื่อได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าว่าให้รู้จักแสวงหากัลยาณมิตร พระองคุลิมาลน้อมรับคำสอนดังกล่าว จึงได้ไปรู้จักกับพระรูปหนึ่งชื่อพระนันทิยะ ระหว่างที่สนทนากันพระองคุลิมาลได้ถามพระนันทิยะว่า พระพุทธองค์ทรงสอนอะไรบ้าง

พระนันทิยะตอบว่า พระพุทธองค์ทรงสอนให้ ปล่อยให้วางทั้งข้างหน้าข้างหลังและท่ามกลาง ไม่ยึดติดในอดีต อนาคต และปัจจุบัน อารมณ์ใดที่พอใจหรือไม่น่าพอใจก็ให้วางเอาไว้

พบอารมณ์ที่พอใจที่เรียกว่าอิฏฐารมณ์ก็ไม่ยินดี พบอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจที่เรียกว่าอนิฏฐารมณ์ก็ไม่ยินร้าย

ใครเขาด่าว่าอะไรก็กองคำด่าว่าไว้ตรงนั้น ไม่ต้องพาติดตัวไปด้วย เมื่อวางแล้วใจก็เป็นปกติไม่ทุกข์

ตอนท้ายท่านได้กล่าวว่า “ผู้ที่รู้จักถือเอาประโยชน์ทั้งจากอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญว่าเป็นบัณฑิต”

เวลาที่มีผัสสะมากระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ไม่ว่าจะเป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ โดยเฉพาะอนิฏฐารมณ์ ถ้าเกี่ยวข้องกับมันไม่เป็น ก็จะเกิดทุกข์ใจ

ดังนั้นอย่างแรกที่เราควรทำก็คือ รู้จักรักษาใจไม่ให้ทุกข์ ถ้าเราเผลอปล่อยใจให้ทุกข์ ก็ถือว่าไม่ได้ทำหน้าที่ที่พึงมีต่อจิตใจของตัวเอง

คนที่บอกว่ารักตัวเอง แต่พอมีเหตุการณ์มากระทบ ก็ปล่อยใจให้ทุกข์ระทม โศกเศร้าเสียใจ อย่างนั้นถือว่า ไม่รักตัวเอง

เมื่อรักษาใจให้ปกติแล้ว ขั้นต่อไปคือต้องรู้จักหาประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย คุณสมบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวพุทธคือรู้จัก #หาประโยชน์จากสิ่งต่างๆไม่ว่าดีหรือร้าย

หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ เคยกล่าวว่า "นักภาวนาต้องรู้จักฉวยโอกาส" ฉวยโอกาสในที่นี้หมายความว่า ใช้ทุกโอกาสและทุกอย่างที่เกิดขึ้นเพื่อการปฏิบัติธรรมหรือพัฒนาจิตใจ เช่น ไม่ว่าทำอะไร อยู่ที่ไหน ก็ภาวนาอยู่เสมอ รวมทั้งไม่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นก็ใช้สิ่งนั้นให้เป็นประโยชน์แก่การภาวนาหรือพัฒนาจิตใจ แม้จะเป็นสิ่งที่ย่ำแย่ก็ตาม

คนส่วนใหญ่พอเจอเหตุร้ายหรือสิ่งที่ไม่น่าพอใจ คืออนิฏฐารมณ์ ก็เป็นทุกข์เลย แบบนี้เรียกว่าขาดทุน

บางคนขาดทุนสองต่อสามต่อ เช่น เมื่อเงินหาย ใจก็เสีย สุขภาพก็แย่ เลยเสียงานด้วย พอหงุดหงิดก็ระบายอารมณ์ใส่คนรอบข้างก็เสียสัมพันธภาพอีก เรียกว่าขาดทุนหลายต่อเลย

แต่คนที่ฉลาดหรือนักปฏิบัติจะไม่ขาดทุน อย่างน้อยต้องเสมอตัวก่อน คือใจเป็นปกติไม่ทุกข์ แล้วทำให้ดีกว่านั้นก็คือได้กำไร ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเราแม้จะแย่เพียงใดก็มีประโยชน์ทั้งนั้นถ้ารู้จักมอง การรู้จักมอง เรียกว่า โยนิโสมนสิการ

การรักษาใจให้ปกติ รักษาใจไม่ให้ทุกข์ทำได้หลายวิธี เช่น มีสติ เมื่อมีสติ สติจะช่วยรักษาใจไม่ให้ยินดียินร้าย ไม่ให้ฟูหรือแฟบ เมื่อเกิดอารมณ์อกุศลขึ้นมา ใจก็ไม่เข้าไปเป็น ไม่เข้าไปยึดอารมณ์นั้น

มีความโกรธเกิดขึ้นก็เห็น แต่ไม่เข้าไปเป็น เห็นความโกรธแต่ไม่เป็นผู้โกรธ เหมือนเรายืนมองกองไฟ กองไฟจะร้อนแค่ไหน แต่หากเรายืนดูอยู่ห่างๆ ก็จะไม่รู้สึกร้อน การถอยออกมาเป็นผู้ดูทำให้กายไม่ร้อน ใจก็เช่นกัน เมื่อถอยออกมาเป็นผู้ดู ใจก็ไม่ทุกข์ ใจเป็นปกติได้

อีกวิธีที่ทำให้ใจไม่ทุกข์คือ ยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาโลก เป็นธรรมดาที่ทุกชีวิตต้องประสบ หรือยอมรับว่ามันเกิดขึ้นแล้ว ตีโพยตีพายไปก็ไม่เกิดประโยชน์

