ผู้เขียน หัวข้อ: อุบายวิธี ฝึกให้เกิดสติความรู้สึกตัวได้บ่อยๆ - อาจารย์ธีรยุทธ เวชเจริญยิ่ง  (อ่าน 1274 ครั้ง)

ยาใจ

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14170
    • ดูรายละเอียด




      อุบายวิธี ฝึกให้เกิดสติความรู้สึกตัวได้บ่อยๆ        


1. ในเบื้องต้นต้องมีวิหารธรรม หรือมีเครื่องอยู่ให้กับจิต หรือมีบ้านให้กับจิตเสียก่อน เช่น มี “ลมหายใจเข้า-ออก” หรือมี “ท้องพอง-ยุบ” หรือมีคำบริกรรม “พุทโธ” เป็นบ้านให้กับจิต เป็นต้น

คำว่า “บ้าน” คือ อยู่แล้วต้องมีความสุข อยู่แล้วต้องรู้สึกสบาย ผ่อนคลาย และรู้สึกปลอดภัย ไม่อึดอัด ไม่เครียด ตัวอย่างเช่น ขณะที่รู้ว่า ร่างกายกำลังหายใจเข้า-ออก ขณะนั้นเกิดสติ ขณะที่จิตเผลอออกจากลมหายใจ ขณะนั้นขาดสติ ขณะที่รู้ว่า จิตเผลอไปคิด ขณะนั้นเกิดสติ ฉะนั้นไม่ต้องกลัวเผลอ เพราะทุกครั้งที่จิตเผลอ แล้วรู้ว่า เผลอ ขณะนั้นเกิดสติแล้ว เมื่อฝึกมีสติรู้เท่าทันได้บ่อยๆ จิตก็จะกลับมาที่เครื่องอยู่ หรือกลับมารู้อยู่ที่บ้านของจิตได้เอง

2. วินัยเป็นสิ่งที่สำคัญ ให้มีวินัยทำในรูปแบบทุกวันประจำสม่ำเสมอ หลังจากที่เราไหว้พระสวดมนต์ สมาทานศีล 5 แล้ว ให้นั่งสมาธิ หรือเดินจงกรม อย่างน้อย 10 นาทีต่อเนื่อง เพื่อฝึกจิตให้มีความคุ้นชินกับการมีสติ ฝึกจิตให้รู้จักความรู้สึกตัว จะช่วยทำให้จิตมีกำลัง และช่วยให้จิตมีคุณภาพ ในการเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง คือ “ไตรลักษณ์” อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้ง่ายขึ้น

3. ฝึกสติความรู้สึกตัวในชีวิตประจำวัน บ่อยๆโดยให้ฝึกรู้สึกที่กาย และใจ ดังนี้

- รู้สึกที่กายให้รู้ในองค์รวมๆของกาย 2 อย่าง คือ รู้สึกร่างกายนิ่ง หรือร่างกายเคลื่อนไหว ในขณะที่ทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม เคี้ยว ล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ ขับถ่าย ซักผ้า รีดผ้า รดน้ำต้นไม้ กวาดบ้าน ทำอาหาร ออกกำลังกาย ล้วนมีอาการนิ่ง และอาการเคลื่อนไหว ให้สติสามารถระลึกรู้ได้ ให้หมั่นสังเกตความรู้สึกกายนิ่ง กายเคลื่อนไหวบ่อยๆ

- รู้สึกที่ใจ 3 อย่าง คือ “สุข” (ทำให้พอใจ) “ทุกข์” (ทำให้ไม่พอใจ) หรือ เฉยๆ เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ย่อมเกิดอาการ 1 ใน 3 อย่างนี้ ให้มีสติรู้ทันอาการนั้น โดยไม่รักษาเอาไว้ ไม่ทำให้มันหายไป ถ้าใจเป็นกลางในการรับรู้ โดยไม่ดึงเอาไว้ ไม่ผลักไสออกไป ไม่บังคับ ไม่เข้าไปหลงรัก หลงชัง ต่อสภาวธรรม หรือต่ออาการใดๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าสภาวธรรมนั้น จะดีแค่ไหน จะเลวร้ายเพียงใดก็ตาม การรับรู้ด้วยใจที่เป็นกลางนั้น จะเกื้อกูลให้เกิดปัญญาเห็นสภาวธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ค่อยๆ ดับสลายหายไปเอง