การมองแง่ดีเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น เพราะเห็นข้อดีของมัน จึงไม่ปฏิเสธไม่ผลักไส หรือไม่ก็เพราะเห็นว่าจะเกิดโทษตามมาถ้าไม่ยอมรับหรือปฏิเสธผลักไส

เหล่านี้เป็นวิธีการที่ช่วยทำให้เรายอมรับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะย่ำแย่แค่ไหน ใจก็ไม่เป็นทุกข์ สามารถทรงตัวเป็นปกติได้ อย่างนี้เรียกว่าเสมอตัว

แต่เราสามารถทำได้มากกว่านั้น คือ หากำไร จากสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย เช่น เงินหาย โทรศัพท์หาย พอมีสติ ก็มีปัญญาเห็นว่า มันเป็นเรื่องธรรมดา จากนั้นก็มองต่อไปว่าเราจะได้ประโยชน์อะไรจากเหตุการณ์นี้บ้าง ก็พบว่ามันเป็น #แบบฝึกหัด ให้เรารู้จักปล่อยวาง

มันสอนธรรมว่าไม่มีอะไรสักอย่างที่จีรังยั่งยืน ไม่มีอะไรสักอย่างที่เป็นของเราอย่างแท้จริง ถ้าเรามองอย่างนี้ก็ได้กำไร การรู้จักหาประโยชน์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ช่วยทำให้ใจเป็นปกติได้มากขึ้น

มีชาวอังกฤษคนหนึ่งชื่อจอห์น โรเจอส์ อายุประมาณ ๖๐ปี วันหนึ่งขณะกำลังจูงหมาเดินเล่น จู่ๆ ก็มีผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามากระแทกหลังจนล้มลง ทีแรกเขานึกว่าเพื่อนมาหยอกเล่น ปรากฏว่าไม่ใช่ ผู้หญิงคนนั้นเขาไม่รู้จักเลย จากนั้นผู้หญิงแปลกหน้าก็เอามีดจ้วงแทงตามลำตัว แขน ขา รวมทั้งหมดประมาณ ๔๐ แผล เสร็จแล้วก็หนีไป ปล่อยให้ชายผู้นั้นนอนจมกองเลือด

โชคดีที่มีคนเห็นเหตุการณ์ พาส่งโรงพยาบาลได้ทัน เขาจึงรอดตาย เขามารู้ภายหลังว่าก่อนหน้านั้น ๑๐ วันมีคนตายเพราะฝีมือผู้หญิงคนนั้นไปแล้วสามราย และบาดเจ็บสาหัสสองราย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือตัวเขา ทั้งหมดนี้ไม่เคยรู้จักหรือมีเรื่องโกรธแค้นกับเธอเลยเลย

ต่อมาผู้หญิงคนนั้นถูกจับได้ มีนักข่าวไปสัมภาษณ์ชายผู้นี้ว่า มีอะไรอยากจะบอกผู้หญิงคนนี้ไหม เขาตอบว่า "ผมอยากถามว่าทำไมเธอต้องทำอย่างนี้ ช่วยบอกผมด้วย” น้ำเสียงของเขาไม่บ่งบอกถึงความโกรธแค้นเลย

นักข่าวถามต่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนแปลงบ้างหรือเปล่า เขาตอบว่า “ผมได้คิดว่าวันหนึ่งผมตื่นขึ้นมาแต่เช้า แล้วอาจโดนรถเมล์แล่นทับตายก็ได้ เราไม่รู้หรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต ฉะนั้นพยายามทำสิ่งที่ดีสุดทุกวันดีกว่า "

จอห์น โรเจอส์เป็นตัวอย่างของคนที่เมื่อประสบเหตุร้ายแล้ว เขาสามารถรักษาใจให้ไม่ทุกข์ได้ คนส่วนใหญ่หากเจอเหตุการณ์แบบนี้ ถ้าไม่โกรธแค้นก็จะตีอกชกหัวว่า "ทำไมถึงต้องเป็นฉัน"

หรืออาจจะคิดว่า "ทำไมซวยเหลือเกิน ทำบาปทำกรรมอะไรไว้จึงเคราะห์ร้ายอย่างนี้" การคิดอย่างนี้จะยิ่งซ้ำเติมจิตใจให้ย่ำแย่ลง แต่ชายผู้นี้ไม่มีความรู้สึกแบบนั้นเลย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขาให้อภัยผู้หญิงคนนั้น

ใช่แต่เท่านั้น เขายังรู้จักหาประโยชน์จากเหตุการณ์นี้ กล่าวคือ ใช้เป็นเครื่องเตือนใจให้ไม่ประมาทกับชีวิต และทำให้ได้คิดว่าต้องทำวันนี้ให้ดีที่สุด หรือทำสิ่งที่ดีที่สุดตั้งแต่วันนี้ ซึ่งตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอนเรื่องความไม่ประมาทว่า "ความเพียรเป็นสิ่งที่ต้องทำวันนี้ ใครจะรู้ความตายแม้พรุ่งนี้"

แม้ชาวอังกฤษคนนี้จะไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ แต่ท่าทีของเขาสอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่เลวร้ายแค่ไหนก็ตาม ล้วนมีประโยชน์ทั้งสิ้น อยู่ที่ว่าเรารู้จักมองหรือเปล่า

ความเจ็บป่วยก็เช่นกันมีประโยชน์หากรู้จักมอง มันสามารถสอนธรรมให้แก่เรา ว่าชีวิตนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตน

เวลาที่เราสบายดี เราไม่เคยคิดว่าร่างกายนี้เต็มไปด้วยความเจ็บป่วย หรือเป็นรังของโรค เราไม่เคยตระหนักว่าร่างกายเสื่อมสลายอยู่ตลอดเวลา พอเจ็บป่วยถึงรู้ว่า ร่างกายไม่ได้อยู่ในอำนาจบงการของเราเลย สั่งให้หายเจ็บป่วยก็ทำไม่ได้ บางทีแค่จะยกมือก็ยังยกไม่ขึ้น

ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่า “ความเจ็บป่วยมาเตือนให้เราฉลาด” กล่าวคือฉลาดในเรื่องไตรลักษณ์ แต่คนบางคนเจอความเจ็บป่วยก็ยังดื้อด้าน ไม่เปิดรับธรรมที่ความเจ็บป่วยมาสอน อย่างนี้จะขาดทุนมาก นอกจากจะไม่ได้ธรรมมาเป็นกำไรแล้ว ยังต้องเจ็บป่วยทั้งกายและใจอีกด้วย

เมื่อเจอความทุกข์ ก็ให้ทุกข์แค่กาย หรือเสียแค่ทรัพย์ แต่อย่าปล่อยให้ใจเป็นทุกข์ด้วย เมื่อตั้งสติได้แล้วก็ลองใคร่ครวญดี ๆ จะพบว่ามันมีประโยชน์ไม่น้อย ถึงตอนนั้นเราคงอดไม่ได้ที่จะขอบคุณความทุกข์

ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล






  ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 21, 2022, 06:52:23 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14143
    • ดูรายละเอียด
*รวม * คติธรรม - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #803 เมื่อ: มิถุนายน 21, 2022, 06:40:16 pm »




คนที่ดูแลผู้ป่วยมา 10 ปี ตลอด 24 ชั่วโมง แทบไม่มีเวลาพัก แล้วบางทีตัวเองยังมีลูก มีภาระ หรือต้องทิ้งอนาคต จึงเป็นธรรมดามากที่จะมีความคิดแวบหนึ่งขึ้นมาว่า

“เมื่อไหร่เขาจะตายสักที”

อย่าไปคิดว่า คุณเป็นคนเลวที่มีความคิดแบบนี้ เพราะหลายคนก็คิดแบบคุณ อย่าไปจริงจังกับความคิดนี้มาก มันแค่เกิดขึ้นในช่วงเวลาแวบหนึ่งในยามที่หงุดหงิด ในยามที่น้อยใจ คนส่วนใหญ่เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น อยู่ที่ว่าเขาจะยอมรับหรือไม่

แม่คนหนึ่งดูลูกซึ่งนอนเป็นผักนานนับสิบปี เธอยังมีลูกอีกหลายคนที่ต้องดูแล แต่ต้องเสียเวลาไม่ใช่น้อยกับการดูแลลูกคนนี้ วันหนึ่งเธอกลัดกลุ้มและคับแค้นมากถึงกับพูดต่อหน้าลูกที่ป่วยว่า “เมื่อไหร่แกจะตายสักที”

หลายปีต่อมาลูกคนนี้ฟื้นขึ้นมา แม่ดีใจมาก แล้ววันหนึ่งลูกก็ถามแม่ว่า แม่พูดประโยคนี้จริงไหม แม่ถึงกับร้องไห้ และขอโทษลูกที่พูดประโยคนั้นออกไป แม่คงไม่รู้ว่าคนที่เป็นผักนั้น แม้จะพูดไม่ได้ แสดงอากัปกิริยาไม่ได้ แต่เขายังได้ยิน ผู้ดูแลพูดอะไรไป เขาได้ยินหมด

เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ที่อังกฤษมีการทดสอบดูว่า คนที่นอนเป็นผักเวลาเราพูดอะไรเขารู้เรื่องไหม หมอพูดกับคนไข้หลายคนที่เป็นผัก โดยให้เขาจินตนาการว่ากำลังเล่นเทนนิสบ้าง กำลังเดินรอบห้องบ้าง ระหว่างนั้นก็มีการสแกนสมองด้วยเครื่อง functional MRI เขาพบว่า สมองส่วนที่รับรู้ภาษาของผู้ป่วยซึ่งนอนเป็นผัก ยังทำงานเป็นปกติ และสมองที่ควบคุมอวัยวะเช่น แขน ขา คือ premotor cortex ก็ทำงาน แสดงว่าเขาได้ยินและเข้าใจที่หมอพูด

น่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็คือเมื่อนำผลสแกนสมองของคนที่ป่วยเป็นผักไปเปรียบเทียบกับของคนปกติที่ได้รับคำสั่งเดียวกัน ปรากฏว่า ไม่สามารถแยกออกว่าผลสแกนสมองอันไหนเป็นของผู้ป่วยที่ป่วยเป็นผัก อันไหนเป็นของคนปกติ หมายความว่าสมองของผู้นอนเป็นผัก เหมือนคนปกติ เพียงแต่เขาพูดออกมาไม่ได้ หรือสั่งแขนและขาให้ทำงานไม่ได้เหมือนคนปกติ

ย้อนมายังกรณีแม่ที่มีความคิดแวบหนึ่งว่า อยากให้ลูกที่นอนเป็นผัก ตายสักที เพื่อแม่จะได้ไปดูแลลูกคนอื่น การที่แม่คิดแบบนี้ เป็นวิสัยของปุถุชน อย่าไปคิดว่าผิดบาป ตราบใดที่มันเป็นแค่ความคิดชั่ววูบซึ่งเกิดจากความเครียด

แต่หลายคนทำใจไม่ได้ว่าทำไมตัวเองคิดแบบนี้ จึงโทษตัวเองว่าเป็นคนเลว คิดแบบนี้ได้อย่างไร "ไม่มีใครเลวเท่าฉันอีกแล้ว"

อาตมาอยากบอกว่า ความคิดแบบนี้เกิดขึ้นกับคนมากมาย ไม่ได้เกิดกับคุณคนเดียว มันเป็นธรรมดาของคนเราเวลามีความเครียด กดดัน เพราะฉะนั้นอย่าประณามหรือลงโทษตัวเองที่คิดแบบนี้ ข้อสำคัญคือ ให้มันเป็นแค่ความคิดเฉย ๆ แล้วก็รู้ทันมัน ไม่ทำตามมัน

หลวงพ่อคำเขียนพูดเสมอว่า “คิดดีก็ช่าง คิดชั่วก็ช่าง” เวลาเจริญสติ ก็มีความคิดทั้งดีและชั่ว ผุดขึ้นมา เราก็แค่ดูมันเฉย ๆ มันเป็นแค่ความคิด ไม่ใช่ตัวเรา อย่าไปลงโทษตัวเองที่มีความคิดแบบนี้ อย่าตัดสินว่าตัวเองเลวที่มีความคิดแบบนี้ หาไม่เราจะดูแลคนป่วยด้วยความทุกข์ ความคิดแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดา ในยามที่เราเครียดจนลืมตัว เมื่อรู้ตัว ก็ให้อภัยตัวเองที่มีความคิดแบบนี้

การให้อภัยตัวเองเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ดูแล แม้จะไม่มีความคิดแบบนี้เกิดขึ้น ก็อาจมีการกระทำหรือคำพูดบางอย่างที่หลุดออกมา เช่น ต่อว่าพ่อแม่ หรือขึ้นเสียงกับท่าน เมื่อท่านไม่ทำตามคำแนะนำ ของเรา เช่น แอบกินอาหารรสจัดทั้ง ๆ ที่ไตวาย หรือแอบกินข้าวขาหมู ทั้ง ๆ ที่เป็นโรคหัวใจ หรือแอบสูบบุหรี่ทั้ง ๆ ที่เป็นมะเร็งปอด เป็นธรรมดาที่เราจะลืมตัวทำแบบนี้ เพราะหวังดีกับท่าน จนโมโหที่ท่านไม่เป็นไปดั่งใจเรา

ความปรารถนาดีกลายเป็นสิ่งตรงข้าม

เป็นการดีถ้าเราเตือนตัวเองอยู่เสมอ ว่าบ่อยครั้งคนเรามักจะทำร้ายคนอื่นในนามของความปรารถนาดี ยิ่งหวังดีกับใครมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเผลอทำร้ายเขาเมื่อเขาไม่ทำตามความหวังดีของเรา แม้ไม่ได้ทำร้ายร่างกายเขา แต่ก็ทำร้ายจิตใจเขาด้วยคำพูด

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะความยึดติดถือมั่นในความคิดของตน หรือยืนกรานในความหวังดีของตน

ดังนั้นสิ่งที่ควรเตือนตนเสมอคือ อย่ายึดติดถือมั่นกับความเห็นของเรามากนัก แม้ความเห็นหรือคำแนะนำของเราจะถูก เพราะเราอ่านตำรามา หรือได้คำแนะนำจากหมอมาก็ตาม

หลวงพ่อเฟื่อง โชติโก ลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น ท่านพูดเตือนสติได้ดีมากว่า “แม้ความเห็นของเราจะถูก แต่ถ้ายึดเข้าไว้ มันก็ผิด” ที่ว่าผิดก็เพราะ ทันทีที่ยึดมันก็เกิดตัวกูของกูขึ้นมา

คำแนะนำของเราแม้จะเกิดจากความปรารถนาดี อยากให้พ่อแม่สุขภาพดีขึ้น แต่ถ้ายึดมั่นถือมั่นมากเกินไป จะเกิดปัญหาทันที เช่น ยัดเยียดให้ท่านกินอาหาร ทั้ง ๆ ที่ท่านอยู่ในระยะท้าย ร่างกายไม่รับอาหารแล้ว แต่ลูกก็ยังบังคับด้วยการfeed อาหารให้ท่าน ทำให้ท่านทุกข์ทรมาน กลายเป็นโทษมากกว่าคุณ

หรือพอแนะนำไปแล้ว ท่านไม่ทำตาม ก็โกรธ ต่อว่าท่าน ถามว่าที่โกรธก็เพราะท่านไม่ทำตามคำแนะนำของเราใช่ไหม โกรธที่ท่านไม่เชื่อฟังเราใช่ไหม ดูเผิน ๆ เหมือนว่าเราทำเพื่อท่าน แต่ที่จริงเราทำเพื่อตัวเองมากกว่า

เส้นแบ่งอันนี้มันบางมาก ทำเพื่อเขา กับ ทำเพื่อเรา บ่อยครั้งเราคิดว่าทำเพื่อผู้ป่วย จึงโกรธเพราะเป็นห่วงท่าน แต่ลึก ๆ เราโกรธที่ท่านไม่เชื่อเรา ไม่ทำตามคำแนะนำหรือคำสั่งของเรา กลายเป็นเรื่องตัวกูของกูไป

ถ้าเราเป็นห่วงท่าน ปรารถนาดีต่อท่านจริง ๆ ควรเอาท่านเป็นศูนย์กลาง มองจากมุมของท่าน พยายามเข้าใจท่าน ถ้าเราเข้าใจท่าน ท่านจะกินข้าวเหนียวทุเรียนบ้าง ก็ไม่เป็นไร เพราะบางคนแค่ได้แตะ ๆ นิดหน่อยก็มีความสุขแล้ว