4. อุบายวิธีกระตุ้นให้เกิดสติ และความรู้สึกตัวได้บ่อยๆ คือ “ให้มีสติ...ก่อนสตาร์ท” ในกิจกรรมงานใหม่ๆ ในชีวิตประจำวัน เท่าที่เราพอจะทำได้ ยกตัวอย่างเช่น

ก่อนทานข้าว ให้มีสติรู้ลมหายใจเข้า-ออก 3 คู่ ก่อน แล้วค่อยทานข้าว

  ก่อนอาบน้ำ ให้มีสติรู้ลมหายใจเข้า-ออก 3 คู่ ก่อน แล้วค่อยอาบน้ำ

ก่อนเปิดมือถือ ให้มีสติรู้ลมหายใจเข้า-ออก 3 คู่ ก่อน แล้วค่อยเปิดมือถือ

  ก่อนเปิดโทรทัศน์ ให้มีสติรู้ลมหายใจเข้า-ออก 3 คู่ ก่อน แล้วค่อยเปิดโทรทัศน์

  ก่อนขับรถออกจากบ้าน ให้มีสติรู้ลมหายใจเข้า-ออก 3 คู่ ก่อน แล้วค่อยขับรถออกรถ

  ก่อนจะประชุม ให้มีสติรู้ลมหายใจเข้า-ออก 3 คู่ ก่อน แล้วค่อยประชุม



ถ้าสมมุติว่า เราลืม เช่น ทานข้าวไปแล้ว 3-4 คำแล้ว ค่อยมานึกขึ้นได้ว่า เราลืมสตาร์ด้วยสติ ให้หยุดทานข้าวชั่วครู่ แล้วให้มารู้ลมหายใจเข้า-ออก 3 คู่ ก่อน หลังจากนั้น ค่อยทานข้าวต่อ จะทำให้เรามีสติต่อเนื่อง เช่น รู้สึกปากขยับ รู้สึกรสชาติอาหารกระทบลิ้น รู้ใจชอบ ใจไม่ชอบ หรือใจเฉยๆ สติต่อเนื่องจะเกิดขึ้นได้บ่อยๆ ก็เพราะการใช้อุบายมีสติก่อนสตาร์ทนี่เอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกื้อกูลทำให้สติมีกำลัง สมาธิตั้งมั่นได้ง่าย ทำเท่าที่เราพอจะทำได้ ไม่ต้องบังคับว่า เราจะต้องมีสติทุกขณะทุกขั้นตอน ถ้าเราบังคับให้มีสติรู้ทุกขณะทุกขั้นตอน เดี๋ยวจะได้ความเครียดเป็นรางวัล ระลึกขึ้นได้เมื่อไหร่ ก็เมื่อนั้น ค่อยๆ ฝึกไปให้ได้ทุกวัน ความชำหนิชำนาญความคุ้นชินในการมีสติ ก็จะค่อยๆ ปรากฎเกิดขึ้นได้เอง

5. ความเพียรเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะความสำเร็จเกิดขึ้นได้จากความเพียร แต่ต้องเป็นความเพียรที่ถูกต้องถูกตรงตามหลักคำตรัสสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น จงอย่าเพียรอันเป็นไปด้วยความอยากได้ อยากมี อยากเป็น สิ่งใดๆ เลย แต่จงเพียรไปเพื่อเป็นการ ลด ละ ตัณหา (ความอยาก) ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) มานะ (ความถือตน เทียบเขาเทียบเรา) และ เพียรเพื่อลด ละ อุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่น) เพียรเพื่อลดละกิเลส เพียรเพื่อสละละวาง เพียรเพื่อเป็นการบูชาพระพุทธเจ้า

จิตที่ฝึกดีแล้ว...นำสุขมาให้
สุขในปัจจุบัน สุขในอนาคต สุขอย่างยิ่ง
คือ พระนิพพาน


ลุงยุทธ...สะดุดคิด







ที่มา : Facebook Theerayuth Vecharoenying
https://www.facebook.com/theerayuthv
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 29, 2020, 12:15:44 pm โดย ยาใจ »