พระไพศาล วิสาโล






  ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : Facebook ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
https://www.facebook.com/visalo/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 21, 2022, 06:52:53 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14143
    • ดูรายละเอียด



  จิตวุ่นวาย คลายด้วยธรรม 

ความทุกข์เป็นสิ่งที่ไม่มีใครปรารถนา ปัญหาเป็นสิ่งที่ไม่มีใครชอบ  แต่ความทุกข์นั้นหากมองให้ดีก็มีประโยชน์ สามารถผลักดันให้ผู้คนเข้าหาธรรมเพื่อออกจากทุกข์ได้   ปัญหาก็เช่นกันช่วยกระตุ้นให้เราใช้ปัญญาเพื่อหาคำตอบ  ยิ่งปัญหานั้นเป็นสิ่งที่เรากำลังประสบ หรือกำลังสร้างความทุกข์แก่เรา  ก็อาจช่วยให้เราใคร่ครวญกับชีวิตที่ผ่านมา อันนำไปสู่การปรับเปลี่ยนชีวิต หรือวางจิตวางใจเสียใหม่ ทำให้เกิดความเจริญงอกงามตามมา

คนเรานั้นหากไม่เจอความทุกข์หรือปัญหา ก็มักพอใจอยู่กับร่องความคิดหรือชีวิตเดิม ๆ โดยไม่เฉลียวใจว่ามันอาจก่อโทษได้ในภายหลัง   การเจอทุกข์หรือประสบปัญหาแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยให้เราปรับเปลี่ยนตนเองก่อนที่เหตุร้ายที่หนักหนาสาหัสกว่าจะบังเกิดขึ้น   ใช่แต่เท่านั้นความทุกข์หรือปัญหา ยังช่วยเตือนใจให้เราตระหนักว่า ถึงที่สุดแล้วเงินทอง ชื่อเสียง อำนาจ หรือเทคโนโลยีทั้งปวงมิใช่สรณะอันประเสริฐ  ในยามที่ชีวิตมีปัญหา ประสบความขัดแย้ง พลัดพรากจากของรักคนรัก  มีเงินมากมายเพียงใดก็บรรเทาความเศร้าโศกหรือว้าวุ่นใจไม่ได้เลย  มีแต่ธรรมะเท่านั้นที่เป็นสรณะอันพึ่งพาได้อย่างแท้จริง  ผู้คนเป็นอันมาก “ตาสว่าง”ได้ก็เพราะประสบความทุกข์หรือเมื่อชีวิตมีปัญหา


พระไพศาล วิสาโล






ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : Facebook วัดป่าสุคะโต ธรรมชาติที่พักใจ
https://www.facebook.com/Zensukato/

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 20, 2022, 10:03:37 am โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14143
    • ดูรายละเอียด
    
  เตรียมกายเตรียมใจให้พร้อมตาย    

  "ในยามเจ็บป่วย ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ได้ทุกข์ที่กายเท่านั้น หากใจก็พลอยทุกข์ด้วย เช่น มีความวิตกกังวล เครียด หงุดหงิด หดหู่ หวาดกลัว ฯลฯ ใจที่เป็นทุกข์ย่อมทำให้ร่างกายเสื่อมทรุดลง หายยาก หรือฟื้นตัวได้ช้าลง ตรงกันข้ามใจที่สงบหรือเบิกบานจะช่วยให้ร่างกายหายเร็วขึ้น และเจ็บปวดน้อยลง

    อย่างไรก็ตามโรคภัยไข้เจ็บในบางกรณีก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้ และทำให้ร่างกายเสื่อมทรุดลงจนไม่สามารถฟื้นเป็นปกติได้ เช่น เป็นอัมพฤกษ์ หรือพิการ แม้กระนั้นใจก็ยังมีความสำคัญ ถ้าหากรักษาใจไว้ให้ดี เช่น มีความสงบ จดจ่อในสิ่งที่ดีงาม ความทุกข์ก็จะลดลง ไม่ทุรนทุรายหรือกระสับกระส่าย แม้ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือป่วยหนักจนมาถึงระยะสุดท้ายของชีวิต หมอ พยาบาล และเทคโนโลยีทั้งหลายอาจช่วยอะไรไม่ได้มากนัก แต่จิตใจของเราเองก็ยังสามารถเป็นที่พึ่งได้ ช่วยให้เป็นทุกข์น้อยลง และมีความสงบได้ในช่วงสุดท้ายของชีวิต

   ด้วยเหตุนี้ในยามเจ็บป่วย การดูแลรักษาจิตใจจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่าการดูแลรักษาร่างกาย บางครั้งอาจสำคัญกว่าด้วยซ้ำโดยเฉพาะเมื่อร่างกายไม่สามารถเยียวยาได้อีกต่อไป เมื่อมาถึงจุดหนึ่งของชีวิต ร่างกายมีแต่จะทรุดลงและทุกข์หนักขึ้นจนคุมไว้ไม่อยู่ แต่จิตใจของเราไม่ใช่เช่นนั้น สามารถเป็นสุขและสงบได้จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต เมื่อป่วยหนักหรือเมื่อรู้ตัวว่าวาระสุดท้ายของชีวิตใกล้จะมาถึง จึงไม่ควรปล่อยเวลาให้เปล่าประโยชน์ แต่ควรใช้เวลาที่เหลืออยู่เพื่อรักษาจิตและตระเตรียมใจให้พร้อมสำหรับช่วงสำคัญที่สุดของชีวิต

   ความตายนั้นเราไม่สามารถรู้ได้ว่าจะมาเมื่อไร และเลือกไม่ได้ว่าจะตายอย่างไร แต่เราสามารถเลือกได้ว่าจะเผชิญกับความตายอย่างไร ด้วยความสงบหรือตื่นตระหนก ด้วยความปล่อยวางหรือยื้อยุดสุดกำลัง หากเราต้องการเผชิญกับความตายด้วยความสงบและด้วยความรู้สึกปล่อยวาง เราต้องเตรียมใจเสียแต่ตอนนี้"

พระไพศาล วิสาโล

คลิกฟังได้ที่ ===> https://fb.watch/dICwYu08zr/





-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :Facebook วัดป่าสุคะโต ธรรมชาติที่พักใจ
https://www.facebook.com/Zensukato/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 21, 2022, 08:22:04 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14143
    • ดูรายละเอียด




สุขทุกข์อยู่ที่เราเลือก


สิ่งต่างๆที่เราเจอในชีวิตประจำวัน เราเลือกไม่ได้ แล้วก็ส่วนใหญ่เรากำหนดบังคับบัญชาแทบไม่ได้เลย เช่น การกระทำ คำพูดของคนนั้นคนนี้ที่พูดถูกใจเราหรือทำถูกใจเรา หรือพูดไม่ถูกใจเราทำไม่ถูกใจเรา ถ้าการกระทำของคนเหล่านั้นมากำหนดมีอิทธิพลต่อจิตใจของเรา เราก็คงจะแย่เหมือนกัน เพราะว่าสิ่งที่ไม่อยากเจอแต่เราต้องเจอ อันนี้เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้

ถ้าคนเราเอาสุขหรือทุกข์ไปผูกติดอยู่กับสิ่งแวดล้อมภายนอกหรือสิ่งที่เราอยากเจอะเจอ ในชีวิตเราก็คงไม่เป็นอิสระ ก็ต้องผันผวนปรวนแปรไปตามสิ่งภายนอกหรือสิ่งที่มากระทบกับเราหรือที่เราเจอะเจอ แต่ในความเป็นจริง มันมีสิ่งหนึ่งที่เราทำได้หรือเราเลือกได้ก็คือ เลือกว่าจะรับมือกับมันอย่างไรอะไร เป็นสิ่งที่เราเลือกไม่ได้เพราะขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยภายนอกมากมาย แต่ อย่างไร มันอยู่ที่เรา ว่าเราจะรับมือกับมันอย่างไร ด้วยสติ ด้วยปัญญา หรือด้วยความหลง หรือว่าปรุงแต่งไปในทางลบ การที่สุขหรือทุกข์อยู่ที่ว่าเราจะรับมือกับสิ่งต่างๆอย่างไร มันคือความจริงที่เปิดโอกาสให้เรามีเสรีภาพมีอิสระ เพราะว่าเราจะทำอย่างไร เราจะรับมืออย่างไร เราจะเจอสิ่งต่างๆอย่างไร เห็นอย่างไร มันอยู่ที่เรา

ถ้าเราปรุงแต่งไปในทางบวก อย่างน้อยๆสิ่งที่มากระทบก็ไม่ทำให้เราเป็นทุกข์ หรือกลับจะทำให้เป็นสุขด้วยซ้ำ อันนี้เป็นความจริง เป็นเรื่องที่เราควรจะใส่ใจ หมายความว่าเรามีสิทธิ์ที่จะเลือกได้ว่าจะสุขหรือทุกข์ แม้เราเลือกไม่ได้ว่าจะต้องเจออะไรบ้าง แต่นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า เราเลือกอะไร สุขหรือทุกข์ หรือว่าจะไม่ทุกข์เมื่อมีอะไรต่างๆมากระทบ


พระไพศาล วิสาโล





ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : Facebook วัดป่าสุคะโต ธรรมชาติที่พักใจ
https://www.facebook.com/Zensukato/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 28, 2022, 02:08:19 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14143
    • ดูรายละเอียด
ยิ้มให้ชีวิต - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
« ตอบ #807 เมื่อ: มิถุนายน 28, 2022, 02:04:23 pm »



ยิ้ม ให้ ชีวิต   ✿   ❁   ✿   ✿   ❁   ✿

ของขวัญล้ำค่าอย่างหนึ่งที่เรามีกันทุกคนก็คือ “ชีวิต”  ชีวิตทำให้เรามีทุกอย่างที่ทรงคุณค่า  ได้พบทุกคนที่มีความหมายต่อเรา  มีโอกาสทำความดี  ได้พบพระธรรม และได้สัมผัสกับความสุข  ปราศจากชีวิต ทุกอย่างที่เรามี ทุกคนที่เราพบ และทุกสิ่งที่เราเป็น ก็จะสูญสิ้นไป   แต่ในเวลาเดียวกัน  ชีวิตก็ทำให้เราต้องเจอกับความเจ็บปวด ความพลัดพราก  ความสูญเสีย ต้องพบกับสิ่งไม่พึงประสงค์  กล่าวอีกนัยหนึ่ง ชีวิตนำมาซึ่งความทุกข์

แม้ชีวิตจะเต็มไปด้วยทุกข์  แต่ชีวิตก็สามารถให้สิ่งดี ๆ แก่เราได้มากมาย  แม้กระทั่งความทุกข์ที่เราเจอะเจอ ก็สามารถเป็นประโยชน์แก่เรา หากเรารู้จักเรียนรู้จากชีวิตที่ผ่านมา  ประสบการณ์ชีวิตสามารถสอนเราให้รู้จักเปลี่ยนทุกข์เป็นสุข อีกทั้งโอกาสต่าง ๆ ที่ชีวิตมอบให้แก่เรา ก็สามารถทำให้เราพบประโยชน์สูงสุดของชีวิต นั่นคือ อิสรภาพจากทุกข์ อันเป็นสุขที่ประเสริฐยิ่ง

ชีวิตเป็นมิตรที่ดีที่สุดของเรา จึงควรยิ้มให้กับชีวิต  อย่าโกรธเกลียดเคียดแค้นชีวิตที่นำความทุกข์หรือความผิดหวังมาให้  อย่าคิดว่าทำไมชีวิตจึงโหดร้ายกับฉันนัก  มองให้ดีนั่นอาจเป็นโชคที่มาในรูปของเคราะห์   มันคือสิ่งที่เตรียมเราให้พบกับสิ่งวิเศษสุดที่รอคอยอยู่ข้างหน้า

พระไพศาล วิสาโล







ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : Facebook วัดป่าสุคะโต ธรรมชาติที่พักใจ
https://www.facebook.com/Zensukato/

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 03, 2023, 05:36:54 am โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14143
    • ดูรายละเอียด



  ซ้อมแก่ซ้อมเจ็บซ้อมตาย    

ความสุขของคนที่อยู่เบื้องหลัง
เมื่อเกิดความสูญเสียก็คือ
การที่เห็นคนที่เรารักจากไปด้วยดี
อันนี้ก็เรียกว่าแม้จะเสียใจมีน้ำตา
แต่ก็เป็นรอยยิ้ม ยิ้มที่เขาไปสบาย
เขาไปอย่างสงบ อันนี้เป็นรางวัล
ที่คุ้มค่ามากจากการ ซ้อมอยู่เนืองๆ
.....

แม้ว่าจะยังมีสุขภาพดี ไม่เจ็บไม่ป่วย
ก็ควรที่จะหมั่นซ้อมตายอยู่เนืองๆ
ซ้อมตายด้วยการเจริญมรณสติ
เช่นก่อนนอนก็ลองนึกเสียว่า
ถ้าเกิดว่าจะต้องตายในคืนนี้
ต้องทิ้งทุกอย่างที่มีที่เป็น
ไม่ว่าลูก ไม่ว่าคนรัก พ่อแม่
การงาน ทรัพย์สมบัติ
ก็ต้องทิ้งร่างนี้ด้วย
ทิ้งความสุขที่เคยชื่นชม


ใหม่ๆใจไม่ยอม ขัดขืน
แต่ว่าพอทำบ่อยๆ
มันก็ปล่อยวางได้ง่ายขึ้น
หรือถ้าเกิดว่า
ยังมีอะไรที่ค้างคาหรือใจอยู่
มันก็กระตุ้นให้ไปจัดการสิ่งนั้น
ไม่ให้ติดค้าง ไม่ให้คาใจ
บางคนบอกว่ายังทำดีไม่พอ
ยังให้เวลากับพ่อแม่ไม่เพียงพอ
ก็ต้องรีบไปทำ วันรุ่งขึ้น ยังไม่ตาย
ก็ให้เวลากับพ่อแม่
หรือให้เวลากับการปฏิบัติมากขึ้น

ที่จริงเราซ้อมตายได้หลายวิธี
เวลาสูญเสียทรัพย์โทรศัพท์หาย
รถถูกโกง ถูกปล้นเอาไป
ก็ถือว่านี่เป็นการซ้อมเหมือนกัน
แทนที่จะเอาแต่ทุกข์โศก
คร่ำครวญโกรธแค้น

ก็ถือว่าเขามาซ้อม
ซ้อมว่าถ้าหากว่าสูญเสียพลัดพราก
เราจะทำใจได้ไหม
เพราะเวลาตอนตาย
เราต้องสูญเสียทุกอย่าง
มีร้อยก็หมดร้อย มีล้านก็หมดล้าน


เอาเหตุการณ์ต่างๆที่มันเกิดขึ้นจริง
มาเป็นแบบฝึกหัด รวมทั้งเวลาเจ็บเวลาป่วย
ก็ถือว่านี่มันเป็นโอกาสที่เราจะซ้อมตาย
ซ้อมตายด้วยการฝึกจิตว่า ถ้าเกิดว่าเมื่อป่วย
ทำอย่างไรมันจะป่วยแต่กาย ใจไม่ป่วย
ทำอย่างไรทุกขเวทนาทางกายมันจะไม่บีบคั้นใจ
ถึงเวลาตายมันก็ยิ่งทรมาน
เพราะทุกขเวทนาก่อนที่จะตายมันแรงกล้า
ยิ่งกว่าตอนที่เราเจ็บป่วยหลายเท่า


ตอนที่เจ็บป่วย
ยังห่างไกลจากตอนที่เรากำลังจะตาย
แต่ว่ามันก็เป็นโอกาสให้เราฝึกซ้อม
ฝึกซ้อมเจริญสติว่าเราจะตั้งสติอย่างไร
เราจะรักษาใจไม่ให้ทุกข์
ขณะที่กยมันกระสับกระส่ายได้ไหม

อันนี้สำคัญมากเป็นวิชาที่จำเป็นมาก
เวลาที่เราจะต้องตาย
เพราะว่าทุกขเวทนามันจะกำเริบ
มันจะรุนแรงมาก
ถ้าเรารักษาใจไม่ให้ทุกข์ไปกับกายได้
มันจะง่ายมากที่จะตกไปอยู่ในอบาย
หรือว่าพลัดเข้าไปสู่ในอบายได้ เรียกว่าตกอบาย


แต่ถ้าหากว่า กายป่วยกายทุกข์
แต่ว่าใจไม่ทุกข์ กายยังสงบอยู่ได้
การที่จิตสุดท้ายจะเป็นกุศลแล้ว
ก็ไปดีไปสู่สุคติ มันก็เป็นไปได้ง่าย
หลายคนอาจจะไม่เชื่อ
เรื่องจิตสุดท้าย เรื่องสุคติภพ
แต่อย่างน้อยมันก็เห็นได้ชัดก่อนที่จะตาย
ถ้าหากว่าไม่ทุรนทุราย
เป็นประสบการณ์ที่มีค่ามาก
เพราะว่าคนจำนวนมากเวลาตาย
ทุรนทุรายทั้งกายทั้งใจ
แต่ถ้าหากว่ารู้จักรักษาใจให้เป็นปกติได้
แม้ว่าจะมีทุกขเวทนาทางกายกำเริบอย่างไร
มันก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคขัดขวาง
ในการทำให้การตายของเราเป็นไปอย่างสงบ
และถ้าเราเชื่อว่ามีสุคติภพ
ก็แน่ใจได้ว่า เมื่อเราสิ้นลม จิตก็ไปสู่สุคติได้


ต้องซ้อมเอาไว้ ซ้อมเอาไว้
ซ้อมตายอยู่เนืองๆ
ด้วยการฝึกจากความเจ็บความป่วย
ด้วยการฝึกจากความสูญเสีย
และต่อไปก็ซ้อม ซ้อมป่วย ซ้อมแก่ด้วย
พวกนี้เป็นเรื่องของต้องซ้อมทั้งนั้น
แต่น่าแปลกคนเราไม่ซ้อม
เรื่องบางเรื่องไม่สำคัญก็ซ้อม
เช่น ซ้อมรับปริญญา ซ้อมรับประกาศนียบัตร
ซ้อมจริงจังมาก แต่ความตาย ไม่คิดที่จะซ้อม
........

"หมั่นซ้อมตายอยู่เนืองๆ"

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล



************************************************************************************

ขอบคุณข้อมูล ภาพจาก วัดป่าสุคะโต ธรรมชาติที่พักใจ

Facebook Kanlayanatam
https://web.facebook.com/Kanlayanatam-174670492571704
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 28, 2022, 05:28:11 pm โดย ยาใจ »

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14143
    • ดูรายละเอียด



*★°*:.☆:*.°★* 。   ไม่ห้ามคิดแต่ให้รู้ทันความคิด  *★°*:.☆:*.°★* 。*★°*:.☆:*.°★* 。


การปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียน
ท่านอนุญาตให้คิดได้ เพราะว่าสิ่งสำคัญ
ไม่ได้อยู่ที่ว่าคิดน้อยหรือคิดมาก
สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่ารู้ทันความคิดหรือเปล่า
นี่สำคัญกว่า


คิดน้อยแต่ไม่รู้ทัน
หรือสงบแต่ไม่รู้ตัวว่าสงบ
หรือหลงในความสงบ อันนี้ไม่ดี
แต่ถ้าไม่สงบรู้ว่าไม่สงบ อันนี้ดีกว่า
มันจะคิดน้อยคิดมาก ก็ไม่สำคัญ
เท่ากับว่ารู้ทันความคิดนั้นหรือเปล่า

อันนี้เป็นการฝึกให้รู้ทันความคิด


และไม่ใช่แค่ความคิดอย่างเดียว
รู้ทันอารมณ์ด้วย
ไม่ว่าอารมณ์ฝ่ายบวกหรือฝ่ายลบ
แค่รู้ทันก็ทำให้ความคิด
และอารมณ์เหล่านั้นมันสงบ
หรือว่ามันหมดพิษสงลง
เพียงแค่รู้ทันมันก็ทำให้จิตสงบได้


เป็นความสงบไม่ใช่เพราะไม่รู้
เป็นความสงบไม่ใช่เพราะห้ามคิด
แต่เป็นความสงบเพราะรู้ คือรู้ทัน
รู้ทันความคิดและอารมณ์
รวมทั้งรู้จักธรรมชาติของใจด้วย


หลวงพ่อเทียนท่านเคยพูดว่า “ยิ่งคิดก็ยิ่งรู้”
คิดในที่นี้หมายถึงคิดฟุ้งซ่าน


เพราะฉะนั้นปล่อยให้มันคิดฟุ้งซ่านไป
รู้ที่ว่านี้คือรู้ทัน
ใหม่ๆ คิดฟุ้งซ่านไปสัก ๑๐๐ เรื่อง
อาจจะรู้ทันสัก ๑๐ - ๒๐ เรื่อง หรือ ๑๐ - ๒๐%
แต่พอทำไปๆ มันก็จะรู้ทันมากขึ้น ๓๐-๔๐%
ต่อไปมันก็จะรู้ทันมากขึ้นเป็น ๕๐- ๖๐% เป็นต้น

แล้วพอรู้ทันมันก็ทำให้ใจสงบลงได้ไม่ยาก


อันนี้มันเป็นวิธีการหนึ่ง
ที่ช่วยทำให้เรามีความพร้อม
ในการรับมือกับความไม่สงบ
หรือพร้อมเจอความไม่สงบเมื่อมันเกิดขึ้น

คือเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วก็รู้ทันมัน
ไม่ปล่อยให้มันเข้ามาครอบงำใจ
หรือไม่ไหลไปตามมัน

แล้วพอเราพร้อมเจอความไม่สงบ
ในที่สุดเราจะพบกับความสงบเอง


“ฝึกใจให้พร้อมเจอความไม่สงบ”

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล







ขอบคุณข้อมูลจาก Facebook Kanlayanatam
https://web.facebook.com/Kanlayanatam-174670492571704
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 21, 2022, 01:56:29 pm โดย ยาใจ »